Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม: หรือความเป็นรัฐประชาชาติอันมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง คือโมเดลสันติภาพฉบับประชาชาติปาตานีต้องการ?

 

 

มาถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธการมีตัวตนของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีแล้วว่าสัมพันธ์กันโดยตรงกับสถานการณ์ความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมืองกับความเป็นรัฐไทย ในฐานะของตัวแสดงหรือตัวแปรสำคัญที่สุดนอกเหนือจากรัฐไทยและประชาชนปาตานี ซึ่งส่งผลต่อการเกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนของคนปาตานี คนทั้งประเทศไทย คนทั้งอาเซียน และคนทั้งโลกนี้

เพราะถ้าสงครามที่ปาตานียังไม่หยุด แน่นอนคนทั้งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบทางตรงอยู่แล้ว โดยผ่านเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศซึ่งถูกจัดให้เป็นงบประมาณสงคราม และถูกบังคับให้สมัครใจส่งลูกหลานของตนมาสู้รบจนต้องแลกด้วยชีวิตเพื่อปกป้องความเป็นรัฐาธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอันซึ่งบังเอิญแผนที่ประเทศไทยนั้นไปเหมือนกับรูปขวานที่มีด้าม

คนทั้งอาเซียนก็เช่นกัน ย่อมได้รับผลกระทบทางตรงเหมือนกัน เพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งอาเซียนยุคแรกๆ ซึ่งหมายถึงฐานะของการเป็นแกนหลักสำคัญของความเป็นอาเซียนนั่นเอง เมื่อแกนหลักเกิดเป๋ขึ้นมาเพราะพิษของสงครามประชาชน แน่นอนสภาพของอาเซียนซึ่งเป็นฐานการผลิตอาหารแหล่งใหญ่ที่สุดของโลกก็ย่อมเป๋ตามไปด้วย

และแน่นอนถ้าสภาพสงครามที่ปาตานีหรือที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยเกิดยืดเยื้อเรื้อรังถึง 20-30 ปีหรือไม่มีวันสิ้นสุดก็ตาม เชื่อว่าความมั่นคงของประชาชาติทั่วโลกที่สัมพันธ์กันอย่างไร้พรมแดนตามกระแสของความเป็นโลกาภิวัฒน์นั้น ก็ย่อมต้องได้รับความสั่นคลอนไม่มากก็น้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการสู้รบและปริมาณความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากสงครามประชาชน

เมื่อสังคมทั้งโลกได้รับผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามจากสงครามที่ปาตานี เมื่อนั้นกระแสสันติภาพจากทุกมุมโลกก็จะโหมกระพือเข้ามาด้วยท่าทีกดดันความเป็นชนชั้นปกครองในแบบของรัฐไทย ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีสถานะหนึ่งของรัฐที่มีพันธกรณีกับหลักการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชน (Right to Self Determination) ในข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514(XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ในมาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่า “กลุ่มชนหรือประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี”

แต่การโหมกระพือของกระแสสันติภาพจากทั่วโลกจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้หรือไม่ ถ้าโมเดลสันติภาพของประชาชาติปาตานี “ยังไม่ชัดเจน” “หรือยังไม่มี” “หรือมีแล้วแต่ยังไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมสาธารณะ”

เพื่อการคาดการณ์อนาคตว่า แนวโน้มของสันติภาพปาตานี ซึ่งสัมพันธ์กับท่าทีของเจตจำนงทางการเมืองของประชาชาติปาตานีเอง เป็นตัวแปรสำคัญสุดท้ายที่จะกำหนดการเปลี่ยนแปลงว่า จะเป็นไปตามนิยามสันติภาพแบบไหน กล่าวคือ สันติภาพคือการกระจายอำนาจ หรือการปกครองตนเองพิเศษ หรือเอกราช? ถึงที่สุดแล้วจะออกมาในรูปแบบใดที่สอดคล้องกับความต้องการอย่างพึงพอใจสูงสุดและที่สุดของคนปาตานี (คนปาตานี คือคนที่มีประวัติศาสตร์เดียวกัน ภาษาวัฒนธรรมเดียวกัน ดินแดนมาตุภูมิเดียวกัน และมีเจตจำนงทางการเมืองเดียวกัน)

ผู้เขียนคิดว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงโมเดลสันติภาพที่เป็นรูปธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี และหรือของประชาชาติปาตานีต้องการนั้นเป็นอย่างไร?

จากการที่หลายๆ องค์กรเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี อาทิ  BNPP BRN PULO BIPP เป็นต้น ได้ก่อตัวขึ้นมาในช่วงของโลกอยู่ในภาวะของสงครามเย็น (ค.ศ. 1946-1980) ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องของแต่ละประชาขาติทั่วโลกซึ่งถูกชนชั้นปกครองเผด็จการแบบอนุรักษ์นิยมกดขี่ข่มเหงได้ร้องขอพร้อมการต่อสู้ทุกรูปแบบเพื่อแลกกับคำว่า “อิสรภาพ และสิทธิเสรีภาพ” อย่างเสมอภาคกันของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นกระแสสูงมากๆ จนเกิดปรากฏการณ์การปฏิวัติส่งออกและนำเข้ากันอย่างเข้มข้น เช่นปรากฏการณ์การเกิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายา

และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่มีการเรียกร้องเอกราชของประชาชาติซึ่งถูกล่าอาณานิคมโดยความเป็นจักรวรรดินิยมต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะเดิมอันมีความเป็นรัฐประชาชาติรองรับและมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง เช่น เอกราชของอินเดีย พม่า อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น

ท่ามกลางบรรยากาศกระแสสูงของการต่อสู้เพื่อเอกราชของเหล่าดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งที่ถูกล่าอาณานิคมในช่วงสงครามเย็นนั้น ทางขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีเองก็ได้ต่อสู้และเติบโตอย่างมีพัฒนาการและสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับคำว่า รัฐประชาชาติ (the nation-state) และคำว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty) จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่สองคำนี้น่าจะเป็นโมเดลสันติภาพปาตานีฉบับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีและ หรือของประชาชาติปาตานี

รัฐประชาชาติ (the nation-state) เป็นความสัมพันธ์ที่มีลักษณะพิเศษระหว่าง “รัฐ” กับ “ชาติ” หรือ “ประชาชาติ” (the nation) ในที่นี้คือ “ประชาชน” (the people) ประชาชนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการนำประชากรมนุษย์ (the populace) มาเข้าแถวรวมกันเท่านั้น แต่หมายถึง “ชุมชนทางการเมืองของมนุษย์กลุ่มหนึ่งซึ่งถือว่าตนเป็นชาติ หรือประชาชาติเดียวกัน” (a political community that perceives itself as a nation)

“ประชาชาติ” จึงหมายถึง เจตนารมณ์ทางการเมือง (a political will) ของหมู่ชนที่ถือว่าพวกตนเป็นพวกเดียวกัน มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน มีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์เดียวกัน และด้วยเหตุนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีรัฐ (the state) เดียวกัน เพื่อที่จะได้ทำให้หมู่ชนของตนสามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ และเป็นอิสระปลอดจากการครอบอำนาจหรือแทรกแซงของหมู่ชนอื่น

ความสัมพันธ์พิเศษระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชาชาติ” ตามความหมายที่กล่าวขึ้นมาข้างบนนี้ กลายเป็นหลักหรือหัวใจเพียงประการเดียวที่ยอมรับกันว่า ชอบที่จะใช้ในการอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐหรือบ้านเมืองทั้งหลายภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 Peter Alter เรียกหลักแห่งการติดต่อคบค้าสมาคมระหว่างประเทศต่างๆ นี้ว่า “หลักแห่งรัฐประชาชาติ” (the nation-state principle)

หลักแห่งรัฐประชาชาตินี้ เป็นหลักที่ใช้มองโลกว่า โลกโดยธรรมชาติแล้วประกอบด้วยประชาชาติต่างๆ มากมายโดยธรรมชาติ ประชาชาติหนึ่งๆ ก็ต้องมีรัฐเป็นของตนเอง ถ้าหลักการนี้ถูกล่วงละเมิดหรือขัดขวาง ประชาชาติดังกล่าวจะเสียใจ เพราะประชาชนที่มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกันย่อมมีความโหยหาที่จะได้อยู่ร่วมกันเป็นธรรมดา กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าสำหรับยุโรปในศตวรรษที่ 19 หลักแห่งรัฐประชาชาติมีความหมายและความสำคัญยิ่งใหญ่เสมือนหนึ่งเป็นกฎแห่งกรรม (natural laws) เลยทีเดียว

Thomas Paine (ในหนังสือ Rights of Man,1791) ประกาศว่า เอกลักษณ์ประจำชาติพลเมืองจะได้รับการค้ำประกันได้ดีที่สุดในความเป็นรัฐประชาชาติเท่านั้น เพราะอำนาจอธิปไตย (ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าประชาชาติหนึ่งๆ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจหรือการบงการของประชาชาติอื่นใด) นั้นเป็นของ “ประชาชาติ” เท่านั้น อำนาจอธิปไตยจะเป็นของปัจเจกบุคคลหาได้ไม่

เกือบเวลาเดียวกันที่ Thomas Paine  ได้ประกาศความเชื่อมั่นดังกล่าวแก่คนอังกฤษ  Herder ก็ประกาศความเชื่อมั่นทำนองเดียวกันกับชาวเยอรมันว่า “รัฐที่เป็นธรรมชาติที่สุด คือ รัฐที่ประกอบด้วยประชาชนกลุ่มเดียวและมีลักษณะประจำชาติแบบเดียว (a single people with a single national character) ไม่มีอะไรจะดูผิดธรรมชาติมากไปกว่าการที่รัฐบาลจะขยายพรมแดนของรัฐให้เกินไปกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ นั่นคือ ไปครอบครองประชาชาติหรือมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นๆจำนวนมาก เข้ามาไว้ภายใต้ผู้ปกครองเดียวกัน”

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมันจะระเบิดขึ้นในปี ค.ศ.1870 Johann Casper Bluntschli นักปราชญ์ทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศชาวสวิส ซึ่งบรรยายที่มหาวิทยาลัย Heidelberg สรุปว่า “แต่ละประชาชาติถูกเรียกร้องให้สถาปนารัฐของตนเองขึ้น โลกควรแบ่งออกเป็นรัฐต่างๆ ในจำนวนที่เท่ากันกับจำนวนประชาชาติที่มีอยู่ กล่าวคือประชาชาติหนึ่งก็มีรัฐหนึ่ง รัฐหนึ่งก็มีประชาชาติหนึ่ง”

ความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชาชาติ” นั้น แนบแน่นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนกันระหว่างรัฐกับชาติหรือประชาชาติ?

การตอบคำถามนี้อย่างน้อยมี 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่ง “รัฐ” สร้าง “ชาติ” และแบบที่สอง “ชาติ” สร้าง “รัฐ” แต่ไม่ว่าจะตอบแบบใด ผลลัพธ์สุดท้ายของทั้งสองกรณีเป็นแบบเดียวกันนั่นคือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองปัจจัยนี้ต่างก่อให้เกิดรัฐประชาชาติ กล่าวคือ

แบบที่หนึ่ง “รัฐ” สร้าง “ชาติ” เป็นกระบวนการก่อตัวของรัฐประชาชาติที่เริ่มด้วยการก่อตัวของ รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ (Absolute State) ซึ่งมีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจเข้าไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งมักจะได้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (1643-1715) เป็นตัวอย่างที่แจ่มชัดที่สุดของรัฐสมบูรณาญาสิทธ์ของราชวงศ์ในยุโรป จากนั้นรัฐสมบูรณษญาสิทธ์เป็นผู้สร้างชาติ และชาติกระตุ้นให้เกิดการสร้างรัฐที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับชาตินั่นคือ รัฐประชาชาติ

แบบที่สอง “ชาติ” สร้าง “รัฐ” เป็นกระบวนการก่อตัวของรัฐประชาชาติที่เริ่มจากความเป็นชาติในเชิงวัฒนธรรม (ได้แก่การมีภาษาและขนบประเพณีร่วมกัน) เป็นพลังกระตุ้นให้เกิดความจำเป็นในการสร้างรัฐที่สอดคล้องกับชาติหรือประชาชาติดังกล่าว หลังจากนั้นเมื่อรัฐที่สร้างขึ้นมีความเข้มแข็งก็จะเป็นพลังที่กลับไปตอกย้ำหรือขยายอำนาจของรัฐให้เป็นปึกแผ่นเดียวกันกับวิถีชีวิตของประชาชนที่ถือว่าเป็นชาติเดียวกันในเชิงวัฒนธรรม ผลของการที่รัฐกับชาติทาบกันสนิทจะกลายเป็นรัฐประชาชาติ ตัวอย่างของรัฐประชาชาติในแบบที่สอง ได้แก่ เยอรมันนีภายใต้การนำของปรัสเซีย

จะเห็นได้ว่า ทั้งสองแบบดังที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเริ่มต้นต่างกันเพียงใด ผลลัพธ์สุดท้ายอยู่ที่ความเป็นรัฐประชาชาติเหมือนกัน ความเป็นชาติ (nationhood) และความเป็นรัฐ (statehood) เป็นพลังซึ่งส่งเสริมซึ่งกันและกัน และพลังทั้งสองนี้จะขาดกันไม่ได้ ความโน้มเอียงที่ถือได้ว่าเป็นธรรมชาติของรัฐประชาชาติก็คือ การมุ่งสู่จุดอุดมคติที่ขอบเขตอำนาจรัฐกับวิถีชีวิตของประชาชาติทาบกันสนิทเป็นหนึ่งเดียว รัฐที่มีหลายประชาชาติหรือประชาชาติที่ไม่มีรัฐของตนเอง จึงเป็นความบกพร่อง เป็นความไม่สมบูรณ์ และประชาชาติย่อมต้องเสียใจ รัฐประชาชาติจึงเป็นหน่วยทางการเมืองชนิดเดียวของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่19 และ20 ที่ถือว่าเป็นธรรมชาติและชอบธรรม

ส่วนอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (popular sovereignty) นั้น นักวิชาการด้านอุดมการณ์ชาตินิยมแนวเสรีบางคนถือว่า อุดมการณ์ชาตินิยมอยู่ที่การที่ประชาคมหนึ่งๆ สามารถประยุกต์ใช้หลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชนในยุคแห่งความรู้แจ้ง (Enlightenment) ได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ที่เหลือของอุดมการณ์ชาตินิยมนั้น ถือว่าเป็นเพียงวาทศิลป์ประกอบ

คำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of Citizen) ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ระบุหลักการที่สำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก “ประชาชน” (people) หมายถึง “ชาติ” (nation) และประการที่สอง คือ หลักที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ชาติ (the principle of sovereignty lies in the Nation) เมื่อรวมหลักการทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันจึงได้ความหมายแบบเดียวกันว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือประชาชนนั่นเอง

คติหรือหลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนเป็นหลักการหนึ่งทีมีพลังมากและให้พลังนี้แก่อุดมการณ์ชาตินิยม แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 17 พอย่างเข้าปลายศตวรรษที่ 18 ก็เริ่มเปลี่ยนที่มีมาจากกฎหมาย หรือตัวผู้ปกครองมาอยู่ที่ประชาชนมากขึ้นๆ  ในขณะเดียวกันเราได้เห็นว่า “ประชาชน” และ “ชาติ” เป็นคำที่ใช้แทนที่กันได้

ดังนั้นแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชนกับอำนาจอธิปไตยของชาติ จึงถือว่าเป็นสิ่งเดียวกัน หรือใช้แทนกันได้ด้วยประชาชนหรือชาติที่จะเรียกได้ว่ามีอำนาจอธิปไตย จะต้องมีความสูงสุดเด็ดขาดหรืออิสระในตัวเองในอันที่สร้างกฎหมายหรือปกครองตนเอง แน่นอนว่าความเป็นอิสระหรือสูงสุดในตัวเองเช่นที่กล่าวนี้ ย่อมหมายถึงการมีรัฐของตนเองด้วย ประชาชนหรือชาติที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงมีความโน้มเอียงที่เข้าครอบครองรัฐหรือให้อำนาจรัฐตอบสนองต่อความมีอธิปไตยดังกล่าว ในทำนองกลับกัน รัฐก็มีความโน้มเอียงที่จะทำให้ประชาชนหรือชาติกับรัฐมีความเป็นหนึ่งเดียวกันหรือเหมือนกัน (synonymity) ด้วยการพยายามทำให้ประชากรในดินแดนของรัฐมีความเหมือนกันมากที่สุด (homogenizing populations) ด้วยมาตรการด้านภาษาและระบบการศึกษาที่รัฐจัดขึ้นอย่างเป็นทางการและเป็นแบบมาตรฐาน

แนวความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชนยังก่อให้เกิดความโน้มเอียงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องประชาธิปไตย (democracy) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระบวนการอันนี้จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วเสมอ อันที่จริง “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” กับ “ประชาธิปไตย” ก็เป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง

แต่ประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 19 ไม่จำเป็นต้องมีความหมายเหมือนกับที่เราเข้าใจในปัจจุบันว่า คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันในการเลือกตั้งและเปลี่ยนแปลงหรือถอดถอนผู้ปกครอง อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนนั้น อาจจะถูกใช้โดยกลุ่มชนชั้นนำจำนวนน้อยที่เป็นนักเสรีนิยม หรือนักปฏิวัติ หรือนักอนุรักษ์นิยมก็ได้

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่ฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี ซึ่งอาจจะมาจากประชาชาติปาตานีทั้งมวลได้มอบหมายภารกิจการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยจากแอกของความเป็นจักรวรรดินิยมสยามในความเป็นรัฐไทยปัจจุบัน..ต้องการโมเดลสันติภาพที่รองรับด้วยความเป็นรัฐประชาชาติอันมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง?..ถ้าเป็นไปได้หล่ะก็ คงถึงเวลาแล้วที่ประชาชนคนปาตานีต้องเตรียมคำตอบสำหรับวันประชามติ

 

บรรณานุกรม

รศ.ดร.สมเกียรติ  2551. อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย. พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์อักษรข้าวสวย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net