Skip to main content
sharethis

ครม.ส่ง ‘โอฬาร’ นำทีมเจรจา ‘FTA ไทย-อียู’ ยันการเจรจาข้อตกลงไม่ทำไทยเสียเปรียบ โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิบัตรยา-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ด้านภาคประชาสังคมชี้ร่างกรอบเจรจาฯ ไม่มีข้อความป้องกันปัญหาข้อห่วงใย เตรียมใช้สิทธิตรวจสอบรัฐทุกช่องทาง

 
 
วันนี้ (4 ธ.ค.55) นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้มีมติเห็นชอบร่างกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (FTA ไทย -ยุโรป) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยในระหว่างนี้ที่ประชุมฯ มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์หารือกับภาคเอกชนรวมทั้งเปิดรับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่มีต่อการจัดทำ FTA ไทย-ยุโรป และมอบหมายให้นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการเจราจารายละเอียดต่างๆ กับสหภาพยุโรป จากนั้นให้นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
 
รวมทั้ง ให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ไปติดตามความคืบหน้าการเจรจา ซึ่งการเจรจาดังกล่าว ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยมีประเด็นที่เป็นห่วง 3 เรื่อง คือ การมีข้อผูกพันทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดทางการเกษตรอย่างครบวงจร รวมถึงอุปสรรคต่อการใช้มาตรการสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา และการเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชน, การเปิดเสรีสินค้าแอลกอฮอล์และบุหรี่ ที่อาจส่งเสริมให้เกิดการบริโภคมากขึ้น และการสูญเสียฐานทรัพยากรของประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
 
ทั้งนี้ กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป จะใช้ในการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมความตกลงด้านการค้าสินค้า, การค้าบริการ, การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งการเจรจาอาจเจรจาแยกเป็นรายฉบับ รวมทั้งภาคผนวกและเอกสารแนบท้ายที่จะมีการเจรจาเพิ่มเติมในภายหน้า
 
สำหรับสาระสำคัญของกรอบการเจรจาจะครอบคลุม 17 ประเด็น ได้แก่ 1.การค้าสินค้า 2.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 3.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.มาตรการปกป้องด้านดุลการซำระเงิน 6.มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 7.อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 8.การค้าบริการ 9.การลงทุน 10.การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ 11.ทรัพย์สินทางปัญญา 12.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 13.ความโปร่งใส 14.การแข่งขัน 15.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 16.ความร่วมมือ และ 17.เรื่องอื่นๆ
 
 
ก.พาณิชย์ หวัง ‘FTA ไทย-ยุโรป’ แก้ปัญหาถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร
 
ด้านกระทรวงพาณิชย์ได้ให้เหตุผลว่า การเสนอเรื่องนี้เข้ามาถือว่า มีความจำเป็น เพราะการจัดทำข้อตกลงนี้ มีความจำเป็นที่ช่วยสร้างโอกาสแก่ไทยในการเป็นศูนย์กลางของอียู ด้านการค้าและการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และภาคบริการ รวมทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ไทยจะถูกตัดสิทธิจีเอสพีของสหภาพยุโรปทั้งหมดในปี 58 ด้วย
 
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การเจรจาข้อตกลง ยังเป็นไปตามแนวทางเดิม และไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิบัตรยา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งฝ่ายไทยจะไม่ทำตามคำขอของฝ่ายอียู หากเห็นว่าข้อตกลงเรื่องดังกล่าวทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบ
 
 
ภาคประชาสังคมระบุ เตรียมใช้สิทธิตรวจสอบรัฐทุกช่องทาง
 
ขณะที่ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ระบุว่า การที่ ครม.วันนี้อนุมัติร่างกรอบเจรจาฯ โดยไม่มีหลักการหรือข้อความใดๆ ที่จะป้องกันปัญหาข้อห่วงใยของภาคประชาสังคม ทั้งเรื่องการเข้าถึงยาที่จะได้รับผลกระทบจากเนื้อหาที่เป็นทริปส์พลัส การเปิดเสรีสินค้าและบริการ และการลงทุนที่เกี่ยวข้อกับสินค้าทำลายสุขภาพ อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ทำให้ภาคประชาสังคมต้องใช้สิทธิในการตรวจสอบการดำเนินนโยบายของรัฐทุกช่องทางเท่าที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญจะอำนวย 
 
อีกทั้งระบุด้วยว่า ในวันที่ 11 ธ.ค.55 เวลา 13.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะจัดประชุมกรณีที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเจรจา FTA ไทย-ยุโรปด้วย
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่  3 ธ.ค.55 ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม 15 องค์กร ชุมนุมที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านทาง นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สธ. เรียกร้องให้รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาที่จะระบุในกรอบเจรจาฯ อย่างชัดเจน FTA ไทย-ยุโรป ต้องไม่กระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพและการกำหนดนโยบายสาธารณะ เนื่องจากกรอบดังกล่าว ยังไม่เคยเปิดเผยและยังไม่เคยถูกนำมารับฟังความคิดเห็นสาธารณะว่า
 
เนื้อความในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ภาคประชาสังคมฯดังกล่าว มีข้อเสนอดังนี้ 1.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์) รักษาคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้เมื่อวันที่ 22 พ.ย.55 ว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปอย่างชัดเจนถึงการป้องกันผลกระทบจากการเจรจา FTA ต่อระบบสุขภาพและสาธารณสุขของไทย เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี
 
2.ให้กำหนดไว้ในกรอบการเจรจา FTA ไทย-ยุโรป อย่างชัดเจนว่า ไม่รับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทริปส์พลัส ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 โดยผลการเจรจาใดๆที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ที่ไทยปฏิบัติอยู่ถือเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ และควรระบุหลักการสำคัญลงไปในกรอบเจรจาว่า การเจรจาความตกลงนี้จะต้องไม่กระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพ และต้องไม่กระทบกับการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสาธารณสุข สังคมและการคุ้มครองผู้บริโภค
 
3.เนื่องด้วย FTA ไทย-ยุโรป เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ด้านสังคม และกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศอย่างกว้างขวาง จึงขอให้รัฐบาลดำเนินตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด และขอให้การเจรจา FTA ไทย-ยุโรป ที่จะมีขึ้นรอผลจากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่จะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 เพื่อประกอบการตัดสินใจ
 
ทั้งนี้ เครือข่ายและองค์กรที่ร่วมยื่นจดหมายถึงนายกฯ ดังกล่าว ประกอบไปด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, มูลนิธิชีวิตไท และ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net