Skip to main content
sharethis

 

อัตราว่างงานพุ่งสูงสุดใน 16 ปี ยอดชาวสเปนเตะฝุ่นเฉียด 5 ล้านคน
 
6 พ.ย. 55 - จำนวนคนว่างงานในสเปนเพิ่มสูงขึ้นอีก 2.73 เปอร์เซ็นต์เป็นทั้งหมด 10.84 เปอร์เซ็นต์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานทั้งประเทศถึง 4.83 ล้านคน ถือเป็นสถิติคนว่างงานในระดับสูงที่สุดของประเทศในรอบ 16 ปี ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยตัวเลขด้านแรงงานล่าสุดของกระทรวงแรงงานแดนกระทิงดุในวันจันทร์ (5 พ.ย.)
 
รายงานล่าสุดของกระทรวงแรงงานสเปนระบุว่า ดินแดนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่มยูโรโซนแห่งนี้มีจำนวนผู้ว่างงานล่าสุดเป็น 4.83 ล้านคน ถือเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 เป็นต้นมา โดยหากนับเฉพาะในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว จำนวนคนว่างงานในสเปนได้เพิ่มจำนวนขึ้นอีก 128,242คน หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2.7 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นสัญญาณแห่งความตกต่ำดำดิ่งของเศรษฐกิจสเปน ที่เริ่มย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2011
 
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย แห่งสเปน พยายามออกมาสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนว่า มาตรการปฏิรูปด้านแรงงานของเขาจะช่วยให้สถานการณ์ด้านแรงงานของประเทศปรับตัวดีขึ้นในไม่ช้า แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า มาตรการรัดเข็มขัดอันเข้มงวดของรัฐบาลสเปน ที่มีจุดหมายตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐลงให้ได้ 150,000 ล้านยูโร (ราว 5.9 ล้านล้านบาท) นับจากปี 2012-2014 อาจกลายเป็น “ฝันร้าย” สำหรับตลาดแรงงาน และอาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัว แทนที่จะขยายตัว
 
กรีซประท้วงหยุดงาน 48 ชม. ต้านแผนรัดเข็มขัดชี้ชะตาประเทศ
 
6 พ.ย. 55 - ชาวกรีซรวมถึงพนักงานภาคสาธารณะและเอกชน ประท้วงหยุดงานเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และมารวมตัวประท้วงในกรุงเอเธนส์ ในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำลังพิจารณาร่างงบประมาณปี 2013 ซึ่งรวมถึงมาตรการรัดเข็มขัดรอบใหม่ที่เข้มข้นกว่าเดิม ซึ่งกรีซจำเป็นต้องเห็นชอบงบประมาณนี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือก้อนใหม่จากสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ
 
การประท้วงเริ่มขึ้นในวันอังคาร โดยมีพนักงานส่วนการคมนาคมขนส่งสาธารณะ นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่ควบคุมการบิน คนขับรถแท็กซี่ นักข่าว และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลมาร่วมการประท้วงครั้งนี้ เพราะไม่พอใจมาตรการรัดเข็มขัดรอบใหม่ของรัฐบาล ที่จะลดเงินบำนาญ ลดเงินเดือนขั้นต่ำ เพิ่มอายุขั้นต่ำสำหรับการเกษียณอายุราชการ
 
ขณะเดียวกัน รัฐบาลกรีซซึ่งกำลังมีความเห็นแตกแยกกันในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล จำเป็นต้องผ่านร่างงบประมาณปี 2013 ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากกลุ่มทรอยกา หรือคณะผู้ตรวจสอบจากสหภาพยุโรป (อียู), ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อรับเงินช่วยเหลืองวดใหม่ จำนวน 3.15 หมื่นล้านยูโร จึงจะรอดพ้นการเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เนื่องจากงบประมาณของประเทศจะหมดลงภายในสิ้นเดือน พ.ย.
 
กรีซอนุมัติมาตรการรัดเข็มขัดรอบใหม่แม้เจอประท้วงหนัก
 
8 พ.ย. 55 - สภาผู้แทนราษฎรกรีซลงมติเห็นชอบมาตรการรัดเข็มขัดระลอกใหม่เช้าวันนี้ หลังเผชิญเหตุชุมนุมคัดค้านที่ลุกลามรุนแรงกลายเป็นจลาจล
 
ส.ส.กรีซลงมติด้วยคะแนนเสียง 153-128 เสียงเมื่อวานอนุมัติมาตรการประหยัดรายจ่ายครั้งใหม่รวมมูลค่า 13,500 ล้านยูโรในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะมีทั้งการตัดลดเงินบำนาญและเงินเดือน ปรับขึ้นเกณฑ์อายุเกษียณ และการขึ้นภาษี โดยเป็นอีกความพยายามล่าสุดในการปฏิบัติตามเงื่อนไขแลกกับเงินกู้ช่วยเหลืองวดล่าสุดตามข้อตกลงกู้ยืม 240,000 ล้านยูโรจากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
 
การลงมติอนุมัติมีขึ้นแม้ส.ส. 7 คนจาก 2 พรรคการเมืองในรัฐบาลผสม 3 พรรคโหวตคัดค้าน ทำให้ทั้งสองพรรคประกาศขับส.ส.ดังกล่าวออกจากพรรคแล้ว นายกรัฐมนตรี แอนโทนิส ซามาราส ยืนยันว่ามาตรการรัดเข็มขัดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากภาวะล้มละลาย เพราะหากไม่ได้รับเงินกู้งวดใหม่ 31,500 ล้านยูโร อาจทำให้ประเทศขาดเงินหมุนเวียนใน 16 พ.ย.นี้ ขณะที่นายอเล็กซ์ ทซีปราสผู้นำพรรค ซิริซา ที่คัดค้านการกู้เงินและการรัดเข็มขัด เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลกำลังนำพาประเทศเข้าสู่หายนะ
 
ขณะที่ด้านนอกรัฐสภา มีผู้ประท้วงราว 80,000 คนชุมนุมคัดค้านมาตรการรัดเข็มขัดนานหลายชั่วโมงตั้งแต่ก่อนการประชุมสภาจะเริ่มขึ้น และผู้ประท้วงส่วนหนึ่งราวหลายร้อยคนได้ขว้างปาก้อนหินและระเบิดเพลิงใส่ตำรวจปราบจลาจล ทำให้ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตา ปืนช็อร์ตไฟฟ้า และรถฉีดน้ำในการสลายฝูงชน นอกจากนี้ยังมีการประท้วงในอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วประฟเทศ การเดินขบวนประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานนาน 48 ชม.ที่สิ้นสุดลงเมื่อวาน
 
ผู้ประท้วงไม่พอใจกับมาตรการรัดเข็มขัดระลอกใหม่ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 3 ปี เพราะจะยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยากของพวกเขา หลังต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจถดถอยที่ยืดเยื้อจนใกล้เข้าสู่ปีที่ 6 และอัตราว่างงานสูงถึง 25%
 
ทหารผ่านศึกโปรตุเกสประท้วงแผนการรัดเข็มขัดของรัฐบาล
 
11 พ.ย. 55 - ทหารผ่านศึกราว 5,000 คนร่วมชุมนุมประท้วงตามท้องถนนในกรุงลิสบอน เพื่อคัดค้านแผนการลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลซึ่งถือว่าการประท้วงของทหารในโปรตุเกสนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารโค่นล้มผู้นำเผด็จการไปเมื่อปี 2517 แกนนำการประท้วงระบุว่ามาตรการลดรายจ่ายของรัฐบาลส่งผลกระทบต่อชาวโปรตุเกสทั้งประเทศไม่เฉพาะแต่ทหารเท่านั้น
 
ขณะที่ทั้งตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐอื่นๆ ต่างไม่พอใจมาตรการของรัฐบาลเช่นเดียวกัน ขณะที่รัฐบาลโปรตุเกสต้องขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารกลางยุโรป และกรรมาธิการยุโรปมาแล้ว 78,000 ล้านยูโร เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย ขณะที่ประเทศกำลังประสบกับวิกฤติการเงินอย่างรุนแรง
 
คาดสิงคโปร์จะต้องการแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น
 
สิงคโปร์ 12 พ.ย. – รัฐบาลสิงคโปร์ แถลงวันนี้ว่า ความต้องการแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคสาธารณสุข การก่อสร้าง และผู้ช่วยแม่บ้าน
 
รายงานอ้างหน่วยงานด้านประชากรของสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าความต้องการแรงงานในภาคสาธารณสุขจะเพิ่มจาก 50,000 คนในปี 2554 เป็น 91,000 คนในปี 2573 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชากรสูงอายุ และความต้องการแรงงานต่างชาติในภาคสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นจาก 13,000 คนในปี 2554 เป็น 28,000 คน การคาดการณ์ตัวเลขดังกล่าวมาจากสมมติฐานเกี่ยวกับแนวโน้มประชากรและความต้องการแรงงานของประเทศ ส่วนความต้องการแรงงานต่างชาติในงานผู้ช่วยแม่บ้านจะเพิ่มจาก 198,000 คนในปีที่แล้ว เป็น 300,000 คนในปี 2573 และความต้องการแรงงานต่างชาติในภาคการก่อสร้างจะเพิ่มจาก 250,000 คนเมื่อปีที่แล้วเป็น 280,000 คนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
 
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์เข้มงวดการรับแรงงานต่างชาติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมากร้องเรียนว่ากำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน
 
เอ็นบีซีฯเลย์ออฟพนักงานกว่า 500 คน
 
14 พ.ย. 55 - เอ็นบีซียูนิเวอร์แซล เอ็นเทอร์เทนเมนท์ บริษัทในเครือคอมแคสต์ คอร์ป ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 500 คน ซึ่งครอบคลุมแผนกเคเบิลของบริษัท รายการโทรทัศน์ช่วงดึกของเจย์ เลโน และสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์
 
การเลิกจ้างคราวนี้คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของพนักงานบริษัททั้งเครือกว่า 30,000 คน โดยช่องเคเบิล จี4 ซึ่งเป็นเครือข่ายรายการเกี่ยวกับวิดีโอเกมส์และวัฒนธรรมการเล่นเกมส์ มีพนักงานถูกบอกเลิกจ้างจำนวนมากที่สุด รวมถึงยกเลิกรายการโทรทัศน์ของช่องอีกด้วยในช่วงที่ผ่านมา
 
ก่อนหน้านี้ บริษัทเลิกจ้างพนักงานรายการ The Tonight Show with Jay Leno เมื่อ 2 เดือนก่อน ทำให้ทีมงานประมาณ 24 คนต้องจำใจออก
 
สูติโอถ่ายทำภาพยนต์ของบริษัท ยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์ สั่งปลดพนักงาน 20 ตำแหน่ง รวมถึงบางตำแหน่งในแผนกความบันเทิงในครอบครัว ซึ่งมียอดจำหน่ายย่ำแย่ทั้งอุตสาหกรรม หลังจากดีวีดีไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอีกต่อไป
 
การลดจำนวนพนักงานยังจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยคาดว่าทีมงานจากสำนักข่าวเอ็นบีซี นิวส์ กรุ๊ปและช่องเคเบิลอื่นๆ อาทิเช่นยูเอสเอ บราโว และอี! อาจโดนหางเลขไปด้วย
 
"ไอเกีย" รับผิด-เคยใช้แรงงานทาส
 
นิวยอร์กไทมส์รายงานเมื่อ 17 พ.ย.ว่า บริษัทไอเกีย (IKEA) ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากสวีเดนที่มีสาขาทั่วโลกรวมทั้งในไทย แถลงยอมรับว่าบริษัทมีประวัติใช้แรงงานทาสของประเทศเยอรมันตะวันออกเพื่อผลิตสินค้าให้แก่บริษัทในยุคสงครามเย็น พร้อมกล่าวขอโทษต่อเหยื่อการใช้แรงงานทาส ดังกล่าวที่เรียกร้องความเป็นธรรมและเงินชดเชยจากบริษัทไอเกียมาตลอด
 
ก่อนหน้านี้ไอเกียว่าจ้างให้บริษัท "เอินส์ แอนด์ ยัง" ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบความโปร่งใสบัญชีธุรกิจต่างๆ สอบสวนข้อกล่าวหาที่สื่อในสวีเดนระบุว่าไอเกียใช้แรงงานทาส โดยจากการตรวจสอบเอกสารกว่า 100,000 หน้า และสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีก 90 คน ได้ข้อสรุปว่าสินค้าของไอเกียผลิตขึ้นในโรงงานของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน คนงานส่วนใหญ่เป็นนักโทษการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและถูกขังคุก โดยไม่ได้ค่าจ้างจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ 
 
ด้านนักวิจัยชี้ว่าไอเกียอาจจ่ายค่าจ้างให้แก่รัฐบาลเยอรมันตะวันออกแล้ว แต่เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ฮุบเงินไว้เอง ซึ่งนอกจากไอเกียแล้วยังมีบริษัทที่อาศัยแรงงานทาสเยอรมันตะวันออก อีกมาก แต่ยังไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้มากนัก
 
สหภาพแรงงานคนขับรถบัสเกาหลีประท้วงกฎหมายใหม่ หวั่นถูกตัดเงินอุดหนุน
 
21 พ.ย. 55 - สำนักข่าว AFP รายงานว่าชาวเกาหลีใต้ร่วมล้านคน ต้องเผชิญกับสภาพโกลาหล เนื่องจากพนักงานขับรถโดยสาร ได้ทำการเริ่มหยุดงานประท้วงเพื่อต่อต้านกฎหมายใหม่ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ได้อนุมัติให้รถแท็กซี่เป็นยานพาหนะเพื่อการขนส่งภาคสาธารณะ ซึ่งจะส่งผลให้รถโดยสารภาคสาธารณะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐลดลง
 
โฆษกของสหภาพแรงงานพนักงานขับรถโดยสาร ระบุว่าพนักงานขับรถโดยสารประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ จะเริ่มการหยุดงานประท้วงตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนวันพุธ
 
การนัดหยุดงานประท้วงเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐสภาอนุมัติร่างกฎหมายอนุญาตให้พนักงานขับรถแท็กซี่ได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ และอนุญาตให้รถแท็กซี่สามารถขับรถในช่องทางเดินทางของรถโดยสารได้
 
โฆษกของสหภาพแรงงานพนักงานขับรถโดยสารยังระบุว่า กฎหมายนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้ให้บริการรถโดยสาร เนื่องจากจะทำให้รถโดยสารได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐลดลง ทั้งนี้มีการประมาณการกันว่ารถโดยสารในเมืองต่างๆ ของเกาหลีรับส่งผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อวัน
 
อนึ่งเมื่อเดือน มิ.ย. 55 ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานคนขับรถแท็กซี่กว่า 200,000 คน ได้หยุดงานประท้วงเพื่อขอขึ้นราคาและเรียกร้องให้ลดราคาพลังงานลง โดยพวกเขาได้เรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าโดยสารเริ่มจากที่ 2,400 วอน (62 บาท) และลดราคากาซแอลพีจีลงด้วยหลังราคาพุ่งขึ้นมากว่าร้อยละ 50 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาให้รัฐบาลต้องผ่านกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาของคนขับแท็กซี่ แต่กลับมากระทบกับกลุ่มพนักงานขับรถโดยสาร ในครั้งนี้
 
แรงงานอินโดฯกว่าหมื่นประท้วงขอขึ้นค่าแรง
 
23 พ.ย. 55 - สำนักข่าวเอพี รายงานว่า คนงานอินโดนีเซีย กว่า 10,000 คน เดินขบวนในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 22 พ.ย. โดยแกนนำได้เรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรง ให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ และขอสิทธิ์รักษาพยาบาลฟรี โดยกล่าวอ้างเศรษฐกิจของประเทศกำลังเฟื่องฟู เจ้าหน้าที่ตำรวจ เผยว่า คนงานเหล่านี้ สังกัดสหภาพแรงงานหลายกลุ่ม นัดชุมนุมประท้วงโดยสงบ บริเวณใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังอาคารรัฐสภา โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ราว 23,000 นาย เฝ้าควบคุมสถานการณ์ ทั้งในเขตเมืองหลวงและรอบนอก แรงงงานอินโดนีเซีย เดินขบวนเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง และปรับปรุงสภาพการทำงานบ่อยครั้ง ในช่วงไม่นานมานี้ หลังจากเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว และสัปดาห์นี้ รัฐบาลเพิ่งอนุมัติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในเขตเมืองหลวงกรุงจาการ์ตา และปริมณฑล 44 เปอร์เซ็นต์ เป็นเดือนละ 2.2 ล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 7,000 บาท โดยให้เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่ปีหน้า ซึ่งการเดินขบวนในวันนี้ แกนนำกล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแก่คนงานทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้เท่ากับแรงงานในกรุงจาการ์ตา
 
 
'นักเรียน-นักศึกษา-อาจารย์' อิตาลีประท้วง
 
25 พ.ย. 55 - นักเรียนมัธยม นักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วอิตาลี หลายพันคน ชุมนุมกันกลางกรุงโรม ประท้วงรัฐบาล นายกรัฐมนตรี มาริโอ มอนติ เพราะไม่พอใจนโยบายรัดเข็มขัด ที่มุ่งเพิ่มการเก็บภาษีและตัดงบประมาณด้านการศึกษา ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงเห็นว่ายิ่งทำให้ประเทศชาติแย่ลงอีก ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันสำหรับเหล่าเยาวชนก็แย่อยู่แล้ว เพราะอัตราการว่างงานสูงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าอัตราเฉลี่ยการว่างงานของผู้คนทั้งประเทศ ถึง 3 เท่า ขณะที่ นายกรัฐมนตรีมอนติ อ้างถึงความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการกู้เงินต่างชาติมาช่วยเยียวยาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกับกรีซ
 
แรงงานชาวไต้หวันนับพัน ประท้วงรัฐบาล
 
26 พ.ย. 55 - สื่อต่างประเทศ รายงาน แรงงานไต้หวันหลายพันคน ขว้างปาไข่ใส่ตำรวจระหว่างชุมนุมตามท้องถนนเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจรายใหญ่ผู้จัดการชุมนุมเผยหลังเสร็จสิ้นการชุมนุมว่า ผู้ชุมนุม 4,000 คน จากกลุ่มแรงงานกว่า 50 กลุ่ม ขว้างปาไข่ระบายความไม่พอใจมากถึง 5,000 ใบ ขณะที่ตำรวจเผยว่า มีผู้ชุมนุมเพียง 3,000 คน การชุมนุมนาน 3 ชั่วโมง ยุติลงที่จัตุรัสทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมอยู่ และมีตำรวจปราบจลาจลหลายร้อยนาย แต่ไม่เกิดเหตุปะทะกันผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจและแรงงาน ที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนแ ละไม่กระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง รัฐบาลปล่อยให้แรงงานมีชีวิตยากลำบากจากการไม่สนับสนุนข้อเรียกร้องขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำจาก 18,780 ดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 19,719 บาท) เป็น 19,047 ดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 20,000 บาท) ทั้งที่ไม่มีการปรับมาร่วม 10 ปีแล้วด้านแกนนำธุรกิจ ชี้ว่า การขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำ จะส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจที่กำลังต่อสู้กับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่อัตราว่างงานในไต้หวัน เมื่อเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.33
 
บังกลาเทศลุกฮือ หลังคนงานดับ 110 วอนยุติ 'กับดักแห่งความตาย' ในโรงงาน
 
26 พ.ย. 55 - คนงานสิ่งทอบังกลาเทศหลายพันคนชุมนุมประท้วงเมื่อวันจันทร์ (26) ที่ชานเมืองหลวงธากา เรียกร้องให้แก้ไขสภาพการทำงานของพวกเขา ซึ่งไม่แตกต่างอะไรจากการเข้าไปอยู่ใน “กับดักความตาย” โดยที่ในวันเดียวกันนี้ ได้เกิดเหตุไฟไหม้อาคารโรงงานซึ่งเป็นตึกสูงอีกแห่งหนึ่ง หลังพระเพลิงเพิ่งเผาผลาญโรงงานแห่งหนึ่งไปเมื่อคืนวันเสาร์(24) ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 110 ศพ 
       
อาคาร 12 ชั้นซึ่งเกิดไฟไหม้ในวันจันทร์ เป็นที่ตั้งของโรงงานต่างๆ รวม 4 โรง เมื่อพระเพลิงปะทุขึ้นก็ได้สร้างความแตกตื่นตกใจให้แก่บรรดาคนงานซึ่งพากันวิ่งหนีไปยังสถานที่ปลอดภัย ตามคำบอกเล่าของ นิชารุล อาริฟ รองผู้บัญชาการตำรวจกรุงธากา คนงานส่วนใหญ่ได้พังลูกกรงที่ติดตั้งในบริเวณชั้นบน และหลบไปยังอาคารข้างเคียงอีกหลังหนึ่งได้
       
พวกเจ้าหน้าที่กู้ภัยแจ้งว่า อาคารแห่งนี้ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้างขวาง ทว่ายังไม่มีรายงานพบผู้บาดเจ็บล้มตาย
       
ไม่เหมือนกับเหตุไฟไหม้เมื่อคืนวันเสาร์ในอาคาร 9 ชั้นของโรงงานทัซรีน แฟชั่นส์ ซึ่งก็ตั้งอยู่ในเมืองอาชูเลีย ย่านอุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่นอกกรุงธากา
       
ในวันจันทร์ ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณืไฟไหม้ในวันเสาร์ ได้ออกมารวมตัวกับคนงานสิ่งทอจากโรงงานอื่นๆ และชาวบ้านรวมหลายพันคน พวกเขาปิดถนนและเดินขบวนในย่านอุตสาหกรรมดังกล่าว เรียกร้องให้มีการสอบสวนเจ้าของทัซรีน แฟชั่นส์ รวมทั้งปรับปรุงสภาพความปลอดภัยในการทำงาน
       
บาดรูล อะลาม ผู้บัญชาการตำรวจในท้องที่เผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสอบสวนเหตุร้ายคราวนี้โดยถือว่าเป็นคดีฆ่าคนตายโดยประมาท นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานรัฐบาล 2 แห่ง กำลังทำการสอบสวนเพื่อหาข้อสรุปว่า เจ้าของโรงงานมีความผิดจากโศกนาฏกรรมนี้หรือไม่
       
ทางการบังกลาเทศยังประกาศไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตหนึ่งวัน และโรงงานทั้งหมดจะปิดทำการในวันอังคาร (27)
       
ในเหตุการณ์เมื่อคืนวันเสาร์นั้น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าที่จะสามารถควบคุมพระเพลิงในโรงงาน 9 ชั้นแห่งนั้นได้ โดยมีรายงานว่า ขณะเกิดเหตุมีพนักงานติดอยู่กว่า 1,000 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 150 คน
       
ในวันจันทร์ ทางการจัดให้มีการทำพิธีศพหมู่รอบแรกสำหรับเหยื่อที่มีทั้งสิ้น 110 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 59 รายที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้
       
อามิรัล เฮก อามิน ประธานสหพันธ์แรงงานสิ่งทอแห่งชาติของบังกลาเทศ ชี้ว่าอุบัติเหตุร้ายแรงครั้งล่าสุดเป็นผลจากการเพิกเฉยต่อความปลอดภัยและสวัสดิการของแรงงานที่สะสมมาต่อเนื่อง
       
“เกิดไฟไหม้หรืออุบัติเหตุขึ้นเมื่อไหร่ รัฐบาลจะตั้งทีมสอบสวน และผู้มีอำนาจซึ่งรวมถึงเจ้าของโรงงาน จะจ่ายเงินและยืนยันว่า จะปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยและสภาพการทำงาน แต่ไม่มีใครเคยทำจริงๆ สักที”
       
ทั้งนี้ นับจากปี 2006 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานสิ่งทอในบังกลาเทศแล้วหลายแห่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คน ทว่า เจ้าของโรงงานเหล่านั้นไม่เคยถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด
       
บังกลาเทศปัจจุบันมีฐานะเป็นผู้ส่งออกสิ่งทออันดับ 2 ของโลกรองจากจีน ด้วยยอดขาย 19,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว หรือ 80% ของมูลค่าส่งออกของประเทศ และอุตสาหกรรมนี้ว่าจ้างแรงงานผลิตถึง 40% ทว่า สภาพการทำงานส่วนใหญ่กลับต่ำกว่ามาตรฐาน มีการบังคับใช้กฎหมายน้อยมาก โรงงานมีสภาพแออัด และประตูหนีไฟปิดล็อกเป็นเรื่องปกติ ปีนี้มีโรงงานกว่า 300 แห่งใกล้เมืองหลวงปิดทำการเกือบสัปดาห์ เนื่องจากพนักงานประท้วงเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสภาพการทำงาน
       
ทางด้าน ลีแอนด์ฟุง กิจการค้าปลีกชื่อดังของฮ่องกง ออกคำแถลงในวันจันทร์ว่า จะให้การช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้โรงงานทัซรีน ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์ผลิตเสื้อผ้าให้บริษัท รวมทั้งตรวจสอบหาสาเหตุเพลิงไหม้ ขณะที่โฆษกของวอล-มาร์ท สโตร์ ในอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเชนห้างสรรพสินค้ารายยักษ์ใหญ่จากอเมริกา เผยว่า กำลังตรวจสอบว่า โรงงานดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับวอล-มาร์ทหรือซัปพลายเออร์ของบริษัทหรือไม่
 
ชาวฮ่องกงเรียกร้องให้ลดแรงงานจากจีนใหญ่ ชี้เข้ามาแย่งทำมาหากิน
 
27 พ.ย. 55 - เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผลการสำรวจตอกย้ำ ชาวฮ่องกงผู้ตอบแบบสอบถามถึงครึ่งตั้งแง่กับแรงงานอพยพแผ่นดินใหญ่ เห็นควรให้ลดจำนวนลงได้แล้ว เนื่องจากเข้ามาแย่งงานและที่ทางทำมาหากิน
       
นักวิชาการคนหนึ่งเผยว่า ทัศนคติเช่นนี้เป็นอันตราย จะนำไปสู่ความรู้สึกเหยียดชาติพันธุ์ในท้ายที่สุด
       
สถาบันเพื่อการศึกษาฯ ได้ทำการสุ่มโทรศัพท์สัมภาษณ์ในเดือนก.พ. มีผู้ใหญ่จำนวน 1,024 คนตอบคำถามเกี่ยวกับมุมมองต่อแรงงานอพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ พบว่าจำนวนร้อยละ 51 จากจำนวนผู้ตอบคำถามเห็นว่า แรงงานที่เข้ามาทำงานในฮ่องกงควรจะลดจำนวนลงได้แล้ว ส่วนผู้ที่เห็นว่าควรจะคงไว้เช่นเดิมมีจำนวนมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย สุดท้ายผู้ที่เห็นว่าควรเพิ่มจำนวนมีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์
       
ศาสตราจารย์โจว คีลี สถาบันอาเซียนและนโยบายศึกษา เผยว่า ผลสำรวจน่าเป็นห่วง ทัศนคตินี้ควรจะเปลี่ยนแปลง รัฐบาลต้องรีบจัดการปัญหาก่อนที่จะเลวร้ายไปมากกว่านี้
       
โจวเผยว่า ขณะนี้กำลังทำสำรวจแรงงานอพยพใหม่ที่จะเข้ามาตั้งรกรากในฮ่องกงที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งพวกเขาคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10
       
โจวชี้ว่า เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดทัศนคติในเชิงลบ คนฮ่องกงจำนวนมากมองว่า แรงงานอพยพใหม่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ
       
ผลสำรวจเผยเมื่อวันพฤหัส (22 พ.ย.) ชี้ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 53 เปอร์เซ็นต์เผยว่า แรงงานอพยพใหม่พอใจกับผลประโยชน์และสวัสดิการที่ได้รับ แต่ไม่เคยเสียสละให้กับสังคมเลย ขณะที่ 40 เปอร์เซ็นต์เผยว่าแรงงานอพยพพอใจสวัสดิการและตอบแทนสังคมด้วย มีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าแรงงานต้องทำงานหนักตอบแทนสังคมและไม่พอใจสวัสดิการ
       
ผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นว่าแรงงานอพยพมีรายได้ต่ำมีจำนวน 46.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ที่เห็นว่าแรงงานอพยพเข้ามาแย่งงานคนในท้องถิ่นมีถึงร้อยละ 40 ขณะที่กว่าหนึ่งในสามของผู้ตอบคำถามคิดว่า การเพิ่มขึ้นของแรงงานอพยพจะก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น
       
โจวเผยว่า "รัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลงทัศคติในเชิงลบของสาธารณชนผ่านระบบการศึกษา และออกนโยบายบูรณาการแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหา"
       
โจวทิ้งท้ายว่า ความรู้สึกที่ว่าแรงงานอพยพเข้ามาขโมยงาน ขโมยสวัสดิการหรือสร้างปัญหาอาชญากรรมนั้นควรจะต้องเร่งแก้ไข รัฐบาลควรตระหนักปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาเมืองเหล่านี้
 
'ซัมซุง' ถูกกล่าวหาปฏิบัติไม่เหมาะสมต่อคนงานจีน
 
28 พ.ย. 55 - บริษัทซัมซุงของเกาหลีใต้เผชิญกับเสียงวิจารณ์รอบใหม่จากกลุ่มพิทักษ์สิทธิ ที่กล่าวหาว่าซัพพลายเออร์ในจีนของซัมซุงมีการปฏิบัติด้านแรงงานที่ผิดกฎหมาย หลังจากซัมซุงยอมรับเมื่อวานนี้ว่า ลูกจ้างในจีนทำงานล่วงเวลามากเกินไป และมีการสั่งปรับลูกจ้าง
 
บริษัทต่างชาติหลายแห่งถูกกล่าวหาว่า ปฏิบัติด้านแรงงานอย่างไม่เหมาะสมในจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยจีนถือเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกสำหรับ
สายการผลิตของบริษัทต่างชาติ
 
กลุ่มไชน่า เลเบอร์ วอตช์ (CLW) ในนครนิวยอร์กระบุว่า ลูกจ้างในบริษัทซัพพลายเออร์แห่งหนึ่งของซัมซุงทำงานถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน และได้หยุดพัก
เพียง 1 วันต่อเดือน
 
ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ โค ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดในโลก แถลงเมื่อวานนี้ว่า บริษัทได้ตรวจสอบบริษัทซัพพลายเออร์ในจีน 105 แห่ง ซึ่งครอบคลุมลูกจ้างกว่า 65,000 คน และพบการปฏิบัติด้านแรงงานที่ผิดกฎหมาย แต่ระบุว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องจะมีเวลา 2 ปีในการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของตนเอง
 
การตรวจสอบในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มไชน่า เลเบอร์ วอตช์ ระบุในเดือนสิงหาคมว่า มีเด็ก 7 คนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีทำงานในบริษัทซัพพลายเออร์แห่งหนึ่งของซัมซุงในจีน
 
ซัมซุง ระบุว่า การตรวจสอบในครั้งนี้ไม่พบหลักฐานว่ามีการใช้แรงงานเด็ก แต่บริษัทยอมรับว่ามีการปฏิบัติด้านแรงงานที่ไม่เหมาะสมในบางกรณี ซึ่งรวมถึงการทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และการใช้ระบบสั่งปรับลูกจ้างที่มาสายหรือขาดงาน
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ประชาไท, สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ไอเอ็นเอ็น
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net