เบิก 3 ประจักษ์พยานสำคัญ 6 ศพ วัดปทุมฯ ยันทหารยิงจากราง-ตอม่อ BTS

ประจักษ์พยานเบิกความทหาร 5 นายชุดลายพราง-สติ๊กเกอร์สีชมพูยิงเข้ามาในวัด ยันอาสาพยาบาลผู้ตาย 2 คน มีปลอกแขนเครื่องหมายกาชาดชัดเจน ส่วนอีกคนใส่ชุดป่อเต็กตึ๊ง ตามหลักสากลต้องไม่ถูกทำร้าย ไต่สวนนัดต่อไป 20 ธ.ค.นี้

13 ธ.ค. 55  ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3, นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, น.ส.กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.  สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยพนักงานอัยการนำประจักษ์พยานเข้าเบิกความรวม 3 ปาก ประกอบด้วยนายณรงค์ศักดิ์ สิงห์แม ผู้ร่วมชุมนุมกับ นปช. ซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ดังกล่าว ปากที่ 2 คือนายทิเบต พึ่งขุนทด ซึ่งเป็นการ์ดอาสาของ นปช. ซึ่งเบิกความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายอัฐชัย ชุมจันทร์ และปากที่ 3 คือ น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา ซึ่งเป็นพยาบาลอาสา ซึ่งเบิกความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ น.ส.กมนเกด ฮัคอาด นายอัครเดช ขันแก้ว และนายมงคล เข็มทอง

นายณรงค์ศักดิ์ สิงห์แม เบิกความว่าพยานตั้งเต็นท์ทำกับข้าวอยู่ภายในวัดปทุมวนารามตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. 53 จนกระทั่งถึงวันที่ 19 พ.ค. 53 ในวันนั้นหลังจากเวทีประกาศยกเลิกการชุมนุมแล้วได้มีคนเข้าไปที่วัดเป็นจำนวนมากเนื่องจากวัดปทุมฯ ในขณะนั้นเป็นเขตอภัยทาน

จนกระทั่ง เวลา 17.00 น. ขณะนั่งพักอยู่ภายในวัดบริเวณใกล้กับพระบรมสารีริกธาตุ (อยู่ฝั่งประตูทางเข้าของวัด) มีคนเดินผ่านเขาไปและบอกว่ามีทหารมาแล้ว แต่พยานคิดว่าวัดถูกประกาศเป็นเขตอภัยทานแล้วจึงคิดว่าปลอดภัยแล้ว แต่เมื่อมองไปทางหน้าวัดแล้วมองขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้าก็พบทหาร 6 นายประทับปืนเล็งลงมา และยิงลงมา ซึ่งพยานถูกยิงทั้งหมด 5 นัด นัดแรกที่หน้าอกแต่โดนเหรียญ 10 บาท ในกระเป๋าเสื้อข้างซ้าย นัดที่สองและสามโดนที่ท้อง นัดที่ 4 ถูกต้นขาซ้าย นัดที่ 5 โดนกระเป๋าที่สะพายเอาไว้พยานจึงหลบลงไป  ในขณะนั้นเขาได้เห็นนายบัวศรี ทุมมา ถูกยิงที่เท้า พยานพยายามคลานไปหลังรถ 10 ล้อ แล้วหยุดพักจากนั้นพยานได้คลานต่อไปจนถึงเต็นท์สังฆทาน ถึงมีคนมาช่วยโดยนำเอาเก้าอี้ชายหาดมายกตัวออกไปจนถึงสวนป่าด้านหลัง และอยู่ในสวนป่าจนถึงราว 22.00 น. จึงมีรถพยาบาลมารับออกไปโดยจอดรออยู่หน้าประตูทางออกของวัด โดยรถพยาบาลได้นำพยานไปส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี

นายทิเบต พึ่งขุนทด การ์ดอาสาประจำอยู่ที่ราชประสงค์ ยืนยันไม่ได้รับแจกอาวุธแต่อย่างใดมีเพียงปลอกแขน และบัตรแสดงตัวเท่านั้น โดยมีเพื่อนของเขาชื่อนายจักรพงษ์ ซึ่งเป็นเพื่อนนักศึกษาที่รามคำแหงมาชุมนุมด้วยกัน โดยในวันที่ 19 พ.ค. 2553 หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 13.00 น. พยานจึงเดินออกไปทางถนนพระราม 1 จนถึงใกล้กับแยกเฉลิมเผ่า มีเสียงปืนดังขึ้นพยานจึงวิ่งเข้าไปในวัดปทุมวนาราม และอยู่ในสวนป่าของวัดจนถึงราว 17.00 น. พยานได้ยินเสียงทีวีที่เปิดอยู่ภายในวัด โดยเโฆษกศอฉ. ประกาศว่าสามารถไปขึ้นรถที่สนามกีฬาศุภชลาศัยได้ จึงปรึกษากับนายจักรพงษ์ และนายอัฐชัย ชุมจันทร์(ผู้เสียชีวิตที่ 2) ซึ่งพยานเพิ่งได้พบกันในวัดว่าจะกลับกันจึงเดินออกจากวัดเพื่อเดินทางไปขึ้นรถที่สนามกีฬาฯ

แต่เมื่อเดินไปจนใกล้กับแยกเฉลิมเผ่าพยานได้พบกับทหารอยู่ที่ตอม่อรถไฟฟ้าประทับปืนเล็งมาทางที่พวกพยานอยู่จึงหันหลังวิ่งจะกลับเข้าไปในวัดอีกครั้ง ซึ่งขณะนั้นทหารก็ได้มีการยิงไล่หลังพยานมาด้วย จึงได้วิ่งไปหลบอยู่ที่ตอม่อรถไฟฟ้าบนเกาะกลางถนนหน้าวัดเพื่อรอให้เสียงปืนเงียบแล้วจึงวิ่งเข้าวัด เมื่อเสียงปืนเงียบลงแล้วพยานได้วิ่งนำเพื่อนข้ามถนนจากเกาะกลางไป โดยมีนายจักรพงษ์และนายอัฐชัยตามหลังมา แต่เมื่อพยานเข้าไปในวัดได้แล้วได้มีคนตะโกนบอกว่ามีคนถูกยิง จึงได้เห็นว่านายอัฐชัยถูกยิงล้มลงที่เกาะกลางถนน โดยขณะนั้นมีเพียงเสียงปืนที่ดังมาจากทางแยกเฉลิมเผ่าเท่านั้น เมื่ออัฐชัยถูกยิงแล้วนายจักรพงษ์และคนอื่นๆ จึงได้ไปช่วยเข้ามาในวัดและปฐมพยาบาล เวลาที่เกิดเหตุประมาณ 17.50 น.

นายทิเบต ได้อธิบายเพิ่มว่าขณะที่กำลังกลับเข้าวัดนั้นบนถนนพระราม 1 ไม่มีคนอื่นเหลืออยู่แล้วนอกจากกลุ่มของพยานเท่านั้นที่ยังไม่ได้เข้าไปในวัด

ภาพนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้เสียชีวิตที่ 2 ขณะถูกยิงที่บริเวณเกาะกลางถนนหน้าวัดปทุมฯ
ภาพถูกเผยแพร่ใน
lightstalkers.org/steve_tickner ภาพโดย Steve Tickner

น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา อาสาพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ น.ส.กมลเกด อัคฮาด นายอัครเดช ขันแก้ว และนายมงคล เข็มทอง ในวัดปทุมวนารามในช่วงบ่าย โดยพยานได้เห็นเหตุการณ์การเสียชีวิตของเพื่อนอาสาพยาบาลทั้ง 3 คน  เธอเบิกความโดยสรุปได้ว่า พยานได้เข้าไปตั้งเต็นท์ที่ราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 53 ที่บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกกระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 19 พ.ค. 53  พยาน น.ส.กมนเกด และนายอัครเดช  จึงได้ย้ายเข้าไปในวัดปทุมวนารามเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่เข้าไปหลบภายในวัด ซึ่งขณะนั้นวัดปทุมฯ ถูกประกาศให้เป็นเขตอภัยทาน โดยมีนายมงคลเข้ามาสมทบที่เต็นท์พยาบาลในเวลาประมาณ 14.00 น.  โดยเต็นท์อยู่บริเวณหน้าสหกรณ์ซึ่งอยู่ใกล้กับประตูทางออกของวัด

ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. เศษ พยานได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางด้านแยกเฉลิมเผ่า เมื่อเกิดเสียงปืนผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนพระราม 1 ข้างนอกวัดก็ได้วิ่งเข้าภายในวัด และพยานได้เห็นนายอัฐชัย ชุมจันทร์อยู่ที่บริเวณตอม่อรางรถไฟฟ้า ถูกยิงล้มลง แต่อัฐชัยยังลุกขึ้นได้และวิ่งมาล้มลงอีกครั้งที่ประตูวัด พยานและอัครเดชจึงเข้าไปช่วยพาเข้าเต็นท์เพื่อปฐมพยาบาลขณะนั้นกมนเกดไปเอาถังออกซิเจน  หลังจากที่นายอัฐชัยเสียชีวิตลงแล้วพยานได้ถ่ายรูปนายอัฐชัยไว้และเข้าไปถามหาญาติที่สวนป่าในวัด

ภาพการปฐมพยาบาล นายอัฐชัย ผู้เสียชีวิตที่ 2 ในภาพจะเห็นนายมงคล
ผู้เสียชีวิตที่ 3 (คนขวาสุด)ช่วยปฐมพยาบาลอยู่ด้วย ก่อนถูกยิงเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ภาพถูกเผยแพร่ใน
lightstalkers.org/steve_tickner ภาพโดย Steve Tickner

ขณะกำลังเดินเข้าไปตามหาญาติของนายอัฐชัย มีผู้ชุมนุมวิ่งสวนพยานออกมาจากสวนป่าและได้ขอยาล้างตากับพยาน  ผู้ชุมนุมได้บอกกับพยานว่ามีแก๊สน้ำตาตกที่บริเวณห้องน้ำภายในสวนป่า  ซึ่งมาจากทางด้านหลังของวัด จากนั้นพยานร่วมกับ น.ส.กมนเกด นายอัครเดช และนายมงคล ได้กลับไปที่เต็นท์ด้านหน้าวัดอีกครั้งเพื่อเก็บอุปกรณ์การแพทย์เพื่อย้ายเข้าไปในสวนป่าเนื่องจากคิดว่าบริเวณด้านหน้าวัดไม่ปลอดภัยแล้ว ขณะเดินออกมาก็มีกระสุนยิงตกกระทบที่พื้นข้างหน้าของพยาน ทำให้พื้นตรงหน้าเป็นฝุ่นกระจายขึ้นมาและพื้นเป็นหลุมลงไป โดยระหว่างนี้ได้มีผู้บาดเจ็บเข้ามาขอความช่วยเหลือกับพยาน 2 คน คือ นายกิตติชัย แข็งขัน ถูกยิงที่ฝ่ามือขวา หลัง และโคนขาขวา และนายบัวศรี ทุมมา ถูกยิงที่ส้นเท้า

อาสาพยาบาล เบิกความต่อว่าในขณะที่ น.ส.กมนเกด นายอัครเดช และนายมงคล กำลังเก็บของอยู่ในเต็นท์พยาบาล ได้มีกระสุนสาดลงมา โดยขณะนั้นพยานอยู่ห่างจากเต็นท์ไปราว 5 เมตร เมื่อพยานได้ยินเสียงปืนจึงตะโกนบอกให้ทั้ง 3 คน หมอบโดยไม่ได้หันกลับไปมองที่เต็นท์ จากนั้นพยานจึงค่อยหันกลับไปดูเห็นทุกคนหมอบอยู่จึงคิดว่าหมอบตามที่ตัวเองเตือน พยานเห็นกมนเกดคลานตะเกียกตะกายจะไปที่รถกระบะที่จอดอยู่ด้านท้ายของเต็นท์ แต่ยังไปไม่ถึงกมนเกดก็หมอบนิ่งไป นายมงคล เข็มทองนั้นพยานไม่เห็นว่ามีการขยับ ส่วนนายอัครเดชนั้นเห็นยังขยับอยู่  ในระหว่างเกิดเหตุไม่มีใครสามารถเข้าไปช่วยได้เนื่องจากมีการยิงลงมาจากทหารบนรางรถไฟฟ้าตลอด โดยยืนยันจากการที่ได้เห็นว่ามีประกายไฟเมื่อกระสุนกระทบกับเสาเหล็ก เห็นพื้นปูนเป็นฝุ่นฟุ้งและเป็นหลุมจากการตกกระทบของลูกกระสุน ส่วนพยานขณะนั้นพยานยังหลบอยู่ที่กระถางต้นไม้ในบริเวณนั้นกับนักข่าวต่างประเทศชื่อนายแอนดรูว์(พยานไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งขณะที่หลบอยู่นั้นนักข่าวได้ชันเข่าขึ้นมาทำให้ถูกยิงด้วย

คลิป อัครเดช ผู้เสียชีวิตที่ 6 ถูกยิงนอนอยู่ในเต็นท์พยาบาล โดยมีพยาบาลเกดนอนเสียชีวิตอยู่ด้วย :

จากนั้นพยานได้พยายามเข้าไปในสวนป่าเพื่อขอให้คนออกไปช่วยกมนเกด อัครเดชและมงคล เข้ามาซึ่งตอนนั้นกมนเกดและมงคลได้เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนนายอัครเดชในขณะที่ช่วยเข้าไปสวนป่ายังมีชีวิตอยู่ เวลาในขณะที่เข้าไปช่วยทั้ง 3 คน นั้นเป็นเวลาประมาณ 19.00 น.  เมื่อช่วยเข้าได้แล้วเวลาประมาณ 20.00 น. นายอัครเดชจึงเสียชีวิต จากนั้นเวลาประมาณ 23.00น. จึงจะมีรถพยาบาลเข้ามารับคนเจ็บออกจากวัดซึ่งได้มีการติดต่อไปตั้งแต่ราว 18.00 น. แล้ว พยานคิดว่าถ้ารถพยาบาลสามารถเข้ามาเร็วกว่านี้อาจจะสามารถช่วยชีวิตนายอัครเดชไว้ได้

น.ส.ณัฎฐธิดา เบิกความยืนยันว่าในระหว่างเกิดเหตุการณ์พยานได้เห็นทหารบนรางรถไฟฟ้าด้วย 5 นาย  โดยใส่ชุดลายพราง สวมหมวกด้านหลังหมวกติดสติ๊กเกอร์สีชมพู  และทหารบนรางรถไฟฟ้ามีการประทับปืนเล็งลงมาที่วัด แต่พยานไม่พบเห็นหรือได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจากในวัด พยานยังกล่าวอีกด้วยว่าในวันนั้นตัวพยานเอง น.ส.กมนเกด นายอัครเดช นั้นมีปลอกแขนเครื่องหมายกาชาดใส่ไว้ชัดเจน ส่วนนายมงคลนั้นก็ใส่ชุดป่อเต็กตึ๊ง ตามหลักสากลแล้วจะต้องไม่ถูกทำร้ายจากทั้งสองฝ่าย

โดยสืบพยานนัดต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค.นี้

 

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบันทึกการไต่สวนของ “ศูนย์ข้อมูลประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.- พ.ค.2553 (หรือ ศปช.)”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท