Skip to main content
sharethis

 

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ระบุ อนาคตอาเซียนมีปัญหาขาดผู้นำและยังมีความขัดแย้งระหว่างประเทศ ด้านนักวิชาการ ASEAN Watch ชี้ไทยตื่นตูมกับกระแสอาเซียนมากเกินไป รวมทั้งมีความคาดหวังต่ออาเซียนเกินจริงไปมาก ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนเชื่อเปิดเสรีการค้าสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์

18 พ.ย.55 ในงานรัฐศาสตร์วิชาการ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในฐานะเขตการค้าเสรีอาเซียน” ซึ่งจัดโดย มีผู้ร่วมเสวนา ดร.ปิติ ศรีแสงนาม จากศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬา ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข จากโครงการ Asean Watch สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง จาก กป.อพช และ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

คนไทยตื่นตูมอาเซียนมากกว่าตื่นตัว ตระหนกมากกว่าตระหนัก

ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ผู้ประสานงานโครงการ ASEAN Watch ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้วาทกรรมอาเซียน จะอบรมสัมมนาอะไรก็ต้องพ่วงท้ายด้วยคำว่า เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน และสังคมไทยตื่นตัวกับกระแสอาเซียนมากเกินไป รวมทั้งมีความคาดหวังต่ออาเซียนเกินจริงไปมาก

ผู้ประสานงานโครงการ ASEAN Watch กล่าวว่า คนไทยได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอที่ทำกับจีนมากกว่าอาฟต้า ที่เห็นได้ชัดคือ ผักผลไม้เมืองหนาวจากจีน เช่น แอปเปิ้ล เข้ามาแทนที่ผลไม้ไทยในห้างสรรพสินค้าต่างๆ และตั้งคำถามว่าสังคมไทยกำลังหลงประเด็นกับการมองไปที่อาฟต้าหรือไม่ ทั้งที่เอฟทีเอกับจีนส่งผลต่อไทยแล้ว เช่น การเข้ามาของผัก ผลไม้ เสื้อผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ส่วนข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า (ASEAN Free Trade Area - AFTA) ที่ลดภาษีลงให้เหลือร้อยละ 0 นั้น เสร็จสมบูรณ์มาตั้งแต่ 1 ม.ค.2553 ในกลุ่มสมาชิกอาเซียนเก่า คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ สำหรับในปี 2558 จะเป็นส่วนของประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม

สำหรับความกังวลต่อเรื่องแรงงานจากเพื่อนบ้านจะหลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทย ผู้ประสานงานโครงการ ASEAN Watch กล่าวว่า ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานจากเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยอยู่แล้ว 2 ล้านกว่าคน ส่วนการไหลออกของแพทย์ไทยเพื่อไปทำงานต่างประเทศ น่าจะเป็นลักษณะการไปทำงานระยะสั้น แต่ก็มีส่วนของแพทย์ที่ไหลออกไปต่างประเทศแล้ว เช่น ในลาว ก็คือธุรกิจเสริมความงาม

กิตติ มองว่า ต่อไปวิชาชีพพยาบาลน่าจะออกไปต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการไม่ได้รับบรรจุให้เป็นข้าราชการประจำ หากมาเลเซียและสิงคโปร์เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็มีโอกาสที่พยาบาลไทยจะออกไปทำงานนอกประเทศมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็มีคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์ที่สามารถผลิตพยาบาลได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

ส่วนความเปลี่ยนจากอาฟต้าที่เห็นได้ชัด คือ การนำเข้ารถยนต์จากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และการเข้ามาทำตลาดในไทยของรถยนต์มาเลเซีย แต่ความเป็นจริง อาฟต้าไม่ได้เปิดเสรีเต็มที่กับสินค้าทุกประเภท ยกตัวอย่าง ข้าวและน้ำตาลจะเป็นสินค้าที่แต่ละประเทศจะสงวนเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการกีดกันกาค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี เช่น การกำหนดการใช้ท่าเรือของอินโดนีเซียในการขนถ่ายผักผลไม้จากไทยออกไปให้ไกลขึ้น จากจาร์กาตาร์ ไปเป็นที่สุราบายาซึ่งไกลออกไปแทน ซึ่งทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบ

กิตติ กล่าวว่า ส่วนที่ได้รับประโยชน์จากอาฟต้าจริงๆ คือ บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายการผลิตกระจายไปในหลายประเทศ มีการแลกเปลี่ยนการนำเข้าชิ้นส่วนกัน และนำไปประกอบในอีกประเทศหนึ่ง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ ส่วนธุรกิจขนาดเล็กยังไม่ได้ประโยชน์จากอาฟต้ามากนัก บริษัทที่ได้ประโยชน์จากอาฟต้าคือบริษัทจากญี่ปุ่น ส่วนของไทยคือบริษัทปูนซีเมนต์ ปตท. และซีพี

กิตติ กล่าวสรุปว่า สังคมไทยมีความตื่นตัวเรื่องอาเซียนมากขึ้น แต่ยังไม่พ้นกับดักการตื่นตัวแบบกลวงๆ ยังไม่มีความรู้อย่างแท้จริง เป็นความตื่นตูมมากกว่าตื่นตัว และเป็นความตระหนกมากกว่าตระหนัก โดยทั้งนี้จึงได้มีการจัดทำเว็บไซต์ aseanwatch.org ที่มีความข้อมูลความรู้ บทความต่างๆ และความคืบหน้าเกี่ยวกับอาเซียนเป็นภาษาไทยเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน

ภาคประชาชนชี้ เปิดเสรีการค้าเป็นปัญหา มากกว่าเป็นประโยชน์

สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง จากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช.กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนยังอยู่ในอารมณ์ของการแข่งขันและการปกป้องผลประโยชน์ของชาติของมากกว่าการอยู่รวมกันเป็นสังคมหนึ่งเดียว และมองว่าขณะนี้อาเซียนยังไม่พร้อมที่จะเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียว

ตัวแทน กป.อพช.กล่าวว่า เสาหลัก 3 ประการของประชาคมอาเซียนนั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างประชาคมทางด้านสังคมและวัฒนธรรมเท่าที่ควร แต่เน้นความสำคัญไปที่การเดินหน้าไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจ ซึ่งการพูดถึงประชาคมอาเซียนจะต้องดูไปถึงสังคม วัฒนธรรม สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคด้วย

 

สุนทรี กล่าวว่า สิ่งที่ภาคประชาชนกังวล คือนโยบายเรื่อง เมดิคัล ฮับ เนื่องจากปัจจุบัน จำนวนหมอและพยาบาลยังไม่เพียงพอต่อการดูแลประชาชน จึงไม่ต้องการแบ่งุบุคลากรทางการแพทย์ให้กับคนมีฐานะที่หลั่งไหลมาจากต่างประเทศ และความกังวลอีกประการหนึ่งคือ การลงนาม TTP การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลย ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนยากจน โดยเฉพาะกรณีสิทฺธิบัตรยาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ทำให้ราคายาสูง และจำนวนปีที่ยาวนานในการให้ความคุ้มครองสูตรยาหลัก ทำให้ไม่สามารถผลิตยาคาถูกได้ ซึ่งส่งผลต่อผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยเอช ไอ วี

สุนทรีมองว่า การเปิดเสรีการค้าการลงทุน จะกระทบต่อโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และสำหรับการลงนามในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ได้มีมติในการประชุมของภาคประชาชนอาเซียนเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ขอให้เลื่อนการลงนามออกไปก่อน เนื่องจากร่างปฏิญญาฉบับนี้ยังต่ำกว่ามาตรฐานสากลว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

อาเซียนในภาวะความขัดแย้ง และการขาดผู้นำ

ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยและภูมิภาคนี้คือ การขาดความกระตือรือร้นในความรู้เรื่องอาเซียน ซึ่งต้องโทษในภาครัฐที่ขาดความมุ่งมั่นทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่จะนำไปสู่การสร้างประชาคม เนื่องจากยังไม่เห็นนโยบายหรือวิธีที่นำไปสู่การสร้างชุมชน และสิ่งนี้เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาภายในอาเซียนเองคือ การขาดความเชื่อมั่นต่อกัน ซึ่งเป็นปัญหามาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งอาเซียนในปี พ.ศ.2510

ปวิน กล่าวว่า อาเซียนในหลายยุคสมัยเคยนำด้วยผู้นำต่างความคิดต่างมุมมองกัน เช่น มหาเธร์ โมฮัมหมัด, ลี กวนยู หรือซูฮาร์โต แต่ในยุคนี้เป็นยุคที่ขาดความเป็นผู้นำ เคยมีคนบอกว่าคุณทักษิณอาจจะได้เป็น แต่ก็โดนรัฐประหารไปก่อน ซึ่งตอนที่เขาเป็นนักวิจัยอยู่สิงคโปร์ ได้เห็นการแข่งขันกันอย่างสูงระหว่างสิงคโปร์และอินโดนีเซียในการเป็นตัวขับเคลื่อนสร้างประชาคมอาเซียน

ปวิน กล่าวว่า สิ่งที่เป็นการเสียดเย้ยอย่างหนึ่งคือ เราต้องการจะก้าวไปเป็นชุมชน แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะสละส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยของเรา บางประเทศอยากจะประนีประนอมเรื่องอำนาจอธิปไตยเพื่อจะได้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นภูมิภาค แต่บางประเทศยังหวงอำนาจอธิปไตยมากกว่าประเทศอื่น ทำให้จุดยืนของแต่ละประเทศต่างกัน และสิ่งนี้ก็ส่งผลกระทบย้อนกลับมาที่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาพิพาทด้านพรมแดนไทย-กัมพูชา ปัญหาโรฮิงยาในพม่า การที่ไม่ยอมใช้กลไกของอาเซียนในการแก้ปัญหา เป็นการสะท้อนปัญหาภายในอาเซียนว่าชาติสมาชิกไม่ยอมรับกลไกการแก้ปัญหาที่มีอยู่

ปัญหาต่อมาที่กระทบต่อการรวมตัวด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งปวินมองว่า เป็นเรื่องการเชื่อมโยงกันในหลายประเด็นในอาเซียน เช่น ปัญหาที่มาจากความมั่นคงรูปแบบใหม่ (non-traditional security) ยกตัวอย่างปัญหาหมอกควันจากไฟป่าในอินโดนีเซีย ที่กระทบต่อสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่งผลให้สิงคโปร์งดการนำเข้าสินค้าบางประเภทจากอินโดนีเซียเพื่อเป็นการตอบโต้ ปัญหาผู้ก่อการร้าย ซึ่งปวินกล่าวว่า หากช่องแคบมะละกาต้องปิดตัวลง ก็จะส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยธรรมชาติ โรคระบาด รวมทั้งปัญหาความมั่นคงแบบเดิม เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ก็ล้วนส่งผลต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเช่นกัน

ปวิน สรุปในตอนท้ายว่า เรื่องที่น่ากังวลก็คือ อีก 4-5 ปีจากนี้จะเป็นประชาคมอาเซียน เรากลับไม่มีผู้นำด้านประชาธิปไตย และผู้นำเป็นเสาหลักให้กับอาเซียน มาเป็นผู้นำอาเซียนเลย ตำแหน่งประธานอาเซียนของกัมพูชากำลังจะหมดลงในปีนี้ ปีหน้าเป็นบรูไน ปี พ.ศ. 2557 เป็นพม่า ซึ่งน่าจับตาเพราะพม่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

เปิดเสรีแรงงาน ไม่ต้องกลัวคนไทยถูกแย่งงาน

ดร.ปิติ ศรีแสงนาม จากศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการเปิดประเทศอาจไม่ทำให้เกิดการส่งเสริมทางด้านการค้า (Trade creation) เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะทำให้เกิดปัญหาการบิดเบือนการค้า (Trade diversion) ได้ เช่น แทนที่จะนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ถูกที่สุด กลายเป็นการนำเข้าสินค้าและบริการจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาตลาดโลก ทั้งนี้เนื่องจากการทำข้อตกลงเอฟทีเอ ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งเป็นผลเสียของเอฟทีเอ

ส่วนเรื่องการเปิดเสรีแรงงาน เขากล่าวว่ายังมีความเข้าใจผิดอยู่ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเสรีแรงงาน มีเพียงการพูดคุยกันเฉพาะใน 7-8 สาขาอาชีพ และความกลัวเรื่องสมองไหลของแพทย์ไทย ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นการไหลออกต่างไปต่างประเทศ แต่เป็นการไหลออกไปสู่อาชีพอื่น เช่น ไปเป็นนักธุรกิจ หรือนักการเมือง จากข้อมูลล่าสุดพบว่าใน 1 ปีพม่าสามารถผลิตแพทย์ได้ประมาณ 3,000 พันคน แต่ความต้องการแพทย์ในประเทศมีเพียงปีละ 500 กว่าคน ทำให้มีหมอเกินความต้องการเฉลี่ย 2,500 คน และในปีที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์ในอาเซียน ได้จัดตอบปัญหานิสิตแพทย์ ปรากฏว่าประเทศที่ชนะเลิศคือพม่า เมื่อเทียบกับหมอจากสิงคโปร์พบว่า แพทย์สิงคโปร์ตอบตามตำราเก่ง แต่ฝีมือในการรักษาหรือผ่าตัดด้อยกว่าหมอในประเทศอื่นในอาเซียน ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นประเทศเล็ก มีเคสให้ศึกษาน้อยกว่าประเทศอื่น

ปิติเห็นด้วยกับปวินที่ว่า คนไทยยังตระหนักในเรื่องอาเซียนน้อยมาก จากการทำวิจัยเรื่องความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนพบว่า มีคนไทยแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ที่รู้จริงว่าอาเซียนคืออะไร นอกจากนี้ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในประเทศไทยพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่า จำเป็นต้องทำให้เกิดนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แต่วิธีการต้องค่อยเป็นค่อยไป ส่วนค่าแรงจะต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องทำวิจัยต่อไปว่าควรเป็นเท่าไร

เขาตั้งคำถามกับการเปิดเสรีแรงงานว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ที่ประเทศไทยจะเปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานกึ่งฝีมือ (semi-skilled labour) เนื่องจากปัจจุบันมีงานหลายอย่างที่คนไทยไม่ทำแล้ว การเปิดให้แรงงานจากนอกประเทศเข้ามาทำงานเหล่านี้ อาจจะมีคำถามต่อมาเรื่องความกังวลต่อปัญหาอาชญากรรม เขากล่าวว่า ถ้าเทียบจำนวนข่าวจากอดีตถึงปัจจุบัน ข่าวอาชญากรรมที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวที่ทำร้ายแรงงานด้วยกันเองและทำร้ายคนไทยมีไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของอาชญากรรมที่แรงงานไทยกระทำต่อกันเอง

ส่วนประเด็นเรื่องการแข่งขันกันของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เขามองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนา และเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนการที่อาเซียนไม่ใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทที่เป็นทางการในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่กลับใช้การพูดคุยกันแบบไม่เป็นทางการ เขามองว่านี่เป็นวิถีอาเซียน หรือ Asean Way เช่น การคุยกันระหว่างพักทานกาแฟ หรือระหว่างเข้าห้องน้ำ ซึ่งหากมีการตั้งอนุญาโตตุลาการอย่างจริงจัง อาเซียนอาจมาไม่ถึงวันนี้ก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net