เสวนา “เซ็นเซอร์ และสัญลักษณ์ในงานวรรณกรรม”

เสวนาที่ Book Re:public โดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ, จิรัฎฐ์ ประเสริฐทรัพย์, นิวัติ พุทธประวาท เริ่มตั้งแต่กรณีอาเศียรวาท ที่สะท้อนว่าสังคมไทยเริ่มไม่สามารถเขียนในขนบอื่น เทียนวรรณ ศรีบูรพา และเสรีภาพของนักเขียน จนถึงการใช้สัญลักษณ์ในโลกวรรณกรรม

9 ธ.ค.55 เวลา 15.00 น.ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ “เซ็นเซอร์ และสัญลักษณ์ในงานวรรณกรรม” โดยมีวิทยากรคือ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักวิชาการอิสระ, จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ นักเขียน และ นิวัติ พุทธประสาท นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ดำเนินรายการโดย อรรถวุฒิ บุญยวง และ นฆ ปักษนาวิน

สังคมที่มีข้อจำกัดของการเขียน

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ กล่าวถึงกรณีบทอาเศียรวาท ของหนังสือพิมพ์มติชน น่าสนใจว่าทำไมมติชนถึงถูกอ่านเยอะ ไม่ว่าอ่านในรูปแบบไหนก็ตาม และลักษณะของบทอาเศียรวาทเป็นอย่างไร ทำไมมติชนถึงโดนด่า

ถ้าเราดูลักษณะบทอาเศียรวาทที่สังคมไทยยอมรับได้ว่าถูกต้อง แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือคุณไม่สามารถเขียนในขนบหรือรูปแบบอื่น แล้วเราก็ไม่อ่าน เพราะมันก็ซ้ำๆ อยู่ทุกปี บทอาเศียรวาทในสังคมไทยมีลักษณะที่ต้องพูดอะไรแบบตรงไปตรงมามาก เป็นบทกวีที่ไม่ต้องการการตีความ ทุกคนอ่านแล้วรู้ว่าเป็นการยกย่อง งานเขียนจำนวนมากที่ถูกแบนในโลกนี้ เช่น Animal Farm (งานเขียนวรรณกรมการเมืองของจอร์จ ออร์เวล ผู้เขียน 1984) ถูกแบนในสังคมคอมมิวนิสต์ แต่ไม่ถูกแบนในสังคมไทย จริงๆ แล้วถ้าเรามองข้ามบริบท สังคมไทยเราก็อยู่ในโลกที่เป็น Animal Farm แบบหนึ่ง

เรากำลังอยู่ในสังคมที่เราจำกัดการเขียนให้มีขนบหรือรูปแบบที่เฉพาะเจาะจงอย่างมากในเรื่องต่างๆ มีลำดับชั้นของการเขียน ในแง่ของพื้นที่ บทอาเศียรวาทจะต้องอยู่ในหน้า 1 จุดที่สูงสุดของหนังสือพิมพ์ และอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการยกย่อง มีรูปแบบการเขียนที่ตายตัว ในสังคมไทยการยกย่องบุคคลพิเศษต้องอยู่ในพื้นที่เฉพาะบางอย่างที่ถูกจำกัดว่าจะต้องเขียนอย่างไรด้วย

และในแง่ของเวลา ถ้าเขียนบทยกย่องในหลวงในช่วงเวลาอื่น นอกจากวันที่ 5 ธ.ค. อาจจะต้องไม่ต้องเขียนในภาษาพิเศษเท่าวันที่ 5 ธ.ค.ก็ได้ มันไม่เปิดให้เกิดการตีความหรือพลิกแพลงรูปแบบของการเขียน

โดยทั่วไปเราเข้าใจว่าการเขียน ผู้เขียนก็เขียนไป ผู้ตีความมีสิทธิ์จะตีความไป ผู้เขียนก็มีเสรีภาพที่จะเขียน แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน เราไม่สามารถที่จะเขียนในสิ่งที่ต้องการจะเขียน เรื่องบางเรื่องเราถูกควบคุมให้เขียนในเฉพาะรูปแบบ คำพูด และเนื้อหาที่เขาต้องการให้เขียน ถ้าคุณเอาบทยกย่องในหลวงมาไว้ท้ายของหนังสือพิมพ์ ก็อาจจะถูกด่าได้ สรุปแล้ว เรากำลังอยู่ในพื้นที่และเวลาที่มันบังคับขนบและวิธีใช้คำของการเขียนให้คุณเขียนในเรื่องบางเรื่อง และให้คุณเขียนในรูปแบบอื่นๆ ไม่ได้

เกราะคุ้มกันของงานเขียนวิชาการและวรรณกรรม

ในประเด็นที่สอง เก่งกิจเสนอว่าเรื่องการเขียนงานทางวิชาการ เมื่อเปรียบเทียบกับงานวรรณกรรมหรือบทกวี สำหรับงานวิชาการเราต้องเขียนทุกอย่างให้ชัดเจน มีระบบการนำเสนอ มีการอ้างอิง มีขนบของมันที่เป็นหลักสากล งานวิชาการต้องการความชัดเจน ตรงไปตรงมา และไม่คลุมเครือ สามารถอ้างอิงกลับไปที่แหล่งที่มาว่าคุณเอามาจากไหน ใครพูด พูดเมื่อไร และการอ้างอิงนี้เป็นเกราะป้องกันนักวิชาการจากการโดนด่าหรือโดนฟ้อง

แต่ลักษณะของงานเขียนทางวรรณกรรม สิ่งที่เป็นเกราะคุ้มครองก็คือการไม่ได้บอกว่ามันพูดเรื่องจริง (Reality) ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหนอย่างไร เรากำลังบอกว่าเราเขียนเรื่องสมมติ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับความเป็นจริงก็ได้ แต่เราอาจจะพูดถึงความจริงผ่านเรื่องสมมติที่เราสร้างขึ้นมา เกราะคุ้มครองของงานวรรณกรรมคือเราไม่ได้กำลังพูดถึงคนชื่อนี้จริงๆ เป็นบุคคลที่เราสมมติขึ้นมา

งานเขียนทางวรรณกรรมจึงเปิดพื้นที่สำหรับการตีความมากกว่างานเขียนทางวิชาการ ต้องการให้ผู้อ่านมีจินตนาการ มีความคิดความรู้สึกกับงานเขียนได้มากกว่างานวิชาการ แต่ไม่ได้หมายความว่างานเขียนทางวิชาการกับวรรณกรรมจะมีความสามารถในการพูดความจริงที่ต่างกัน เพียงแต่มันมีวิธีการพูดความจริงที่ไม่เหมือนกัน และมีเกราะคุ้มครองการเขียนที่แตกต่างกัน

ในสังคมเผด็จการ อย่าง Animal Farm งานเขียนวิชาการจำนวนมากไม่สามารถเอาความเป็นจริงมาเล่าความจริงได้ทั้งหมด คุณเขียนไม่ได้ว่าใครฆ่าในหลวงรัชกาลที่ 8 เครื่องมือที่สำคัญในสังคมแบบ Animal Farm สามารถใช้งานวรรณกรรมหรืองานศิลปะมาเติมเต็มสิ่งที่ไม่สามารถพูดถึงได้ งานวรรณกรรมสามารถพูดถึงความจริง (truth) ได้มากกว่างานวิชาการจำนวนมาก

ประเด็นหนึ่งที่อาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) และอาจารย์ชูศักดิ์ (ภัทรกุลวณิชย์) พูดในงานเสวนารักเอย คือ ในสังคมที่มีลักษณะเผด็จการมันมีเพดานของเรื่องที่เราพูดอะไรได้และไม่ได้ ในสารคดีของอ้ายเหว่ยเหว่ย เขาบอกว่าเขาพยายามจะทำในสิ่งที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้ทำเท่าที่จะทำได้ แต่เขาจะทำในจุดที่มากที่สุดเท่าที่เขาจะอนุญาตให้ทำ แล้วค่อยๆ เขยิบขึ้นไป อันนี่เป็นสิ่งที่อาจารย์สมศักดิ์พยายามจะทำตลอด คือพยายามจะที่บอกว่าคุณสามารถพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้ พูดอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ทำให้มันไม่ผิดกฎหมาย สามารถแสดงงานศิลปะที่พูดถึงความจริงบางอย่างได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หน้าที่ของเราคือทำให้เพดานนี้มันขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเรามองว่าหน้าที่งานเขียนคือการพูดความจริง การพยายามพูดความจริงคือการพยายามพูดถึงสิ่งที่เราพูดได้ และไม่ได้ไปพร้อมๆ กัน

 

ความตึงเครียดกับเครื่องมือในการพูดความจริง

ประเด็นที่สาม เก่งกิจกล่าวถึงคำถามว่าความจริงคืออะไร และเสนอว่าความจริงมีลักษณะอยู่สองอย่าง หนึ่ง คือมีลักษณะที่ตึงเครียด (tension) โดยอะไรที่เราพูดอย่างสบายๆ พูดอย่างเป็นปกติ มันมักจะไม่เป็นความจริง แต่เมื่อไรที่เรากำลังทะเลาะกับชาวบ้าน แสดงว่าเรากำลังเริ่มพูดความจริงมากขึ้น ในแง่นี้ความจริงคือสภาวะที่มันมี tension อยู่ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งบางประการอยู่แล้ว

สอง คือความจริงพูดถึงพื้นที่ระหว่างอะไรบางอย่าง (in-between) ความจริงคือการลัดเลาะระหว่างรอยแยกของพื้นที่ที่เราพูดได้และไม่ได้ สิ่งที่เราพูดได้อย่างชัดเจนในสังคมปัจจุบัน เช่น คนไทย 60 ล้านคนรักในหลวง อันนี้พูดได้ แต่ถ้าเราตั้งคำถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อันนี้เรากำลังขยับไปที่เพดานหรือตะเข็บที่แบ่งระหว่างสิ่งที่พูดได้และไม่ได้

ตัวอย่างของสิ่งที่เราพูดไม่ได้ และอาจจะคิดไม่ได้ด้วยซ้ำ เช่น กรรมเป็นคนกำหนดเรา พระพุทธเจ้าบอกว่ามีสิ่งที่ห้ามคิดสี่อย่าง เช่น พระพุทธเจ้าตรัสรู้จริงไหม หรือการเข้าฌานเป็นอย่างไร ไม่สามารถทำได้ หรือพระเจ้ามีจริงไหม ในแง่สิ่งที่พูดไม่ได้และคิดไม่ได้อย่างสุดโต่งจึงเป็นภาวะเหนือธรรมชาติ แต่ความจริงไม่ได้อยู่ในสภาวะเหนือธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องของพระเจ้า และความจริงก็ไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันที่เรามักจะตอแหลมากกว่า ความจริงคือการพยายามพูดถึงสิ่งที่อยู่ระหว่างสิ่งที่พูดได้และไม่ได้

ในทางปรัชญาการเมือง ความจริงพูดได้หลายวิธีการ Alain Badiou บอกว่าพูดความจริงได้ 4 วิธีหรือ 4 เครื่องมือ หนึ่งคือการเมือง พูดความจริงผ่านการเมือง การเมืองในมุมฝ่ายซ้ายคือเรื่องของความขัดแย้ง เรื่องของ tension การบอกว่าสังคมไทยสามัคคี ไม่มีความขัดแย้ง คือกำลังพูดโกหก การเมืองทำหน้าที่บางอย่างในการพูดความจริง

วิธีที่สองคือความรัก ความรักเป็นเครื่องมือในการพูดความจริงแบบหนึ่ง ทำหน้าที่ในการพูดว่าคุณกับผมมีความแตกต่างกัน แต่คุณกับผมจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เราจะแชร์และเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่การยอมรับความแตกต่างระหว่างกันได้อย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวสมบูรณ์ ความรักพูดถึงความจริงที่มันมี tension ระหว่างคนสองคนขึ้นไป

วิธีที่สามคือศิลปะ และวิธีที่สี่คือวิทยาศาสตร์ (science) เช่น ตัวอย่างว่าวันที่ 21 ธ.ค.นี้ที่มีทำนายว่าโลกจะแตก ทัศนะที่กลัวโลกแตกมันเป็นทัศนะที่เชื่อว่าโลกธรรมชาติดำเนินไปอย่างราบเรียบ แต่จริงๆ โลกธรรมชาติไม่ใช่แบบนั้น พายุ แผ่นดินไหว การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ โลกธรรมชาติเต็มไปด้วย tension หน้าที่ของ science คือการพูดถึงความจริงในโลกธรรมชาติ ว่ามันมี tension อย่างไรบ้าง ไม่ใช่บอกว่าธรรมชาติส่วนงาม ดังนั้น tension คือหัวใจของโลกธรรมชาติ

หน้าที่ของความจริงในสี่มิตินี้ จึงคือการพูดถึงสิ่งที่เป็น tension สิ่งที่ขัดแย้งหรือกำลังเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่พูดถึงสิ่งที่เป็นนิรันดร์ หรือสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวันโดยทั่วไป

 

เสรีภาพและความเสมอภาคที่จะวิพากษ์วิจารณ์

ประเด็นสุดท้าย เก่งกิจเสนอเรื่องความคิดเรื่องเสรีภาพ (freedom) ในงานของไฮเดอเกอร์ (Martin Heidegger) หนังสือเรื่อง Being and Time พยายามบอกว่าทำไมเราถึงต้องวิพากษ์สิ่งที่เรียกว่า Being และทำไมคำว่า Critique ถึงสำคัญที่สุดสำหรับโลกสมัยใหม่ สปิริตสำคัญของสังคมสมัยใหม่ (Modernity) คือเราสามารถตั้งคำถามสิ่งที่มันมีอยู่ทุกอย่างในโลกได้ ว่ามันจริงหรือไม่

แต่ใน Modernity การวิจารณ์วางบนฐาน (ground) อะไรบางอย่างเสมอ สิ่งที่เป็นฐานสำคัญของ Modernity คือความคิดแบบเสรีนิยม ซึ่งวางอยู่บนการแยกระหว่างพื้นที่สองอย่างคือ private และ public โดยหัวใจของ private คือการมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล

ในโลกสมัยใหม่ เชื่อว่าปัจเจกบุคคลมีความสามารถในการ critique ได้หมด และการ critique เริ่มต้นจากเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เช่น การที่คุณอานันท์พูดกับฑูตสหรัฐฯ เรื่องการสืบสันตติวงศ์ แต่ถ้าเป็นตนพูดเรื่องนี้อาจจะโดน 112 ไปแล้ว แต่เป็นคุณอานันท์หรือพลเอกสิทธิพูดกลับไม่โดน เสรีภาพในการ critique จึงวางอยู่บนสเกลหรือความใหญ่น้อยของทรัพย์สินที่เราถือครองอยู่ ลักษณะสำคัญของโลกสมัยใหม่อันหนึ่งคือการวางเสรีภาพอยู่บนเรื่อง property ทำให้อำนาจการวิจารณ์ของปัจเจกบุคคลมันไม่เท่ากัน

พื้นอันที่สองคือ public ทั้งพื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะเป็นพื้นที่ซึ่งรัฐเป็นตัวกำหนดผ่านการรับรอง ผ่านกฎหมาย พื้นที่ของการวิพากษ์วิจารณ์ก็ถูก legalize โดยรัฐ รัฐเป็นคนกำหนดขอบเขตของการ critique ของเรา ในโลกสมัยใหม่ ความคิดเสรีนิยมคือการแบ่งแยกพื้นที่สองอันออกจากกัน แต่ดำรงอยู่ด้วยกัน และจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ให้ขึ้นกับ property ที่คนถือครอง

พื้นที้อันที่สาม คือ common ที่ liberal ไม่ยอมรับ พื้นที่แบบนี้ให้คุณค่ากับการตั้งคำถามกับฐานของเสรีนิยม โต้เรื่องอำนาจของการ critique ที่ไม่เท่ากันใน liberalism ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล พวกนี้จะตั้งคำถามว่าอำนาจในการวิจารณ์ของคุณเท่ากันไหม ทำให้ equality เป็นฐานของการรับรอง freedom ในโลกเสรีนิยม เสรีภาพถูกรองรับโดยฐานเรื่อง private แต่ความคิดแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เห็นว่าถ้าเริ่มแบบนั้น อำนาจของการ critique จะไม่เท่ากัน แต่ต้องเริ่มว่าความเสมอภาคในสังคมคืออะไร นิยามให้ได้ก่อน การวิพากษ์วิจารณ์ถึงจะมีอำนาจที่เท่ากัน

“ในสังคมไทย ผมคิดว่าไม่มีพวกที่เป็น liberalism อยู่ในสังคมไทย เวลาที่เราพูดถึง critique ใน liberalism นั้น เมื่อคุณวิจารณ์คนอื่นได้ แต่คนอื่นก็สามารถวิจารณ์คุณได้เช่นเดียวกัน”

เก่งกิจสรุปว่าทำไมประเด็นการพูดถึงเรื่องเสรีภาพ การเขียน และการวิจารณ์นี้ถึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสังคมไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ช่วงเปลี่ยนผ่านหมายความว่าเราก็ต้อง transform ตัวเราเองด้วย เพราะเราเกิดและเติบโตในสังคมที่เป็น conservative เราจะวิจารณ์สังคมที่เป็น conservative ได้ ก็ต่อเมื่อตัวเราก็ต้อง transform ตัวเราเอง ให้เป็น liberalism เพื่อที่จะวิจารณ์ และพร้อมที่จะถูกวิจารณ์ด้วยได้ ดังนั้น หน้าที่ของเราที่พยายามพูดถึงความจริงและเสรีภาพ คือการบอกว่าเราต้องมีอำนาจเท่ากันในการ critique

 

เสรีภาพในการพูดผ่านงานเขียน

นิวัติ พุทธประสาท กล่าวว่า ในสังคมวงกว้างเราไม่สามารถพูดบางอย่างได้จริง ในอดีตทำให้เราเห็นว่าคนที่พยายามพูดอะไรบางอย่างจะถูกลงโทษ เช่น เทียนวรรณ หรือศรีบูรพาก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีน การลงโทษเป็นการสร้างความกลัวให้เราอยู่ตลอดเวลา มันจึงกลายสิ่งที่สั่งสมมาในสังคมว่า เราพูดอย่างนี้ไม่ได้

ในตอนเด็กเราจะถูกให้รู้เลยว่าอะไรที่ควรพูด อะไรที่พูดไม่ได้ ทั้งที่บางเรื่องเป็นสิ่งที่เราสงสัย นักเขียนในอดีตหลายคนค่อนข้างที่จะทำงานอย่างยากลำบาก

“ปัจจุบันนักเขียนบางคนบอกว่า เรามีเสรีภาพมากที่สุดแล้ว มากกว่าหลายๆประเทศ ก็มีทั้งจริงและไม่จริง บางเรื่องเราก็พูดได้จริงอย่างในยุคนี้ การวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ไม่เหมือนเมื่อก่อน สมัยศรีบูรพาถ้าวิจารณ์นักการเมือง โดนจับติดคุกแน่นอน นักการเมืองสามารถถูกวิจารณ์ได้อย่างถึงที่สุด ไม่มีขีดจำกัดอีกต่อไปแล้ว”

“แต่บางเรื่องเราก็ไม่สามารถพูดได้จริงอย่างงานของนักเขียนบางเรื่อง ก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเขียนได้ ถ้าเขียนไปก็คงไม่รอด”

 

การเขียน(พูด)เชิงสัญลักษณ์ = เสรีภาพ?

“สิ่งที่นักเขียนทำได้คือนำเสนอผ่านสัญลักษณ์และการตีความ ปัญหาของการที่เราใช้สัญลักษณ์และการตีความ มันก็เป็นปัญหาหนึ่งเหมือนกันเพราะว่าเมื่อเราใช้สัญลักษณ์ขึ้นมาแล้ว พอไปสู่คนอ่านมันไปได้กว้างไกลมาก สามารถตีความได้หลากหลายมุมมอง งานของนักเขียนยิ่งมีความเป็นนามธรรมมากเท่าไหร่ก็ยิ่งถูกตีความได้กว้างไกลมากเท่านั้น” นิวัติ กล่าว

นิวัติกล่าวอีกว่า แม้แต่พระราชดำรัสของในหลวง ทุกคนก็ได้ยิน แต่ว่าเวลาใครนำสัญลักษณ์ไปใช้ ก็จะตีความให้เข้ากับผลประโยชน์ของตน ฉะนั้นงานเขียนที่มีความจริงปนอยู่ และคนอ่านต้องอาศัยการตีความ คนอ่านก็ต้องมีพื้นฐานในเรื่องนั้นถึงจะตีความออก เพราะบางครั้งนักเขียนก็เลือกเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อกลบร่องรอยบางอย่างที่ไม่ควรจะเห็น แต่ว่าสุดท้ายแล้วเราก็เลือกที่จะพูดความจริงบางอย่างที่เป็นสัญญลักษณ์ไป ส่วนใครมองไม่เห็นหรือจะตีความเป็นอย่างอื่น แต่มันได้ส่งผ่านเรื่องราวออกไป

บทกวีของมติชนถ้าเราอ่านดูจะพบว่าเป็นการใช้คำที่ง่ายๆ ธรรมดา ซึ่งเหมือนบทกวีส่วนใหญ่จะใช้คำบาลีสันสกฤต ซึ่งเป็นศัพท์แสงสูง คนอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องว่าพูดถึงอะไรบ้าง แต่พอมันง่ายก็ถูกตีความได้ง่ายและหลากหลายทิศทาง ฝ่ายไหนอ่าน มันก็จะมีบริบทการอ่านอยู่ด้วย คนอ่านแต่ละคนอาจจะตึความไม่เหมือนกัน จะบอกว่าเป็นเรื่องสนุกก็ได้ คนอ่านบางทีไปไกลกว่าคนเขียนด้วยซ้ำ แต่การคิดไปได้ไกลแล้วไปล่าแม่มด อันนั้นมันก็เกินเลยไป

ฉะนั้น ในแง่ของความ คิดการใช้สัญลักษณ์และการตีความ มันไม่อันตราย มันสามารถคิดไปได้ไกล แต่การคิดจนนำมาสู่อันตราย ก็ต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกับสังคมที่เราอยู่

เมื่อใดที่เราใช้สัญลักษณ์แล้วเรายังไม่ถูกจับ (หรืออาจจะเป็นเพราะอ่านสัญลักษณ์ไม่ออก การใช้สัญลักษณ์ห่วย) ตนถือว่ามันยังใช้ได้ผลอยู่ แต่ก็เชื่อว่าเมื่ออ่านแล้วก็คงเกิดความรู้สึกบางอย่างจนเกิดคำถาม มันเป็นความสำเร็จของสัญลักษณ์

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ กล่าวว่า เราอยู่ในสังคมที่ถูกออกแบบไว้หมดแล้ว จนเรารู้สึกชินชาไปกับมัน เราอยู่ในสังคมที่เราโตมากับความรัก ความภักดี ความสามัคคีกัน มันไปไกลกว่า Hyper-royalism จนกลายเป็น Magical-royalism จนกระทั่งกฎหมาย 112 ไม่จำเป็นอีกต่อไป ถึงไม่มีกฎหมายนี้ คุณก็ไม่กล้าพูดอยู่ดี เพราะตัวละครอื่นในสังคมก็พร้อมจะทำลายเรา

หลายงาน นักเขียนใช้สัญลักษณ์ในการเซ็นเซอร์ เราเลือกที่จะพูดทุกอย่างแต่ไม่พูดบางอย่าง มันเหมือนเป็นการเซ็นเซอร์แต่นั้นคือสัญลักษณ์แบบหนึ่งที่เราต้องการจะสื่อ เช่น เราอาจจะพูดทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่มันก็คือความต้องการสื่อแบบนั้น ซึ่งในแง่งานวรรณกรรมเป็นแบบนั้น ซึ่งหลายคนก็บอกว่า นี่คือเสรีภาพในการเขียนได้ แต่ตนไม่คิดว่ามันเป็นเสรีภาพ แต่มันเป็นการสร้างโลกขึ้นมาใหม่เพื่อพูดถึงสิ่งนั้น และนั้นอาจจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานวรรณกรรมเพราะการพูดอะไรที่ตรงไปหมดเลยมันอาจจะน่าเบื่อก็ได้

“สัญลักษณ์ในโลกวรรณกรรมมันทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนอ่านกับคนเขียน เป็น Dialogue (บทสนทนา) ที่มันต่อเนื่องไม่หยุด มันลื่นไหล และสามารถตีความได้มาก”

อย่างบทกวีล่าสุดของมติชน รวมทั้งสเตตัสง่ายๆของทราย เจริญปุระ ที่พูดถึงกาแฟ พอมันถูกบริบทเข้ามาสวมทับ มันกลายเป็นเกิดอคติต่อสัญลักษณ์ ซึ่งบางทีมันอาจไม่มีสัญลักษณ์ตั้งแต่ต้น อาจจะเป็นแค่การบ่น แต่อคติก็ได้สร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาแล้ว จนกระทั่งเกิดการตีความที่หลากหลาย

“แต่ถ้าไม่ติดเรื่องการเมือง ผมยังคิดว่าสัญลักษณ์มันสนุก มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดมิติทางการอ่าน”

สัญลักษณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ เป็นมันเป็นส่วนของงานสร้างสรรค์ทุกงาน ไม่ใช่เพียงแค่งานเขียนหรืองานภาพยนตร์ งานวิชาการก็ต้องมี เพราะสัญลักษณ์มันอยู่รอบตัวเรา มันเป็นไวยากรณ์หนึ่งไปแล้ว ถ้าไม่มีสัญลักษณ์ งานสร้างสรรค์หรืองานวรรณกรรมอาจจะไม่เกิดเลยก็ได้ ถ้าประเทศเป็นยูโทเปีย จะมีวรรณกรรมแบบไหนก็ยังจินตนาการไม่ออก จะมีสัญลักษณ์หรือไม่ ถ้ามี มีแบบไหน

เก่งกิจ กล่าวเสริมว่า เราอยู่ใน symbolic order ระเบียบทางสัญลักษณ์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถพูดถึงสิ่งๆ หนึ่งโดยไปแตะ กับตัวมันเองได้โดยตรง เราต้องพูดผ่านภาษาอะไรบางอย่าง ในแง่หนึ่งมันเป็นเรื่องปกติที่เราจะพูดเปรียบเปรย เพราะนั้นในแง่นี้งานเขียนทางวิชาการก็ต้องใช้สัญลักษณ์ เปรียบเปรยอยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถสื่อสารโดยปราศจากสัญลักษณ์ได้

 

ศิลปะ-วรรณกรรม กบฏและภักดีต่ออะไร

ต่อคำถามว่างานศิลปะหรือวรรณกรมควรจะกบฏต่ออะไร และภักดีต่ออะไร จิรัฏฐ์ กล่าวว่า มันเป็นสันดานของคนสร้างงาน เราไม่ได้ภักดีต่ออะไร คือคนที่ทำงานศิลปะมันมีความขบถโดยสันดานอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะนักอ่าน หรือนักเขียน แต่คนทั่วไปที่สนใจงานสร้างสรรค์ เพราะงานสร้างสรรค์ ไม่เคยภักดีต่ออะไรเลย ไม่เคยนอบน้อมหรือสงบเสงี่ยมกับอะไร เราต้องทำอะไรที่ฉีกออกไป ต้องตั้งคำถามใหม่ๆ เพื่อสร้างอิทธิพลทางความคิดใหม่ นักเขียนไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคม นักการเมือง นักวิชาการ พื้นที่ของมันคือการสร้างอิทธิพลของเราเอง ขายหนังสือของเราเอง เปิดพื้นที่ให้เราพูดกับคนของเราเอง

นิวัติ กล่าวว่า มันอาจตอบได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเราเขียนงานเพื่ออะไร เราอาจจะบอกว่าเพื่อเสรีภาพ หรือสังคมที่ดี เด็ดหัวคนโกง แต่ที่จริงแล้วเราภักดีต่อการตอบสนองทางความคิด ที่ตัวเองคิดว่าสังคม ควรจะเป็นแบบนั้น ไม่ควรจะเป็นแบบนี้ อย่างที่เราเห็นอยู่ว่ามีอุดมการณ์อยู่ในสังคมหลายรูปแบบ เราเลือกอุดมการณ์แบบที่เราไม่ชอบเพื่อตั้งคำถามกับมัน เพื่อสร้างสังคมอีกอันหนึ่งขึ้นมา

เก่งกิจ กล่าวว่านักเขียนมักคิดว่าตนเองมีเสรีภาพแล้ว แต่เราต้องตั้งคำถามว่า เราอยู่บนฐานของอะไร เพดานที่มีอยู่มันบังคับให้พูดพูดอะไรได้หรือไม่ได้ ส่วนนักเขียนจะพูดถึงสังคมหรือไม่ หรือพูดเรื่องอะไร เป็นสิทธิเสรีภาพของนักเขียน แต่สิ่งที่เราเผชิญและเป็นปัญหา คือเมื่อเราจะพูดความจริงแล้ว เรากลับพูดไม่ได้ต่างหาก

 

คุณค่าเชิงนามธรรมบางอย่างในงานวรรณกรรม-วิชาการ กับภาพสะท้อนสังคม

ในช่วงหนึ่งของการเสวนาผู้ดำเนินรายการได้ถามว่า การเรียกร้องคุณค่าเชิงนามธรรมบางอย่างในงานวรรณกรรม-วิชาการ ในยุคปัจจุบัน เช่น งานวิชาการจะต้องพูดเรื่องความปรองดอง งานวรรณกรรมต้องพูดถึงสิ่งดีงาม ฯลฯ มันกำลังบอกอะไรเรา

นิวัติ กล่าวว่า มีงานหลายแบบอย่างงานข้าราชการที่ต้องพูดเรื่องปรองดอง สามัคคี ความจงรักภัคดี เป็นสิ่งที่เรารู้กันอยู่ สิ่งเหล่านี้มันไปในวงกว้าง เช่น เป็นหัวข้อให้นักเรียนทำรายงานหรือจัดนิทรรศการ องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดงาน ฯลฯ ซึ่งมันเป็นการสื่อสารไปทางเดียว และทุกวันนี้มันก็มีปัญหา และปัญหาที่เราพูดถึงกันตอนต้นมันก็เริ่มจากเรื่องพวกนี้ ตั้งแต่วัยเด็ก

ในงานวรรณกรรม คุณค่าเชิงนามธรรมเหล่านี้จะมาในรูปของรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลพานแว่นฟ้า รางวัลซีไรท์ รางวัลสัปดาห์หนังสือ ฯลฯ เพราะเขาจะคัดกรองวรรณกรรมผ่านรูปแบบที่เขาคิดว่าควรจะเป็นแบบนั้น สิ่งที่รางวัลเหล่านี้ให้ก็มีส่วนหนึ่งที่ตอบสนองกับคนกลุ่มใหญ่ ทุกรางวัลมีจุดมุ่งหมายของมันอยู่ โดยเฉพาะในยุคนี้ไม่ได้ยกย่องนักเขียนเรื่องความสร้างสรรค์

จิรัฏฐ์ มองว่า เรื่องนี้เป็นเพียงเกมส์ๆหนึ่ง เป็นเงื่อนไขที่มีอยู่ทุกสังคมโลก เพราะเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐในการจัดระเบียบสังคม ศีลธรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้มันเป็นไปตามที่รัฐต้องการ คือ คนที่คิดอย่างนี้ ไม่ได้มองงานวรรณกรรมเป็นเรื่องของศิลปะ มองเพียงแค่เป็นเครื่องมือหนึ่ง เพราะงานวรรณกรรมที่ดีควรสะท้อนมุมมองที่หลากหลาย และมันไม่จำเป็นต้องว่าพออ่านจบแล้วไปทำดี ไปช่วยโลก ไปปลูกต้นไม้กันเถอะ แม้จะถือว่างานเหล่านี้จะจัดว่าเป็นงานวรรณกรรม แต่ให้คุณค่าเพียงแค่การจัดระเบียบเท่านั้น ถ้าสังคมที่เป็นเสรีจริงๆ เปิดโอกาสให้คนได้คิดจริงๆ การรณรงค์ในเรื่องเหล่านี้จะมีไม่มาก

เก่งกิจ กล่าวว่า งานเขียนจำนวนมากไม่ได้มีความงดงามในแง่ของการใช้คำทั้งหมด บางครั้งก็เขียนด้วยภาษาพื้นฐาน อย่างงานทางวิชาการหลายชิ้น ภาษาก็ห่วยแตก ฉะนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับเนื้อหา (content) ด้วยว่ามีหรือเปล่า ถ้าสมัยก่อนจะใช้คำว่า “งดงามในคำ” กับ “งดงามในความ” บางงานงดงามในคำ แต่เนื้อหาไม่มีอะไรเลย บางงานงดงามในความ ซึ่งอันนี้อาจจะอยู่ในเรื่องงานวรรณกรรม แต่ถ้างานวิชาการต้องเขียนอะไรที่ชัดเจนในความ คำเป็นอย่างไรไม่สน ขอให้อ่านรู้เรื่อง แต่ปัญหา คือว่าเราจะประเมินงานแต่ละอย่างอย่างไร ก็ต้องกลับมาที่สังคมว่าเรากำลังอยู่ในบริบทแบบไหน เราอาจต้องประเมินผ่านบริบท

คุณค่าการวิจารณ์งานวรรณกรรม-งานวิชาการ

เก่งกิจ เห็นว่า เราอยู่ในสังคม เราต้องมี Dialogue (บทสนทนา) กันเสมอ และบทสนทนามันทำให้เกิดสิ่งใหม่อยู่แล้ว ถ้าเรามองว่าคุณค่าของการวิจารณ์ เป็นคุณค่าที่สำคัญ เราก็จะรู้สึกว่าการวิจารณ์ทำให้เราคิดอะไรใหม่ๆ ได้ เช่น เมื่อมีคนด่าแม่ตน ตนก็ไปว่าอะไรไม่ได้ เพียงแต่ตนอาจโต้ตอบโดยการด่าแม่กลับ นั้นมันก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะวิพากษ์วิจารณ์กันแบบไหน ถ้าคิดเพียงแค่ว่าอย่าด่ากันเลย อันนี้มันดูตลก ในสังคมที่มีบทสนทนากันได้

“ผมคิดว่าตอนนี้สิ่งที่เราต้องด่ากันมากที่สุด คือเสื้อแดง เพราะคุณบอกว่าคุณจะสร้างสังคมใหม่ แต่คุณไม่มีการ transform (เปลี่ยนผ่าน) ตัวเองให้ก้าวหน้าทันทัดเทียมกับสิ่งที่คุณคาดหวัง คุณก็ไปล่าแม่มดเหมือนกัน รังเกียจการโดนด่าเหมือนกัน คนที่ควรโดนด่ามากที่สุด คือพวกปัญญาชนเสื้อแดง ไม่ใช่พวกเสื้อเหลือง เพราะพวกนี้อยู่ในยุคของพวกเขาอยู่แล้ว ฉะนั้นยิ่งเราต้องการให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ยิ่งเราต้องการพัฒนาไปข้างหน้าเรายิ่งต้องเถียง วิพากษ์กันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มันถึงจะเกิดสิ่งใหม่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท