รายงาน: 12 ธ.ค.ตัดสินชะตา 2 เยาวชน ผู้ต้องหาเผาเซ็นทรัลเวิลด์

 

 

วันที่ 12 ธ.ค.นี้ ที่ศาลเยาวชน มีนัดพิพากษาคดีสำคัญอีกคดีหนึ่ง สืบเนื่องจากความรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

จำเลยเป็นเยาวชน 2 คน คือ ‘แบ๊งก์’ นายอัตพล (สงวนนามสกุล) และ ‘นุ’ หรือ นายภาสกร (สงวนนามสกุล) ชื่อเล่นว่า นุ  ขณะเกิดเหตุเขาทั้งสองอายุ 16 ปี

แบ๊งก์และนุถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ ร่วมกับผู้ต้องหาอีกหลายคนที่เป็นผู้ใหญ่ เขาทั้งสองโดนทั้งคดีปล้นและคดีเผาห้างใหญ่กลางกรุง ‘เซ็นทรัลเวิลด์ (CTW)’

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้คดีปล้น ศาลได้ยกฟ้องไปแล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ยกฟ้อง 2 เยาวชน คดีปล้นเซ็นทรัลเวิลด์ ปี 53-ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอกำหนดโทษ 1 ปี ) เหลือเพียงคดีเผา ซึ่งจำเลยเยาวชนทั้งสองเบิกความในศาลระบุว่า เป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเพิ่มเติมในภายหลัง โดยแจ้งข้อกล่าวหาทั้งฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นซึ่งเป็นโรงเรือนที่เก็บสินค้าจนเป็นเหตุให้นายกิติพงษ์ สมสุข ซึ่งอยู่ในอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ถึงแก่ความตาย (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับนายกิตติพงษ์ สมสุข ตอน 1 ตอน 2)

ทั้งแบ๊งก์และนุถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ อยู่ระยะหนึ่งจนได้รับการปล่อยตัว

ทั้งนี้คดีปล้นเซ็นทรัลเวิลด์มีจำเลยผู้ใหญ่ 7 คน ซึ่งจำเลยเหล่านั้นไม่ได้รับการประกันตัวกระทั่งศาลสั่งยกฟ้องไปเมื่อ 1 ธ.ค.54  (อ่านรายละเอียดที่  ยกฟ้อง! เสื้อแดงปล้น CTW ฝ่าฝืนพ.ร.ก.สั่งจำคุกครึ่งปี หลังถูกขังปีครึ่ง)

ส่วนคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์นั้น มีจำเลยผู้ใหญ่  2 คน คือนายพินิจ จันทร์ณรงค์ และ สายชล แพบัว ทั้งสองถูกจำคุกไม่ได้รับกาประกันตัวมาจนปัจจุบัน โดยวันที่ 26 ธ.ค.นี้จะมีการเบิกความของจำเลยนัดแรกที่ศาลอาญา และอีก 2 นัดในเดือน ม.ค.56 โดยทนายจำเลยคาดว่าน่าจะมีคำตัดสินในคดีนี้ภายใน มี.ค.56 นี้

นอกเหนือจากเนื้อหาคดี พื้นภูมิหลังของเยาวชนทั้งสองก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เหตุใดเยาวชนเหล่านี้จึงเข้ามาพัวพันกับคดีทางการเมือง และโดยเฉพาะคดีที่มีความรุนแรงขนาดนี้

‘ประชาไท’ นำเสนอเบื้องหลังชีวิตของเยาวชนทั้งสอง  รวมทั้งลำดับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุโดยนำเนื้อหามาจากการเบิกความของทั้งสองในศาลเยาวชน วันที่ 7 และ 8  ส.ค.55 และการพูดคุยเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย

แบ๊งก์ มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงราย อาศัยอยู่กับยาย ไม่มีพี่น้อง มารดาเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนบิดาไม่ทราบว่าอยู่ไหน เขาออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุราว 14 ปี เพื่อมาหางานทำ เผชิญชะตากรรมด้วยตัวเองในกรุงเทพฯ ด้วยวุฒิการศึกษา ป.6

ล่าสุดก่อนเกิดเหตุ เขารับจ้างเป็นผู้ช่วยกุ๊กในร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งใน CTW ทำงานมา 6-7 เดือนก่อนมีการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์

หลังจากโดนคดี เขาใช้ชีวิตอย่างค่อนข้างยากลำบาก  เพราะแม้ร้านอาหารที่เขาทำงานอยู่จะรับเขากลับเข้าทำงาน แต่เขาก็ต้องลางานเพื่อมาขึ้นศาลอยู่บ่อยครั้งจนกระทั่งท้ายที่สุดก็ถูกไล่ออก หลังจากนั้นก็หางานรับจ้างตามร้านทั่วไป ซึ่งยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะส่วนใหญ่รับแต่วุฒิ ม.3  เขาตัดสินใจกลับไปช่วยยายทำนา และมุ่งหวังว่าถ้ามีโอกาสอาจจะได้เรียน กศน.

ไม่ต่างกันนักกับนุ นุเรียนจบม.3 และทำงานรับจ้างทั่วไป อาศัยอยู่กับย่าและไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อนกระทั่งมีการชุมนุม จึงนึกสนุกขอย่ามาเข้าร่วมการชุมนุมโดยมากับคนรู้จัก และที่นั่นเขาได้เรียนรู้เรื่องการเมืองเป็นครั้งแรกๆ หลังโดนคดี นุเริ่มสนใจการเมืองมากขึ้น และด้วยวุฒิ ม.3 ทำให้เขามีโอกาสมากกว่าในการหางานทำ ล่าสุด เมื่อราว 2 เดือนที่แล้ว เขาระบุว่าทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ร้านไอศกรีมชื่อดังแห่งหนึ่ง  

แบ๊งก์ เบิกความในศาลเล่าว่า ประมาณกลางเดือนเมษายน 2553 หลังห้างเซ็นทรัลเวิลด์ปิดไปเพราะการชุมนุม ก็ได้กลับไปอยู่กลับยายที่เชียงราย ไม่กี่วันหลังจากนั้นได้ยินข่าวทางสถานีวิทยุชุมชนประกาศเชิญชวนคนมาชุมนุม เลยตัดสินใจร่วมเดินทางมากับพวกเขา โดยมาพักกินนอนที่เต๊นท์เดียวกับประชาชนจังหวัดเชียงราย บริเวณสวนลุมพินี ประตู 5 โดยทำหน้าที่ช่วยทำอาหารให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม

เขาเบิกความยืนยันว่า เขาทราบว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นไปเพื่อเรียกร้องให้นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกและยุบภา  และการชุมนุมก็เป็นไปแบบสันติ เขาจึงสามารถทำอาหารให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมได้เป็นเวลายาวนานก่อนการสลาย

เขาเล่าถึงเหตุการณ์ว่า เช้าวันที่ 19 พ.ค.53 ทหารเข้ามาทางศาลาแดง ได้ยินเสียงคล้ายรถถัง และได้ยินเสียงปืน เวลาประมาณ 9 โมงเช้าจึงได้ถอยมาบริเวณแยกราชประสงค์ โดยแวะหลบบริเวณใต้สถานี BTS ราชดำริก่อน ในขณะนั้นได้ยินเสียงปืนดังเป็นระยะตลอดเวลา จึงค่อยๆ เดินๆ หลบๆ มาเรื่อยๆ จนกระทั่งเวลา 13.00 น. ได้ยินผู้ชุมนุมบอกว่าแกนนำได้ประกาศสลายการชุมนุมแล้ว ช่วงเวลานั้นได้วิ่งหลบกระสุนมาเรื่อยๆ ทางแยกราชประสงค์ ด้วยความที่ไม่เคยร่วมชุมนุมหรือเห็นเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้มาก่อนจึงรู้สึกตกใจมาก และได้ยินว่าแกนนำให้ไปรวมตัวที่วัดปทุมเขาจึงพยายามไปที่นั่น โดยเขายืนยันด้วยว่าระหว่างนั้นไม่มีการประกาศให้เผาหรือทำลายสิ่งของ แต่อย่างใด

แบ๊งก์กล่าวว่า  เมื่อเข้าไปในวัดปทุมรอจนเสียงปืนสงบลงประมาณ 1 ชม. ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 16.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนชักชวนให้หาทางออกจากบริเวณวัดเพื่อกลับบ้าน โดยออกไปทางสนามศุภฯ แต่ไม่สามารถออกได้ เนื่องจากมีคนบอกว่ามีทหารคุมอยู่ ครั้งจะออกหลังวัดปทุมฯ ก็ไม่สามารถออกได้เช่นกันเนื่องจากมีกลุ่มชาวบ้านคอยดักทำร้าย จึงตัดสินใจเดินทางออกมาทางถนนพระราม 1 เพื่อมาทางสี่แยกราชประสงค์

ขณะที่เดินออกมาได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์จึงตกใจวิ่งหลบเข้าไปในห้าง CTW ขณะนั้นเห็นไฟไหม้ห้าง ZEN แล้วทั้งด้านนอกและใน  ตอนวิ่งเข้าไปมีผู้ชุมนุมที่ต่างคนต่างตกใจวิ่งหนีเข้าไปในห้างประมาณ 20 กว่าคน

เหตุที่วิ่งเข้าไปเนื่องจากเคยทำงานที่นี่จึงคุ้นเคยกับห้างนี้ แต่ตอนวิ่งเข้าไปถึงชั้น 4 ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่าพวกที่เข้ามานี้กำลังเข้ามาปล้นและสั่งให้หยุด จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น จึงวิ่งหลบเข้าไปในร้านค้า ซึ่งตอนนั้นโดนทุบกระจกแล้ว  หลบซักพักจนเสียงเงียบลงจึงหนีออกมาทางหนีไฟ จนกระทั่งโดนเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัว

แบ๊งก์ตอบการซักถามในศาลถึงเหตุที่เจอเจ้าหน้าที่ตำรวจในตอนแรกแล้วไม่แจ้งหรือขอความช่วยเหลือว่า เป็นเพราะสถานการณ์ชุลมุนมากและมีความรุนแรงสูง ไม่รู้ใครเป็นใคร เกรงว่าเมื่อแสดงตัวแล้วเจ้าหน้าที่จะไม่ฟัง เข้าใจผิดและถูกยิง

อย่างไรก็ตาม ตอนที่เข้าไปด้านในนั้นแม้มีไฟไหม้แต่เห็นว่าสปริงเกอร์ก็ยังทำงานอยู่ ไฟไหม้อยู่เพียงบริเวณชั้นล่างชั้นเดียว

นอกจากนี้ขณะจับกุมตัวก็ไม่มีของกลาง อาวุธหรือสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิง มีเพียงบัตรประชาชนติดตัวใบเดียว เขาจับถูกนำตัวมารวมกับคนอื่นๆ อีก 8 คนรวมทั้งนายภาสกร จำเลยที่ 2 ด้วย โดยทั้งหมดไม่รู้จักกันมาก่อน อีกทั้งในระหว่างจับกุมตัวก็ไม่มีการแจ้งข้อหาแต่อย่างใด แต่มาแจ้งข้อหาวางเพลิงในภายหลังระหว่างเขาถูกคุมตัวที่สถานพินิจฯ วันที่ 11 มิ.ย.53

ทั้งนี้ แบ๊งก์ถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.53  และได้ประกันตัวในวันที่ 18 ก.ค.53

ขณะที่นุ เบิกความในศาลว่า  ขออนุญาตย่ามาร่วมชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า แต่เนื่องจากบ้านอยู่ไกลถึงจังหวัดชลบุรี จึงเดินทางมาชุมนุมไปกลับวันเว้นวันกับรถตู้ที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มพัทยาจัดไว้ให้ เมื่อมีการย้ายไปชุมนุมที่สีแยกราชประสงค์ก็ได้ย้ายไปที่นั่นกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่รู้จักกัน ก่อนการสลายการชุมนุม 1 อาทิตย์ ทหารได้ปิดล้อมพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถกลับบ้านได้ จึงได้พักกับผู้ชุมนุมที่เต๊นท์เสื้อแดงพัทยา บริเวณศาลาแดง

เช้าวันที่ 19 ได้ยินเสียงตะโกนว่าทหารเข้ามาแล้ว ให้รีบหนี ในเวลาประมาณ 6.00-7.00 น. จากนั้นสักพักได้ยินเสียงปืนดังขึ้น และมีผู้ชุมนุมที่อยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลจุฬาฯ ถูกยิง ทำให้รู้สึกกลัวมาก ประกอบกับไม่รู้จักใครสักคน เนื่องจากไปอาศัยเต๊นท์เขานอน  ส่วนพี่ที่พอรู้จักกันก็ไม่อยู่แล้ว ตอนนั้นด้วยความที่ไปไหนไม่ถูกจึงได้หลบอยู่ในเต๊นท์ที่อยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS ราชดำริ ก่อน และพยายามหาทางเดินมาเรื่อยๆ ทางแยกราชประสงค์ร่วมไปกับกลุ่มคนอื่นๆ จนถึงบริเวณศาลพระพรหม ในตอนนั้นบนเวทีที่แยกราชประสงค์ไม่มีใครอยู่แล้ว และได้ยินเสียงปืนเสียงระเบิดดังตลอดเวลา เขาระบุว่าเขาหลบอยู่บริเวณนั้นนานมาก จนมีผู้ร่วมชุมนุมรายอื่นชักชวนให้ออก โดยแนะนำให้ออกไปทางหลัง CTW จะปลอดภัยกว่า จึงได้พากันเดินไปทางนั้น

นุกล่าวว่า เขาไม่เคยเข้าไปในห้าง CTW มาก่อนจึงไม่รู้ทางเข้าออก ขณะเข้าไปในห้างพบว่ามีกระจกแตกอยู่แล้ว บริเวณพื้นมีน้ำนอง ประกอบกับมีกลุ่มควันจางๆ แต่ยังไม่เห็นไฟไหม้ ส่วนภายในห้างนั้นมีแสงสว่างลอดเข้ามาจากด้านนอก มีคนนำวิ่งขึ้นบันไดไปชั้นบน จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น คนที่วิ่งเข้ามาด้วยกันก็กระจายตัวกันหลบ เขาวิ่งไปหลบใต้โต๊ะร้านค้า ซึ่งเป็นร้านโล่งๆ เพราะกระจกแตกแล้ว  ต่อมาได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกให้ออกมา แต่ด้วยความกลัวจึงยังไม่กล้าออกมา เพราะขณะนั้นไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้แต่งเครื่องแบบ

นุกล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้ามาจับกุมเขา พร้อมทั้งกล่าวว่า “มึงใช่ไหมที่เข้ามาขโมยของ เข้ามาเผาห้าง” จึงตอบกลับไปว่าไม่ได้เข้ามาขโมยของ ไม่ได้เข้ามาวางเพลิง ตำรวจจึงนำตัวไปที่ลานจอดรถ ขณะนั้นในตัวเขาไม่มีสิ่งผิดกฎหมายใดๆ มีเพียงโทรศัพท์มือถือและบัตรประจำตัวประชาชน

ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาปล้นทรัพย์ ในชั้นสอบสวนเขาให้การปฏิเสธ หลังจากนั้นจึงถูกควบคุมตัวไปที่สถานพินิจฯ ประมาณ 2 สัปดาห์จึงได้รับการประกันตัว โดยในระหว่างนั้นไม่มีการแจ้งข้อหาว่าร่วมกันวางเพลิงตามที่เป็นคดีความนี้ จนกระทั่งวันที่ 29 มิ.ย.53  ก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ว่าให้มารับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด แต่กลับถูกดำเนินคดีในคดีนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท