ความผิดฐาน “เซฟรูป”: เหตุที่เราควรบัญญัติ “ข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์” ให้ชัดเจน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในยุคดิจิตัลที่ “การทำซ้ำ” สื่อต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คน มันก็มีข้อถกเถียงขึ้นบ่อยครั้งว่าสิ่งที่เราเห็นหรือทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นจริงๆ เป็นเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่? ซึ่งในหลายๆ ครั้งตัวบทกฎหมายที่ตามเทคโนโลยีไม่ค่อยทันก็ดูจะไม่มีคำตอบชัดเจนสักเท่าใดว่ากิจกรรมต่างๆ ที่ผู้คนทำกันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เช่น เอาจริงๆ ตามตัวบทกฎหมายส่วนใหญ่ในโลกมันก็ไม่มีความชัดเจนด้วยซ้ำว่า งานขียน” ในรูปแบบใหม่ๆ อย่างการอัพเดทสเตตัสบน Facebook หรือการทวีตบนเว็บ Twitter นั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ด้วยซ้ำ2

อันที่จริงการกระทำทั้งหมดที่ไม่มีข้อยกเว้นที่ชัดเจนในกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทั้งหมด ซึ่งในทางปฏิบัติคือถูกฟ้องได้ทั้งนั้น ในแง่นี้แม้แต่ผู้กดการแชร์รูปบนเฟซบุ๊คโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างชัดเจนจากเจ้าของภาพก็ดูจะไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายรับประกันว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฏหมายลิขสิทธิ์ชัดเจน (ในกรณีกฎหมายไทย)3 ซึ่งในทางกลับกัน “การผลิตซ้ำ” ข้อความและภาพแบบเดียวกันภายใต้ระบบของทาง Facebook เองนั้นกลับเป็นสิ่งที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เพราะเราได้ “ยินยอม” กับ “เงื่อนไขการใช้” ของ Facebook เมื่อแรกที่เราลงทะเบียนใช้แล้ว กล่าวคือเราได้ลงนามในสัญญาอนุญาตให้ Facebook ทำการผลิตซ้ำสิ่งต่างๆ ที่เราป้อนไปใน Facebook แล้วไม่ว่าจะเป็นภาพหรือข้อความ4 ซึ่งบรรดาเว็บที่ผู้ใช้สามารถอัฟโหลดเนื้อหาเข้าไปได้ก็มักจะมี “เงื่อนไขการใช้” ให้เรา “ยินยอม” ได้คล้ายๆ กัน

แน่นอนว่าโดยทั่วไปก็คงยังไม่มีใครจะกล้าบ้าจี้ไปฟ้องว่าการแชร์รูปหรือแชร์สเตตัสบน Facebook นั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ให้ศาลลองตีความเล่นไม่ว่าจะที่ไหน อย่างไรก็ดีการไม่มีคนฟ้องก็ไม่ได้หมายความว่าสักวันจะไม่มีใครฟ้อง เพราะกระแสการฟ้องร้องลิขสิทธิ์ทั้งหลายมันก็เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีมานานแล้วในยามที่เจ้าของลิขสิทธิ์เห็นว่าการบังคับใช้จะเป็นประโยชน์ต่อตนทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกิจกรรมการผลิตซ้ำหนึ่งๆ เริ่มมีมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมา สิ่งที่เคยปฏิบัติกันเป็นปกติสามารถจะเป็นสิ่งที่ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ไปได้ชั่วข้ามคืนเพียงการฟ้องครั้งเดียว และการอ้างว่ากิจกรรมหนึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานก็ใช่จะมีน้ำหนักต่อคำตัดสินของศาล เช่นที่ผู้เขียนเคยเขียนถึงชัยชนะของการฟ้องร้องที่ทำให้การแซมปลิงแบบดั้งเดิมหายไปจากดนตรีฮิปฮอปในอเมริกา หรือทำให้การแซมปลิงโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาติที่ปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานได้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย5

ผู้เขียนอยากจะเน้นว่าความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของการตีความกฎหมายลิขสิทธิ์ของบุคคลทั่วไปก็คือการพยายามดูการละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วตีความว่าถ้าไม่พบว่ากิจกรรมหนึ่งๆ ถูกระบุว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างชัดเจนก็หมายความว่าเราสามารถจะกระทำการกระทำนั้นได้โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือไม่ต้องมาหวาดระแวงการดำเนินคดีตามกฎหมายใดๆ นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะสิ่งที่จะรอดจากการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างชัดเจนก็คือสิ่งที่ระบุไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนเท่านั้นว่าเป็นการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

นี่เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปในการดำเนินคดีลิขสิทธิ์ทั่วโลก ซึ่งการมีสิทธิ์โดนฟ้องก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีความผิดทันที เพราะเราอาจสู้คดีจนพิสูจน์ว่าเราบริสุทธิ์ได้ และระหว่างการพิจารณาคดีเราก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามหลักการ “บริสุทธิ์จนกว่าจะถูกพิสูจน์ว่ามีความผิด” (innocent until proven guilty) ตามกระบวนการดำเนินคดีของอารยประเทศทั่วไป อย่างไรก็ดีไม่ว่าท้ายที่สุดเราจะยังบริสุทธิ์หรือไม่ การสู้คดีลิขสิทธิ์ก็หมายความถึงการที่เราต้องเอาเงินมหาศาลในระดับที่จะทำเราล้มละลายไปสู้คดีในชั้นศาลที่โดยทั่วไปแล้วถึงชนะก็ไม่สามารถฟ้องกลับเพื่อชดเชยค่าทนายไม่ได้ และนั่นก็เป็นการเปิดโอกาสให้กระบวนการไล่ฟ้องผู้คนเพื่อเอาค่ายอมความเกิดขึ้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่บรรดานักกิจกรรมด้านลิขสิทธิ์เรียกว่าการเกรียนลิขสิทธิ์ (Copyright Trolling)6

กล่าวอีกแบบคือกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในโลกนี้เปิดโอกาสให้เกิดการเกรียนลิขสิทธิ์ได้อย่างมหาศาล และที่เรายังไม่โดนเกรียน ก็เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นปราณีเราอยู่ การเกรียนที่ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในประเทศที่กฎหมายลิขสิทธิ์ละเอียดยิบอย่างอเมริกาด้วยซ้ำ กล่าวคือถึงกฎหมายจะระบุสิทธิผู้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ละเอียดเพียงใด แต่เจ้าของลิขสิทธิ์ก็มีสิทธิ์หาช่องฟ้องได้ถ้ากฎหมายไม่ระบุสิทธิของผู้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ในเรื่องนั้น สำหรับในกรณีของไทยที่กฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งฉบับมีความยาวไม่น่าจะถึง 1 ใน 10 ของกฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกาด้วยซ้ำ (หรืออาจจะ 1 ใน 50 หรือมากกว่านั้นเพราะกฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกายาวยืดและละเอียดมากๆ) การระบุ “ข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์” ในกฎหมายไทยนั้นทั้งสั้นและคลุมเครือมากเกินกว่าจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงใดๆ ให้ผู้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ทั้งหลายไม่โดนฟ้องร้องได้

เพราะสุดท้าย เอาจริงๆ แล้วแม้แต่เรื่องธรรมดาอย่างการเซฟรูปที่เราพบเจอในอินเทอร์เน็ตมาไว้ในคอมพิวเตอร์ของเรานั้นก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าเราสามารถฟ้องได้ทุกเมื่อ นี่อาจเป็นเรื่องที่ฟังดูงี่เง่าไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง แต่ถ้าลองมองเปรียบเทียบกันดูแล้ว การเซฟรูปเข้ามาในคอมพิวเตอร์นั้นก็คือการ “ทำซ้ำ” รูปอันมีลิขสิทธิ์เข้ามาในคอมพิวเตอร์เราซึ่งการ “ทำซ้ำ” นี่โดยทั่วไปก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ทำได้แต่เพียงผู้เดียวแน่ๆ อย่างไรก็ดีเราอาจบอกว่านี่เป็น “การใช้เพื่อประโยชน์ตนเอง” ก็ได้ตามมาตรา 32 วรรค 2 ของ พรบ. ลิขสิทธิ์ 2537 ก็ได้ และนักกฎหมายที่มองโลกในแง่ดีก็อาจยืนยันเช่นนั้น7

แต่ปัญหาคือถ้าเราเปลี่ยนจากการเซฟรูปเป็นการเซฟเพลง หรือเซฟหนังลงในความพิวเตอร์แล้วสิ่งเหล่านี้กลับมีการดำเนินคดีกันกระหน่ำทั่วโลก ดังนั้นถ้าการเซฟเพลง หนัง หรือโปรแกรมลงคอมพิวเตอร์นั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว การเซฟรูปลงคอมพิวเตอร์ก็น่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย และในกฎหมายไทยนี่ก็น่าจะจัดเป็นความผิดทางอาญาเสียด้วย (กฎหมายไทยไม่มีการแยกแบบกฎหมายหลายๆ ประเทศว่าการละเมิดลิขสิทธิ่ที่ไม่ได้เป็นเพื่อการค้าเป็นความผิดทางแพ่งเท่านั้น ส่วนการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นไปเพื่อการค้าเป็นความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา) อย่างน้อยๆ ในกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยก็ไม่มีการบัญญัติที่ชัดเจนใดๆ ที่จะแยกการเซฟรูปออกจากการ “โหลดหนัง” “โหลดเพลง” และ “โหลดโปรแกรม” ออกจากกัน

คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าเจ้าของรูปที่เราไปเจอบนอินเทอร์เน็ตและเซฟมาไว้ในคอมพิวเตอร์ของเราไม่สามารถจะเอาความได้ ในความเป็นจริงการไม่ดำเนินคดีในรูปแบบนี้ดูจะเกิดจากเหตุผลว่ามันเป็นสิ่งที่ตรวจจับได้ยาก (อย่างน้อยก็สำหรับเทคโนโลยีในตอนนี้) และความไม่คุ้มค่าในการดำเนินคดีไปเท่านั้นเอง ถ้าจะร้องฟ้องจริงๆ การเซฟรูปลงคอมพิวเตอร์ก็อาจมีความผิดได้ไม่แพ้การโหลดเพลงหนึ่งเพลง หนังหนึ่งเรื่อง โปรแกรมหนึ่งโปรแกรมได้

การอัฟโหลดรูปภาพที่เราไม่ได้สร้างขึ้นเองลงบน Facebook ถ้าไม่อยู่บนข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ (เช่นการวิจารณ์และเสนอข่าว ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ 2537 วรรคที่ 3 และ 4)8 นั้นดูจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกันถ้าเราไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์แม้ว่าเราจะใส่ “เครดิต” ก็ตาม ดังนั้นการใส่เครดิตหรือไม่มันดูจะเป็นเรื่องของการมี/ไม่มีมารยาทในการสื่อสาร มากกว่าจะเป็นเรื่องละเมิด/ ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์9 ดังนั้นการกล่าวถึงการโพสต์รูปแบบไม่ใส่เครดิตกับการพูดถึงการละเมิดลิขสิทธิ์จึงเป็นการเอาประเด็นเรื่องความถูกต้องตามมารยาทกับเรื่องความถูกต้องตามกฎหมายมาปนกัน ซึ่งสิ่งที่การใส่เครดิตทำก็คงจะเป็นการขอความกรุณาต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ว่าอย่าฟ้องเลยมากกว่าจะเป็นหลักประกันว่าจะทำให้ไม่โดนฟ้อง เพราะก็อย่างที่ย้ำตลอดบทความว่าถ้าไม่มีการระบุชัดเจนว่ากิจกรรมหนึ่งๆ ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์ โอกาสที่จะโดนฟ้องก็มีเสมอ ซึ่งถ้าลองเปลี่ยนจากการเผยแพร่รูปภาพโดยใส่เครติดว่านี่เป็นภาพของใคร ไปเป็นการเผยแพร่เพลงโดยใส่เครดิตว่านี่เป็นเพลงของใครแทน เราก็จะพบว่าบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีก็ไม่ได้ใจดีแบบบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพ ซึ่งนี่ก็ไม่ต้องพูดถึงบรรดาเจ้าของภาพยนตร์

ผู้เขียนขอปิดท้ายบทความเหตุผลที่กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยนั้นจัดว่าแย่ในระดับ Top 5 ของโลกตามการจัดอันดับของ Consumer International10 เหตุก็เพราะขอบเขตของข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ที่แคบ และความคลุมเครือของตัวบทที่ส่งผลให้บรรดาผู้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ไม่มีความชัดเจนในสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของตน11 และความหวังว่าชีวิตในระบอบลิขสิทธิ์ของเราจะไม่อยู่ใต้ความปราณีของเจ้าของลิขสิทธิ์จนเกินไปก็ดูจะอยู่ใน พรบ. ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ในสภาตอนนี้นั่นเองว่าจะระบุบรรดาข้อยกเว้นให้เพิ่มชัดเจนขึ้นแค่ไหน? อย่างไร?12 อย่างไรก็ดีจากข้อมูลเกี่ยวกับ พรบ. ฉบับนี้ที่จะมีการรับรองสถานะทางกฎหมายของบรรดาการบริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัล (digital right management) ไปจนถึงข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการสอดส่องที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องในโลกแล้ว การที่จะมีคนโดนฟ้องเพียงเพราะการเซฟภาพลงในเครื่องก็คงจะออกห่างจากการเป็นเพียงเรื่องบ้าๆ บอๆ และเข้าไปใกล้ความจริงขึ้นเรื่อยๆ

หมายเหตุ:

  1. 1 บทความชิ้นนี้ไม่ได้จะกล่าวถึงกรณีของการฟ้องร้องกันบนฐานของการเซฟรูป แต่มุ่งจะชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่เป็นอยู่ในการดำเนินคดีในรูปแบบที่ปรากฏทั่วไป ซึ่งผู้เขียนก็ย้ำตลอดบทความว่าไม่มีผู้ใดจะปลอดภัยจากการฟ้องใน “เรื่องบ้าๆ บอๆ” เหล่านี้ ตราบที่กฎหมายยังไม่มีความชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ศึกษาประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์มาอย่างต่อเนื่องและตรวจสอบความเข้าใจกับเหล่ามิตรสหายที่เป็นนักกฎหมายมาตลอด หากข้อมูลใดในงานชิ้นนี้ผิดพลาดประการใด ผู้เขียนก็ยินดีจะนำข้อมูลไปพัฒนางานต่อๆ ไป
  2. 2 ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่างานชิ้นนี้ มีผู้คนจำนวนมากยืนยันว่า “งานเขียน” ทั้งสองรูปแบบน่าจะถือว่าเป็น “วรรณกรรม” ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ได้ คำถามของผู้เขียนคือ ถ้านับข้อเขียนสั้นๆ เหล่านี้เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วมันจะไม่วุ่นวายหรือ เพราะถ้าข้อความหนึ่งๆ จัดว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้ว ข้อความที่เหมือนกันหรือคล้ายกันก็น่าจะจัดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทั้งหมด? ใครจะถือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของถ้อยคำเหล่านี้ คนที่โพสต์ถ้อยคำหรือวลีคนแรกลงบนอินเทอร์เน็ตหรือ? เราจะถือว่าข้อความเหล่านี้มีความเป็นต้นตำรับ (originality) ได้อย่างไร? หรือถ้าเราจะแยกว่าพวกวลีสั้นๆ ไม่นับเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ส่วนการโพสต์ยาวๆ น่าจะเป็น คำถามคือต้องโพสต์ยาวแค่ไหนถึงจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์? นี่เป็นความวุ่นวายที่เกิดจากการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่มันถูกออกแบบมาเพื่อวางระเบียบทางเศรษฐกิจให้ “สิ่งพิมพ์” แบบเก่าในยุคที่คนมีแท่นพิมพ์เท่านั้นถึงจะสร้างสิ่งพิมพ์ออกมาได้มาใช้กับ “สิ่งพิมพ์” ในยุคที่ใครก็ “พิมพ์” โพสต์ หรือเผยแพร่ข้อเขียนของตัวเองได้เพียงมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

    ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือลองเปรียบเทียบกันแล้วกฎหมายไทยให้ความสำคัญกับความเป็นต้นตำรับ (originality) น้อยมาก หรือเอาจริงๆ แล้วคำๆ นี้ไม่มีในระบบกฎหมายไทยด้วยซ้ำ แต่ในขณะที่ความเป็นต้นตำรับที่ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้งานชิ้นหนึ่งๆ มีลิขสิทธิ์ได้ตามมาตรฐานของกฎหมายลิขสิทธิ์ในโลกตะวันตก ดู พรบ. ลิขสิทธิ์ 2537 ของไทย มาตรา 6 “งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด" เทียบกับประมวลกฎหมายอเมริกาที่เขียนในส่วนลิขสิทธิ์ 17 USC § 102 (a) ว่า " Copyright protection subsists, in accordance with this title, in original works of authorship..." (ขีดเส้นใต้และเน้นโดยผู้เขียน) น่าสนใจว่านี่หมายความว่าการไม่ให้ความสำคัญกับความเป็นต้นตำรับนั้นฝั่งรากอยู่ในแนวคิดด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยหรือไม่? ซึ่งการตอบคำถามนี้ก็คงจะเลยขอบเขตงานชิ้นนี้ไปมาก

  3. 3 ผู้เขียนได้บังเอิญได้อ่านความเห็นใน “ดรามา” “น้ำใจแอดมิน”ของทางเว็บดรามาแอดดิคแล้วพบข้อมูลใน “ดรามา” ที่น่าสนใจจำนวนมาก (เกี่ยวกับความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของคนไทย) ซึ่งผู้เขียนก็คงจะกล่าวได้ไม่หมด จริงขอแสดงความเป็นบางประเด็นมา ณ ที่นี้ ดู http://drama-addict.com/2012/11/22/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99/
  4. 4 ดู ข้อ 2.1ใน Statement of Rights and Responsibilities ของ Facebook ที่ ttps://www.facebook.com/legal/terms
  5. 5 ดู http://prachatai.com/journal/2012/06/40935
  6. 6 ในอเมริกาอุตสาหกรรมที่ทำอย่างแข็งขันมากก็คืออุตสาหกรรมบันทึกเสียง กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แม้ว่าหลังๆ อุตสากรรมหนังโป๊ หนังสือ และซอฟต์แวร์ก็ทำอย่างแข็งขัน ส่วนในไทยปรากฎการณ์ที่เทียบเคียงกันได้ก็คือการขู่จะฟ้องของพวกผู้เก็บค่าลิขสิทธิ์การแสดงดนตรีในที่สาธารณะเพื่อจะเอาค่ายอมความกับพวกร้านอาหารและร้านกาแฟ ไปจนถึงการเกรียนลิขสิทธิ์ของเสื้อผ้ายี่ห้อใหญ่บางยี่ห้อที่ขู่จะฟ้องเพื่อจะเรียกค่ายอมความกับร้านเล็กๆ เช่นกันในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์แบบหรือลายเสื้อผ้า
  7. 7 ตรงนี้อาจถกเถียงได้ว่า “การใช้เพื่อประโยชน์ตนเอง” จะไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ “หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร” ตามมาตรา 32 อย่างไรก็ดีโอกาสที่จะถูกฟ้องของเราก็มีได้เสมอเพราะเจ้าของลิขสิทธิ์ก็มีสิทธิ์อ้างว่าการเซฟรูปของเรากระทบสิทธิของเขา “เกินสมควร” ได้เสมอ และจากการสอบถามมิตรสหายนักกฎหมายของผู้เขียนก็ได้รับการยืนยันในทำนองเดียวกันว่าการฟ้องร้องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำได้จริงในทางกฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีของรูปที่มีต้นทุนทางการผลิตสูง (ซึ่งก็อาจเป็นทั้งค่ากล้อง ค่าถ่ายทำ ค่าจ้างนาง/นายแบบ ฯลฯ ก็ได้) ที่จะทำให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการ “ทำซ้ำ” ของเรามีความชัดเจนขึ้น

    แน่นอนว่ารูปจำนวนมากเจ้าของลิขสิทธิ์จงใจจะเผยแพร่เองสู่สาธารณะซึ่งเข้าของรูปเหล่านี้ก็ดูจะไม่มีสิทธิที่หนักแน่นเท่าไรในการดำเนินการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์กับผู้ที่ “ทำซ้ำ” สิ่งที่พวกเขาเอามาเผยแพร่เอง ปัญหาคือรูปจำนวนมากบนอินเทอร์เน็ตนั้นก็ถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตโดยที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้เห็นชอบ (หรือกระทั่งไม่รู้ตัว) ซึ่งผลคือการทำซ้ำรูปเหล่านั้นก็มีความเสี่ยงที่จะโดนฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้ น่าสนใจว่าปัญหาการ “ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างไม่ได้ตั้งใจ” ในแบบนี้ก็อาจรวมไปถึงการคลิก “Share” รูปละเมิดลิขสิทธิ์บน Facebook ได้เช่นกัน นี่อาจเป็นเรื่องที่ฟังดูเลยเถิดแต่ก็ดังที่ผู้เขียนยืนยันมาตลอดบทความนี้ กิจกรรมธรรมดาที่เราอาจทำทุกวันอย่าง Share รูปก็อาจทำให้เราโดนฟ้องได้ตราบใดที่กฎหมายไม่ระบุข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ชัดเจนสำหรับการกระทำดังกล่าว

  8. 8 ซึ่งตามมาตรฐานกฎหมายลิขสิทธิ์ก็คงจะอ้างไม่ได้ เพราะนี่เป็นการนำเสนองานทั้งชิ้นที่ไม่มีการตัดทอนอะไรต่อสาธารณะ กล่าวอีกแบบคือการโพสต์รูปที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ลงบน Facebook ก็ดูจะไม่ได้ต่างจากการโพสต์อัลบั้มที่ตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ให้คนโหลดบนบล็อก ซึ่งการนำเสนอในรูปแบบนี้น่าจะไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นการนำเสนอเพื่อวิจารณ์หรือนำเสนอข่าว
  9. 9 อันที่จริงประเด็นเรื่องการใส่เครดิตหรือไม่ดูจะเป็นประเด็นเรื่อง “สิทธิธรรม” (moral right) หรือสิทธิในการอ้างตนเป็นเจ้าของงานมากกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ ใน พรบ. ลิขสิทธิ์ 2537 ไทยระบุสิทธินี้ไว้ในมาตรา 18 ซึ่งไม่มีการกำหนดความผิดชัดเจน (แต่เข้าใจว่าเจ้าของสิทธิ์สามารถดำเนินคดีทางแพ่งได้) ที่จะเป็นเรื่องของการละเมิด “ลิขสิทธิ์” อย่างที่เข้าใจกัน ถ้าจะกล่าวให้ละเอียดแล้วในการ “ลอกงาน” (plagiarism) ครั้งหนึ่ง (เช่นการเอารูปผู้อื่นมาโพสต์แล้วอ้างว่าเป็นของตนเอง) นั้นเป็นทั้งการละเมิดสิทธิธรรม (ในการอ้างว่างานอันมีลิขสิทธิ์เป็นของตน) และการละเมิดลิขสิทธิ์ (ในการผลิตซ้ำและเผยแพร่ภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์) ทั้งนี้ เท่าที่ผู้เขียนทราบ การใช้มาตรา 18 ในคดีความเกี่ยวกับลิขสิทธิ์นั้นก็ปรากฏน้อยมาก (ผู้เขียนยังไม่เคยพบ) และในต่างประเทศการฟ้องร้องบนฐานของ “สิทธิธรรม” ก็ปรากฏน้อยเช่นกัน เหตุเพราะแรงจูงใจในทางเศรษฐกิจให้เอาผิดทางกฎหมายบนฐานของ “สิทธิธรรม” นั้นมีน้อย กฎหมายกำหนดโทษการละเมิด “สิทธิธรรม” ไว้ต่ำกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์มาก อย่างไรก็ดีการละเมิดสิทธิธรรมก็ดูจะนำไปสู่การรับโทษทัณฑ์ทางสังคมของชุมชนผู้ผลิตที่ตนอยู่มากกว่าไม่ว่าจะเป็นชุมชนนักออกแบบ ชุมชนดนตรี ไปจนถึงชุมชนทางวิชาการ
  10. 10 ดู http://a2knetwork.org/watchlist
  11. 11 เรื่องตลกคือศาลไทยนั้นก็จัดว่าเป็นศาลที่ตีความตัวบทอันคลุมเครือนี้ได้อย่างเอนเอียงไปทางผู้บริโภคงานอันมีลิขสิทธิ์มาก ในขณะที่ศาลในประเทศที่กฎหมายลิขสิทธิ์ถือว่าดีเยี่ยมระดับ Top 5 ของโลกอย่างอเมริกานั้นกลับตีความกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างเข้าข้างเจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ดีแม้ว่าการโดนฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์ในไทยจะมีโอกาสชนะคดีมากกว่าในอเมริกา มันก็คงจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่ารื่นรมย์อยู่ดี
  12. 12 อันที่จริงผู้เขียนก็อยากเสนอเรื่องแนวทางการปฏิรูปกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ “ดี” ขึ้นสำหรับภาคธุรกิจที่ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ (เช่น การระบุให้ชัดเจนว่าสถานบริการจำพวกใดที่จะสามารถเปิดเพลงได้โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มีในกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกาที่ละเอียดถึงขนาดว่าต้องมีพื้นที่ขนาดไหนและใช้ลำโพงได้ไม่เกินกี่ตัว) หรือสำหรับผู้บริโภคงานอันมีลิขสิทธิ์ทั่วไป (เช่น การระบุสิทธิชอบธรรมในการทำสำเนาแบ็คอัพข้อมูล การถ่ายโอนไฟล์ในระบบคอมพิวเตอร์ตนเอง หรือกระทั่งสิทธิในการโหลดสิ่งต่างๆ ลงในคอมพิวเตอร์ที่ได้กล่าวถึงในบทความชิ้นนี้) แต่เนื้อหาตรงส่วนนั้นก็คงจะเกินบทความนี้ไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท