พนมสารคามช้ำ โรงไฟฟ้าอาศัยช่องว่าง 'ผังเมือง' เดินเรื่องขออนุญาต

รายงานข่าวจากนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ อ.พนมสารคาม แจ้งว่า จากการที่บริษัทแอ๊ดว๊านซ์ อะโกร เอเชียจำกัด ได้ส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดเกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจะมีการประชุมพิจารณารายงานอีไอเอนี้โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ในวันที่ 20 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

บริษัทแอ๊ดว๊านซ์ อะโกร เอเชีย ส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งที่รู้ว่า พื้นที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้า หมู่ 7 ตำบลเกาะขนุน อ.พนมสารคาม เป็นพื้นที่ "สีเขียวทแยงขาว” หรือเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ในผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทราที่กำลังรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น

ผังเมืองรวมจังหวัดฉะเชิงเทราฉบับนี้ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 10 ปีในการจัดทำ ผ่านการประชุมระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนหลายครั้งหลายหน จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีใด้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อ 14 สิงหาคม 2555 และผ่านขั้นตอนต่างๆมาจนถึงขั้นตอนที่ 23 แล้ว จากทั้งหมด 24 ขั้นตอน ซึ่งคือขั้นตอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามในกฎกระทรวงฉบับนี้ แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 24 

นอกจากพี้นที่หมู่ 7 ตำบลเกาะขนุน อ.พนมสารคาม จะถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีเขียวทแยงขาวแล้ว ในบัญชีท้ายกฎกระทรวงผังเมืองฉบับนี้ ยังกำหนดให้โรงไฟฟ้าเป็นข้อห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินอีกด้วย บริษัทแอ๊ดว๊านซ์ อะโกร เอเชีย ยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ คชก.พิจารณา ทั้งที่เจ้าหน้าที่จากสำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ได้ให้ข้อมูลนี้ไว้แล้วในวันที่บริษัทจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ เป็นการ ”ช่วงชิง” จังหวะที่เรียกได้ว่าเป็น ”สุญญากาศ” ของผังเมือง แสดงให้เห็นว่า บริษัทไม่สนใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสำนึกความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม ถือได้ว่าขาดธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ การกระทำเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นการท้าทายจริยธรรมของ คชก. ด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้นแล้ว ชุมชนในพื้นที่รอบที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะคนในหมู่7 เอง ได้พยายามดิ้นรนปกป้องพื้นที่ “ทำอยู่ทำกิน” ของตัวเอง  เนื่องจากเห็นว่าการศึกษาอีไอเอของโรงไฟฟ้ายังไม่รอบด้านพอ และพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้วยการเชิญ คชก.ลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริงด้วยตาตนเอง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ชุมชนจึงดิ้นรนอีกครั้ง ด้วยการขอเข้าไปให้ข้อมูลในการประชุมพิจารณาของ คชก.ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ตาม ”สิทธิชุมชน” ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 66 และ 67 คือ ชุมชนและบุคคลมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของตน การตัดสินใจของ คชก.ว่าจะรับฟังข้อมูลของชุมชนหรือไม่ รวมทั้งผลการพิจารณาอีไอเอของบริษัทจะเป็นเครื่องพิสูจน์จริยธรรมของ คชก.ที่บริษัทแอ๊ดว๊านซ์ อะโกร เอเชีย ได้ท้าทายไว้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท