Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ในช่วงฤดูกาลนี้ของทุกปีตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นช่วงที่สหภาพแรงงานจำนวนมากครบกำหนดยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงสภาพการจ้างให้กับสมาชิกสหภาพแรงงาน และคนงานประจำทั้งหลายในส่วนที่ยังไม่มีสหภาพแรงงานและไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก็ได้รับผลพลอยได้หรือผลประโยชน์ตามสมควรกับสถานะของสถานประกอบการที่ตนเองทำงานอยู่ แต่ ณ อีกมุมหนึ่งของโรงงานมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ทุกคนรู้จักเขาดีในนามของพนักงาน “ซับคอนแทรค” หรือในภาษาวิชาการเรียกเขาเหล่านั้นว่า “ลูกจ้างในระบบเหมาค่าแรง” เขาเหล่านั้นไม่กล้าแม้แต่จะคิดว่าจะได้โบนัสหรือสวัสดิการอะไรเพิ่มขึ้นบ้างนอกจ้างค่าจ้าง 300 บาทตามนโยบายของรัฐบาล แต่มันก็ไม่สมดุลกับค่าของชีพ ณ ปัจจุบันที่ถีบตัวสูงขึ้น
 
หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้มีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กฏหมายได้บัญัติให้มีการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรงได้เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้กับนายจ้าง โดยที่ภาครัฐเองไม่ได้ตระหนักว่าคุณภาพชีวิตของกรรมกรไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต หลังจากนั้นขบวนการแรงงานไทยจากหลายภาคส่วนได้พยายามที่จะขับเคลื่อนและผลักดันให้แรงงานในระบบเหมาค่าแรงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเช่นเดียวกับพนักงานประจำ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 2548-2551 ได้มีการรณรงค์กดดันทั้งในส่วนของการผลักดันกฏหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งได้บัญญัติเกี่ยวกับการจ้างงานไว้ในมาตรา 84(7) บัญญัติว่า “ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”
 
หลังจากนั้นการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 บัญญัติไว้ในมาตรา 11/1 บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตามให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว
 
ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”
 
และในขณะเดียวกันระหว่างปี 2548-2551 โดยเฉพาะในส่วนของนักสหภาพแรงงานเองในภาคตะวันออกซึ่งมีการใช้การจ้างงานในระบบเหมาค่าแรงอย่างเข้มข้น นอกเหนือจากการกดดันเพื่อให้เกิดการแก้ไขกฏหมายแล้วก็มีการรณรงค์ในพื้นที่ สหภาพแรงงานได้ออกมาลุกขึ้นสู้โดยการยื่นข้อเรียกร้องในนามสหภาพแรงงานต่อนายจ้างของตนเองเพื่อให้พนักงานเหมาค่าแรงเหล่านั้นได้รับการบรรจุเป้นพนักงานประจำหรือได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเช่นเดียวกับพนกงานประจำ หรือแม้แต่พนักงาเหมาค่าแรงเองก็ได้ลุกออกมาเพื่อที่จะปกป้องและรักษาสิทธิ์ของตนเองโดยการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างซึ่งเป็นบริษัทเหมาค่าแรง ถึงแม้จะมีกฏหมายออกมาประกาศและบังคับใช้แล้วแต่ในทางปฏิบัติคนงานเหมาค่าแรงเหล่านั้นก็ยังคงได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากพนักงานประจำอย่างสิ้นเชิง ยิ่งต่อสู้ความหวังก็ดูเหมือนจะยิ่งเลือนลางลงไปเรื่อยเพราะแกนนำของคนงานเหมาค่าแรงเมื่อลุกออกมาต่อสู้มักจะถูกเลิกจ้างหรือกลั่นแกล้งจนทนทำงานอยู่ต่อไปไม่ได้เสมอ หรือนักสหภาพแรงงานที่มีความเข้มแข็งพยายามที่จะเป็นแกนให้กับคนงานเหมาค่าแรงก็จะถูกกลั่นแกล้งหรือเลิกจ้างไม่แตกต่างไปกว่ากัน จนท้ายที่สุดกระแสการต่อสู้ของคนงานในระบบเหมาค่าแรงก็เริ่มที่จะแผ่วเบาลงไปเรื่อยๆ
 
จะเห็นได้ว่าการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานแต่ละแห่งในปีนี้แทบจะไม่มีประเด็นที่จะเสนอข้อเรียกร้องใหกับพนักงานในระบบเหมาค่าแรงเลย จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจและท้าทายต่อการหาคำตอบพอสมควรเพราะในปัจจุบันในอุตสาหกรรมยานยนต์หรือผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เกือบทุกแห่งมีลูกจ้างในระบบเหมาค่าแรงเกือบเท่ากับพนักงานประจำหรือในบางแห่งมีมากกว่าพนักงานประจำเสียอีก วันนี้อาจพูดได้ว่าในอุตสาหกรรมคนที่ได้ชื่อว่า “คนงานเหมาค่าแรง” กลายเป็นแรงงานหลักของสถานประกอบการไปแล้ว
 
แต่สถานการณ์ด้านการจ้างงานและคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนงานเหล่านี้ผู้ที่ทุกคนเรียกเขาว่า “พนักงานเหมาค่าแรง” จำนวนมากยังถูกเอาเปรียบถูกกดขี่ เป็นแรงงานชั้นสองของสังคมอยู่ วันนี้หลายสหภาพแรงงานกำลังพูดถึงโบนัส และสวัสดิการดีๆ ให้กับสมาชิกของตน แต่ถ้าเราตระหนักให้ดีเราจะพบว่าผู้ที่ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกำไรมูลค่ามหาศาลให้กับบริษัทต่างๆ พวกเขาเหล่านั้นคือใคร? "คนงานเหมาค่าแรง" เขาคือใคร ณ วันนี้เขาอยู่ส่วนใดของสังคมคนทำงาน ถึงเวลาหรือยังครับที่ท่านผู้นำสหภาพแรงงานทั้งหลายจะหยิบยื่นโอกาส ในการที่จะรับเขาเหล่านั้นเข้าเป็น "สมาชิกสหภาพแรงงาน"ของพวกท่าน โปรดอย่าได้เอาคำว่า "มันไม่ถูกกฎหมาย" มาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองเลย ถึงเวลาแล้วที่คนงานไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของโรงงานต้องหันหน้ามาจับมือและฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคไปพร้อมๆ กัน
 
แต่วันนี้ก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียวได้มีบางสหภาพแรงงานในภาคตะวันออกได้พยายามที่จะคิดนอกกรอบเดิมๆ โดยการรับคนงานเหมาค่าแรงภายในสถานประกอบการของตนเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และยื่นข้อเรียกร้องในนามสหภาพแรงงานให้กับบริษัทเหมาค่าแรงในนามสหภาพแรงงานได้เป็นผลสำเร็จ แต่ก็พบอุปสรรคอยู่บ้างที่มีเจ้าหน้าที่รัฐที่ยังมีแนวคิดแบบเดิมๆ อ้างแต่กฏหมายฉบับเก่าๆ ว่าเป็นอุตสาหกรรมคนละประเภทไม่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสถานประกอบการได้ แต่นักสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ต้องกล้าที่จะคิดและก้าวให้พ้นปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ เพราะวันนี้กฏหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 64 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น” นั่นหมายถึงทุกคนย่อมมีสิทธิ์เสรีภาพอันชอบด้วยกฎหมายที่จะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน กฎหมายรัฐธรรมนูญถือเป็นกฏหมายสูงสุด กฏหมายใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญย่อมบังคับใช้ไม่ได้ และสหภาพแรงงานที่พี่น้องคนงานจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นองค์กรณ์นิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฏหมาย สามารถที่จะเข้าทำสัญญาหรือข้อตกลงกับใครหรือนิติบุคคลใดก็ได้ ดังนั้นการที่สหภาพแรงงานซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ทำสัญญาหรือข้อตกลงสภาพการจ้างกับบริษัทเหมาค่าแรงซึ่งเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกันย่อมมีผลผูกพันธ์ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาย่อมฟ้องบังคับทางแพ่งได้ตามกฏหมาย
 
 
สถานการณ์การลุกขึ้นสู้ของคนงานเหมาค่าแรงล่าสุดวันนี้ 24 พฤศจิกายน 2555 เวลา 17.30 น. พนักงานเหมาค่าแรงานในบริษัท CUEL ได้มาชุมนุมรวมตัวกันที่หน้าบริษัท CUEL ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังกว่า 500 คน จาก 4 บริษัท โดยมีแกนนำหลักจากสองบริษัทคือ แกนนำจากบริษัทเทกาเทค อินดัสเทรียล คอนซัลแทนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และแกนนำจากบริษัท บรูเนล เทคนิคัล เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัดเนื่องจากยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทเหมาค่าแรงตั้งแต่เดือนกรกกาคม 2555 แต่ผลการเจรจาไม่มีความคืบหน้าและนายจ้างพยายามจะหยิบยื่นสวัสดิการเพียงเล็กน้อยแต่มีเงื่อนไขมากมายให้แล้วบอกให้ทำสัญญาข้อตกลงสามปีทำให้พนักงานส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้ หลังจากนั้นพนักงานเหมาค่าแรงสี่บริษัท ได้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาสองสหภาพแรงงาน คือ สหภาพแรงงานเพื่อนแรงงานไทยใน CUEL และอีกหนึ่งสหภาพแรงงานคือ พลังซับคอนแทคไทย ใน CUEL ซึ่งทั่งสองสหภาพแรงงาน จะรับพนักงานเหมาค่าแรงที่มีอยู่ในรั้วของ บริษัท CUEL ทั้งหมดกว่า 2500 คน เข้าเป็นสมาชิกให้ได้นั่นคือเป้าหมายที่พวกเขาวางไว้ เป็นก้าวแรกและเป็นก้าวที่กล้าเพราะในสัปดาห์หน้าจะมีการนัดชุมนุมคนงานเหมาค่าแรงที่มีอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังทั้งหมด เพื่อแสดงพลังและเปลี่ยนแปลงสังคมของคนงานเหมาค่าแรงมันอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ภายในวันเดียว เรารู้ว่าการต่อสู้ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา บางครั้งมันมีความเจ็บปวด มันต้องมีการสูญเสีย แต่เพื่อก้าวไปสู่สังคมที่ดีกว่าเราต้องทำ
 
พี่น้องกรรมกรที่รักทั้งหลายครับวันนี้เราต้องกล้าที่จะลุกออกมาช่วยกันปกป้องสิทธิ์ที่เรามีอยู่ให้มันเป็นจริงให้ได้อย่างที่กฏหมายบัญญัติ ไม่เช่นนั้นชีวิตของเราหรือลูกหลานของเราในอนาคตก็จะไม่ต่างจากทาสหรอกครับ จึงอยากจะฝากถึงกรรกกรทุกท่านว่า “จงช่วยกันลุกออกมาต่อสู้อย่าอยู่อย่างยอมจำนน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net