Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองกลางพิจารณาคดีฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าหนองแซง ชาวบ้านยันข้อมูลพื้นที่เหมาะกับการทำเกษตร ด้านตุลาการผู้แถลงคดีให้ยกฟ้อง ชี้ใบอนุญาตฯ ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการป้องกันผลกระทบต่างๆ ระบุไว้ชัดใน EIA แล้ว

 
 
 
วานนี้ (17 ธ.ค.55) เวลา 14.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 8 ศาลปกครอง ศาลปกครองกลางนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าหนองแซงของ บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ก่อนมีคำพิพากษาต่อไป
 
คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 21 ก.ย.53 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 50 คน นำโดย นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี เดินทางเข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (คชก.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่ออกให้บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด และมติของ คชก.ที่มีความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงของบริษัทดังกล่าว
 
ในการพิจารณาคดี นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ แถลงด้วยวาจาต่อศาลปกครอง ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ ระบบนิเวศซึ่งมีความเหมาะสมต่อการทำการเกษตร และกระบวนการในการออกใบอนุญาตที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วจากการที่เริ่มมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซงในพื้นที่
 
จากนั้น ทนายความจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ผู้รับมอบอำนาจ ได้แถลงด้วยวาจาชี้แจงถึงประเด็นสำคัญในการสู้คดี คือ รายงาน EIA ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยไม่ได้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีซึ่งระบุความเหมาะสมของพื้นที่ อ.หนองแซง ให้เป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก เมื่อนำ EIA ที่ไม่ครบถ้วนมาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้า ใบอนุญาตนั้นจึงไม่ชอบไปด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพราะเป็นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้าในทำเลที่ตั้งที่ไม่เหมาะสม
 
ต่อมา เป็นการแถลงข้อเท็จจริงของตัวแทน บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด เกี่ยวกับข้อต่อสู้ในคดี
 
ในวันเดียวกันนี้ ตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านคำวินิจฉัยของตนต่อตุลาการเจ้าของคดีโดยมีความเห็นให้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลโดยสรุปว่า คชก.ได้มีการประชุมพิจารณา EIA ถึง 3 ครั้งก่อนที่จะมีการอนุมัติ EIA และกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ทำความเห็นส่งถึง กกพ.แล้วว่าการออกใบอนุญาตไม่ขัดต่อต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 และพื้นที่ตั้งโครงการยังไม่มีการประกาศผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี
 
อีกทั้งโครงการดังกล่าวไม่เข้าข่ายโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 คือ มีขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงมีกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ไม่จำเป็นต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย
 
ส่วนการป้องกันผลกระทบต่างๆ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนใน EIA ซึ่งบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ต้องมีการดำเนินการตามนั้นอยู่แล้ว ส่วนประชาชนสามารถตรวจสอบน้ำที่เกรงว่าจะเกิดมลพิษจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าได้ตลอดเวลา และหากเกิดความสูญเสียก็จะมีการชดเชยให้ ส่วนที่ระบุว่าอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำนั้นทางบริษัทฯ ได้สร้างบ่อกักเก็บน้ำไว้แล้ว และหากเกิดการขาดแคลนน้ำ กรมชลประทานก็สามารถสั่งหยุดการปล่อยน้ำได้ทันที
 
ด้านมนทนา ดวงประภา ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า กระบวนการต่อจากนี้ชาวบ้านจะต้องรอฟังผลการพิพากษาคดีต่อไป โดยยังไม่ทราบกำหนดเวลาแน่ชัด ซึ่งศาลปกครองอาจมีคำพิพากษาตามตุลาการผู้แถลงคดีก็จะทำให้โครงการโรงไฟฟ้าเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในพื้นที่โครงการขณะนี้ได้มีการปรับพื้นที่และลงเสาเข็มโครงการแล้ว
 
ทั้งนี้ หากศาลปกครองกลางมีคำสั่งตามคำฟ้องก็จะมีผลให้บริษัทฯ ต้องหยุดการดำเนินการในพื้นที่ แต่บริษัทก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดและขอคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งจะทำให้การดำเนินการต่างๆ เดินหน้าต่อไปได้ แต่บริษัทก็จะต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าหนองแซง
 
อนึ่ง เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่า 1.ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้มีโอกาสเข้าโต้แย้งและชี้แจงเหตุแห่งความไม่ถูกต้องเหมาะสมของโครงการ 2.อาศัยมติเห็นชอบ EIA ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นฐานในการออกใบอนุญาต 3.ออกใบอนุญาตในทำเลที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมต่อการประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้า เพราะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย อันขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535
 
4.ออกใบอนุญาตโดยสอบถามความเห็นและพิจารณาความเห็นจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพียงหน่วยงานเดียว โดยไม่มีการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือความเห็นจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ให้เพียงพอ และ 5.ออกใบอนุญาตไปโดยขัดกับหลักความได้สัดส่วน เพราะเป็นมาตรการที่ไม่จำเป็น และเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประชาชน ชุมชนและประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ที่เอกชนรายเดียวได้รับ
 
และขอให้เพิกถอนมติของ คชก.ที่เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากอาศัยฐานข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เพราะ 1.EIA ไม่ได้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ที่กำหนดให้พื้นที่ อ.หนองแซง ซึ่งรวมถึงที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าเป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมและมีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงไฟฟ้า อีกทั้ง ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของพื้นที่ตั้งโครงการ
 
2.ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก ทั้งนี้ เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ระบุว่า บริษัทเจ้าของโครงการก็ทราบถึงการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัดดังกล่าว เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีตัวแทนบริษัทเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net