Skip to main content
sharethis

 

เป็นที่รับรู้กันดีถึงจุดยืนและศักยภาพของกลุ่มจับตาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอวอทช์ (FTA Watch)

กลุ่มนี้ก่อตั้งมายาวนานถึง 9 ปีแล้ว ประกอบด้วยเอ็นจีโอและนักวิชาการหลากหลายสาขา โดยเฉพาะบุคลกรด้านสาธารณสุข

กลุ่มนี้เป็นหัวหอกให้ข้อมูล ความรู้ และนำขบวนคัดค้านการทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA) ไม่ว่าเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ที่ถูกค้านจนล่มไปเมื่อปี48 , เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ที่ไม่ล่ม แต่ก็ได้ “จดหมายแนบท้าย” ข้อตกลงที่ช่วยอุดช่องว่างเรื่องที่เป็นข้อห่วงกังวลเพิ่มเติมขึ้นมา

การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีหายไปนาน จนกระทั่งล่าสุดมีกระแสเรื่อง ทีพีพี หรือการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (The Trans-Pacific Partnership - TPP ) ที่มาพร้อมกับการมาเยือนของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประกอบกับการมาเยือนของ João Aguiar Machado รองผู้แทนการค้าสหภาพยุโรป (อียู) ที่เข้าพบนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการมาเร่งผลักดันการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

แล้วเสียงค้านทั้งสองส่วน ก็ดังขึ้น !!


‘ประชาไท’ จับเข่าคุยเรื่องนี้กับ ‘กรรณิการ์ กิจติเวชกุล’  ตัวแทนกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ผู้ติดตามเรื่องนี้อย่างไม่คลาดสายตามาหลายปี

“เราไม่ได้ค้านการเจรจาเอฟทีเอ แต่เราต้องการให้การเจรจาเป็นไปอย่างรอบคอบ และสะท้อนข้อห่วงใย ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมามีเอฟทีเอจำนวนมากที่ไม่เคยคิดถึงมุมที่เรากังวล ส่วนใหญ่คนที่ได้ก็คือคนที่ได้อยู่แล้ว แล้วผลประโยชน์ก็กระจุก แต่ผลกระทบกระจาย บางเรื่องเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว”

แล้วอะไรคือ “ผลกระทบที่กระจาย” ที่น่ากังวล? 

ทำไมมหาอำนาจทั้งสองจึงกลับมาผลักดันเรื่องการค้าเสรีในภูมิภาคนี้อีกครั้ง ?
 

การเมืองเรื่องเอฟทีเอ การกลับมาของสองยักษ์

สำหรับคำถามหลัง กรรณิการ์อธิบายว่า

สหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจนดูจะหมดสภาพในการทำมาหากินแล้ว ฉะนั้นทั้งคู่จึงต้องการเสื้อชูชีพ ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี่เองที่มีศักยภาพ อาจเป็นภูมิภาคเดียวที่ยังมีปัญญาใช้จ่าย มีตลาด มีทรัพยากร

“สหรัฐและอียูไม่เคยทิ้งภูมิภาคนี้ แต่อาจให้ความสนใจน้อย เพราะตอนนั้นยังรวยกันอยู่ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจเขาแย่ งานวิจัยของทีดีอาร์ไอที่ทำเรื่องเอฟทีเอไทย-อียู ก่อนวิกฤตยูโร อาจต้องทำใหม่อีกครั้ง เพราะบริบทเปลี่ยนไป ยุโรปไม่มีทางฟื้นภายใน 10 ปีนี้ สองเจ้านี้กำลังต้องการหาตลาดเพื่อให้ตัวเองมาลงทุน” กรรณิการ์วิเคราะห์

เธอยังตั้งข้อสังเกตถึงยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจว่า สหรัฐอเมริกานั้นเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ จากเดิมที่เคยเน้นการทำแบบทวิภาคี หรือประเทศต่อประเทศ มาเป็นข้อตกลงแบบยกพวงอย่าง ทีพีพี โดยเนื้อหาก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งแปลว่าน่ากังวลเหมือนเดิม และมีแนวโน้มจะหนักกว่าเดิม

ขณะที่อียูนั้น เริ่มต้นด้วยการเจรจาเอฟทีเอแบบยกพวงกับอาเซียนก่อน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากอาเซียนรวมกันแล้วเสียงแข็งไม่รับข้อตกลงเรื่อง “ทริปส์พลัส” (TRIPS Plus) ทำให้อียูหันมาใช้ยุทธศาสตร์เจาะเป็นรายประเทศ หรือทำเอฟทีเอกับแต่ละประเทศไป

“อียูเริ่มต้นจะมาแบบเป็นภูมิภาค ขณะที่สหรัฐจะมาแบบเจาะรายประเทศเป็นทวิภาคี ทำไปทำมา สหรัฐมาสนใจแบบเป็นพวงใหญ่ ทีพีพี แต่อียูเปลี่ยนแบบ เพราะคุยกับอาเซียนแล้วคุยไม่รู้เรื่อง เหตุผลหลักคือ อาเซียนตกลงกันเป็นเสียงเดียว หรือ one voice ไม่เอาทริปส์พลัส ทางอียูไม่ยอม ก็ชะงักไป แล้วมาแยกจีบเป็นประเทศ ยุทธศาสตร์จะสวนทางกัน”

“เมื่อก่อนอียูไม่ค่อยเกรี้ยวกราด ก้าวร้าวทางเรื่องการค้ามาก จะมีภาพพจน์ทางด้าน development มาก FTA ของเขาจะใช้คำว่า EPA –Economic Partnership Agreement แต่ตอนหลังก็เปิดเผยว่าจะเอา FTA และเนื้อหาสาระก็ไม่ต่างจากสหรัฐ”

ความคืบหน้าเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ การเร่งผลักดันการทำเอฟทีเอกับไทย ผ่านการทำ Scoping Exercise กับกรมเจรจาการค้า ซึ่งกรรณิการ์ชี้ว่า แม้ไม่ใช่การร่างกรอบเจรจา แต่ก็เป็นเหมือนสัญญาใจระหว่างหน่วยงานรัฐ

“ใน scoping exercise เราไม่เห็น text ตัวจริง แต่เท่าที่ได้ยินมาคืออียูต้องได้ทริปส์พลัส ถ้าไม่ได้ ไม่เจรจา ภาคเอกชนก็อยากได้ GSP อย่างเดียว ไม่สนใจประเด็นอื่น เอกชนบอกถ้าไม่มี GSP จะเสียหาย 80,000 ล้านบาท เราก็บอกว่า ถ้าแบบนี้ตัวเลขงานวิจัยเรื่องยาของจิราพรก็เสียหายกว่าแสนล้าน ไม่นับหัวข้ออื่นๆ อีก บางทีพูดแต่เรื่องตัวเลขอย่างเดียวไม่ได้”

 

ทริปส์พลัส หัวใจหลักที่ ‘ต้อง’ ค้าน


ประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ เรื่อง ทริปพลัส  เพราะเป็นแกนหลัก เป็นประเด็นหัวใจที่สลับซับซ้อนและภาคประชาสังคมคัดค้านหนัก

TRIPS คือข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO)  ซึ่งวางมาตรการคุ้มครองเรื่องนี้ในขั้นต่ำ บังคับใช้กับประเทศสมาชิก 150 ประทศ แต่ก็มีข้อยกเว้นข้อยืดหยุ่นสำหรับประโยชน์สาธารณะอยู่หลายมาตรการ

ขณะที่ TRIPS Plus เป็นกติกาว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่บวกเพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าไปข้อตกลงปกติ หรือ ทริปส์ธรรมดาๆ นอกจากนี้ปิดโอกาสในข้อยืดหยุ่นต่างๆ ที่รัฐบาลจะสามารถใช้เป็นช่องทางในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้ ทริปส์พลัส ไม่ได้ปรากฏอยู่ในองค์การการค้าโลก แต่ปรากฏอยู่ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ โดยเฉพาะของสหรัฐและสหภาพยุโรป

รายละเอียดในทริปส์พลัส มี 7 เรื่องหลักที่ภาคประชาสังคมแสดงความกังวล คือ  1.การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity – DE) 2. การออกใบรับรองขยายการคุ้มครองเพิ่มเติม (supplementary protection certificates) 3.การอนุญาตให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยาอันเนื่องมาจากการมีข้อบ่งใช้ใหม่ (new indication) 4. การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิบัตร 5. มาตรการชายแดน (Border Measure) 6. การบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) และ 7.การคุ้มครองการลงทุน (Investment Chapter) ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ

กรรณิการ์ระบุว่า เรื่องการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรเพิ่มอีก 5 ปี จากปกติคุ้มครองเพียง 20 ปี และการขยายการผูกขาดข้อมูลด้านยา หรือ DE เป็นข้อเรียกร้องที่ทั้งสหรัฐและสภาพยุโรปให้ความสำคัญมาก

“ของสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เขาเก่งคือไบโอเทคและทรัพย์สินทางปัญญา ฉะนั้นเขาต้องทำให้โลกทั้งโลกยอมรับมาตรฐานทริปส์พลัสให้ได้ เพราะดับบลิวทีโอตายไปแล้ว เขาต้องทำให้โลกยอมรับกติกาใหม่ โดยไม่ต้องเปลี่ยนจากดับบลิวทีโอ”

ขณะที่ภาคเอกชนเป็นกังวลเกี่ยวกับการถูกตัดสิทธิจีเอสพี หรือ สิทธิพิเศษทางภาษี (Generalized System of Preference – GSP)  ซึ่งสหรัฐใช้เป็นมาตรการกดดันไทยให้เร่งลงนามเอฟทีเอ โดยระบุว่าจะมีมูลค่าความเสียหายในภาคธุรกิจมากขนาดไหน แต่ขณะเดียวกันงายวิจัยภาคประชาสังคมเองก็มีตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาให้เปรียบเทียบเช่นเดียวกัน

เช่นกรณีงานวิจัยที่กรมทรัพย์สินทางปัญหา มอบให้องค์การอาหารและยา (อย.) ทำร่วมกับ ดร.จิราพร ลิ้มปานนท์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ชี้ชัดว่า ถ้าขยายอายุการผูกขาดข้อมูลทางยา หรือ DE ไปอีก 5 ปี จากปีที่ 5 ค่าใช้จ่ายจะขึ้นไปประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับการขยายอายุสิทธิบัตรอีก 5 ปี ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นอีก 2.7 หมื่นล้านบาท รวมแล้วก็กว่าแสนล้านบาท

“นี่แค่งานวิจัยเฉพาะสองเรื่องคือการขยายการคุ้มครองข้อมูลทางยากับขยายอายุสิทธิบัตร ขณะที่ทริปส์พลัสมีอีกหลายข้อ มันจึงไม่ใช่เรื่องที่พวกเราคิดไปเอง เพราะงานวิจัยนี้ใช้โมเดลที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำให้ใช้ มีหลายประเทศที่ทำวิจัยแบบนี้โดยเฉพาะประเทศที่กำลังจะเข้าเจรจากับสหรัฐ” กรรณิการ์เล่าให้ฟัง

เช่นกันกับกรอบการเจรจาของสหภาพยุโรป ตัวแทนจากกลุ่ม FTA Watch ยกตัวอย่างถึงช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ว่า ตอนนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้จ้างสถาบันนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ทำวิจัยเรื่องผลกระทบจากทริปส์พลัสเช่นกัน พบว่าแบบของอียูก็คล้ายๆ ของสหรัฐอเมริกา งานวิจัยชิ้นนั้นค่อนข้างหนักแน่น มีการระบุถึงผลกระทบหลายส่วน เรื่องที่รับไม่ได้เลยคือการผูกขาดข้อมูลทางยา ส่วนเรื่องการขยายอายุสิทธิบัตรอาจพอรับได้แต่ต้องมีเงื่อนไขเยอะมากเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับรัฐ

นอกจากนี้ในการประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 3  ก็มีการหยิบยกเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดการเอฟทีเอไทย-อียู โดยจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA ร่วมกับ อย. ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำ อีกราวครึ่งปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ เบื้องต้นได้ข้อสรุปที่ชี้แล้วว่ามีหลายเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยา

สำหรับ ‘TPP’ นั้น ก็เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีรูปแบบหนึ่งที่ทำแบบรวมกลุ่ม มันก่อกำเนิดขึ้นในช่วงปี 2548 โดยสมาชิกในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค 4 ประเทศ คือ ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และบรูไน ได้หารือถึงแนวทางจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้น ต่อมาในปี 2551 สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ได้แสดงความสนใจเข้าร่วมเจรจาด้วยเป็นลำดับ จนปัจจุบันนี้มีสมาชิกรวม 11 ประเทศ ซึ่งมี 4 ประเทศ ที่มาจากอาเซียน คือ บรูไน สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย

แม้ยังไม่ปรากฏกรอบข้อตกลง TPP ที่ชัดเจน แต่กรรณิการ์ระบุว่า มี leaks text หรือกรอบการเจรจาของแต่ละประเทศที่หลุดรอดมาปรากฏในเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนไม่น้อย ทำให้คนที่สนใจสามารถวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะข้อมูลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักจากเอฟทีเอ

“จริงๆ เราก็ไม่รู้ที่มาของมันชัดเจนนัก แต่รู้ว่าเมื่อรัฐบาลไทยทุกสมัย ตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์เลยไปจีบสหรัฐเพื่อขอให้กลับมาเจรจาทวิภาคีไทย-สหรัฐ แต่สหรัฐไม่สนใจ  เหตุที่ไปจีบให้เจรจาเพราะอยากคงสิทธิจีเอสพี ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าสำคัญ จะได้สิทธิเหล่านี้ถาวรไม่ต้องนั่งต่ออายุ แต่ตั้งแต่สมัยของโอบามาเข้ามา เขาไม่สนใจทวิภาคี แต่สนใจพวงใหญ่มากกว่า และมองเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองด้วย เพราะต้องการปิดล้อมจีน”

“ถามว่าเราวิเคราะห์ปัญหาของทีพีพีจากอะไร ทั้งที่ยังไม่มีร่างสุดท้ายจริงๆ เราเอามาจากเอกสารที่หลุดมาจากเครือข่ายข้าราชการ ภาคประชาสังคมประเทศอื่นๆ ตอนธนาคารแห่งประเทศไทยเขียนวิจารณ์ก็เขียนจาก leaks text และคำขออื่นๆ ที่สหรัฐเคยมีมา”

“ร่างสุดท้าย เขาหวังว่าปีหน้าน่าจะเสร็จ ตอนนี้ก็หาข้อสรุปกันได้หลายบทแล้ว แต่ก็มีม็อบกันทุกนัด” กรรณิการ์กล่าว

 

เทียบข้อเสีย เอฟทีเอสหรัฐ-เอฟทีเออียู-ทีพีพี ใครครองแชมป์?

เมื่อถามว่า เนื้อหาของทีพีพีมีอะไรน่ากังวล ? กรรณิการ์ หยิบกระดาษมาทำเช็คลิสต์ไล่เรียงข้อเรียกร้องที่น่าห่วง เปรียบเทียบให้เห็นภาพทั้ง เอฟทีเอของสหรัฐ อียู และทีพีพี ซึ่งมีข้อเรียกร้องของสหรัฐเป็นแกนหลัก

“เอฟทีเอที่เราทำไปแล้วกับประเทศอื่นๆ เช่นกับจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไม่มีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเลย อาจจะมีเรื่องการเปิดเสรีบ้างบางส่วน ก็เป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนทางสินค้าไป ส่วน JTEPA (เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น) เกือบจะมีประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเหมือนกัน ก็คือเรื่องสิทธิบัตรจุลชีพ เราก็ม็อบจนกระทั่งเขายอมทำ side letter (จดหมายแนบท้าย) แม้ว่าในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่มีน้ำหนักมากนัก แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังใช้อ้างได้ และเคารพ side letter นี้อยู่”

ส่วนเนื้อหาของสหรัฐ และอียู เฉพาะในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่กระทบกับการเข้าถึงยา เราจะเห็นว่าอียูแย่กว่าสหรัฐหลายส่วน  

-อียูเพิ่มข้อเรียกร้องว่า ถ้าขึ้นทะเบียนยาล่าช้า ต้องเพิ่มจำนวนปีที่ผูกขาดข้อมูลทางยาเพิ่มขึ้นด้วย

- อียูร่างข้อตกลงให้เราเป็นภาคีความตกลงอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยอัตโนมัติเมื่อเซ็นกับอียูฉบับเดียว ขณะที่สหรัฐอเมริกากำหนดให้เราเป็นภาคีในสนธิสัญญาต่างๆ เอง ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบสนธิสัญญาในแต่ละฉบับที่จะลงนาม

 -อียูกำหนดเรื่องจุดผ่านแดนและนิยามยาปลอม พยายามจะทำให้เรื่องยาสามัญดูเป็นเหมือนยาปลอม สามารถยึดยาที่ต้องสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ที่จุดผ่านแดนทันที ทั้งที่เรื่องสิทธิบัตรหลายกรณีฟ้องร้องกันหลายปีจึงจะรู้ผล การให้ยึดได้เลยเพียงต้องสงสัยจะกระทบกับผู้ใช้ยาแ

-สหรัฐอเมริกามีหลายเรื่องเหมือนกันกับอียู แต่ที่แย่กว่าคือ สหรัฐมีเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ซึ่งอียูไม่ได้ขอ  รวมไปถึงมีสิทธิบัตรเรื่องการผ่าตัดและวินิจฉัยโรค เรื่องการห้ามคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตร

-เรื่องสิทธิบัตรไม่มีวันตาย หรือ ever greening patent มีทั้งคู่แต่สหรัฐเขียนชัดเจนกว่า

“เช่น ถ้ายาใช้กับผู้ใหญ่ อีกหน่อยรู้ว่าใช้กับเด็กได้อีกก็ได้อายุสิทธิบัตรเพิ่มอีก ไม่ต้องคิดค้นอะไรใหม่ แล้วในไทยก็มีคำขอแบบนี้ประมาณ 90%”

-ทีพีพี มีการเพิ่มเติมเรื่องยาในบทว่าด้วยเภสัชกรรม กำหนดว่า ห้ามหน่วยงานรัฐต่อรองราคายากับบริษัทยา

“เขาบอกราคาไหนมาก็เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว แล้วให้บริษัทยาอยู่ทุกองคาพยพที่ต้องตัดสินใจของรัฐ แม้ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนก็ตาม โดยอ้างเรื่องความโปร่งใส นอกจากนี้ยังมีเรื่องอินเตอร์เน็ต ปัญหาการเข้าถึงความรู้  เนื้อหา SOPA PIPA CISPA มีมาหมด”

-ภาคการบริการมีเรื่อง negative list กับ Capital control

“สองเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลัวที่สุด ตอนเจรจากับสหรัฐ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยก็เคยแสดงความกังวลไว้ เพราะสหรัฐจำกัดสิทธิประเทศในการใช้ capital control ทั้งที่เป็นเครื่องมือของรัฐในการจัดการวิกฤต ธนาคารแห่งประเทศไทยกังวลมาก และไม่ยอมให้หลุดเลยไม่ว่าเจรจากับใคร เรื่องนี้ห้ามปล่อยเด็ดขาด ทันทีที่จะเจรจาทีพีพี เขาถึงผวา เพราะเขารู้ว่ามันจะมีผลกระทบแน่”

 

ประชาธิปไตยเดินหน้า แต่กระบวนการเจรจาถอยหลัง ?

กรรณิการ์ ยังกล่าวถึงปัญหาเรื่องกระบวนการก่อนการเจรจาที่ยุคประชาธิปไตยดูจะถอยหลังกว่ายุครัฐบาลทหาร

ยกตัวอย่างกรอบการเจรจาไทย-อียู เมื่อปี 50 สมัยรัฐบาลสรยุทธ์ มีเอกสารการประชุมระดมความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนการเปิดบริการนั้นให้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เปิดเฉพาะสาขาที่มีศักยภาพ ,ให้รักษาสิทธิมาตรการจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินการธนาคาร การควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะกระทบต่อดุลชำระเงินและเรื่องการลงทุนให้ เป็นเฉพาะเอกชนกับเอกชนเท่านั้นที่จะฟ้องอนุญาโตตุลาการได้

“เขาจะเขียนรัดกุมมาก เป็นจุดยืนของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าไม่ยอมเด็ดขาด ดังนั้น กรอบเจรจาในเรื่องยาก็ควรชัดเหมือนกัน ถ้าทำให้ชัดได้แบบเรื่องภาคบริการ การลงทุน เราก็ยอมรับได้ เราไม่ใช่ไม่เอาทริปส์พลัสทั้งหมด แต่มีแค่ประมาณ 7 เรื่องที่เรารับไม่ได้ ขอแค่นี้เอง ว่าอย่าเอาตรงนี้ไปแลก”

กรรณิการ์ยืนยันว่า ในสมัยรัฐบาลเผด็จการอย่างรัฐบาลสุรยุทธ์นั้นมีการจัดทำขั้นตอนก่อนการเจรจาที่โปร่งใสมากกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยเสียอีก นั่นคือมีการศึกษาวิจัย มีการร่างกรอบการเจรจา แล้วจึงรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ก่อนเข้าครม.และสภา

แต่ขณะนี้มีการสลับขั้นตอน แม้เพียงเล็กน้อยแต่ผลกระทบกลับสูงยิ่ง

“ตอนนี้กลายเป็นว่าจะรับฟังความคิดเห็นแล้วไปร่างกรอบ จากนั้นเข้า ครม.เข้าสภาเลย ตอนคุณรับฟังความเห็น คุณรับฟังจากอะไร ไม่มีกรอบให้ดูแล้วจะให้ความเห็นอย่างไร ตอนจัดคณะกรรมการรับฟังอียู-ไทย ก็รับฟังเฉยๆ โดยไม่มีข้อมูลอะไรเลย นั่นเพราะเขาไม่ต้องการให้เราเห็นกรอบการเจรจา” กรรณิการ์ตั้งข้อสังเกต

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net