Skip to main content
sharethis

"ยิ่งลักษณ์" เยือนพม่า เต็ง เส่ง" พาชมที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ด้านคณะกรรมการไทย-พม่ากำหนดเปิดนิคมอุตสาหกรรมเบาในปี 57 ส่วนโครงการทั้งหมดซึ่งรวมถึงเขตนิคมอุตสาหกรรมหนักจะเสร็จในปี 63 ขณะที่ตัวแทนชุมชนในทวายกังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร้องเรียนว่าไม่ต้องการย้ายออกจากชุมชน แต่ จนท.ไม่อนุญาตให้เข้าพบเต็ง เส่ง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย และเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า ชมผังจำลองโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระหว่างนายกรัฐมนตรีเยือนสถานที่ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่เมืองทวาย ทางตอนใต้ของพม่าเมื่อ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: เฟซบุค Yingluck Shinawatra)

 

เมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.) สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนพม่าเพื่อหารือกับประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่า และเยี่ยมชมพื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มีการหารือถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการของกลไกคณะกรรมการร่วมไทย – พม่า เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้พม่าเป็นเจ้าภาพในการประชุมคณะกรรมการระดับประสานงานและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้ง 6 สาขา ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง ด้านอุตสาหกรรมเฉพาะด้านและการพัฒนาธุรกิจ ด้านพลังงาน ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และด้านการเงิน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 โดยจัดไปแล้วที่กรุงเนปิดอว์ โดยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี และนายนายเอ มิ้นท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพม่า เป็นประธานการประชุมร่วมกัน ซึ่งในการประชุมดังกล่าว นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่ประธานร่วมฝ่ายไทย ในการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมไทย-พม่าฯ สาขาการพัฒนาชุมชน

โดยฝ่ายไทยได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่รัฐบาลพม่า ซึ่งแบ่งเป็นแผนงานระยะเร่งด่วนที่จะดำเนินการในพื้นที่ที่อยู่อาศัยใหม่ที่จัดสรรให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน ได้แก่ การจัดทำแปลงสาธิตเพื่อสอนให้ชาวพม่ารู้จักการทำการเกษตรแบบครบวงจรเพื่อการดำรงชีพ การสนับสนุนการเรียนรู้การจัดสวัสดิการชุมชนต่าง ๆ และการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานให้ประชาชน และแผนงานระยะกลาง ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตรอาชีวศึกษา (ปวช.) และการปรับปรุงโรงพยาบาลทวาย ซึ่งฝ่ายพม่าแสดงความยินดีรับความช่วยเหลือทางวิชาการดังกล่าว และเห็นพ้องดำเนินการภายหลังการโยกย้ายประชาชนเข้าพื้นที่ใหม่แล้ว

ขณะที่ภารกิจในการเยือนของยิ่งลักษณ์ประกอบไปด้วย การเข้าเยี่ยมคาราวะและหารือกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เยี่ยมชมความคืบหน้าในพื้นที่โครงการ และการเยี่ยมโรงเรียนและสถานีอนามัยในพื้นที่ทวาย เพื่อมอบอุปกรณ์การเรียนและการกีฬาให้แก่โรงเรียน และมอบอุปกรณ์การแพทย์ขั้นพื้นฐานแก่สถานีอนามัย

ด้าน ทิน หม่อง วิน ประธานฝ่ายสนับสนุนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ให้สัมภาษณ์อิระวดีว่า ผู้นำทั้งสองประเทศได้หารือกันในเรื่องโครงการอุตสาหกรรมสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และมีการบินชมพื้นที่ก่อสร้างโครงการ นอกจากนี้ยังมีการเยี่ยมพื้นที่สำหรับสร้างนิคมอุตสาหกรรมทวายด้วย โดยทิน หม่อง วิน ระบุว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มทันทีที่ชาวบ้านในพื้นที่โยกย้ายไปยังหมู่บ้านแห่งใหม่

ข้อมูลจากอิระวดีระบุว่า ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2551 ไทยและพม่าลงนามในข้อตกลงความร่วมมือที่จะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายได้หานักลงทุนสำหรับโครงการดังกล่าว โดยทิน หม่อน วิน ระบุว่า จากการประชุมของคณะกรรมการระดับประสานงานและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้ง 6 สาขา กำหนดไว้ว่าเฟสแรกของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเบามีกำหนดที่จะเปิดโครงการภายในปี 2557 ส่วนโครงการทั้งหมดซึ่งรวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เขตนิคมอุตสาหกรรมหนักจะสมบูรณ์ภายในปี 2563

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องเผชิญความยากลำบากในการหาผู้ลงทุน นอกจากนี้ยังต้องเผชิญฝ่ายคัดค้านในท้องถิ่นซึ่งกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

เล ลวิน จากสมาคมพัฒนาทวาย กล่าวกับอิระวดีว่าในระหว่างการเยือนทวายของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ทางกลุ่มไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบกับประธานาธิบดีเพื่อบอกให้รู้ว่าพวกเขาไม่เต็มใจที่จะย้ายออกจากหมู่บ้าน นอกจากนี้พวกเขายังคัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานเคมี รวมถึงอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ 

ล่าสุดจากการรายงานของกรุงเทพธุรกิจ ซึ่งอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เปิดเผยผลการหารือระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และประธานาธิบดีเต็ง เส่งว่า ทางการพม่าขอปรับลดพื้นที่โครงการเหลือประมาณ 150 ตร.กม. จากเดิมที่ตกลงไว้ที่ 204.5 ตร.กม. โดยทางการไทยยังสงวนท่าทีต่อข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดโครงการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net