แนวรบข้อมูลโซเชียลมีเดียในฉนวนกาซ่า

 

ในช่วงที่การโจมตีฉนวนกาซ่าดำเนินอยู่นั้น ทั้งฝ่ายอิสราเอล ฮามาส และประชาชนผู้ไม่มีฝ่าย ต่างก็อยู่ในสงครามแย่งชิงพื้นที่การนำเสนอข้อมูล เมื่อพื้นที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์สำคัญของการโฆษณาชวนเชื่อและการใช้ข่มขวัญฝ่ายตรงข้าม

จิลเลียน ซี ยอร์ค ผู้อำนวยการสาขาเสรีภาพในการแสดงความเห็นนานาชาติจากองค์กร Electronic Frontier Foundation ในซานฟรานซิสโก เขียนบทความถึงการที่รัฐบาลอิสราเอลใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย ในการสร้างอิทธิพลต่อความเห็นของประชาชน โดยก่อนหน้านี้อิสราเอลก็เคยใช้วิธีการเดียวกันใน 'ปฏิบัติการคาสท์ลีด' (Operation Cast Lead) เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยอาศัย Twitter และ Youtube

จิลเลียนกล่าวว่า ขณะเดียวกันก็มีปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียในการแสดงการสนับสนุนปาเลสไตน์ เช่นโครงการณ์รณรงค์ด้วยการ 'บริจาค' หนึ่งสเตตัสใน Facebook เพื่อทำให้แฮซแท็ค #Gaza กลายเป็นที่นิยมใน Twitter ซึ่งตั้งแต่ปี 2008 เหล่านักกิจกรรมก็ทำให้ #Gaza กลายเป็นคำฮิตทุกครั้งที่ครบรอบปี และที่สำคัญคือพวกเขาพัฒนาเทคนิคนี้ท่ามกลางการถูกปิดกั้นช่องทางโดยอิสราเอล

แต่หลังจากนั้นสี่ปีก็เกิดความเปลี่ยนแปลง ยูเซฟ มูนเนเยร์ จาก ปาเลสไตน์เซ็นเตอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีร่าเมื่อไม่นานมานี้ว่า ในช่วงที่ฉนวนกาซ่าถูกโจมตีในปี 2008-2009 เป็นเรื่องยากมากที่นำเสนอภาพออกมาได้ แต่ด้วยเครื่องมืออย่าง Twitter, Facebook และ YouTube ผลที่เกิดตามมาคือประชาชนธรรมดาทั่วไปสามารถมีสิทธิมีเสียงในการร่วมถกเถียงประเด็นใหญ่โดยอาศัยเครื่องมือนี้

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียที่คนทั่วไปใช้สื่อสารเรื่องราวของตนได้ ซึ่งเคยสร้างพลังในเหตุการณ์ลุกฮือในตูนีเซีย, อียิปต์, และในประเทศอื่นๆแถบภูมิภาค ก็ทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องใช้กลยุทธใหม่ จากเดิมที่เป็นการแทรงแซงโดยรัฐบาล ก็กลายเป็นวิธีการ 'โทรล' (Trolling คือการกลั่นแกล้งอย่างหนึ่งทางอินเตอร์เน็ต มีเป้าหมายหลอกล่อเพื่อทำให้อีกฝ่ายโกรธและแสดงการโต้ตอบที่ไม่เหมาะสมออกมา บางครั้งหมายรวมถึงการหลอกล่อด้วยข้อมูลเท็จด้วย)

จิลเลียนบอกว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นในซีเรียแสดงให้เห็นปัญหาท้าทายใหญ่หลวงในการเป็นนักข่าวพลเมือง ซึ่งทำให้เกิดความไม่เชื่อถือในตัวโซเชียลมีเดีย ที่น่ายกตัวอย่างคือการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคน 'นิรนาม' (Anonymous) ที่เป็นเสมือนเงาคุกคามของรัฐบาล สร้างความกังวลในเรื่อง 'สงครามไซเบอร์'

สงครามจิตวิทยาข่มขวัญ

ไม่เพียงแค่ฝ่ายอิสราเอลเท่านั้น มีบทวิเคราะห์อีกฉบับหนึ่งเขียนโดยผู้สื่อข่าว ซาฟา จูเดห์ ก็กล่าวว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาสก็ใช้โทรทัศน์ช่อง อัล-กุดส์ ในการแสดงแสนยานุภาพในช่วงที่อิสราเอลประกาศโจมตีฉนวนกาซ่า ทั้งจากการอัพเดทการยิงจรวดขีปนาวุธใส่ฝ่ายอิสราเอลนาทีต่อนาที และการแสดงภาพกลุ่มนักรบคลุมหน้าเดินขบวนหลายร้อยคน รวมถึงมีการนำภาพนักรบฝ่ายตนเองกำลังโจมตีฝ่ายอิสราเอลนำมาฉายซ้ำๆ

บทวิเคราะห์กล่าวอีกว่า 'การประชาสัมพันธ์' ของฮามาส มีเป้าหมายอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือการสื่อกับประชาชนในกาซ่า อีกเป้าหมายหนึ่งคือต้องการแสดงให้ผู้มีอำนาจของอิสราเอลได้เห็นถึงความแข็งแกร่งของกำลังการรบและโครงสร้างองค์กรที่เป็นปึกแผ่น อันเป็นที่ยอมรับและมีอำนาจในหมู่ประชาชนของกาซ่า ขณะที่อิสราเอลเป็นกลุ่มที่ประชาชนจะไม่ยอมรับพวกเขา

วิพากษ์บทบาทของเอกชนผู้ให้พื้นที่โซเชียลมีเดีย

จิลเลียนกล่าวในบทความว่า เธอรู้สึกกังวลในเรื่องที่บริษัทให้บริการสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กเองไม่ได้ปกป้องผู้ใช้จากคำข่มขู่ของฝ่ายรัฐบาล

เช่นกรณีของ Youtube ที่เคยปิดกั้นการเข้าชมวีดิโอล้อเลียนศาสนาอิสลามในอียิปต์และลิเบีย แม้จะไม่มีคำขอจากรัฐบาลหรือคำสั่งศาล แต่ในขณะเดียวกันกลับปฏิเสธที่จะนำวีดิโอการสังหารผู้นำกลุ่มฮามาสที่โพสท์โดยกองทัพอิสราเอลออก แม้ว่าตัววีดิโอเองจะละเมิดกฏการให้บริการในเรื่องการมีภาพความรุนแรง ส่วนกรณีของ Twitter ก็ถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงยังปล่อยให้คำกล่าวเชิงข่มขู่ของ @IDFSpokesperson (ซึ่งแสดงตัวเป็นโฆษกของกองทัพอิสราเอล) ยังคงอยู่ในเว็บได้

ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่าอิสราเอลทำการปิดกั้นโครงข่ายการสื่อสารในกาซ่าแบบเดียวกับที่อดีตปธน.มูบารัคของอียิปต์เคยทำเมื่อช่วงที่มีการประท้วงปี 2011 ขณะที่โครงข่ายของโทรศัพท์มือถือยังคงใช้งานได้ แต่ระบบไฟฟ้าของกาซ่าใช้งานไม่ได้ ทำให้นักกิจกรรม Telecomix เผยแพร่วิธีการส่งข้อมูลด้วยวิธีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตวิธีอื่น เช่น การใช้ Text Message เพื่อเขียนข้อความใน Twitter การใช้ซิมการ์ดของอียิปต์ หรือใช้หมายเลข Dial up ของ Telecomix

เมื่อนักข่าวพลเมืองในพื้นที่สร้างผลสะเทือนมากกว่า

การขาดแคลนรายงานข่าวที่เป็นทางการจากพื้นที่ ทำให้โซเชียลมีเดียมีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลมากยิ่งขึ้น เมื่อปี 2009 มีบทความในวารสาร Arab Media & Society ที่กล่าวว่าการไม่อนุญาตให้นักข่าวเข้าไปในพื้นที่ช่วงที่มีปฏิบัติการคาสท์ลีด ทำให้คนภายนอกต้องอาศัยสื่อตัวกลางอิสระที่ก้าวข้ามไปมาระหว่างสื่อแบบเดิมกับสื่อโซเชียลมีเดียโดยไม่มีการกลั่นกรอง

และในสงครามปี 2012 แม้จะไม่มีการห้ามนักข่าวแบบเดิม แต่เนื่องจากการอาศัยเครื่องมือโซเชียลมีเดียจากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายนักกิจกรรมที่นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้โซเชียลมีเดียยังคงมีบทบาทสำคัญ

ซาฟากล่าวว่ากลุ่มฮามาสมีทักษะในการประชาสัมพันธ์ตนเองมากขึ้น แต่สิ่งที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแนวคิดวาทกรรมความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จริงๆ คือวัยรุ่นหนุ่มสาวนักกิจกรรมชาวปาเลสไตน์ในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังบูม

ไมค์ กิกโล ผู้สื่อข่าว Newsweek กล่าวว่า "แม้กลุ่มฮามาสจะยังไม่ชำนาญในการพยายามใช้โซเชียลมีเดีย แต่เป็นกลุ่มนักกิจกรรมอิสระที่ควบคุมอำนาจการเล่าเรื่องของฝ่ายปาเลสไตน์ จากการที่คนในกาซ่าเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อถ่ายทำและอัพโหลดรูปกับวีดิโอของการนองเลือด"

จากการที่ภาพบางภาพกลายเป็นสัญลักษณ์ของการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของอิสราเอล แสดงให้เห็นว่าเนื้อหาจากนักข่าวพลเมืองชาวปาเลสไตน์ส่งผลสะเทือนมากกว่าการรณรงค์ของฝ่ายอิสราเอลที่อาศัยเหล่าอาสาสมัครทั้งจากอิสราเอลและสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์หรือผู้ใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ และคนเหล่านี้ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อเนื้อหาที่มาจากพื้นที่กาซ่าโดยตรง

"พวกเราต้องแยกแยะระหว่างสื่อที่เป็นปากเป็นเสียงให้ทางการซึ่งปนอยู่ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่ามันจะเป็นของรัฐบาลอิสราเอลหรือฝ่ายใดๆ ก็ตามในกาซ่า กับสื่อที่มาจากประชาชน และผมคิดว่าสิ่งที่พวกเราสามารถกระทำได้แบบที่ไม่เคยทำมาก่อนคือ การเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้โดยทันที ซึ่งเป็นประชาชนที่ไม่มีฝ่าย ไม่ใช่รัฐบาล หรือกลุ่มใดๆ และสามารถรับฟังพวกเขาได้โดยตรงว่าเกิดอะไรขึ้น" ยูเซฟ มูนเนเยร์ กล่าวให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีร่า

จิลเลียน ยอร์ค กล่าวว่าเหตุการณ์ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ทำให้พวกเราเท่าทันกับสื่อออนไลน์มากขึ้น และในขณะที่สงครามข้อมูลในโลกดิจิตอลเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสงครามในพื้นที่ ก็มีการเฝ้าระวังไม่ให้มีเพียงสื่อตัวกลางของรัฐเท่านั้นที่จะมีบทบาทในโซเชียลมีเดีย

เรียบเรียงจาก

Gaza unplugged?, Jillian C. York, Aljazeera, 19-11-2012

Analysis: Media war escalates in Gaza, Safa Joudeh, Aljazeera, 19-11-2012

 

วิธีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในกาซ่า

http://pastebin.com/6dYQruHu

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท