ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.ปราบสิ่งยั่วยุความรุนแรง

ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามสิ่งของยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรง ให้อำนาจ จนท.ค้นบ้าน-คอมฯ นักวิชาการด้านเทคโนดิจิทัล ชี้ กม.นิยามความผิดกว้างและไม่ชัดเจน

20 พ.ย.55 ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป 

โดยไทยรัฐออนไลน์รายงานด้วยว่า นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้เห็นชอบตามที่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย เพื่อให้มีกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับวัตถุลามก รวมถึงสื่อที่ส่งเสริมและยั่วยุพฤติกรรมต่างๆ ที่ร้ายแรงไม่น้อยกว่าวัตถุลามก  ขณะที่เรื่องนี้ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และครั้งนี้เป็นการยืนยันร่างเดิมไม่มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปไว้ดังนี้

          1. กำหนดความหมายของสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายและลักษณะการกระทำที่เป็นพฤติกรรมอันตราย ซึ่งรวมถึงการกระทำวิปริตทางเพศ การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก การฆ่าตัวตายของเด็กหรือเป็นหมู่คณะ การใช้ยาเสพติด การกระทำความผิดต่อชีวิตและความผิดต่อทรัพย์ และขยายความหมายของคำว่า “เด็ก” ให้ครอบคลุมถึงตัวแสดงที่ปรากฏอยู่ในสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายซึ่งมีลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเด็กด้วย

          2. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นตามกฎหมายอื่นที่มีลักษณะหรือเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย และกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยและการวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการและการประสานงาน

          3. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย และให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น

          4. กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ซึ่งประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

          5. กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชนผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ

          6. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเข้าไปตรวจค้นในสถานที่หรือเคหสถานของบุคคล ค้นบุคคลหรือยานพาหนะ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ยึดหรืออายัดสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายหรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด รวมทั้งมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดในพัสดุภัณฑ์จดหมาย ตู้ไปรษณีย์ ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ทั้งนี้ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลและต้องรายงานผลการดำเนินการให้ศาลทราบด้วย และให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

          7. กำหนดความผิดและบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย

นายอธิป จิตตฤกษ์ นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีดิจิทัลกับศิลปวัฒนธรรม  มอง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า นิยามความผิดกว้างไป ทั้งขอบเขตของสิ่งยั่วยุความรุนแรง เขียนคลุมสื่อกระตุ้นความรุนแรงเกือบหมด และตัวคำว่า "ยั่วยุ" เอง มันไม่ชัดเจน(Clear)มันถูกละเมิด(Abuse)ได้ง่าย จริงๆ มันควรจะเป็นกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็ก (Child Porn) แต่กลับใส่อะไรมาเต็มเลย เหมือนแถม จึงคิดว่าควรจะตัดส่วนที่แถมมาออกให้หมด เหลือกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็กพอ

อย่างไรก็ตาม อธิป กล่าวย้ำสำหรับกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็กด้วยว่า แม้จะให้ตัดเหลือแต่ส่วนนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตนเองจะเห็นด้วยเห็นด้วยหรือไม่กับกฎหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็ก เพราะตอนนี้มันมีดีเบตในต่างประเทศจำนวนมากเรื่องนี้ ว่าจะคุมยังไงไม่ให้การปราบปรามมันไปละเลย เสรีภาพในการแสดงความเห็น(Free Speech) และสิทธิพลเมืองในแง่อื่นๆ

นักวิชาการอิสระ ยังกล่าวอีกว่าทุกวันนี้กฎหมายสอดส่องอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศมันผ่านก็เพราะอ้างว่าจะปราบปรามสิ่งลามกอนาจารเด็ก หากอ้างเรื่องลิขสิทธิ์แรงต่อต้านมันเยอะแล้ว อย่างเช่นแบบที่ SOPA หรือ ร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (Stop Online Piracy Act) ตกไปในอเมริกา ACTA ตกไปในสภายุโรป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท