มหาดไทยออกหลักเกณฑ์ใหม่ให้สัญชาติบุตรของบุคคลไม่มีสัญชาติไทย

รมว.มหาดไทยออกประกาศให้บุตรของผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทยได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป ครอบคลุมคนไทยพลัดถิ่น จนถึงกลุ่มชาติพันธุ์ 14 กลุ่ม คนไร้รากเหง้าซึ่งเกิดเมืองไทย อยู่มานาน เรียนหนังสือไทย ประกอบอาชีพสุจริต และให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะแก่บุตรของบุคคลต่างด้าวที่มีผลงาน และสาขาที่ขาดแคลน

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง “การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย” โดยมีหลักเกณฑ์ให้สัญชาติ 4 กลุ่มได้แก่

หนึ่ง บุตรของบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่เป็นเวลานานที่มีเชื้อสายไทยและเกิดในประเทศไทย ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเฉพาะชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทยไว้แล้ว รวม 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงประเทศกัมพูชาที่อพยพเข้ามาก่อนและหลัง 15 พฤศจิกายน 2520 2.กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยที่อพยพเข้ามาก่อนและหลัง 9 มีนาคม 2519 และ 3.กลุ่มชาวลาวภูเขาอพยพ ทั้งนี้ เฉพาะผู้ที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและมีเอกสารแสดงตน (เข้ามาถึงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2538) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ให้ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป

สอง บุตรของบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่มานานที่มิได้มีเชื้อสายไทย และเกิดในประเทศไทย ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเฉพาะชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทยไว้แล้ว รวม 14 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มชาวเขา 9 เผ่า 2.กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนพื้นที่สูงที่อพยพเข้ามาก่อนและหลัง 3 ตุลาคม 2528 3.กลุ่มอดีตทหารจีนคณะชาติ 4.กลุ่มจีนฮ่ออพยพพลเรือน 5.กลุ่มจีนฮ่ออิสระ 6.กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า 7.กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า 8.กลุ่มชาวเวียดนามอพยพ 9.กลุ่มชาวลาวอพยพ 10.กลุ่มเนปาลอพยพ 11.กลุ่มอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา 12.กลุ่มไทยลื้อ 13.กลุ่มม้งถ้ำกระบอกที่ทำประโยชน์ และ 14.กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวกัมพูชา

ทั้งนี้ เฉพาะผู้ที่ได้รับการสำรวจ จัดทำทะเบียนประวัติและมีเอกสารแสดงตน (เข้ามาถึงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2538) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ให้ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป (หลักเกณฑ์นี้ไม่ครอบคลุมกลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ประเภทที่อาศัยอยู่มานานซึ่งสำรวจภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ในระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึงปี พ.ศ. 2552)

สาม บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยและถูกบุพการีทอดทิ้งหรือไม่ปรากฏบิดาและมารดา (คนไร้รากเหง้า) ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ได้รับการสำรวจ จัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตน ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 (บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มคนไร้รากเหง้า) ซึ่งได้รับการสำรวจในระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2552 ให้ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป

สี่ บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ โดยบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ต้องมาแสดงตัวให้ทางราชการพิจารณาพร้อมหลักฐานการทำคุณประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง ให้ได้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย ที่มีคุณประโยชน์และผลงานด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การกีฬา และสาขาที่ขาดแคลน

ห้า กรณีบุตรของคนต่างด้าว กลุ่มเด็กและบุคคลทั้งที่กำลังเรียนอยู่ในสถานศึกษาและจบการศึกษาแล้ว แต่ไมมีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนในกลุ่มชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ได้สำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ถึงปี พ.ศ. 2542 และสำรวจเพิ่มเติมตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 (บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มเด็กนักเรียนในสถานศึกษา) ซึ่งได้รับการสำรวจในระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึงปี พ.ศ. 2552 หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ให้ยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย หากไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว ให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราม พ.ศ. 2548 ตามสถานะของบิดาและมารดา

โดยรายละเอียดของประกาศกระทรวงมหาดไทยมีดังแนบท้ายนี้ และสำหรับรายละเอียดของประกาศทั้งหมดและแบบคำร้องสามารถดาวโหลดได้ที่นี่

000

ประกาศกระทรวงมหาดไทย

เรื่อง การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงได้มีคำสั่งให้บุคคลซึ่งมีลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป หรือได้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย ดังนี้

ข้อ 1 บุตรของบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่เป็นเวลานานที่มีเชื้อสายไทยและเกิดในประเทศไทย ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเฉพาะชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทยไว้แล้ว รวม 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกงประเทศกัมพูชาที่อพยพเข้ามาก่อนและหลัง 15 พฤศจิกายน 2520 2.กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยที่อพยพเข้ามาก่อนและหลัง 9 มีนาคม 2519 และ 3.กลุ่มชาวลาวภูเขาอพยพ ทั้งนี้ เฉพาะผู้ที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและมีเอกสารแสดงตน (เข้ามาถึงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2538) โดยสำนักบริหารการทะเบียน ปกรมการปกครอง ให้ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป (หลักเกณฑ์นี้ไม่ครอบคลุมกลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ประเภทที่อาศัยอยู่มานานซึ่งสำรวจภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ในระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึงปี พ.ศ. 2552) ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

(1) ไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น

(2) เป็นบุคคลที่เกิดและมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่อง โดยมีชื่ออยู่ในเอกสารทะเบียนราษฎร และมีเอกสารทางราชการที่แสดงว่าเกิดในประเทศไทย

(3) ได้รับการศึกษาตามหลักสูตรที่ทางราชการไทยกำหนดหรือสามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจ ยกเว้นกรณีเด็กที่อายุต่ำกว่าเจ็ดปี

(4) มีความประพฤติดี ไม่เคยรับโทษคดีอาญา เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ กรณีได้รับโทษในคดีอาญาต้องพ้นโทษมาแล้วอย่างน้อยห้าปี นับถึงวันที่ยื่นคำร้อง

(5) ประกอบอาชีพสุจริต ยกเว้นพระภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาอื่นๆ ซึ่งต้องปฏิบัติกิจมาไม่น้อยกว่าห้าปี หรือผู้ยื่นคำร้องที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และไม่ได้ประกอบอาชีพ และ

(6) ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

 

ข้อ 2 บุตรของบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่มานานที่มิได้มีเชื้อสายไทย และเกิดในประเทศไทย ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเฉพาะชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทยไว้แล้ว รวม 14 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มชาวเขา 9 เผ่า 2.กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนพื้นที่สูงที่อพยพเข้ามาก่อนและหลัง 3 ตุลาคม 2528 3.กลุ่มอดีตทหารจีนคณะชาติ 4.กลุ่มจีนฮ่ออพยพพลเรือน 5.กลุ่มจีนฮ่ออิสระ 6.กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า 7.กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า 8.กลุ่มชาวเวียดนามอพยพ 9.กลุ่มชาวลาวอพยพ 10.กลุ่มเนปาลอพยพ 11.กลุ่มอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา 12.กลุ่มไทยลื้อ 13.กลุ่มม้งถ้ำกระบอกที่ทำประโยชน์ และ 14.กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวกัมพูชา ทั้งนี้ เฉพาะผู้ที่ได้รับการสำรวจ จัดทำทะเบียนประวัติและมีเอกสารแสดงตน (เข้ามาถึงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2538) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ให้ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป (หลักเกณฑ์นี้ไม่ครอบคลุมกลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ประเภทที่อาศัยอยู่มานานซึ่งสำรวจภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ในระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึงปี พ.ศ. 2552) ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

(1) ไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น

(2) เกิดและมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่อง โดยต้องมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร หรือมีเอกสารทางราชการที่แสดงว่าเกิดในราชอาณาจักรไทย

(3) สามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ ยกเว้นกรณีเด็กอายุต่ำกว่าเจ็ดปี

(4) ต้องมีความจงรักภักดีต่อประเทศไทย และเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(5) มีความประพฤติดี ไม่เคยได้รับโทษคดีอาญา เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ กรณีได้รับโทษในคดีอาญาต้องพ้นโทษมาแล้วอย่างน้อยห้าปีนับถึงวันที่ยื่นคำร้อง

(6) ประกอบอาชีพสุจริต ยกเว้นพระภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาอื่นๆ ซึ่งต้องปฏิบัติกิจมาไม่น้อยกว่าห้าปี หรือผู้ยื่นคำร้องที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และไม่ได้ประกอบอาชีพ และ

(7) ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

 

ข้อ 3 บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยและถูกบุพการีทอดทิ้งหรือไม่ปรากฏบิดาและมารดา (คนไร้รากเหง้า) ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ได้รับการสำรวจ จัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตน ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 (บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มคนไร้รากเหง้า) ซึ่งได้รับการสำรวจในระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2552 ให้ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป ภายใต้เงื่อนไขดังนี้

(1) เกิดและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นเวลาอย่างน้อยสิบปี โดยต้องมีสูติบัตรหรือหนังสือรับรองการเกิด หรือหนังสือรับรองสถานที่เกิด หรือมีหนังสือรับรองความเป็นคนไร้รากเหง้าจากหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมาย หรือสถานสงเคราะห์ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

(2) มีชื่ออยู่ในเอกสารทะเบียนราษฎรและเอกสารที่ทางราชการกำหนด เฉพาะที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียน ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 ซึ่งได้รับการสำรวจในระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2552 และ

(3) มีความประพฤติดี และไม่เคยรับโทษคดีอาญา เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ

 

ข้อ 4 บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ โดยบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ต้องมาแสดงตัวให้ทางราชการพิจารณาพร้อมหลักฐานการทำคุณประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง ให้ได้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

(1) ไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น

(2) เกิดและมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อยสิบปี โดยมีชื่ออยู่ในเอกสารทะเบียนราษฎรหรือมีเอกสารทางราชการที่แสดงว่าเกิดในประเทศไทย

(3) มีความจงรักภักดีต่อราชอาณาจักรไทย และเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(4) มีความประพฤติดีและไม่เคยได้รับโทษคดีอาญา เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ กรณีได้รับโทษคดีอาญาต้องพ้นโทษมาแล้วอย่างน้อยห้าปี

(5) ประกอบอาชีพสุจริต

(6) ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และ

(7) เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศ โดยมีผลงานหรือความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานราชการระดับกรมหรือเทียบเท่ากรมที่เกี่ยวข้องรับรองคุณประโยชน์และผลงานในสาขาต่างๆ ดังนี้

(ก) การศึกษา

(ข) ศิลปวัฒนธรรม

(ค) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(ง) การกีฬา

(จ) สาขาที่ขาดแคลน หรือสาขาอื่น ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควร

 

ข้อ 5 กรณีบุตรของคนต่างด้าว กลุ่มเด็กและบุคคลทั้งที่กำลังเรียนอยู่ในสถานศึกษาและจบการศึกษาแล้ว แต่ไมมีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนในกลุ่มชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ได้สำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ถึงปี พ.ศ. 2542 และสำรวจเพิ่มเติมตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 (บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มเด็กนักเรียนในสถานศึกษา) ซึ่งได้รับการสำรวจในระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึงปี พ.ศ. 2552 หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ให้ยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย หากไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว ให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราม พ.ศ. 2548 ตามสถานะของบิดาและมารดา

ทั้งนี้ ให้ผู้ที่มีความประสงค์จะได้รับสัญชาติไทยตามประกาศนี้ ให้ยื่นคำร้องตามแบบและขั้นตอนที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้

 

ข้อ 6 เมื่อบุคคลใดได้รับสัญชาติไทยแล้ว ภายหลังปรากฏว่าการได้มาซึ่งสัญชาติไทย ไม่เป็นไปตามลักษณะหรือเงื่อนไขตาม (1) หรือ (2) ของข้อ 1 ถึงข้อ 4 แล้วแต่กรณี หรือบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐ หรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติให้หน่วยงานรับผิดชอบถอนสัญชาติไทยบุคคลนั้นตามกฎหมาย

 

ประกาศ ณ วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท