Skip to main content
sharethis

ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนการตายคดี “ลุงบุญมี” เหยื่อกระสุนเดือนพฤษภา 53 วันที่ 16 ม.ค.นี้ พนง.สอบสวน เบิกความ 3 ประเด็น “ชนิดกระสุน” “ทิศทาง” “และปากคำเจ้าหน้าที่” ชี้การตายเกิดจากกระกระทำของทหาร

ภาพนายบุญมี เริ่มสุข ขณะรักษาตัวก่อนเสียชีวิต

20 พ.ย.55 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคําร้อง คดีหมายเลขดํา ที่ ช. 7/2555 ที่พนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขอให้ ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิต ของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้อง ด้านซ้ายกระสุนตัดลำไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 28 ก.ค.53 ขณะถูก ยิงเป็นช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายก รัฐมนตรี

โดยในวันนี้เป็นการนัดไต่สวนวันสุดท้ายของคดี โดยมีพยานเบิกความ 4 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ เจ้าหน้าที่สอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) พ.ต.ท.สาธิต ภักดี เจ้าหน้าที่สอบสวน ผู้ชำนาญการพิเศษ สน.บางรัก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) รวมทั้งทนายญาติผู้ตายคือนายดิศักดิ์ ดีสม ได้เบิกความในฐานะพยานด้วยเป็นปากสุดท้ายของการไต่สวนเพื่อนำคำเบิกความของพยานในคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ส่งศาล

ช่วงเช้า เป็นการเบิกความของ เจ้าหน้าที่สอบสวนของ DSI และ สน.บางรัก ซึ่งทั้งสองปากเบิกความยื่นยันจากผลการสอบสวนเชื่อว่าเป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ คือจากคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณที่เกิดเหตุยืนยันว่าได้ปฏิบัติการบริเวณนั้นจริง หัวกระสุนที่อยู่ในร่างผู้เสียชีวิตเป็นกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่ใช้กับปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่เบิกมาใช้ในการปฏิบัติการ ผลการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่พยานไปร่วมตรวจสอบด้วย พบรอยกระสุนจำนวนมากที่มีวิถีมาจากฝังเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ รวมทั้งรายงานการชุนสูตรพลิกศพที่ระบุว่าเสียชีวิตจากการติดเชื่อในกระแสเลือดรวมทั้งบาดแผลจากกระสุนปืน นอกจากนี้ผู้ตายยังได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับผู้เข้าเยี่ยมซึ่งมีบันทึกเป็นวีดีโอในระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล ระบุว่าถูกทหารยิง และตรงกับประจักษ์พยานที่ได้มาให้ปากคำ

พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ เบิกความด้วยว่าบริเวณที่ผู้เสียชีวิตถูกยิงมีร่องรอยกระสุนเจาะไปที่ตู้โทรศัพท์ เสา ป้ายต่างๆ สูงจากเข่าถึงหัว จนกระทั้งถึงบนสะพานลอยข้ามถนน ประมาณ เกิน 50 รอย ในช่วงเวลานั้นที่มาการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทราบว่ามีผู้ถูกกระสุนปืนแบบเดียวกับที่ผู้ตายถูกยิงคือ .223 เสียชีวิตประมาณ 15 ศพ ผู้บาดเจ็บประมาณ 100 คน ตั้งแต่สนามมวยมวยลุมพินีไปจนถึงใต้ทางด่วนพระราม 4

สำหรับกระสุนที่ผู้ตายถูกยิงนั้นจากการตรวจสอบ กระสุนมาจากฝั่ง ถนนพระราม 4 ขาเข้า บริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี โดยขณะนั้นมีทหารตั้งแนว อยู่หน้าสนามมวย ทั้ง 2 ฝัง วิถีกระสุนมุ่งหน้าไปทางฝั่งคลองเตย และเป็นทิศทางเดียวกับที่พบรอยกระสุนจำนวนมากบริเวณนั้น

เจ้าหน้าที่สอบสวนจาก DSI ยังเบิกความอีกว่า จากการสอบสวนในภายหลังและตรวจที่เกิดเหตุ และการตรวจคลิปเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 14-19 พ.ค.53 กระสุนจะยิงจาก 2 ฝั่งเป็นลักษณะสลับฟันปลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารจะตั้งกระสอบทราย หน้าสนามมวยลุมพินี โดยหากอยู่ฝั่งซอยงามดูพลีจะยิงไปฝั่ง ซ.ปลุกจิตหรือปั้ม ปตท. รวมทั้งจากการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติการ นอกจากประจำอยู่หน้าสนามมวยแล้วยังมีการเคลื่อนที่ในวันแรก คือวันที่ 14 พ.ค. เลยปั้ม ปตท. สาขาพระรามสี่ และกลับมาตั้งแนวถาวรที่หน้ามสนามมวย

พ.ต.ท. สาธิต เบิกความว่าได้รับเอกสารจาก DSI  เป็นซีดีวีดีโอและการถอดเทปวีดีโอที่มีการสัมภาษณ์ผู้ตายในระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลระบุว่าถูกยิงมาจากฝั่งทหาร

เจ้าหน้าที่สอบสวน สน.บางรัก เบิกความผลการสอบสวนว่าผู้ตาย ถูกยิงเวลา 16.00 น. วันที่ 14 พ.ค.53 บริเวนถนน พระราม 4 รักษาตัวและเสียชีวิตวันที่ 28 ก.ค. 53 สาเหตุเสียชีวิตจากติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับบาดแผลที่ถูกยิง

พ.ต.ท. สาธิต เบิกความด้วยว่า จากการสอบสวน พ.อ.เพชรพนม โพธิ์ชัย อดีตผบ.กองพันทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์(ม.พัน 5 รอ.) และเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณเกิดเหตุยอมรับได้เขาไปปฏิบัติการในที่เกิดเหตุ ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้ยิงปืนเอ็ม 16 และลุกซอง แต่ให้การว่าใช้กระสุนซ้อมและยาง

ทั้งนี้ พ.ต.ท. สาธิต เบิกความอีกว่าตนเองได้ซีดีวีดีโอจากช่างภาพช่อง 7 ที่ตามบันทึกภาพวีดีโอขณะเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการและยิงปืน จึงได้ให้ผู้ชำนาญการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดูภาพลักษณะการใช้อาวุธปืน ซึ่งได้พิจารณาว่าหากกรณียิงกระสุนซ้อม จะต้องมีการคัดปลอกกระสุนออก แต่ตามภาพวีดีโอไม่มีการดึงคันรั้งลูกเลื่อนเพื่อคัดปลอกกระสุน อย่างไรก็ตามกรณีที่ไม่มีการดึงคันรั้งเพื่อคัดปลอกกระสุนออก ผู้ชำนาญการอธิบายว่าจะต้องมีอแดปเตอร์สวมไว้ที่ปากลำกล้องปืน เพราะอุปกรณ์นี้ทำให้ปากกระบอกปืนเล็กลงจึงมีแรงดันพอที่จะคัดปลอกกระสุนออกมาเองได้ แต่ตามภาพวีดีโอนั้นไม่พบอุปกรณ์ดังกล่าวติดอยู่ จึงเชื่อได้ว่าลักษณะการยิงดังกล่าวจะเป็นการใช้กระสุนจริง

ส่วนเรื่องชายชุดดำในกลุ่มผู้ชุมนุม พ.ต.ท.สาธิต เบิกความว่าจากการสอบสวน เจ้าหน้าที่ทหารและชาวบ้านบริเวณนั้น ระบุว่าไม่พบ และจากการสอบสวนในบริเวณผู้ตายถูกยิง เจ้าหน้าที่ตั้งด่านแข็งแรง ที่ห้ามคนเข้าออกไปที่สี่แยกราชประสงค์ได้ การตั้งด่านแบบนั้นจากทิศทางกระสุนปืนด้านหลังจึงทหารไม่สามารถมีใครเข้าไปหรือยิงมาได้ และขณะที่ผู้ตายถูกยิงนั้นไม่มีอาวุธ และไม่ได้เป็นผู้ชุมนุมกับ นปช. แต่อาศัยบริเวณนั้น ซึ่งขณะเกิดเหตุออกมากินข้าว และดูกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้น ทหารไล่ผู้ชุมนุมมา จึงถูกยิง

หลังจากนั้นในช่วงบ่าย นายณัฐวุฒิ ได้เข้าเบิกความยืนยันการชุมนุมของ นปช. เมื่อ มี.ค.-พ.ค.53 มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้นายก คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อให้มีการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าการเป็นรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์นั้นไม่ได้มาด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกรัฐบาลปฏิเสธข้อเรียกร้อง โดยมีการชุมนุมตั้ง แต่วันที่ 12 มี.ค. ที่ราชดำเนิน 7 เม.ย.53 รัฐบาลประกาศสถานการฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พรก.ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. ดูแลสถานการณ์โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ขณะนั้น เป็นผู้อำนายการ

นายณัฐวุฒิ เบิกความว่า ตลอดเวลาตั้งแต่ชุมนุมถึงวันที่ 7 เม.ย.53 ผู้ชุมนุมไปที่ต่างๆ โดยไม่มีความรุนแรง หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลได้ตัดสัญญาณช่องพีเพิลชาแนลที่ถ่ายทอดสื่อสารการเคลื่อนไหวของ นปช.ให้กับประชาชนได้รับทราบ หลังจากนั้น 9 เม.ย. ตนและนปช. จึงเพื่อไปชุมนุมที่สถานีดาวเทียมไทยคม เพื่อเรียกร้องให้ต่อสัญญาณ โดยที่นั่นมีเจ้าหน้าที่ที่มีอาวุธสงครามแต่ก็ไม่มีเหตุร้ายแรงใดๆ และได้รัฐบาลได้ต่อสัญญาณดาวเทียม พวกตนได้กลับไปที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ แต่กลับถูกตัดสัญญาณอีก และนายกแสดงความไม่พอใจทางโทรทัศน์ และประกาศจะไม่ยอมให้เกิดเหตุนี้อีก

จนกระทั้งวันที่ 10 เม.ย.53 ช่วงสายได้รับรายงานว่าจะมีการเคลื่อนที่ สะพานผ่านฟ้า ผู้ชุมนุมได้เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เข้ามา ในเหตุการณ์นั้นทหารมีอาวุธสงคราม มีปฏิบัติการต่อเนื่องจนถึงค่ำ จนกระทั้งมีประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหารถูกยิงเสียชีวิต 25 ราย โดยประชาชนส่วนใหญ่ถูกยิงที่อวัยวะสำคัญและศีรษะ ก่อนที่ทหารจะหยุดปฏิบัติการ

วันที่ 13 พ.ค.53 เกิดเหตุลอบยิง เสธ.แดง หรือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่ ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศาลาแดง(สีลม) หลังจากนั้นได้รับรายงานว่าทหารได้ปิดกั้นบริเณรอบราชประสงค์ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าร่วมได้ จึงเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับประชาชนตามจุดต่างๆ เช่น ถนนพระรามสี่ ราชปรารภ แดนแดง ซ.รางน้ำ ส่งผลคนเข้าก็ไม่ได้ออกก็ไม่ได้เพราะทหารยิงสกัดอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งรัฐบาลประกาศตัดน้ำ ไฟ สัญญาณโทรศัพท์ บริเวณที่ชุมนุม

นอกจากนี้ แกนนำ นปช. เบิกความว่า ผู้ที่มาชุมนุม มีทั้งบุคคลทุกเพศวัย หลายสาขาอาชีพ สำหรับคำว่า การ “กระชับพื้นที่” ของ ศอฉ. นั้นหมายถึงการสลายการชุมนุม การวางกำลังอาวุธครบมือเพื่อสลายการชุมนุมในเหตุการณ 10 เม.ย. และ 13 ถึง 19 พ.ค.53 นั้น เป็นการปฏิบัติการทางการทหาร มีการใช้อาวุธสงคราม เขตกระสุนจริง อาวุธปืนติดลำกล้อง กระสุนจริง เป็นต้น รวมทั้งมีการนำส่งภาพพลซุ่มยิงให้กับศาล เพื่อยืนยันถึงการปฏิบัติการว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล

แกนนำ นปช. เบิกความยืนยันว่าการชุมนุมของ นปช. ไม่ใช่การก่อการร้ายตามที่ ศอฉ.กล่าวอ้าง เนื่องจากชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ สำหรับคดีนี้ทราบจากข่าวว่าลุงบุญมีหรือผู้ตายถูกยิงที่บริเวณลำตัว วันที่ 14 พ.ค 53 ที่หน้าปั้มน้ำมัน ปตท. ทราบว่าแนวที่ถูกยิงมาจากทิศที่ทหารตั้งกำลังอยู่ โดยผู้ตายไม่มีอาวุธ ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่ทราบว่ามีการยิงลูกพลุตะไลของเล่นที่มีระยะยิงเพียง 10 เมตร ซึ่งไม่ถึงแบะไม่เป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้บางส่วนมีการใช้หนังสติ๊ก

 

วีดีโอคลิปสัมภาษณ์นายบุญมี ขณะเข้ารับการรักษาที่ รพ.ตำรวจ ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
คลิปจาก กาญจน์ชนิษฐา เอกแสงศรี

ทั้งนี้คดีไต่สวนการเสียชีวิตลุงบุญมี ถือเป็นคดีที่ 4 ที่ไต่สวนเสร็จสิ้น ในคดีการเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.- พ.ค. 53 โดยศาลจะมีคำสั่งในวันที่ 16 ม.ค. 56 เวลา 9.00 น. ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา มี 1 คดีที่ ศาลได้มีคำสั่งว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่แล้ว คือคดีของการตายนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ราชปรารภในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา ส่วนอีก 2 คดีที่มีการไต่สวนเสร็จและรอคำสั่งศาล คือคดีนายชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ โดยศาลอาญา รัชดา จะมีคำสั่งในวันที่ 26 พ.ย. นี้ ส่วนอีกคดีคือคดีของนายชาติชาย ชาเหลา อายุ 25 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 13 พ.ค.53 ที่บริเวณหน้าบริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี โดยศาลนัดฟังคำสั่ง 17 ธ.ค. นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net