Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2555, ผมได้ไปร่วมงานศพ ทรง นพคุณ (2461-2555) บรรพชนผู้เสียสละ และวีรชนผู้กล้าหาญในประวัติศาสตร์ ผู้ถากถางสร้างทางให้แก่สังคมประชาธิปไตยในวันนี้ ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่งที่สูงส่งเท่าที่มนุษย์ผู้หนึ่งจะเสียสละได้ ไม่ว่าจะด้วยระบบกรรมสิทธิ์ใดๆ หรือกระทั่ง ‘เสรีภาพ’ ของตนเอง เพื่อแลกปัจเจกสู่ส่วนรวม จากครอบครัวเล็กเพื่อครอบครัวใหญ่ ขณะที่คนรุ่นหลังในสังคมนี้กำลังเดินไปสู่เส้นทางที่ยากแก่การแบกรับ ท่ามกลางสังคมบริโภคนิยมและการ Propaganda ทางการเมืองมากมายในเวลานี้

ทรง นพคุณ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 ด้วยวัย 94 ปี ท่ามกลางตำนานแห่งการต่อสู้มากมายที่ถูกเล่าขาน จากมิตรสหายในขบวนการปฏิวัติ จากครอบครัวใหญ่ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข จากพี่น้องที่ร่วมรบ และจากคนรุ่นหลังที่เคยได้พบพาน, ในนามของ ‘สหายบา’ หรือ ประสงค์ วงศ์วิวัฒน์ (นามแฝงที่เสนอโดย ธง แจ่มศรีสหายสังกัดของเขา) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) คนที่ 2 (2495-2504) ภายหลังการสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2495 แต่ว่าไปแล้ว เขาคือผู้รับผิดชอบสูงสุดตัวจริงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2487 เมื่อ หลี่ฮวา เลขาธิการพรรคคนที่ 1 ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ขอลาออกเพื่อกลับประเทศจีน เนื่องจาก สากลที่สาม (องค์การคอมมิวนิสต์สากล) ได้ประกาศยกเลิกตนเองเมื่อปี 2486 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นเงื่อนไขให้สหายชาวต่างประเทศ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทย หรือมีหน้าที่ต้องปฏิวัติประเทศไทยอีก ซึ่งทำให้ ทรง นพคุณ ได้รับเลือกเป็นรักษาการณ์เลขาธิการพรรคจนสิ้นสมัยสมัชชา (2487-2495)

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาโดยสังเขปก่อนจะเป็น ‘พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย’ นั้นระบุว่า กระแสตื่นตัวการปฏิวัติและสังคมนิยมในแผ่นดินสยามเกิดขึ้นหลายขบวนตั้งแต่ก่อนปี 2475  โดยเฉพาะคนจีนในสังคมไทยที่อพยพเข้ามาพร้อมกระแสสาธารณะรัฐนิยมแบบ ลัทธิไตรราษฎร ของ ซุนยัดเซ็น(Sun Zhong Shan) และการปฏิวัติจีน 2454, การขยายตัวอย่างรวดเร็วของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2464 และมีการขยายสาขาพรรคในแผ่นดินสยาม, ชาวเวียดนามที่เข้ามาลี้ภัยในแผ่นดินสยามและใช้สยามเป็นฐานการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช และต่อมาคือคนไทยที่มีสายธารความคิดสังคมนิยมมาจากฝรั่งเศส และสายพุทธสังคมนิยม เป็นต้น ต่อมาในปี 2472 สากลที่สาม มีมติให้ผู้ปฏิบัติงานคอมมิวนิสต์ไม่ว่าอยู่ในประเทศใดให้ดำเนินการหนุนช่วยการปฏิวัติในประเทศนั้นด้วย ตามนโยบายสากลนิยม ทำให้ โฮจิมินห์ (Hồ Chí Minh) ในฐานะผู้แทนของสากลที่สาม ได้ประสานกลุ่มลัทธิมาร์กซในสยามกลุ่มต่างๆ, กลุ่มคอมมิวนิสต์จีน, คอมมิวนิสต์เวียดนามในสยาม และจัดตั้ง คณะคอมมิวนิสต์สยาม ขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2473 โดยมี ‘โงวจิ๋งก็วง’ ชาวเวียดนามที่เกิดในแผ่นดินสยามเป็นเลขาธิการคนแรก, แต่ภายหลังรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายชาตินิยมจัดและเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ไทย คณะคอมมิวนิสต์สยามได้ถูกกวาดล้างและจับกุมจำนวนมากจนขาดเอกภาพและอ่อนแอลงเรื่อยๆ สากลที่สาม (สำนักงานฮ่องกง) จึงได้ส่ง ‘หลี่ฉีซิน’ หรือ หลี่ซี่ซิง เข้ามาเป็นตัวประสานงานกลุ่มต่างๆ ในปี 2483 และตั้ง ‘คณะกรรมการพิเศษ’ ขึ้นมาบริหารพรรคต่อไปจนกระทั่งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ภายหลังญี่ปุ่นบุกโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคม 2484 และในวันเดียวกันได้บุกประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2485 คณะกรรมการพิเศษจึงได้เรียกประชุมผู้แทนกลุ่มต่างๆ และมีมติจัดตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์ไทย ขึ้น และเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่โดยมี หลี่ฮวา เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ไทยคนแรก,  ต่อมามีการสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 ขึ้นในปี 2495 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) โดยมีเลขาธิการพรรคคนที่ 2 คือ ทรง นพคุณ (2495-2504), คนที่ 3 คือ ‘มิตร สมานันท์’ หรือเจริญ วรรณงาม (2504-2525), คนที่ 4 คือ ‘ประชา ธัญญไพบูลย์’ หรือ ธง แจ่มศรี (2525-2553) ภายหลัง ธง แจ่มศรี ได้ลาออกจากเลขาธิการพรรคในปี 2553 ได้มีการเลือก วิชัย ชูธรรม (2553) เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ ท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรคอย่างรุนแรงในเรื่องแนวทางการเมืองและสถานะขององค์การนำ (ดูเอกสารประกอบใน ‘ธง แจ่มศรี:เอกสารประกอบคำแถลงเนื่องในวาระการก่อตั้ง พคท. ครบรอบ 67 ปี’,  ‘คำชี้แจงภายใน’ และ ‘แถลงการณ์เรื่องสถานการณ์และภาระหน้าที่’ 1 มกราคม 2553)

ทรง นพคุณ เกิดที่จังหวัดนครราชสีมา แม่เป็นคนไทย พ่อเป็นคนจีนแต้จิ๋วที่เป็นถึงเถ้าแก่โรงสีที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ภายหลังเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ จึงเริ่มตื่นตัวทางการเมืองจากครูจีนที่โรงเรียนซินหมิง และเข้าเป็นสมาชิก ‘คณะคอมมิวนิสต์สยาม’ ในปี 2477 ภายหลังที่ขบวนการดังกล่าวได้เริ่มเคลื่อนไหวในหมู่เยาวชนและ ‘จัดตั้ง’ ในโรงเรียนจีนขึ้น โดยเขามีบทบาทที่โดดเด่นในการเคลื่อนไหวในขบวนการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น โดยภายหลังที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 นั้น ขบวนการที่ ทรง นพคุณ สังกัดอยู่ ได้ทำหนังสือพิมพ์ใต้ดินฉบับภาษาไทยชื่อว่า ‘มหาชน’ และฉบับภาษาจีนชื่อว่า ‘เจิ่นฮั่วเป้า’ (สัจจา) เพื่อเป็นปากเสียงโฆษณา ปลุกระดมและจัดตั้งมวลชน ขณะเดียวกันได้ติดต่อประสานงานกับ ขบวนการเสรีไทย ที่นำโดย ปรีดี พนมยงค์ ด้วย รวมถึงสาขาพรรคชาวจีนโพ้นทะเลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่นำโดย หลี่ซี่ซิง และ เจียงหง เป็นต้น ผลจากการเคลื่อนไหวในยุคเผด็จการดังกล่าว ที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยอมร่วมมือและอนุญาตให้ญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย มีหลายครั้งที่สมาชิกในขบวนการถูกจับกุมและทรมานจำนวนมาก แต่ด้วยจิตใจเสียสละและกล้าหาญ วีรชนหลายท่านได้เผชิญชะตากรรมอย่างเด็ดเดี่ยวโดยไม่ได้ปริปากบอกรายชื่อเพื่อนร่วมขบวนการ นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้ง ‘กองอาสาสมัครต่อต้านญี่ปุ่น’ ขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งในขณะนั้น ทรง นพคุณ ได้รับเกียรติและความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานให้เป็นผู้รับผิดชอบอันดับ 1 ในสายงานคนไทยของ ‘ขบวนการรักชาติ-ประชาธิปไตย’ ตั้งแต่กลางปี 2485-2504

ในปี 2488 ทรง นพคุณ และ วิรัช อังคถาวร (จางเยวี่ยน) เดินทางลงใต้ไปประสานงานกับกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นฝ่ายมลายู และจัดตั้งกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นชายแดนไทย-มลายูขึ้นที่นั่น โดยเขาเองได้ลงมือปฏิบัติการซุ่มโจมตีกองทหารญี่ปุ่นหลายครั้ง โดยเฉพาะการนำกำลังครั้งสำคัญร่วมกับ ประสิทธิ์ เทียนศิริ และ หวังลี่กง (โกส่าย) เข้าโจมตีค่ายทหารญี่ปุ่นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ในเดือนสิงหาคม 2488 ภายหลังได้ความช่วยเหลือจากเด็กเลี้ยงวัวอายุ 12 ปี คนหนึ่ง (ด.ช.ผสม เพชรจำรัส) ในการทำหน้าที่สอดแนมติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเป็นยุทธการที่ถูกกล่าวขานไปทั่ว ภายหลังสงครามยุติลง แนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของ‘ขบวนการรักชาติ-ประชาธิปไตย’ ก็ได้เปลี่ยนแนวนโยบายมาสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยของฝ่ายเสรีไทยซึ่งนำโดย ปรีดี พนมยงค์ ขณะเดียวกันยังได้เคลื่อนไหวนำกรรมกรสาขาอาชีพต่างๆ รณรงค์ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นจนขยายกลายเป็นขบวนการที่ใหญ่โตต่อมา ควบคู่ไปกับขบวนการนักศึกษา ปัญญาชน นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น

ในระหว่างสงครามนั้นเอง ทรง นพคุณ ได้ชักชวนให้อัยการหนุ่ม 2 คนในกรุงเทพฯ คือ อัสนี พลจันทร์ (นายผี) และ มาโนช เมธางกูร (ประโยชน์) อดีตอัยการ ให้เข้าร่วมขบวนการด้วย รวมถึง พ.ท.พโยม จุลานนท์ ก่อนที่ พ.ท.พโยม จุลานนท์ จะถูกรัฐบาลบังคับให้นำทหารไปร่วมรบร่วมกับทหารญี่ปุ่นที่เชียงตุง ประเทศพม่าและพาทหารรอดชีวิตกลับมาบางส่วน ก่อนจะถูกส่งตัวไปที่จังหวัดสงขลาและได้ร่วมสนับสนุนกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นที่นั่น ต่อมาพรรคจึงได้ส่ง พ.ท.พโยม จุลานนท์ ไปศึกษาที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ภายหลังเดินทางกลับมาอย่างลับๆ ได้กลายเป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และต่อมาหลังจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รัฐประหารยึดอำนาจการปกครองแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ ทรง นพคุณ, วิรัช อังคะถาวร, พ.ท.พโยม จุลานนท์ และแกนนำพรรคคนอื่นๆ จึงได้นำพาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยลงสู่เขตชนบท ส่วนงานในเมืองยังคงไว้ในส่วนงานกรรมกรและงานนักศึกษาแต่ลดการเคลื่อนไหวเปิดเผยลง โดยมี ทรง นพคุณ และ ประเสริฐ เอี้ยวฉาย เป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้จัดประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 ขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 กันยายน 2504 และเลือก ‘มิตร สมานันท์’ หรือ เจริญ วรรณงาม ชาวจังหวัดอุดรธานี ซึ่งจบการศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เสียชีวิตเมื่อปี 2521) เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ เพื่อสร้างลักษณะประชาชาติ ลดภาพลักษณ์ตามจีน, โดยภายหลังการประชุม พรรคได้ตระเตรียมถอนกำลังผู้ปฏิบัติงานในเมืองเข้าสู่ชนบทมากขึ้น รวมทั้งวางแผนการก่อตั้งกองทัพประชาชนขึ้นในชนบทและตั้งโรงเรียนการทหารในเวลาต่อมา เนื่องจากความเสียหายอย่างรุนแรงจากนโยบายการกวาดล้างทำลายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยเฉพาะเมื่อ รวม วงษ์พันธ์ กรมการเมืองผู้รับผิดชอบภาคกลาง ถูกจับได้ที่สุพรรณบุรีและถูกประหารชีวิตในเดือนเมษายน ปี 2505

ทรง นพคุณ หรือ ‘สหายบา’ ผู้ซึ่งเคยเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด แม้หมดวาระดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรค แต่ก็ช่วยเหลือดูแลขบวนการมาโดยตลอดอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย กระทั่งชักพาลูกสาวคนหนึ่งละทิ้งครอบครัวเล็กมาทุ่มเทให้กับครอบครัวใหญ่ในสังคมอุดมคติ และเมื่อองค์การนำศูนย์กลางพรรคได้ย้ายมาตั้งเขตฐานที่มั่น ณ จังหวัดน่าน ได้ปรับปรุงองค์กรการปกครองออกเป็น 2 สาย คือ สายอำนาจรัฐและสายกองทัพ โดยทั้ง 2 สายนี้ต้องอยู่ภายใต้การนำของศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างเด็ดขาด โดยยึดหลัก พรรคบัญชาปืน ในส่วนสายกองทัพ หรือ ‘กองบัญชาการทหารสูงสุด’ นั้นได้แบ่งออกเป็น 3 กองใหญ่ คือ กองการเมือง, กองเสนาธิการทหาร และกองพลาธิการ เพื่อสนองยุทธปัจจัยแก่กองทัพ  ทรง นพคุณ ก็ได้ช่วยรับผิดชอบดูแลกองพลาธิการอย่างแข็งขัน และได้ประกาศใช้ ‘ธนบัตร’ ของพรรคเองแทนธนบัตรใบย่อยไทยที่มักมีปัญหาเวลาเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่สหายในขบวนการ เรียกว่า ‘บัตรอาหาร ท.ป.ท.’ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเงินย่อยในการจับจ่ายใช้สอยประจำวันในเขตฐานที่มั่น ในช่วงเวลานั้น เขาเดินทางระหว่างเขตฐานที่มั่นต่างๆ และแนวหลังบ่อยครั้ง เพื่อสนับสนุนขบวนการปฏิวัติอย่างเต็มที่ คอยประสานงานกับชนชาติต่างๆ ในพื้นที่อย่างเกาะติดและเอาใจใส่ สอนให้ขบวนการรับใช้มวลชนอย่างแข็งขัน “เราเป็นหมอให้ลงไปดูแลผู้ป่วยถึงหมู่บ้าน”จนชาวบ้านหลายพื้นที่ส่งลูกหลานมาร่วมการปฏิวัติจำนวนมาก โดยเฉพาะชนชาติลาวเทิง, เขาเป็นผู้อาวุโสที่ใช้ชีวิตและกินอยู่อย่างเรียบง่าย จนมักมีคำล้อเลียนจากสหายว่า ผู้อาวุโสท่านนี้ “เช้าต้มฟัก เย็นฟักต้ม” เป็นประจำ และเมื่อวันไหน ‘สหายบา’ ได้อาหารดีๆ มา ก็มักจะนำมากินรวมกับสหายคนอื่นเสมอ, เขาจึงได้รับความเคารพและนับถือจิตใจอย่างสูงในขบวนการปฏิวัติไทย และเป็นแบบแก่อนุชนแทบทุกด้านในขณะนั้น

ต่อมาเมื่อรัฐบาลไทยมีนโยบาย 66/23 นักศึกษาที่เคยเข้าป่าร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ละทิ้งพรรคกลับเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก ประกอบกับผลกระทบจากภายนอกที่เกิดความขัดแย้งขึ้นในอินโดจีนก่อนหน้า ที่นำมาสู่สงครามระหว่างพรรคพี่น้องเวียดนามและกัมพูชา จนพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ยกกองทัพบุกทำ ‘สงครามสั่งสอน’ เวียดนามในเดือนมีนาคม ปี 2522 และลดความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยลงจนนำมาสู่การปิดวิทยุ สปท. ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตกที่นั่งลำบาก เนื่องจากอาศัยพรรคพี่น้องเป็นหลังพิงที่สำคัญมาโดยตลอด, ‘วิกฤติศรัทธา’ ทั้งหมดนั้นได้นำมาสู่กระแสต่ำในขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยเป็นอย่างมาก แม้พรรคได้พยายามปรับตัวอย่างถึงที่สุด และมีการเปิดประชุมสมัชชาครั้งที่ 4 ในปลายปี 2524-2525 ก็ตาม สถานการณ์ได้แย่ลงเมื่อคณะกรรมการพรรคถูกจับกุมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2527 และเลวร้ายลงถึงที่สุดในการจับกุมครั้งใหญ่เมื่อเดือนเมษายน 2530 เมื่อคณะกรรมการกลางของพรรคถูกจับกุมเกือบทั้งหมดภายหลังเปิดการประชุมที่บางแสน จังหวัดชลบุรี

แต่ ทรง นพคุณ มิได้เลือกหนทางยุติการต่อสู้ในขบวนการปฏิวัติและกลับคืนเข้าสู่เมืองแต่อย่างใด ช่วงสุดท้ายของชีวิต เขาได้เลือกอาศัยอยู่ในเขตงานภาคกลาง ท่ามกลางโรคภัยรุมล้อมด้วยวัยชรา ‘หมอกิ่ง’ สหายหญิงคนหนึ่งซึ่งเคยดูแล ‘ลุงบา’ ตั้งแต่ปี 2515 และถูกพรรคส่งไปเรียนจนจบแพทย์ศาสตร์บัณฑิตมาจากเมืองจีนในปี 2528 ถูกเรียกตัวไปรักษา ‘ผู้อาวุโสเจ็บป่วยและไม่มีหมอดูแล’ ในเขตงานดังกล่าวอย่างเร่งด่วนเมื่อกลับมาถึง ในเขตงานซึ่งมีกองกำลังอาวุธเคลื่อนไหวอยู่, ‘ลุงบา’อาการทรุดลงด้วยโรคประจำตัวเนื่องจากไม่ได้รับยาอย่างสม่ำเสมอมาเป็นเวลานาน เพราะพื้นที่เขตงานนั้นตกอยู่ในสถานการณ์คับขันบ่อยครั้ง จนอาการยากแก่การรักษา ถึงขั้นไม่สามารถเยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ เวลาปกติอาจจะเหมือนคนปรกติทั่วไป แต่พออาการกำเริบได้ทำให้ผู้อาวุโสมีอาการคุ้มคลั่งฟั่นเฟืองตะโกนพร่ำเพ้อถึงแต่การปฏิวัติจนยากแก่การควบคุมดูแล ในพื้นที่เขตป่าเขาบอบบางที่สหายในเขตงานต้องหลีกเลี่ยงการปะทะเพื่อปกป้องตนเองนั้น บางครั้งในเหตุการณ์คับขัน ฝ่ายหมอ พยาบาล ถึงกลับจำเป็นต้องให้ยานอนหลับแก่เขาในเวลาต้องเคลื่อนย้ายที่ตั้งด่วน และแบกหาม ‘ลุงบา’ ไปตามโขดหินลำห้วย หรือไม่ก็ป่ายปืนหน้าผาทุลักทุเลด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง

8 ปีในเขตงานภาคกลางของหมอ ‘หมอกิ่ง’ จนถึงวันที่ต้องออกจากป่ากันอย่างจริงจังในปี 2537 มิตรสหายที่ดูแลกันมาอย่างยาวนานต่างต้องแยกย้าย,  ‘ลุงบา’ ในสภาพชายชราอาการฟั่นเฟือนและผู้ป่วยไข้ป่ามาลาเรียที่ลุกไม่ขึ้น ถูกฝากฝังไว้ที่บ้านญาติของสหายคนหนึ่งที่จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากไม่สามารถติดต่อครอบครัวของเขาได้เลย จวบจนเป็นเวลาปีกว่า ครอบครัวของ ‘ทรง นพคุณ’ ถึงได้ทราบข่าวและมารับตัวกลับไปพักอยู่ที่บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร, ทรง นพคุณ มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากตลอดมาหลังจากนั้น จากผลกระทบที่เสียสละสังขารและจิตวิญญาณเพื่อการปฏิวัติสังคมอย่างแท้จริง ทรง นพคุณ ไม่เคยเรียกร้องการดูแลจากสหาย แม้กระทั่งลาภยศ สรรเสริญใดๆ จนนาทีสุดท้ายของชีวิต และแทบไม่มีใครได้ข่าวคราว ‘สหายบา’ เลยจวบจนเขาได้เสียชีวิตอย่างสามัญชนในต้นฤดูหนาว ปี 2555 มีเพียงน้ำตาของมิตรสหายในขบวนการต่อสู้ที่ทรงจำถึงเกียรติภูมิอันยิ่งใหญ่ของเขาและประวัติศาสตร์ที่สมควรคาระของสามัญชนผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งถากถางสร้างทางให้แก่สังคมประชาธิปไตยในวันนี้ ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่งที่สูงส่งเท่าที่มนุษย์ผู้หนึ่งจะเสียสละได้

ขณะที่อดีตสหายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบางคนที่เคยพร่ำเพ้อถึงอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่เพื่อ ‘ประชาชน’ ในอดีต ในวันนี้กลับ ‘หลงป่า’ มากินอยู่สุขสบายในเมืองหลวงที่มากด้วยความเหลื่อมล้ำ ลืมแม้กระทั่ง ‘การแบ่งปัน’ และคำว่า ‘เสียสละ’

ขอรำลึกถึง ทรง นพคุณ และจิตใจนักต่อสู้ของ ‘สหายบา’ มา ณ โอกาสนี้.

 

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่: หนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1072-1073

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net