Skip to main content
sharethis

เสวนาวิชาการ ‘วิเคราะห์ TPP ประเทศไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร’ ภาคประชาชนเผยพูดเรื่อง TPP ต้องพูดถึงสหรัฐฯ เหตุ! ผลได้ของไทยอยู่แค่ที่สหรัฐฯ ชี้มิติภาคการเงิน TPP ย้ายปัญหาจาก ‘ทุนผูกขาด ธ.ไทย’ สู่การเอาเงินไปฟื้นฟูสหรัฐฯ ทั้งแจงข้อกังวลหลัก ‘การเข้าถึงยา-สิทธิบัตรพันธุ์พืช’

 
วันที่ 17 พ.ย.55 แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ ‘วิเคราะห์ TPP ประเทศไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร’ ณ ศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อชี้แจงรายละเอียดของข้อห่วงใยต่างๆ ต่อความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ก่อนที่จะแถลงข่าวร่วมของผู้นำไทยและสหรัฐฯ สำหรับทิศทางความร่วมมือดังกล่าว
 
 
‘TPP’ การกลับมาอีกครั้งของ FTA ไทย-สหรัฐ
 
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในบริบทสังคมไทย TPP คือการเริ่มต้นใหม่ของ FTA กับสหรัฐฯ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็น FTA ที่สังคมไทยหวั่นเกรงมากที่สุดเท่าที่เคยทำมา หากย้อนไปในการชุมนุมที่เชียงใหม่ ผู้ชุมนุมประมาณ 6,000 คนจากจำนวนนับหมื่นมาจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อ และอีกประมาณ 3,000 คน มาจากเครือข่ายเกษตรกร เพราะเล็งเห็นว่าจะเห็นผลกระทบอย่างสำคัญต่อภาคเกษตรในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม โดยเฉพาะสิทธิบัตรในพันธุ์พืช-สัตว์ และการคุ้มครองสิทธิของบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่มากไปกว่าข้อตกลงภายใต้ WTO โดยขณะนั้นคนในรัฐบาลไทยรักไทยและสถาบันทางวิชาการอย่าง TDRI ต่างก็ออกมาแสดงความหวั่นเกรงในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งเรื่องยาและสิทธิบัตรในเมล็ดพันธุ์ด้วย
 
การชุมนุมคัดค้าน FTA ไทย-สหรัฐฯ ของภาคประชาชนเมื่อปี พ.ศ.2549 ที่จังหวัดเชียงใหม่ จนเวทีประชุมต้องยกเลิก และการเจรจาหยุดชะงักไปในเวลาต่อมา ที่มา: http://www.chiangmai-mail.com/169/
 
 
ที่ผ่านมา การทำ FTA ในระดับภูมิภาคที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนกลาง หากไม่นับความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement: NAFTA) ที่เริ่มต้นเมื่อราว 18 ปีที่แล้ว จะพบว่ามีเฉพาะความตกลงการค้าเสรีอเมริกากลาง (Central America-United States Free Trade Agreement: CAFTA) เท่านั้นที่สำเร็จ ส่วนการทำ FTA ไทย-สหรัฐฯ ที่ล้มเหลวนั้นไม่ได้มาจากประเด็นทางการเมือง แต่เป็นประเด็นเหตุผลเรื่องการรุกรานทางเศรษฐกิจ การใช้มาตรฐานที่สหรัฐได้เปรียบในเชิงกติกา
 
ส่วน TPP ไม่ได้เป็นเพียงการเจรจาที่ให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจเป็นเพียงอย่างเดียว แต่มีบริบทภูมิศาสตร์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งด้านหนึ่งแปรความได้ว่าหากจะต้องการจะเข้าร่วม ไทยอาจอ่อนไหว พิจารณาเรื่องนี้โดยมองเฉพาะมิติด้านการเมืองแต่ละเลยเรื่องเศรษฐกิจซึงอาจส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ในชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่งหากสหรัฐต้องการอาศัยเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมาคานอำนาจกับจีน เราก็ควรจะมีอำนาจในการต่อรองสูงขึ้นด้วย แต่ถึงที่สุดแล้ว การตัดสินใจต้องอยู่ที่การพิจารณาเนื้อหาของความตกลงเป็นสำคัญ ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศ
 
วิฑูรย์ ยกตัวอย่างกรณีที่รัฐบาลที่นำโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) โดยเหตุผลที่อภิปรายในสภาล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลทางการเมือง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลายท่านที่เคยสนับสนุนการต่อสู้เรื่อง FTA กลับให้เหตุว่าเป็นการลงนามเพื่อที่จะไม่ให้ประเทศโดดเดี่ยว ซึ่งคล้ายกับเหตุผลที่ใช้กันในปัจจุบัน
 
 
วิกฤติภาคเกษตร การผูกขาด ‘พันธุ์กรรมพืช-สัตว์’ ในมือบรรษัทขนาดใหญ่
 
วิฑูรย์ กล่าวต่อมาถึง ผลกระทบด้านภาคเกษตรและทรัพยากรชีวภาพในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา จากการเข้าร่วม TPP แบ่งเป็น 4 เรื่องใหญ่คือ 1.ประเทศไทยจะต้องให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ซึ่งเป็นของบริษัทข้ามชาติ ตาม UPOV 1991 ทำให้ไทยต้องขยายขอบเขตสิทธิผูกขาดของบริษัทให้กว้างขึ้น โดยนักปรับปรุงพันธุ์มีสิทธิเด็ดขาดที่จะกีดกันผู้อื่นมิให้นำเอาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ของพืชไปใช้ประโยชน์ ทั้งในทางพาณิชย์และการเพาะปลูก รวมทั้งมีสิทธิห้ามการส่งออก นำเข้า หรือเก็บรักษาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ของพืช ต้องให้คุ้มครองพันธุ์พืชทุกชนิดโดยไม่ต้องมีการประกาศก่อน
 
อีกทั้ง ไทยต้องขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชจากเดิม 15 ปีเป็น 20 ปีสำหรับพืชทั่วไป และเป็น 25 ปีสำหรับไม้ยืนต้นและองุ่น ซึ่งจะกระทบต่อเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งต่อหลักการแบ่งปันผลประโยชน์และสิทธิเกษตรกรภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ท้ายสุดจะนำไปสู่การผูกขาดพันธุ์พืชโดยบรรษัทขนาดใหญ่ และเมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้นประมาณ 3-4 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย
 
2.การขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ซึ่งจะทำให้ฐานทรัพยากรพันธุกรรมเหล่านี้ไปตกอยู่ในมือบริษัทข้ามชาติ ส่วนนักปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์จะสูญเสียศักยภาพในการเข้าถึงฐานพันธุกรรม เนื่องจากความเป็นเจ้าของในพันธุกรรมอยู่กับภาคเอกชน ขณะที่ระบบการเกษตรทั้งหมดจะถูกผูกขาดโดยกลุ่มบริษัทที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทมอนซานโต้ และดูปองท์ของสหรัฐ และบริษัทข้ามชาติอื่นที่มีฐานในยุโรป ทั้งนี้ การจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตนั้นขัดแย้งกับวิถีและความเชื่อของชุมชนและประชาชนทั่วไป
 
 
3.การเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อรองรับขั้นตอนการจดสิทธิบัตร โดยอนุญาตให้มีการรับฝากจุลชีพไว้กับองค์กรรับฝากระหว่างประเทศเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับขั้นตอนการจดสิทธิบัตร ซึ่งความหมายและขอบเขตของคำว่า ‘จุลชีพ’ ตามแนวปฏิบัติของสนธิสัญญาอาจทำให้แนวทางปฏิบัติและนโยบายการคุ้มครองสิทธิบัตรของประเทศขยายไปถึงยอมรับการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต
 
นอกจากนี้ การเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ปิดช่องทางในการออกกฎหมายและระเบียบปฏิบัติในการคุ้มครองทรัพยากรจุลินทรีย์ของประเทศในอนาคต และมีผลกระทบต่อการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ โดยการได้รับความสะดวกในการจดสิทธิบัตรเพื่อขอรับการคุ้มครองในต่างประเทศไม่คุ้มค่ากับความยากลำบากในการเข้าถึงนวัตกรรมจากสิทธิบัตรจุลชีพที่เข้ามาขอรับการคุ้มครองในประเทศแต่ฝากจุลชีพไว้ในต่างประเทศ
 
4.การให้ความสำคัญในการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าเหนือการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ ปฏิเสธมาตลอดที่จะเข้าร่วม หรือสนับสนุนท่าทีของยุโรปและประเทศเกษตรกรรม ในเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพราะได้เปรียบถ้าใช้เครื่องหมายการค้า
 
นอกจากนั้น ไทยยังต้องเผชิญผลกระทบจากการต้องเปิดเสรีสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ซึ่งบริษัทในสหรัฐเพียงบริษัทเดียวผูกขาดพันธุ์พืช GMOs 80% ของโลก
 
 
แนะไทยพิจารณาจะเป็นส่วนหนึ่งของ TPP หรือเลือกสร้างความเข้มแข็งให้ภูมิภาค
 
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า TPP คือยุทธศาสตร์หลักของการรุกคืบและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะที่แถบภูมิภาคอาเซียนก็มียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เช่น FTA อาเซียน+6 ที่มีจีนเป็นผู้นำ โดย TPP นั้นจะเปิดช่องให้สหรัฐฯ ใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology: BT) และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) โดยไม่ได้คำนึงว่าการค้าเสรีต้องมีความเป็นธรรม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็นมหาอำนาจโลกที่ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะฉะนั้น การเข้าร่วม TPP ไทยต้องพิจารณาว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ TPP เติบโตแล้วกลับมากดดันเราเอง หรือจะมียุทธศาสตร์ทำให้ภูมิภาคนี้เข้มแข็งขึ้น
 
ที่มา: www.senate.go.th
 
รศ.ดร.จิราพร กล่าวด้วยว่าในฐานะนักวิชาการด้านยาเล็งเห็นถึงการเดินเกมของสหรัฐและไทยเองจะตกเป็นเหยื่อที่ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของยาจากสหรัฐฯ หรือประเทศที่ได้เปรียบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเหนือเรา ที่ผ่านมา การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ รอบที่ 6 เมื่อปี 2549 ที่ จ.เชียงใหม่ มีปฏิกิริยามามายจากสังคมไทยว่าไม่เอา FTA ที่สหรัฐจะมาเอาเปรียบไทยในเรื่องทรัพย์สินทางปัญหา ซึ่ง TPP ก็ไม่ต่างจาก FTA ในครั้งนั้น อย่างไรก็ตามส่วนตัวเชื่อว่าหากมีความรู้ความเข้าใจจะสามารถหยุดยั้งได้ไม่ต่างจากในอดีตเช่นกัน
 
ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเนื้อหาในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของ TPP ว่า ไม่ต่างจาก FTA ไทย-สหรัฐ และ FTA ไทย-สหภาพยุโรป โดย TPP มีข้อกำหนดให้ทุกประเทศที่เข้าร่วมต้องทำตามคือ การเข้าไปอยู่ในข้อตกลงหลายๆ เรื่อง ซึ่งในหลายข้อตกลงไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีเพราะเห็นว่าเสียประโยชน์ และในเรื่องของเครื่องหมายการค้า (Trademark) นอกเหนือจากเครื่องหมายการค้าที่เห็นด้วยตา ยังครอบคลุมถึงสี กลิ่น รส ฯลฯ ซึ่งเทคโนโลยีของเรายังตรวจสอบไปไม่ถึง และอาจเกิดการละเมิดโดยไม่รู้ตัวได้
 
 
‘ระบบสิทธิบัตร’ เครื่องมือกีดกันทางการค้า กระทบการเข้าถึงยาของประชาชน
 
ในเรื่องสิทธิบัตร รศ.ดร.จิราพร กล่าวว่าแนวคิดเรื่องสิทธิบัตรมีความผิดเพี้ยนไป จากเดิมระบบสิทธิบัตรนั้นจะให้เมื่อมีความใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม นั่นคือต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ในการคิดค้นจึงให้การผูกขาดตลาดถึง 20 ปี เพื่อเป็นรางวัล แต่สถานการณ์ที่พบทั่วโลกในปัจจุบัน ระบบสิทธิบัตรถูกใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าและฟาดฟันคู่ต่อสู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าเรื่องนวัตกรรมด้าน IT หรือเรื่องสิทธิบัตรยาซึ่งมีการฟ้องเป็นคดีความ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญที่ผลิตยาเพื่อแข่งขันให้ราคายาถูกลงถูกขัดขวาง อุตสาหกรรมยาในประเทศอ่อนแอลง สุดท้ายต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่มากและไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในไทย
 
รศ.ดร.จิราพร กล่าวต่อมาว่าการเจรจา TPP ยังการกดดันให้ไทยให้สิทธิบัตรพืชและสัตว์ รวมถึงวิธีการวินิจฉัย การรักษา และการผ่าตัด ทั้งที่มีการจดสิทธิบัตรในยาหรือสารเคมีที่ใช้ในการตรวจรักษาแล้ว ซึ่งปัจจุบันถือเป็นข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรของไทย และเป็นไปตามข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวพันกับการค้า (TRIPs) ภายใต้ WTO อีกทั้งยังมีกรณีเรื่อง บทบัญญัติโบลาร์ (Bolar provision) คือมาตรการที่ยอมให้บริษัทผลิตยาสามัญ หรือบริษัทที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตรสามารถทำการศึกษายาหรือสารเคมีที่ยังมีสิทธิบัตรอยู่ เพื่อเตรียมพร้อมในการขึ้นทะเบียน ซึ่งมีการคัดค้าน โดยอ้างว่าเป็นการวิจัยเพื่อเตรียมการตลาด
 
 
นอกจากนั้น สหรัฐยังต้องการขยายอายุสิทธิบัตร ทำให้ขยายเวลาผูกขาดยาออกไปมากขึ้น และให้ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสามารถแก้ไขคำขอได้ อีกทั้ง ยังให้ลดคุณภาพของข้ออ้างสิทธิในสิทธิบัตรโดยไม่จำเป็นต้องมีการทดลอง ซึ่งตรงนี้เปิดโอกาสให้มีสิทธิบัตรต่อเนื่อง และทำให้เกิดสิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย ส่วนกรณีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดการกับการละเมิดสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา สหรัฐเรียกร้องเหมือนกับ FTA ไทย-สหภาพยุโรป คือให้ใช้มาตรการทางกฎหมายทั้งทางอาญาและแพ่งกับผู้ละเมิด
 
เรื่องการผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity: DE) รศ.ดร.จิราพร กล่าวว่า สหรัฐเรียกร้องให้ผูกขาดข้อมูลยาใหม่และสารเคมีการเกษตรใหม่ 5 และ 10 ปี ตามลำดับ จะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดยาใหม่ และมีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทย ส่งผลยาแพงและภาวะขาดแคลนยา จากการศึกษาพบว่าหากทำข้อตกลงนี้ และยอมให้มีการผูกขาดข้อมูลยา ค่าใช้จ่ายด้านยาจะเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์พื้นฐาน ในปีที่ 5 กว่า 81,356 ล้านบาทต่อปี ขณะที่การขยายอายุสิทธิบัตรนั้น ในปีที่ 5 จะน้อยกว่าการผูกขาดข้อมูล แต่ระยะยาว ในปีที่ 30 จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึง 619,773 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตรงนี้จะกระทบกับคนยากจน
 
 
ผลต่อเศรษฐกิจไทย สิ่งที่ต้องตรึกตรองก่อนการเจรจา TPP
 
จักรชัย โฉมทองดี โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (FOCUS) กล่าวถึงประเด็นที่ประเทศไทยต้องตรึกตรองก่อนการเจรจา TPP ว่ามีรายละเอียดที่ความหยิบยกมาพูดคุย ประกอบด้วย 1.เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (ประเทศไทยมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐถึงประมาณ ร้อยละ 3-5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ขณะที่ยังไม่มีการเปิดให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้าถึงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทยได้โดยตรง: กรมการเจราจาการค้าระหว่างประเทศ) ซึ่งถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในการเจรจาจัดทำข้อตกลงฯ ทำให้มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐตั้งแต่ระดับชาติถึงระดับท้องถิ่น ที่มีมูลค่าเกิน 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1,844,700 บาท)
 
ตรงนี้อยากตั้งคำถามว่า การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามารับจัดทำโครงการดังกล่าว นักการเมืองมองเห็นผลดีและผลเสียอย่างไร มีการพิจารณาในประเด็นนี้หรือไม่ เพราะเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามในการเตรียมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ด้วย
 
 
มิติภาคการเงิน TPP ย้ายปัญหาจาก ‘ทุนผูกขาด ธ.ไทย’ สู่การเอาเงินไปฟื้นฟูสหรัฐฯ
 
2.การเปิดเสรีบริการทางการเงิน ซึ่งกินความไปถึงการเปิดเสรีการไหลเข้า-ออกของเงินทุนด้วย จักรชัยกล่าวว่า หลังจากวิกฤติทางการเงินเมื่อปี 40 ซึ่งมีการเปิดเสรีทางการเงินตามเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตรงนี้เป็นบทเรียนราคาแพงของภาคการเงินของไทย ทำให้ไม่เคยปล่อยเรื่องนี้ในการเจรจาหรือริเริ่มการเจรจา FTA กับประเทศใดๆ เลย และมีความระวังมาโดยตลอด
 
นอกจากนี้ หากเมื่อเดือนมกราคม 2549 ไม่มีภาคประชาชนออกไปชุมชุมคัดค้านการประชุม FTA ไทย-สหรัฐที่เชียงใหม่ และการเจรจาไม่ยุติลง ไทยอาจต้องเผชิญวิกฤติอีกครั้ง เพราะหลังจากนั้นไม่เกิน 2 ปี สหรัฐเข้าสู้วิกฤติทางการเงินขนาดใหญ่ที่สุดในรอบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้หลายประเทศที่เปิดเสรีทางการเงินและถูกครอบงำทางภาคการเงินโดยสหรัฐอย่างเข้มข้นต้องล้มระเนรนาถตามไปด้วย เช่น ประเทศไอซ์แลนด์
 
ในมุมข้อดีที่มีการอ้างคือ จากการที่ทุนธนาคารของไทยมีการผูกขาดมาอย่างยาวนาน การแข่งขันมีอยู่อย่างจำกัด ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อทำธุรกิจในราคาที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น หากมีการเปิดให้สหรัฐฯ เข้ามาแข่งขันได้อย่างเต็มที่จะทำให้ลดต้นทุนในการที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่จากประสบการณ์ในประเทศอื่นๆ ที่มีการศึกษากันมา พบว่า การเข้ามาดังกล่าวไม่ได้เพื่อปล่อยกู้ให้แก่รายย่อยๆ แต่ต้องการที่จะช้อนเงินฝากระยะยาวของคนที่มีเงินออม ซึ่งระดับเงินออมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้นสูงมาก ถือเป็นแหล่งที่สะสมความมั่งคั่งเพียงไม่กี่แหล่งของโลก ณ ขณะนี้
 
“แทนที่เงินต่างๆ เหล่านี้จะหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจหรือใช้เป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจชาติก็จะถูกดูดออกไปเพื่อเป็นการไปฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อันนี้พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือว่า เราจะเป็นผู้ไปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐในส่วนหนึ่ง รวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย ถ้าเกิดจะเข้าร่วมกับสหรัฐ” จักรชัยกล่าวถึงมิติภาคการเงิน
 
 
 
เปิดเสรีภาคการบริการและการลงทุนตามแนวสหรัฐฯ กระทบการแข่งขันระยะยาว
 
จักรชัยกล่าวต่อมาถึงข้อ 3.การแข่งขันในระยะยาวว่า ในภาคการบริการและการลงทุนนั้นสหรัฐฯ จะใช้วิธีการที่กลับกันกับที่ไทยใช้มาตลอดภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเรียกว่า Positive List Approach คือระบุรายการที่ต้องการเปิดเสรี เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนา ยังไม่แน่ใจว่าภาคธุรกิจไหนจะแข่งขันได้หรือไม่ ซึ่งหากแข่งขันได้และพร้อมแข่งขันก็ควรที่จะเปิดเสรี เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสม ก้าวไปทีละจังหวะ
 
แต่สิ่งที่สหรัฐฯ เรียกร้องคือ Negative List Approach ให้เปิดเสรีภาคการบริการและการลงทุนทั้งหมด แล้วระบุรายการที่ไม่เปิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากเพราะภาคการบริการและการลงทุนนั้นหลากหลายมาก และเทคโนโลยีนั้นพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่สามารถตั้งป้อมไว้ก่อนว่าอะไรจะไม่เปิดเสรี และตรงนี้ทำให้ไม่สามารถกำหนดจังหวะก้าวได้อีกต่อไป
 
4.การคุ้มครองการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ ผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการ โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเพื่อยกเลิกนโยบายสาธารณะและเรียกค่าชดเชยจากรัฐ หากนโยบายนั้นกระทบกับสินทรัพย์หรือสินทรัพย์พึงได้ที่จะเกิดขึ้นของเอกชน
 
ยกตัวอย่าง หากการทำยูเทิร์นใต้ดอนเมืองโทลเวย์ทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้น ลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้ม ประชาชนให้การสนับสนุน แต่ทำให้แรงกดดันที่คนจะขึ้นไปใช้โทลเวย์ลดลง รายได้ของเอกชนที่เข้ามาลงทุนลดลง เอกชนสามารถจะฟ้องร้องได้ ทั้งชนะคดีด้วย และสิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือจะทำให้เกิดการแช่แข็งนโยบาย กลายเป็นการจำกัดพื้นที่ในการดำเนินนโยบายเพื่อสาธารณะของรัฐบาล
 
 
แจงพูดเรื่อง TPP ต้องพูดถึงสหรัฐฯ เหตุ! ผลได้ของไทยอยู่แค่ที่สหรัฐฯ
 
ตัวแทนจากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา กล่าวด้วยว่า การพูดถึงเรื่อง TPP แต่พูดถึงเฉพาะสหรัฐ นั่นไม่ใช่เพราะแค่สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในเขต TPP ที่เจรจา แต่ไทยขณะนี้มี FTA กับสมาชิกอื่นๆ ของ TPP อยู่แล้ว ซึ่งกรณีสุดท้ายคือชิลีนั้นเจรจาจบไปแล้วและกำลังจะเข้าสู่สภา สหรัฐฯ เป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่มี นั่นหมายความว่าผลได้ของไทยนั้นไม่ต้องพูด TPP แต่อยู่ที่สหรัฐฯ เพราะฉะนั้นการบอกว่าเราจะส่งออกไปตลาด TPP ประมาณ 40% ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมดนั้นไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆ มูลค่าที่ความคำนึงคือประมาณ 12% ที่ส่งไปสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
 
“12% ที่เรากำลังจะแลกมาด้วยสิ่งที่พูดกันไปทั้งหมด และ 12% ที่อ้างว่าจะได้นี้ของให้คิดดูดีๆ ว่าจะได้หรือเปล่า 12% นี้จะได้ด้วยวิธีอะไร” จักรชัยกล่าว
 
เขาอธิบายว่า แม้สินค้าไทยอาจได้สิทธิผ่านช่องทางพิเศษ (สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) จากการเจรจา TPP หรือก็คือ FTA นั่นเอง แต่การที่สินค้านั้นจะต้องมีถูกตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าอย่างเข้มงวด ขณะที่วัตถุดิบในการผลิตสินค้าของไทยนั้นนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้ไม่ผ่านการตรวจสอบตรงนี้ และต้องกลับไปใช้ช่องทางปกติ ซึ่งเท่ากับไม่ได้ประโยชน์จาก TPP เพราะไปเจอกับอุปสรรค์ทางการค้า
 
นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกาจะยิ่งทำให้ต้นทุนทางการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นเพื่อผลประโยชน์เฉพาะตัว ภายใต้ระบบการค้าเสรี จากประเด็ดปัญหาของ FTA คือสิ่งที่เรียกว่า Spaghetti Bowl Effect เพราะมีความซับซ้อนและยุ่งเหยิงของข้อตกลงที่แตกต่างกันทำให้การค้าระหว่างประเทศมีสภาพไม่แตกต่างจากสปาเกตตีที่พันกัน ซึ่งไม่ลดต้นทุนการผลิต ไม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ลดการใช้ทรัพยากร และไม่เพิ่มประสิทธิภาพ ขณะที่สหรัฐก็ไม่แก้ไขตรงนี้ หากมี FAT กับใครอยู่แล้วก็จะใช้แบบนั้น ส่วนใครยังไม่มีก็มาคุยกันใหม่ภายใต้ข้อตกลงใหม่ และความวุ่นวายตรงนี้ในกรณี TPP ก็จะไม่ลดลง
 
“ผมขอให้ใครก็ได้ในรัฐบาลออกมาอธิบายหน่อยว่า เราจะได้อะไร และได้โปรดครับ ด้วยความเคารพเลยว่า อย่างใช้คำว่าตกขบวน ท่านพูดคำนี้ทีไรผมคิดถึงปศุสัตว์ทุกที ท่านให้เหตุผลว่าอะไรที่จะได้ ให้ตัวเลข ให้อะไรมาก็ได้ครับ ให้เหตุผลที่ชัดเจน แล้วการแลกเปลี่ยน และองค์ความรู้จะเกิดขึ้น” จักรชัยกล่าว

 

ตัวแทนภาคประชาสังคมไทย รวมตัวคัดค้านการประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) และจัดกิจกรรมต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอบามาในการมาเยือนประเทศไทย ที่ด้านหน้าสนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 18 พ.ย.55 (คลิกอ่าน)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net