รถไฟความเร็วสูง : ฝันให้ได้ (ต้อง) ไปให้ถึง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

            นับวันความสามารถทางการแข่งขันด้านต่างๆ ของประเทศไทยจะทยอยหมดลงไปอย่างมาก ทรัพยากรและแร่ธาตุที่เคยเป็นแรงดึงดูดใจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนตั้งแต่ช่วงอาณานิคม จนถึงราวทศวรรษ 1970 ได้ร่อยหรอลง ในทางเดียวกัน ข้อได้เปรียบด้านแรงงานและค่าแรง (ทั้งก่อนและหลังการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท) ดูจะลดลง พร้อมกับการเปิดประเทศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนของหลายประเทศในภูมิภาค

            ปัญหาสำคัญที่ควรตั้งคำถามทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า คือเราจะสามารถอยู่รอดภายใต้สถานการณ์เช่นที่ว่านี้ได้อย่างไร?

            แม้ประเทศไทยจะมีจุดแข็งหลายด้าน อาทิ การมีภาคธุรกิจจำนวนหนึ่งที่แข็งแกร่งและมีประสบการณ์สามารถรับมือกับความไร้เสถียรภาพด้านๆ ต่างในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี แต่จุดแข็งที่สำคัญที่สุดของประเทศตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้นจนถึงปัจจุบัน และยากที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็คือ “จุดแข็งทางภูมิศาสตร์” ในการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองท่า และศูนย์กลางต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแนวตะวันออก/ตะวันตก และเหนือ/ใต้ โดยที่สภาพและการเชื่อมต่อดังกล่าวเป็นสิ่งที่ปรากฏและดำเนินมาตั้งแต่อดีตเหมือนหลายพันปีก่อนจนถึงปัจจุบัน

          เราจะเพิ่มศักยภาพของ “จุดแข็ง” ดังกล่าวนี้ได้อย่างไร?

            ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา “โครงการรถไฟความเร็วสูง” (High Speed Train) ได้รับการพูดถึงอย่างหนาหูขึ้นทุกวัน ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนแล้ว โครงการดังกล่าวนี้จะเป็นตัวช่วยอย่างสำคัญในการผลักดันและเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย แปรจุด “จุดแข็ง” ทางภูมิศาสตร์ของไทยให้กลายเป็น “ศักยภาพ” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงสังคมและวิถีของผู้คน

            การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงจะทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของประเทศไทยดังต่อไปนี้

           ประการแรก ดังที่กล่าวมาแล้ว “จุดแข็ง” ทางภูมิศาสตร์ของไทยจะแปรเปลี่ยนเป็น “ศักยภาพ” สำคัญในการ “เชื่อมโยง” ศูนย์กลางแต่ละภูมิภาคของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และลุ่มแม่น้ำโขง ด้วยความเร็วในการเดินทางที่สั้นลงอย่างมาก อันจะส่งผลให้เกิดการไหลเวียนที่รวดเร็วของผู้คน สินค้า และทุน รวมถึงกระชับแหล่งวัตถุดิบให้แนบแน่นกับแหล่งผลิต และแหล่งผลิตกับตลาดสินค้าให้แนบแน่นขึ้นด้วย “ต้นทุน” การเชื่อมโยงที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบถนน

            ประการที่สอง “กรุงเทพฯ” จะลดความแออัดและกระจุกตัวของประชากรที่เป็นสาเหตุของปัญหาสังคมและการจราจร พร้อมกับการขยายตัวของ “เมืองหลัก” และ “เมืองบริวาร” ตามเส้นทางรถไฟในระยะเดินทางประมาณ ½ - 2 ชั่วโมงด้วยรถไฟจากกรุงเทพฯ อันหมายถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนจะมีแนวโน้มทีดีขึ้นและไม่ต้องมีการแย่งชิงทรัพยากรในเมืองศูนย์กลางมากนัก

            ประการที่สาม “เมืองหลัก” และ “เมืองรอง” ตามภูมิภาคที่เดินทางโดยสะดวกจากกรุงเทพฯ และดินแดนตอนในของประเทศจะเกิดการเติบโตอย่างมีสเถียรภาพ เกิดธุรกิจใหม่ๆ อาทิ ธุรกิจในภาคบริการ การขนส่ง อุตสาหกรรม และธุรกิจสร้างสรรค์ต่างๆ ที่นอกเหนือจากภาคเกษตรกรรมมากขึ้น เนื่องจากทรัพยากร บุคลากร และทุนสามารถไหลเวียนได้รวดเร็วและสะดวกขึ้น โดยที่ “เมืองหลัก” และ “เมืองรอง” จำนวนหนึ่งจะแปรสภาพตัวเองกลายเป็น “ศูนย์รวม” (Hub) ในการกระจายสินค้าสู่พื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน ในทางเดียวกับเป็นที่รวบรวมสินค้าจากพื้นที่เหล่านั้นเพื่อส่งต่อและกระจายในพื้นที่อื่น ในลักษณะเดียวกับที่กรุงเทพมหานครเป็นอยู่ในปัจจุบัน

            ประการสุดท้าย “กรุงเทพฯ” จากปัจจุบันที่เป็นศูนย์กลางในแทบทุกเรื่องจะแปรสภาพตัวเองจากที่อยู่ประจำของคนจำนวนมากเป็น “จุดเชื่อมต่อ” และปฏิสังสรรค์ของผู้คน ทรัพยากร และทุน ที่จะเคลื่อนย้าย (ด้วยความเร็วสูง) จากภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน จนกลายเป็นเมืองที่มีความหลากหลายของผู้คนและชีวิตทางสังคม (Cosmopolitan city) เฉกเช่นเดียวกับที่ปรากฏในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ฮ่องกง และสิงคโปร์

            จากที่กล่าวมารถไฟความเร็วสูงจึงเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพของประเทศที่ความสามารถและศักยภาพทางการแข่งขันในหลายด้านเริ่มถดถอยลง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนย้ายของภาคเกษตรกรรมสู่ภาคการผลิตและการบริการที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการแปรสภาพของ “ต่างจังหวัด” ให้กลายเป็น “ศูนย์กลาง” ด้านต่างๆ ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และลุ่มน้ำโขงอันยากที่จะหนีพ้น

 

...........................
เผยแพร่ครั้งแรกใน คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท