สหภาพแรงงานใน จ.ลำพูน เสนอมาตรการป้องกันนโยบายค่าจ้าง 300 บาทถูกบิดเบือน

ประธานสหภาพแรงงาน 2 แห่งที่ จ.ลำพูน เสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มีมาตรการป้องกันไม่ให้นายจ้างนำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง หรือลดสวัสดิการเดิม และให้รัฐบาลมีนโยบายปรับค่าจ้างตามส่วนต่างให้กับคนงานที่มีอายุการทำงานมานานด้วย

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นายวิสิษฐ์ ยาสมุทร ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ และนายชัชวาล  แก้วหน่อ ประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "สนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทและข้อเสนอเพื่อไม่ให้ถูกบิดเบือนและมีประสิทธิภาพ" โดยยื่นต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผ่านอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

โดยตอนหนึ่งระบุว่า "การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทครั้งนี้ ทางผู้ใช้แรงงานพร้อมสนับสนุนในการมีส่วนร่วมเพื่อให้นโยบายมีผลในทางปฏิบัติ มีความเป็นธรรม ไม่ถูกบิดเบือน และมีประสิทธิภาพ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้" โดยมีข้อเสนอ 5 ข้อได้แก่

1. ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบติดตามตรวจสอบนโยบายเพื่อให้มีผลทางปฏิบัติ ไม่ถูกบิดเบือนจากกลุ่มทุน  และมีประสิทธิภาพ  โดยคณะกรรมการประกอบด้วย  ตัวแทนรัฐบาล  หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  นักวิชาการ  สื่อมวลชน  สหภาพแรงงาน ตัวแทนผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วม ทั้งระดับชาติและในแต่ละเขตพื้นที่แต่ละจังหวัด

2.ขอให้รัฐบาลยืนยันทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยต้องไม่นำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง และต้องมีมาตรการที่เข้มงวดกับบริษัทไม่ให้นำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง หรือตัดลด สวัสดิการเดิมของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายแรงงานมาตราที่ 5

3.ขอให้รัฐบาลเพิ่มนโยบาย ปรับค่าจ้างตามส่วนต่างให้กับคนงานเก่าที่มีอายุการทำงานมานานทุกคนที่มีค่าจ้างมากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว   เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนงานส่วนนี้ด้วย

4.ขอให้รัฐบาลช่วยคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินความจำเป็น และจะทำให้ผู้ใช้แรงงานไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างแท้จริงตามเจตนารมย์ของรัฐบาล

5.รัฐบาลควรมีการปรับค่าจ้างขึ้นอีก ไม่ใช่ปรับครั้งนี้แล้ว ก็หยุดไปอีกหลายปี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานมากขึ้น  เนื่องเพราะแท้จริงแล้วค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทก็ยังไม่พอค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงาน ผู้ใช้แรงงานต้องทำงานงานมากกว่า 8 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตอยู่รอดและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนเช่นกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท