Skip to main content
sharethis

เสวนาหนังสือ ที่ "Book Re:public" โดย "เออิจิ มูราชิมา" พาย้อนอดีตเล่าถึงกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์ในสยามผ่านเอกสารประวัติศาสตร์

22 ธ.ค.55 เวลา 16.30 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาหนังสือ (Book Talk) ในหัวข้อ “กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม” โดยมีวิทยากรคือ เออิจิ มูราชิมา (Eiji Murashima) ศาสตราจารย์ด้านเอเชียแปซิฟิกศึกษา จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และดำเนินรายการโดยเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เออิจิ มูราชิมา (ซ้าย) และเวียงรัฐ เนติโพธิ์ (ขวา)

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ เกริ่นนำว่ามูราชิมาศึกษาเรื่องไทยศึกษามา 3-4 ทศวรรษแล้ว โดยสนใจด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ เรื่องของคนจีน ซึ่งเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคก๊กมินตั๋ง ชาวจีนสยาม สนใจการปฏิวัติสยาม 2475 และเรื่องชาตินิยม

หนังสือ “กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พ.ศ.2473-2479)” ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน (แปลโดยโฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์) สำคัญในฐานะที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่หลีกเลี่ยงการทำความรู้จักพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยน่าจะท้าทายรัฐไทยอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอุดมการณ์รัฐ ความมั่นคงแห่งชาติ และเรื่องความจงรักภักดี พรรคคอมมิวนิสต์มีสถานะทางประวัติศาสตร์ในเรื่องเหล่านี้มากทีเดียว และงานชิ้นนี้ของมูราชิมายังเป็นแรงบันดาลใจ ว่าการถกเถียงทำความเข้าใจการเมืองไทย นอกจากใช้เหตุผลแล้ว ยังต้องใช้ข้อมูล ที่ผ่านการศึกษาอย่างจริงจัง

นอกจากนั้น การศึกษาเรื่องไทยศึกษาในญี่ปุ่นพัฒนาไปอย่างก้าวหน้า มีการถกเถียงในด้านต่างๆ มากมาย แต่เรามักจะไม่ได้เชื่อมกัน หรือมักจะเชื่อมกับโลกของไทยศึกษาที่เป็นภาษาอังกฤษมากกว่า จะเชื่อมกับญี่ปุ่น ด้วยอุปสรรคทางภาษา การตีพิมพ์งานแปลหลายชิ้นของมูราชิมาน่าจะเป็นเหมือนสะพานเชื่อมโยงโลกสองโลกของการศึกษาไทยศึกษาเข้าด้วยกัน

โดยสรุปในหนังสือจะแบ่งเป็น 6 บท แต่ละบทจะศึกษาประเด็นในช่วงต่างๆ โดยใช้เอกสารจำนวนมาก เช่น บทแรกจะศึกษาเพื่อระบุให้ได้ว่าวันใดเป็นวันที่ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม บทต่อมาก็ชี้ว่าสมาชิกไม่มีชาวสยามเลย มีชาวจีนเป็นหลัก ต่อมาก็มีชาวเวียดนามมากขึ้น และชาวสยามเข้ามาในการประชุมครั้งที่ 3 และเล่าถึงการประชุมสมัชชาพรรคแต่ละครั้ง

เออิจิ มูราชิมา กล่าวถึงเหตุผลที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ไทย มีสองสาเหตุ คือ หนึ่ง ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ไทยน่าสนใจมากกว่าอ่านนิยาย เนื่องจากตนได้อ่านเอกสารที่หอจดหมายเหตุก็ดี เอกสารที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรืออังกฤษ รายงานของทูต ซึ่งเขียนเรื่องสยามหลายอย่าง ทำให้รู้สึกสนใจ

สองคือ เมื่อเขียนหนังสือเรื่องการเมืองจีนสยาม: ค.ศ. 1924-1941 ในปี 2539 หลังจากนั้นก็ได้พบอาจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์ และอาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ อาจารย์เกษมได้ชมหนังสือเล่มนั้น และตนก็ดีใจมาก จึงอยากจะทำงานต่อ ถ้าเขียนประวัติศาสตร์ไทยในประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยอ่าน ไม่ค่อยสนใจ จึงดีใจมากที่คนไทยสนใจผลงาน

มูราชิมาเล่าถึงเบื้องหลังการศึกษาว่า ตนใช้เวลาอยู่เมืองไทยทั้งหมด 12 ปีครึ่ง โดยใช้เวลา 6 ปีครึ่งอยู่ต่อเนื่องระยะยาว อีก 6 ปีครึ่งตนไปๆ มาๆ อาจจะอาทิตย์เดียวหรืออยู่หนึ่งเดือน โดยในระยะเวลาทั้งหมดนี้ ประมาณ 10% ตนไปสัมภาษณ์ และไปเที่ยวต่างจังหวัด โดยได้ไปทุกจังหวัดในประเทศไทย เวลาอีก 20% ใช้เวลาเก็บหนังสือที่ร้านหนังสือเก่า ทุกเสาร์อาทิตย์อยู่ที่ร้านหนังสือเก่า ตั้งแต่สนามหลวงมาจตุจักร

ช่วง 2520 หนังสือยังขายที่ริมถนนค่อนข้างเยอะ ราคาก็ถูกมาก ก็ได้หนังสือเก่ามามากพอสมควร เช่น “แสดงกิจจานุกิจ” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งซื้อได้ราคา 50-60 บาทเท่านั้นเอง หรือหนังสือวชิรญาณวิเศษ หรือหนังสือของเทียนวรรณ รุ่นนั้นตนก็มีครบหมด แต่ช่วงหลังร้านหนังสือเก่าก็มีน้อยลง ราคาก็แพงขึ้นไปเยอะ มีการขโมยหนังสือจากห้องสมุดมาขาย ร้านหนังสือก็ย้ายเข้าไปอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า และเก็บค่าเช่าแพง ผู้ขายหลายคนก็ยุติการขาย จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าทำไมช่วงสมัย 2520 ร้านหนังสือเก่าถึงเยอะ และน้อยลงไปในปัจจุบัน

ส่วนเวลาอีก 60-70% ตนใช้อ่านหนังสือพิมพ์และหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติ และอ่านเอกสารที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มูราชิมาตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเปรียบเทียบกับ 30 ปีก่อน หนังสือพิมพ์รุ่นเก่าจะหายไปเยอะมาก ในช่วง 2523-24 มีคนทำไมโครฟิล์มไว้เยอะมากที่หอสมุดแห่งชาติ แล้วไมโครฟิล์มนั้นก็เสียเพราะควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ ต้นฉบับก็เสียหายเยอะ ให้บริการไม่ได้แล้ว ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย

ในเมืองไทย หนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉบับแรกมีมาตั้งแต่ปี 1904 (พ.ศ. 2447) แต่เมืองไทยเก็บหนังสือพิมพ์จีนนี้ตั้งแต่ 1917 (พ.ศ.2460) ตอนนี้ตนก็ไม่มั่นใจว่ายังเก็บไว้อยู่หรือไม่ เพราะมีโครงการที่จะทำดิจิตอล ซึ่งมีการไปทำลายหนังสือพิมพ์เสียหายด้วย แล้วดิจิตอลจริงๆ ทนได้ยาวนานที่สุดก็อาจจะ 30 ปี แล้วยิ่งเป็นตัวหนังสือจีน คนที่ถ่ายก็ไม่รู้เรื่องว่าที่ไหน หรือวันไหน เลยปะปนกันไปหมด เมืองไทยจึงกำลังจะทำลายเอกสารที่สำคัญไปมาก โดยหนังสือพิมพ์จีนที่อ้างอิงไว้ในหนังสือ ตนก็ถ่ายรูปไว้พอสมควร โดยเฉพาะเกี่ยวกับสังคมชาวจีนในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะรักษาไว้ได้กี่ปี

มูราชิมากล่าวถึงการศึกษาเรื่องวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม ว่าก่อนหน้านั้นก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นวันใด  แต่จากการศึกษาเอกสารของฝ่ายเวียดนามและฝ่ายจีน และจากการสัมภาษณ์ธง แจ่มศรี ก็ตรงกันว่าเป็นวันที่ 20 เมษายน 2473 ก่อนหน้านั้นมีสายเวียดนาม และสายจีนซึ่งสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ทะเลใต้ ซึ่งอยู่ที่สิงคโปร์ สองฝ่ายตกลงกันโดยคำแนะนำของโฮจิมินต์ ซึ่งมาจากสากลที่สาม (องค์กรคอมมิวนิสต์สากลที่ 3 หรือคอมมิวนิสต์สากล ทำหน้าที่ประสานงานคอมมิวนิสต์ทั่วโลก)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 สายเวียดนาม ได้ยุติกิจกรรม เพราะเกือบทั้งหมดถูกจับ หลังจากนั้นมีแค่สายจีนที่มีบทบาท และเน้นการต่อต้านญี่ปุ่น ในหนังสือเล่มนี้ตนได้เขียนเรื่องความเป็นมาของพรรคคอมมิวนิสต์สยามตั้งแต่ต้นถึงอีก 6 ปีต่อมา

มูราชิมากล่าวถึงที่มาของข้อมูลว่าได้มาจากเอกสาร RGASPI ซึ่งเป็นหอจดหมายเหตุของสากลที่สาม ที่มอสโก ซึ่งมีรายงานที่พรรคคอมมิวนิสต์สยาม ส่งไปที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งก็คือเวียดนาม สมัยนั้นถูกปราบปราม จึงต้องไปตั้งศูนย์กลางที่มาเก๊า เอกสารก็เดินผ่านมาทางนี้เข้ามอสโก ซึ่งมีเอกสารการประชุมสมัชชาครั้งที่สามและสี่ ส่วนการประชุมครั้งที่สองได้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเอง ซึ่งทางอังกฤษดักไว้ได้ และแปลให้รัฐบาลไทย เข้าใจว่าสมัยนั้นแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างอาณานิคมยังดีอยู่พอสมควร ช่วงนั้นฝรั่งเศส อังกฤษ และดัชท์ให้ข้อมูลกับรัฐบาลไทย เอกสารข้อตกลงพรรคคอมมิวนิสต์สยามกับอินโดจีน จึงมีเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุ

แหล่งข้อมูลสำคัญเรื่องคอมมิวนิสต์อีกแหล่งหนึ่งคือหนังสือพิมพ์จีน ซึ่งจะรายงานละเอียดกว่าหนังสือพิมพ์ไทยมาก เช่น เหตุการณ์ 18 เมษายน 2479 ที่ผู้นำคอมมิวนิสต์สยาม เกือบทั้งหมดถูกจับ รวมทั้งสวัสดิ์ ผิวขาว ที่เป็นผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์สยามที่เป็นคนไทยคนแรก ก็มีข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย แต่ไม่มากนัก จนช่วงขึ้นศาล ก็ไม่มีข่าวอีก แต่หนังสือพิมพ์จีนเขาสนใจติดตามและรายงาน คุณภาพจะดีกว่าหนังสือพิมพ์ไทยในแง่ข่าวเกี่ยวกับการเมือง

มูราชิมากล่าวว่าข้อมูลอีกส่วนมาจากการสัมภาษณ์ เหตุที่ตนสนใจคอมมิวนิสต์ตั้งแต่เริ่มทำไทยศึกษา เพราะช่วงปี 2518 สมัยนั้นมีข่าวเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์เยอะมาก เมื่อมาอยู่ไทยยาวๆ ครั้งแรกในปี 2523 ตนได้ไปสัมภาษณ์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร และอุดม ศรีสุวรรณ รวมถึงอีกหลายคน เช่น ดำริห์ เรืองสุธรรม ซึ่งตอนหลังอยู่ที่บ้านพักคนชราที่กรุงเทพฯ ตนได้ไปหาหลายครั้งและได้บันทึกเทปทั้งหมดไว้ แต่ยังไม่ได้ใช้จนปัจจุบัน รวมถึงคำบอกเล่าของธง แจ่งศรี ส่วนใหญ่ตรงกับเอกสาร จึงน่าจะเชื่อถือได้  นอกจากนี้ยังใช้เอกสารภาษาจีน และภาษาเวียดนาม ซึ่งออกมาในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา

มูราชิมากล่าวต่อว่าในหนังสือเล่มนี้ยังไม่ชัดเจน ในปกหลังซึ่งบรรณาธิการอ้างอิงมาว่าจะเขียนประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์ในสยามจะชัดเจนหรือละเอียดกว่านี้ไม่ได้ จนกว่าเอกสารในหอจดหมายเหตุของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนจะถูกเปิดเผยออกมา ซึ่งไม่ทราบว่าเมื่อไร โดยกลุ่มชาวจีนที่ทำการปฏิวัติภายในประเทศ ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ทุกแห่งจะมีกรรมการเขียนประวัติของสมาชิก ทำกิจกรรมอะไร มีประโยชน์ต่อการปฏิวัติอย่างไร หนังสือเหล่านี้ออกมาเยอะมาก แต่เอกสารหรือหนังสือหลายอย่างไม่เปิดเผย เพราะฝ่ายจีนก็กลัวว่าอาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ถ้าเอกสารพวกนี้ดูได้ เราก็รู้ได้ว่าความสัมพันธ์ฝ่ายเวียดนามกับฝ่ายจีนเป็นอย่างไร ใครเป็นเลขาธิการ เขารายงานเข้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างไร

มูราชิมากล่าวถึงงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ว่ากำลังอ่านเอกสารที่หอจดหมายเหตุทูตของญี่ปุ่น เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยกับญี่ปุ่น ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คนญี่ปุ่นที่เข้ามาเมืองไทยช่วง 1890 กว่าๆ หลายคนก็เขียนรายงาน บทความในวารสารหรือหนังสือพิมพ์ เช่น ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ที่บ้านเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ หรือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ก็ได้เขียนเรื่องสภาพทาสที่เมืองไทยพอสมควร อีกเรื่องหนึ่ง คือรัชกาลที่ 5 สนใจญี่ปุ่นมาก ก่อนที่ท่านจะปรภาสยุโรป 1890 ตอนแรกท่านคิดว่าจะไปญี่ปุ่นก่อน โดยมีเอกสารหลายชิ้นที่แสดงว่าท่านต้องการไปญี่ปุ่น แต่ที่ปรึกษาทั่วไปก็ไม่เห็นด้วยให้ไป จึงต้องยุโรปก่อน และเมื่อกลับมา ก็ยังมีปัญหาไม่ได้ไป เพราะความต้องการไปญี่ปุ่นอาจจะเท่ากับการไปยุโรป จนรัชกาลที่ 6 ได้ไปญี่ปุ่นในปี 1912

ในช่วงท้าย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งร่วมฟังการเสวนา ตั้งคำถามว่าตั้งแต่ช่วง 1930 ที่เต็มไปด้วยคนจีน และเวียดนาม ที่ทำงานกับกลุ่มกรรมกร คำถามคือผู้นำที่เป็นไทยที่รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนประเทศไทย ตามตำราที่พูดกันในภาษาไทยจะบอกว่าพวกนี้ถูกครอบงำโดยจีน เวียดนาม คิดถึงประโยชน์ของจีนและเวียดนามมากกว่าจะเปลี่ยนประเทศไทย แต่ความคิดเรื่องเปลี่ยนประเทศไทยด้วยคอมมิวนิสต์ แทรกเข้ามาได้อย่างไรในช่วงนั้น 

มูราชิมาเห็นว่าเท่าที่อ่านดูเอกสาร นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์สยาม ต้องการปฏิวัติที่สยาม ทั้งที่เป็นคนเวียดนามหรือจีน เขาต้องการให้คนจีนและเวียดนามเรียนหนังสือไทย เข้าโรงเรียนไทย บางทีก็เข้าเป็นทหารด้วย ทำให้คนไทยสนใจลัทธิมาร์กซ์และพรรค แต่ทำเท่าไรคนไทยก็ไม่สนใจ ไม่เข้าใจลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็พยายามระดมคนเชื้อสายไทย แต่ก็ไม่สำเร็จ โดยฝ่ายเวียดนามจะสำเร็จมากกว่าฝ่ายจีน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศจีนเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว และรัฐบาลไทยปราบปรามรุนแรง ลูกจีนยังถือว่าตัวเองเป็นจีนอยู่ ไม่ใช่ไทย สมัยหลังสงครามเริ่มมีคนไทยที่เรียนที่ธรรมศาสตร์ ที่มาจากชนบทอีสาน เริ่มเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค แต่ตอนนั้นสมาชิกส่วนใหญ่เป็นพวกจีน แต่ปัญญาชนที่เป็นไทยเริ่มมาเป็นผู้นำ จึงมีความไม่พอใจกันหลายอย่าง

นิธิถามต่อว่าช่วงเกิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม ในงานเรื่องการเมืองของจีนสยาม ได้พูดถึงการทำงานของพรรคก๊กมินตั๋งในไทย ซึ่งมีอิทธิพลสูง ฉะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ในเมืองไทยช่วงนั้น ในหมู่คนจีนด้วยกันเอง มันต้องเผชิญกับพลังทางการเมืองของก๊กมินตั๋งสูงมากใช่หรือไม่ 

มูราชิมาตอบว่าใช่ และเท่าที่อ่านหนังสือพิมพ์จีน ชาวจีนเองก็ไม่ได้นิยมก๊กมินตั๋ง ในช่วงก่อนการปฏิวัติ 1911 ชาวจีนส่วนใหญ่ยังนิยมรัฐบาลแมนจู คนที่ต่อต้านก๊กมินตั๋งยังมีอยู่พอสมควร แต่หลังจากก๊กมินตั๋งได้อำนาจแล้ว ชาวจีนส่วนใหญ่ก็เป็นฝ่ายก๊กมินตั๋ง ช่วงนั้นคอมมิวนิสต์กับก๊กมินตั๋งเป็นพันธมิตรกันระยะสั้น ความคิดของคอมมิวนิสต์จึงเข้ามาถึงปัญญาชนชาวจีนในประเทศไทย ปัญญาชนนิยมลัทธิมาร์กซ์อยู่พอสมควร แม้ก๊กมินตั๋งจะเป็นกระแสหลักในหมู่คนจีนอพยพก็ตาม

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ถามว่าในการเคลื่อนไหวของคนเวียดนามในคอมมิวนิสต์สยาม มีปัจจัยสำคัญคือความภักดีกับคอมมิวนิสต์สากล จึงสงสัยว่าองค์กรคอมมิวนิสต์สากลนี้คือสายโซเวียหรือเปล่า และทำให้เกิดปัญหาทำให้ไม่สามารถทำงานกับสายจีนได้หรือไม่

มูราชิมาตอบว่าไม่ เพราะสมัยนั้นแม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็จงรักภักดีต่อองค์กรสากลที่สาม สมัยนั้นถือว่าคอมมิวนิสต์ไม่มีประเทศ ทุกคนเป็นสมาชิกสากลที่สามเหมือนกัน แต่จริงๆ อาจจะมีเรื่องเชื้อชาติอยู่ แต่ตอนนั้นยังไม่เด่นชัด และศักดิ์ศรีของสากลที่สามจะสูงมาก

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ถามถึงคนไทยในพรรคคอมมิวนิสต์สยามว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นปัญญาชนมาแล้วแต่แรก หรือเป็นกรรมกรที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา มูราชิมาเห็นว่าคอมมิวนิสต์รุ่นแรก คนที่ทำงานในพรรค ส่วนใหญ่มีการศึกษาดีพอสมควร สมัยนั้นคนที่เรียนระดับมัธยมก็สูงแล้ว คนที่เขียนประวัติจริงๆ ก็เป็นคนที่มีการศึกษา เขาเข้าไปพรรคไม่ใช่เรื่องภาวะเศรษฐกิจไม่ดี หรือถูกบังคับ แต่นิยมอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์มากกว่า

ในตอนท้าย นิธิตั้งข้อสังเกตว่ามีการพูดกันว่าคนไทยยากที่จะเข้าใจคอมมิวนิสต์ แต่ตนกลับรู้สึกกลับกันว่าคอมมิวนิสต์ ยากจะเข้าใจคนไทย คือเมื่อไรพรรคคอมมิวนิสต์ ถึงจะพูดอะไรที่กระทบใจคนไทยได้ คอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเวลาพูดอะไรที มันไม่ใช่ตัวปัญหา คืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์มันคงจะสามารถพูดกับใครก็ได้ ถ้าคุณรู้ว่าจะพูดตรงไหนให้กระทบใจเขา จนกระทั่งถึงสมัยหลัง ที่พูดถึงเรื่องกึ่งเมืองขึ้น คนไทยก็ไม่ได้รู้สึกแบบเวียดนาม ไม่ได้รู้สึกว่าอเมริกันเป็นอาณานิคม มันมายิ่งเยอะยิ่งดี ไม่ค่อยกระทบใจคนไทยเท่าไร จนกระทั่งหลังระยะหลังค่อนข้างมาก ที่สังคมไทยมีความไม่เสมอภาคชัดเจนมากขึ้นๆ ตรงนั้นที่การอธิบายเรื่องชนชั้นเริ่มกระทบใจมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net