ระบบอุปถัมภ์ : ความสัมพันธ์ในสายงานราชการการเมืองของคณะรัฐศาสตร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


 

“การเมืองไทยจะยังคงจมปลักต่ำตมไปเรื่อยๆ หากคณะรัฐศาสตร์ตามที่ต่างๆยังคงคำจำพวก สามัคคีประเพณีพี่น้อง
หรือยังต้องเป็นกาฝากพวกคำว่าในอุปถัมภ์แบบพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ดูง่อย ๆ
การผลิตนักศึกษาหรือนิสิตรัฐศาสตร์ไปรับใช้ประเทศชาติก็คงจะง่อยเช่นกัน หากกลุ่มนักศึกษายังเห็นพ้องกับ ห้องเชียร์ ระบบอาวุโส ประเพณี เปิดเพลงสรรเสริญท่านผู้นำ น้ำตาไหลพราก เป็นสิ่งอันพึงรักษา
อย่างว่ามรดกมีทั้งสิ่งที่ดีและเลวควบคู่กัน แต่มนุษย์นั้นเลือกที่จะรักษาได้ สุดแล้วแต่”

จากสถานะเฟซบุ๊ก Aum Neko ที่เป็นชนวนประเด็น

หลังจากที่ได้มีประเด็นปัญหาการวิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการ-การเมืองของกลุ่มสิงห์หรือที่รู้จักกันว่าเป็นกลุ่มของบุคคลที่จบการศึกษามาจากคณะรัฐศาสตร์ตามสถาบันต่างๆ ที่คงมีบทบาทต่อปัจจัยทางการเมืองของสังคมมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้นได้ถูกนำมาตั้งคำถามจนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ต่อระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวและได้เกิดกลุ่มที่ชี้ให้เห็นว่าระบบอุปถัมภ์นั้นมีปัญหาหรือส่งผลต่อระบบการเมืองไทยที่เป็นปัญหากันอยู่ทุกวันนี้จริงหรือไม่ ?แต่ขณะเดียวกันกลุ่มเด็กรัฐศาสตร์ส่วนหนึ่งก็ออกมาปกป้องศักดิ์ศรีและยืนหยัดในความบริสุทธิ์ของคณะรัฐศาสตร์ของกลุ่มตน หลังจากเกิดวิวาทะดังกล่าวนั้นผู้เขียนจึงย้อนกลับไปตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดที่สังคมไทยยังจำทนต่อระบบเหล่านี้ และหากกล่าวว่าปัญหาของระบบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางสังคมของกลุ่มสายงานคณะรัฐศาสตร์นั้นจะผิดหรือไม่ ?

ซึ่งจากข้อถกเถียงดังกล่าวได้มีการนำเสนอประเด็นระบบอุปถัมภ์ในมิติความจำเป็นต่อระบบสังคมซึ่งคุณปานบุญได้กล่าวไว้ว่า

“ความคิดเห็นส่วนตัวผม ผมมองว่าเกือบทุกคน ย้ำว่าเกือบทุกคน ต้องการอภิสิทธิ์กันทั้งนั้น (ไม่ใช่เวชชาชีวะ)
ต้องการมีคนคอยช่วยเหลือค้ำจุน หรือได้สิทธิเหนือผู้อื่น ดังนั้นผมจึงมองว่า
มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกๆสังคมมนุษย์บนโลกนี้ ทุกประเทศ ทุกหน่วยของสังคม"

"อย่าโลกสวยมากเกินไปนักเลย ที่ว่าโลกนี้มีความยุติธรรม ไม่มีระบบอุปถัมป์พวกพ้อง ไม่มีสองมาตรฐาน
คนเราเกิดมารักกัน ความเท่าเทียมกันในสังคม โลกเราต้องคงไว้ซึ่งเสรีภาพ สันติภาพ ภราดรภาพ... ถุย จะอ้วก
แต่ถ้าจะหาคนผิดในกรณีนี้ ผมว่าคงต้องโทษ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์แล้วหละครับ เพราะตามประวัติศาสตร์ พระองค์เป็นผู้ให้กำเนิด "ระบอบพ่อปกครองลูก" ซึ่งเป็นรากแก้วของระบบอุปถัมป์ในสังคมไทยนะ “

จากสถานะบนเฟซบุ๊กของ ปานบุญ พลบุตร
ผู้ช่วยรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์, ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการกฎหมายฯ

แน่นอนว่า "การอุปถัมภ์" เป็นสิ่งที่สังคมสากลมีกันเป็นปรกติในการรับรู้ที่ว่าด้วย การช่วยเหลือ เกื้อกูลกันในสิ่งที่ช่วยเหลือกันได้อย่างสมเหตุสมผล เช่น การช่วยยกของ ให้ยืมปากกา ช่วยทำแผล ฯลฯ แต่ในขณะเดียวในระบบสังคมมีสังคมที่ได้สร้างหรือสถาปนา (establish) "ระบบอุปถัมภ์" (The patron-client system) ที่มาพร้อมกับอำนาจแฝง (latent power) ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบบต่างตอบแทนโดยหวังผลประโยชน์ที่ตามมาจากกระบวนการของระบบดังกล่าว สิ่งเหล่านี้นั้นได้สะท้อนถึงการ ดูถูก ดูแคลน ศักดิ์ศรีในตัวของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น ระบบ "เทิดทูน" อาวุโส ระบบจารีตนิยม การโยกย้ายตำแหน่ง วัฒนธรรม รวมถึงอำนาจของภาษา ฯลฯ อันเห็นได้กว่าการสร้างระบบอุปถัมภ์นั้นมีมิติของอำนาจที่มากกว่าการอุปถัมภ์ช่วยเหลือที่เป็นการกระทำที่มาจากความเห็นอกเห็นใจปกติของเพื่อนมนุษย์อันซึ่งอาจไม่ต้องการผลประโยชน์จากการช่วยเหลือในสิ่ง ๆ นั้น

และภายใต้สภาวการณ์ที่เราได้รับรู้กันว่าในระบบบริหารราชการและการเมืองของไทยเรานั้นที่ยังคงโครงสร้างทางอำนาจที่ยังมีระบบอุปถัมภ์คอยค้ำชูอยู่ ซึ่งจะสามารถรับรู้ได้ผ่านวาทกรรมของกลุ่มตระกูล สิงห์ ไม่ว่าจะ สิงห์แดง ดำ ทอง ขาว ฯลฯ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนของระบบการบริหารรัฐหรือประเทศ และคำถามที่เป็นประเด็นหลักของดราม่าว่าทำไมการกล่าวถึงระบบนี้จึงต้องกลับย้อนไปตั้งคำถามของกระบวนการทางสังคมของคณะเหล่านี้

เราจะเห็นได้ว่าระบบราชการ-การเมืองของระบบสิงห์ที่กล่าวถึงของไทยนั้นได้มีบทบาทในการโยกย้ายตำแหน่งหรือหน่วยงานทางราชการตั้งแต่ใหญ่ๆอย่าง ปลัด กระทรวง กรม กอง ฯลฯ ซึ่งมักขึ้นกับปัจจัยของบุคลากรผู้บริหารรัฐ ณ ขณะนั้นๆซึ่งจะต้องโยกย้ายกลุ่มบุคคลให้มีประสิทธิภาพเข้ากับการบริหารงานในแต่ละยุคสมัย แต่สิ่งที่เป็นไปในระบบสังคมอุปถัมภ์ คือ การโยกย้ายโดยยึดการใช้ระบบอุปถัมภ์ตามกลุ่มสี กลุ่มคณะที่กลุ่มตนเองจบมาหรือคุ้นเคยเป็นหลัก มากกว่ายึดปัจจัยการโยกย้ายตัวบุคลากรที่สามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง การเจาะกลุ่มของการคัดเลือกให้เป็นหมู่คณะที่ใกล้ชิดกับตนนี้ส่งผลที่ตามมาก็คือผลประโยชน์ที่แบ่งกันรับกันไป ซึ่งนี่คือปัญหาหลักที่ว่าระบบต่างตอบแทนในระบบการเมืองไทยถึงยังคงฝังรากอยู่ในสังคมเช่นนี้อย่างมิอาจแก้ไขได้

ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงสถานที่ที่ผลิตบุคลากรป้อนสู่ระบบราชการสายงานบริหารและปกครองรัฐนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารากฐานส่วนใหญ่มักมาจาก กลุ่มคณะสายรัฐศาสตร์ ซึ่งเน้นสอนให้เข้าใจถึงวิธีการปรัชญาทางการเมือง งานบริหาร ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ฯลฯ แต่ทว่ากระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ของคณะเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร อย่างในมหาวิทยาลัยอย่างธรรมศาสตร์ที่มีคำขวัญว่า “เสรีภาพทุกตารางนิ้ว” แต่ภายในคณะที่ผลิตบุคลากรไปรับใช้ประเทศในทางบริหารโดยตรงกลับยังคงมี การว้าก ระบบอาวุโส หลงเหลืออยู่ภายใต้คำขวัญที่น่าภูมิใจ “สามัคคี ประเพณี เป็นพี่น้อง” อันสะท้อนรากเหง้าของระบบอุปถัมภ์อำนาจนิยมที่ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาไทย

หลายคนที่เรียนคณะนี้มาโดยตรงอาจเถียงเสียงแข็งว่าไม่จริงคุณไม่เคยสัมผัสเรียนมาจะรู้ได้เช่นไร ? แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นในวิวาทะดังกล่าวเด็กในคณะหลายคนที่มีประสบการณ์โดนรุ่นพี่ว้ากก็ยอมรับว่ามีการว้ากในบางโต๊ะของรัฐศาสตร์อยู่จริง แต่ที่หนักถึงขนาดรับน้องนอกสถานที่ต้องมีการรายงานเลขประจำตัวตน 550….และมีการลงโทษเช่นสั่งลุกนั่งก็ยังเกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยที่เชื่อว่าเคารพรักสิทธิ เสรีภาพของทุกคน หากจะกล่าวว่ามันเป็นกิจกรรมทางเลือก (alternative activity) ก็อยากทราบเช่นกันว่า จำเป็นหรือที่เพื่อนนักศึกษาที่เพิ่งเข้ามาใหม่ๆที่ต้องการมาร่วมกิจกรรมในคณะต้องเจอประสบการณ์กับกิจกรรมในบางโต๊ะที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างจำยอม ? หรือโต๊ะที่เพื่อนในคณะไม่มีกิจกรรมแบบนี้คุณกลับทนได้อย่างไรที่เห็นสภาพของสถานที่ที่มีความเป็นมาในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องซึ่งสิทธิ เสรีภาพ กลับกลายเป็นสถานที่ที่ให้รุ่นพี่หรือคนบางกลุ่มในคณะมาสืบทอดมรดกประเพณีที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิม ๆ อย่างใน argument ดังกล่าว

“นี่แหละคะที่สะท้อนถึงการเป็นกลุ่ม ignorance เพิกเฉยต่อปัญหา พวกคุณซึ่งรู้ซึ่งทราบว่ามันมีระบบทางเลือกแบบนี้ แต่ถามหน่อยว่ารุ่นพี่ได้อธิบายหรือไม่ว่าเราจะมีกิจกรรมอะไรที่ลดทอนคุณค่าแบบนี้ ทั้งว้าก เล่นเกมอุบาวท์ สั่งลุกนั่ง มาก่อนหรือไม่ ? (เกิดขึ้นในบางโต๊ะของสิงห์แดง) และเด็กที่อยากร่วมกิจกรรมคณะทุกคนต้องการกระบวนการพวกนี้ทุกคนหรือไม่ ?
และหากยังเชื่อในพวกคำขวัญปลอมๆของธรรมศาสตร์ เช่น เสรีภาพทุกตารางนิ้ว เพื่อนใหม่ ฯลฯ หรือศึกษาการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของวีรชนที่ผ่านมาที่กำจัดระบบนี้ทิ้งไปในอดีตสมัย 14-6 ตุลา แต่นักศึกษาปัจจุบันกลับกลายเป็นกลุ่มที่เห็นปัญหา แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาสามัญ เหมือนกับเห็นคนฆ่ากันตาย แล้วบอกว่านี่คือทางเลือกของคุณว่า จะไปม็อปให้โดนยิงตาย หรือจะอยู่บ้านเฉยๆ ถ้าเรายังเป็นแบบนี้เราก็ควรลองมาคิดพิจารณาหลายๆสิ่งพร้อมๆกันใหม่แล้วละคะ” จากคอมเมนท์ของ Aum Neko ระหว่างการถกเถียง

และนักศึกษาที่เรียนศาสตร์เหล่านี้นี้ทั้งหลายที่เห็นด้วยกับการด่า วิพากษ์วิจารณ์ว่า ระบบการเมือง ราชการ นักการเมืองมันเลว คอรัปชั่น ต่าง ๆ นานา กลับไม่ย้อนดูสถานภาพของกลุ่มคณะตนที่ปากบอกว่าต่อสู้เพื่อกำจัดสิ่งเหล่านี้ ระบบเลว ระบบเผด็จการ แต่ในขณะเดียวกันตนเองกลับกลายเป็นหนึ่งในส่วนของการผลิตซ้ำระบบความคิดที่ยังเห็น ความรุนแรงทางอำนาจอย่างระบบจำพวก SOTUS เป็นสิ่งที่ปรกติ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เลวร้ายอะไร ทั้งที่พื้นฐานของระบบเหล่านี้คือรากแก้วของการเติบโตไปสู่ระบบอุปถัมภ์ที่มาพร้อมกับการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเอง แต่นักศึกษาเหล่านี้กลับกลายเป็นกลุ่ม “hypocrite” หรือปากว่าตาขยิบ

และไม่เพียงเท่านั้นนักศึกษาที่เรียนรู้ถึงปรัชญาการเมืองนั้นกลับยังคงปล่อยให้ระบบนี้คงอยู่ต่อไปโดยหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้คือการลดทอนคุณค่าความเป็นปัจเจกชนของเพื่อนมนุษย์ที่การตัดสินใจของตนเองกลับถูกครอบงำโดยกลุ่มชนชั้นรุ่นพี่ รุ่นอาวุโส ทั้งที่มนุษย์มีความสามารถที่จะขึ้นสู่จุดๆหนึ่งได้อย่างเท่าเทียมกัน หากจะกล่าวว่าการเรียกร้องว่า การแสวงหาเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน เป็นเรื่องโลกสวย โลกจินตนาการ ไม่มีอยู่จริง ใช่ มันไม่มีอยู่จริงและโลกที่เป็นปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ใช่โลกที่สวยงามแต่อย่างใด แต่คุณจะปล่อยให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันตกอยู่ภายใต้ชีวิตที่ไม่มีสิทธิตัดสินใจได้เองและยังถูกคิดแทนโดยระบบอาวุโสอำนาจนิยม แล้วเราจะเรียนรู้ซึ่งการสอนให้คนคิดไปทำไม เพราะนี่คือระบบสอนให้เชื่อฟัง ไม่ใช่สอนให้คิดตามด้วยความเป็นปัจเจกของตนเอง

และความสามัคคี จำเป็นหรือไม่ที่สังคมสมัยใหม่จำเป็นต้องมีความสามัคคี ผู้เขียนเชื่อว่าความหลากหลายทางความคิด ความแตกต่าง ขัดแย้ง คือสีสันอย่างหนึ่งของโลกประชาธิปไตย คำว่าสามัคคีจึงไม่ควรมาอยู่ในบริบทของโลกสมัยใหม่ที่ผ่านยุคสงครามหรือกระบวนการสร้างรัฐชาติขึ้นมาแล้ว เพราะเราทุกคนล้วนมีความแตกต่างในวิธีคิดและวิถีชีวิต และประเพณีก็มิใช่สิ่งที่จำเป็นต้องยึดมั่นจนลืมไปว่าอะไรคือคุณค่าที่แท้จริงและประเพณีควรเป็นสิ่งที่ดีงามมากกว่าการให้รุ่นพี่ในคณะที่จบไปมากกว่า 10 ปี มาให้โอวาทสั่งสอนระบบอุปถัมภ์แบบนี้แก่เพื่อนที่เข้ามาใหม่ ซึ่งสะท้อนภาพการเมืองปัจจุบันได้ชัดที่ว่านักการเมืองหรือข้าราชการจะต้องไปปรึกษากลุ่มนายทหารใหญ่ ผู้มีอิทธิพลในสังคมเสียก่อน แต่สิ่งเหล่านี้กลับเกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยเสียเอง

และในมหาวิทยาลัยที่ชูประเด็น เสรีภาพ รับเพื่อนใหม่ก็ยังมีการผลิตซ้ำอำนาจทางภาษาที่ยังครอบงำสังคมไทยการเรียก การทำคำขวัญ  มันสะท้อนวาทกรรมทางอำนาจที่มีภาษาเป็นสื่อกลางในการคงอำนาจของความอาวุโสอันสร้างการรับรู้ในแบบที่ว่า ผู้น้อยควรเดินตามผู้ใหญ่ เด็กดีต้องไม่พูดมาก ว่านอนสอนง่าย ฯลฯ ทำให้เห็นว่าการใช้ภาษาในสังคมยังสะท้อนภาพของการรักษาสถานะทางอำนาจอย่างไม่เท่าเทียมกัน หรือมีเพียงแค่ชาติไทยที่จะต้องเรียกยศเรียกอย่างแทนสรรพนามของคนผู้นั้น เป็น ท่านปลัด ท่านรัฐมนตรี ท่านนายก อาจารย์ คุณหมอ ฯลฯ ทั้งที่เขาก็เป็นบุคคลธรรมดาเฉกเช่นเดียวกับเรา

กระนั้นก็ตามบรรดากลุ่มนิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์ไม่ว่าจะสีใดก็ตาม ที่ส่วนมากจะมีระบบคล้ายๆกันคือค่อนไปทาง SOTUS (แม้สิงห์แดงจะมีระบบทางเลือกก็ตามแต่ก็ยังหลงเหลือระบบนี้ไว้ในการรับน้องบางโต๊ะ) กลับยังคิดว่าปัญหาหาความล้มเหลวของระบบ ราชการ-การเมือง ของไทยไม่ได้ง่อยเพราะมาจากกระบวนการทางสังคมของกลุ่มคณะตนที่คงระบบเหล่านี้ไว้เพียงคณะเดียว แต่กลับลืมไปว่างานสายบริหารปกครองรัฐนั้นได้ถูกป้อนโดยคณะของตนเป็นจำนวนมากจนสังคมได้รับรองการเข้ามาของกลุ่มสิงห์ทางการเมืองเข้าไปด้วย โดยมีการผสมกับสีเขียวบ้างกากีบ้างตามระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากไว้มานาน ซึ่งหากคณะอื่นมีบทบาทในการบริหารรัฐมากบ้างคงอาจจะมีการอ้างคำพวกนี้ในระบบ เช่น อักษรจามจุรี อักษรสนามจันทร์ สินสาดรังสิต มนุษย์บางเขน แต่คณะเหล่านี้มีบทบาทน้อยมากจึงไม่สามารถมาโยนได้ว่ากลุ่มคณะตนนั้นไม่ใช่หนึ่งในปัจจัยที่เป็นปัญหาของระบบเหล่านี้

แต่นักศึกษากลุ่มรัฐศาสตร์ไม่เข้าใจถึง scope ของประเด็นนี้แต่แรกนั้นอยู่ในเรื่องปัญหาระบบราชการการเมือง แต่นักศึกษาหลายคนกลับไม่ย้อนไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นกลับไปหาพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง ว่าเป็นรากฐานระบบอุปถัมภ์พ่อปกครองลูกเป็นสิ่งที่สืบทอดมาสู่สังคมไทย ซึ่งสะท้อนว่านักศึกษาไทยนั้นขาดความรู้ในมิติทางประวัติศาสตร์อย่างมากเลยทีเดียวว่ารัฐอาณาจักรสมัยก่อน กับความเกี่ยวโยงในเรื่องของการปกครองในรัฐชาติสมัยใหม่มันไม่ได้เหมือนกันเลยทีเดียว และบางกลุ่มยังหนักถึงขั้นขู่ใช้ระบบอุปถัมภ์พาพวกมา”ข่มขู่”ผู้เห็นต่างทั้งที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมันคือเรื่องปรกติในสังคมประชาธิปไตย แต่ในสังคมไทย ความรัก ที่กลายเป็นความคลั่ง ได้บังตาไว้

และสุดท้ายหากยังย้ำว่าถ้าไม่ชอบก็เลือกที่จะไม่ทำได้ แต่อยากทราบว่าหากเรายังยืนอยู่สังคมท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจริงในสังคมที่ผู้คนต่างออกมาต่อสู้กันมาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่ไม่มีจริงที่พวกคุณบอก ให้เกิดขึ้นให้แก่เขา เหล่าประชาชนคนธรรมดารวมทั้งกลุ่มนักศึกษาที่รวมใจกันต่อสู้จนเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อเป็นธรรม ความไม่มีอะไรที่พวกคุณกล่าวมาเป็นสิ่งไร้สาระ น่าอ้วก แล้วสิ่งที่คุณจำยอมอยู่ในสภาพแบบนี้มันสวยงามมากนักหรือ ? หรือความสวยงามของคุณคือการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีตอนจบค่ายเปิดถ้ำสิงห์ของคณะคุณ ? นี่คือความสวยงามที่มาพร้อมกับภาพแทนของอำนาจ

ความสวยงามที่มากับการที่ปัญญาชนหันมาผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำของสังคมผ่านระบบอุปถัมภ์ระบบพวกพ้องและเห็นมันเป็นเรื่องปกติทางอำนาจที่ใคร ๆ ก็อยากได้ไม่เสียหาย ก็ไม่ต่างจากการเห็นคนฆ่ากันตายกลางเมืองแล้วบอกว่ามันคือทางเลือกว่าจะไปชุมนุมให้โดนยิงตาย หรือไม่ไป แต่คุณมีความกล้าหาญทางคุณธรรม moral courage แบบที่คุณสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลกล่าวไว้หรือไม่ การที่คนเห็นความไม่เป็นธรรม การฆ่ากันตาย การจับคนติดคุกโดยไม่เป็นธรรม และการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วยกันในสังคมเป็นเรื่องปรกติ สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่น่ากลัวมากกว่าการนั่งเพ้อพรรณาถึงปัญหาไปวันๆ หากตนเองด่าระบบ แต่ไม่ย้อนพินิจตนและ reform ตนเองแต่กลับผลิตซ้ำระบบเดิมวิธีคิดเดิม แล้วนี่หรือจะเรียกได้ว่าปัญญาชนคือพลวัตรในการขับเคลื่อนต่อสังคมอีกต่อไป ?

 

ภาพประกอบจาก : Voice of Siam
                               : วิวาทะ

           
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท