ศาลอ่านคำวินิจฉัยศาลรธน.คดี'สมยศ' - 23 ม.ค.พิพากษา

ศาลอ่านคำวินิจฉัยศาลรธน. ระบุม. 112 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญด้านการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกและหลักนิติธรรม เนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติที่เคารพสักการะ ระบุโทษ 3-15 ปีเหมาะสมแล้วตามกฎหมาย

19 ธ.ค. 55 - ที่ศาลอาญารัชดา ห้อง 701 ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยจากกรณีการยื่นคำร้องของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานและแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย และนายเอกชัย (สงวนนามสกุล) ในฐานะจำเลยกม.อาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยื่นคำโต้แย้งแก่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าม. 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิระหว่างประเทศ สถานทูต นักวิชาการ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สุธาชัย ยิ้่มประเสริฐ ปิยบุตร แสงกนกกุล เดินทางเข้าร่วมรับฟัง รวมกว่า 100 คน ทำให้ต่อมาต้องย้ายไปห้องพิจารณาคดีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น


ผู้สังเกตการณ์ที่เดินทางมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดี

โดยศาลได้อ่านคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ม.112 มิได้ขัดกับหลักการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกตามมาตรา 29 และ 45 วรรคหนึ่ง และสอง ตามรัฐธรรมนูญไทย ตามที่ยื่นร้องโดยจำเลย เนื่องจากประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นศูนย์รวมจิตใจอันเป็นที่เคารพรักของประชาชน มีพระมหากรุณาธิคุณกับประชาชนชาวไทยอย่างใหญ่หลวง อีกทั้งพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ รัฐจึงต้องให้การคุ้มครองเป็นพิเศษ และชี้ว่า บทลงโทษที่มีอยู่ระหว่าง 3-15 ปี เพราะอยู่ในสถานะหลักของรัฐ และเป็นองค์ประมุขของรัฐ จึงนับว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ และระบุว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นด้วย

จากคำร้องที่จำเลยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ม.112 ขัดต่อ มาตรา 3 วรรคสองหรือไม่ ซึ่งระบุเรื่องหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยดังกล่าวระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ "ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ และด้วยพระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศ และรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและสถาบันหลักของประเทศ" ศาลระบุว่า การกำหนดบทลงโทษ จึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม ม.112 จึงสอดล้องกับหลักนิติธรรม ตามมาตรา 3 วรรคสอง

ผู้พิพากษา กล่าวต่อว่า ได้มีการเปลี่ยนเจ้าของสำนวนคดี เนื่องจากมีการโยกย้ายคณะผู้พิพากษาชุดเก่าไปยังต่างจังหวัด เจ้าของสำนวนคดีจึงเปลี่ยนเป็นรองอธิบดีศาลอาญา 2 คนแทน และเนื่องจากมีเอกสารที่เกี่ยวข้องมาก ต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาอีกพอสมควร จึงได้นัดวันอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 23 ม.ค. 56  

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขกล่าวว่า ไม่รู้สึกแปลกใจกับคำวินิจฉัยที่ออกมาเท่าใดนัก และเสริมว่าศาลก็ไม่ได้พิจารณาในหลายประเด็นที่ยื่นให้วินิจฉัย เช่น เรื่องม.112 กับหลักสิทธิมนุษยชนสากล หรือเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และกล่าวว่า ตนสมควรได้รับความยุติธรรมและถูกยกฟ้อง เนื่องจากอาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะคดีนี้อยู่ในความสนใจของต่างชาติ

"คำวินิจฉัยนี้ยืนยันว่ารัฐไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์" สมยศกล่าว


นายสมยศ พฤกษาเกษมสุขเดินทางกลับพร้อมเจ้าหน้าที่ศาล หลังศาลอ่านคำวินิฉัย

คารม พลกลาง ทนายความของนายสมยศ กล่าวภายหลังจากการอ่านคำวินิจฉัยว่า การอ่านคำวินิจฉัยวันนี้เป็นไปเพื่อพิจารณาว่าม. 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อไม่ขัด ศาลจึงมีกำหนดอ่านคำพิพากษา โดยมองว่าไม่น่าจะเลื่อนวันดังกล่าวออกไป และกล่าวว่า ไม่น่าจะได้รับการประกันตัวอีก ทั้งนี้ นายสมยศถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 54 และ ถูกปฏิเสธการประกันตัวทั้งหมดแล้ว 10 ครั้ง


 

หมายเหตุ: สามารถดาวน์โหลดเอกสารคำวินิจฉัยฉบับเต็มได้ที่ด้านล่าง

 

 

ประมวลกฎหมายอาญา
 
มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
 
รัฐธรรมนูญ
 
มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
 
     การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม  
 
มาตรา 8 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
 
มาตรา 29 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
 
     กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย
 
     บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม
 
มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
 
     การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิ ในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท