Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้อง 401/18 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน ปาฐกถาพิเศษชุด "กรุยทางสู่ประวัติศาสตร์อาเซียน" Prelude to ASEAN History ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ "การค้าและการทูตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สยาม ชวา รัฐบนคาบสมุทรมาเลย์ และฮอลันดา ทศวรรษที่ 1630-1690" โดย รศ.ดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร

 
 
ทั้งนี้ในการบรรยาย เป็นการเน้นเรื่องการค้าและการทูตระหว่างราชอาณาจักรอยุธยากับรัฐต่างๆ และเมืองต่างๆ ที่เรียกว่า โลกมลายู-อินโดนีเซีย ในช่วงคริสศตวรรษที่ 17 ผ่านข้อมูลที่เป็นบันทึกของฝ่ายฮอลันดาเป็นส่วนใหญ่
 
อาจารย์ธีรวัตบรรยายว่าสิ่งที่พยายามศึกษาคือโลกการค้าของอ่าวไทย ภายในอ่าวไทยมีเมืองท่ามากมายทั้งเล็กทั้งใหญ่ เช่น ปัตตานี พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และรวมอยุธยาด้วย จะเห็นว่าสภาพทางภูมิศาสตร์อำนวยต่อวิถีการค้านานาชาติ เพราะมีสินค้าจากจากป่าจากเขา มีเครื่องหอม ดีบุก ข้าว สินค้าที่คนสนใจมาซื้อก็มีมากและเส้นทางการเดินเรือในอ่าวไทยไม่ได้พึ่งลมมรสุมเท่านั้น แต่ยังมีการค้าอีกแบบที่เรียกว่า "การค้าชายฝั่ง" ที่ไม่ได้อาศัยการรอลมมรสุม แต่ถ้าเป็นเรือสำเภาจีนก็ต้องรอลมมรสุมพัดมา ไม่อย่างนั้นก็จะมาไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางการค้าแบบข้ามคาบสมุทรด้วย นอกจากเส้นทางผ่านมะริด กุยบุรีแล้ว ก็แต่ยังมีเส้นทางอื่นที่ใช้แต่โบราณเช่น ไทรบุรีมานครศรีธรรมราช พังงามาถึงนครศรีธรรมราช เป็นต้น
 
ขณะที่ความสัมพันธ์ระบบบรรณาการ ระหว่างรัฐในอ่าวไทยกับโลกมลายู ก็ขึ้นอยู่กับ "บรรณาการ" กับ "การค้า" คือถ้าไม่มีความหวังที่จะได้สินค้า ถ้าไม่มีความหวังกับการค้าขายกับเมืองที่ไปมอบบรรณาการให้ หรือกษัตริย์ที่เราจะไปถวายบรรณาการ ก็คงไม่มีระบบบรรณาการ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างน้อยในคริสตศตวรรษที่ 17-18 จะเห็นชัดมาก ทั้งนี้อ่าวไทยในช่วง ค.ศ. 1630 - 1642 จะเห็นว่า "บุหงามาศ" หรือต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่ทางรัฐมลายูบางรัฐจะต้องส่งมาเป็นบรรณาการให้พระมหากษัตริย์ในราชธานีจะเป็นสิ่งที่จุดชนวนให้มีการรบกัน หรือมีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ตัวอย่างที่เด่นที่สุดคือ อยุธยากับรัฐสุลต่านปัตตานี
 
ทั้งนี้อยุธยาก็คาดหวัง เรียกร้องบุหงามาศ ส่วนปัตตานีก็ให้บ้างไม่ให้บ้าง ตามความแข็งแกร่งของรัฐของเขา และก็มีความสงสัยคือมักจะมีการส่งบุหงามาศมาเมื่อมีความต้องการข้าวมากกว่าปกติ ถ้าดูจากหลักฐานของ VOC หรือบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์นั้น รัฐยะโฮร์ ไทรบุรี ปัตตานี มักจะส่งบรรณาการมาอยุธยา สิ่งที่ได้รับบรรณาการกลับไปคือข้าวเต็มเรือ ทั้งนี้รัฐมลายูเหล่านี้ได้ข้าวมากจากชวา พม่า และไทย ไม่ค่อยปลูกเอง และปลูกเองน้อยมากไม่พอเลี้ยงประชากร ดังนั้นการส่งเครื่องบรรณาการมาและได้ข้าวจากไทยก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่า พอสรุปได้ว่าทางปัตตานีก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเสียเกียรติยศที่จะส่งบุหงามาศมาเป็นครั้งคราว ยกเว้นสมัยพระเจ้าปราสาททองปราบดาภิเษก และมีปัญหาว่าทางนางพญาตานีหรือสุลตาน่าไม่ยอมส่งบุหงามาศมา โดยบันทึกของฮอลันดาระบุว่าไม่ยอมส่งบรรณาการเพราะเชื่อว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นฆาตรกร ไม่ซื่อสัตย์ต่อราชวงศ์ และฆ่ายุวกษัตริย์อย่างน้อย 2 พระองค์
 
เหตุการณ์ที่สืบเนื่องต่อการไม่ยอมส่งบุหงามาศก็คือสงคราม ที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย พงศาวดารไม่พูดถึง พูดถึงน้อย ซึ่งจะขอพูดถึงในแง่หนึ่งว่า สงครามนี้อยุธยาไม่ชนะ แต่ภาคใต้ปัจจุบันเสียหายยับเยิน ทั้งนี้เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต ก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้นที่นครศรีธรรมราช อยุธยาก็ส่งออกญาเสนาภิมุกหรือ ยะมะดะ นะงะมะซะลงไปปราบ มีการรบกันในที่สุดอยุธยาก็ควบคุมนครศรีธรรมราชได้ แต่เรื่องไม่จบแค่นั้นเพราะปัตตานีไม่ยอมส่งบุหงามาศจึงถือว่าแข็งเมือง แต่ทั้งนี้ในสมัยพระเจ้าปราสาททองหลายเมืองก็แข็งเมือง เช่น เขมรไม่ส่งบรรณาการ ก็มีบันทึกของชาวฮอลันดา ที่สงสัยว่าพระเจ้ากรุงสยามจะไปตีเขมร หรือปัตตานี มีการสืบเรื่องราวโดยอาศัย Gossip จากเมืองท่านานาชาติที่สืบว่าพระเจ้าแผ่นดินจะส่งกองทัพไปที่ไหน
 
แต่ที่น่าสนใจคือพระเจ้าปราสาททองเลือกจะไปตีปัตตานี โดยไม่เลือกไปตีเขมรที่มีอดีตต่อกันมายาวนาน ทั้งนี้ช่วงพระเจ้าปราสาททองเศรษฐกิจการค้าเพิ่งฟื้นตัวหลังสงครามที่ยืดเยื้อกับพม่ามาก่อนหน้านี้ และความสำคัญของเครือข่ายการค้าและเมืองท่ายังสำคัญมาก และพระมหากษัตริย์ในอยุธยาก็เล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะได้จากการจัดการอ่าวไทย โดยอยุธยาซึ่งเกณฑ์ทหารจากอยุธยาและนครศรีธรรมราชส่งกองทัพลงไปตีปัตตานีใน ค.ศ. 1634 ก็ไม่สำเร็จ ทั้งนี้มีการขอเรือจาก VOC มาช่วยแต่เรือมาช้า พอตีปัตตานีไม่สำเร็จก็ไปเผาเมืองสงขลา ซึ่งเป็นอะไรที่ทารุณมาก ทั้งนี้สงครามในอดีตไม่ได้เน้นการทำลายกองทัพอีกฝ่ายแต่การกวาดต้อนสำคัญกว่า สงครามที่เกิดเป็นระลอกในคาบสมุทรทำให้เกิดการทำลายเมือง การโยกย้ายประชากรไปในชนบทซึ่งเกิดในสงขลาและพัทลุง มีการทำลายทรัพยากรเศรษฐกิจเช่นสวนพริกไทย หรือบางทีกวาดต้อนคนไปที่อื่นก็ไม่มีคนปลูกพริกไทย ปลูกข้าว
 
ทั้งนี้อาจารย์ธีรวัต กล่าวถึงเอกสารบันทึกสภาพของเมืองไทยและรัฐในคาบสมุทรมลายูของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet หรือวัน วลิต) ทั้งนี้ฟาน ฟลีต อยู่ในเมืองไทยหลายสิบปี และรู้ภาษาไทย สนใจเรื่องรอบตัวมากกว่าพ่อค้าฮอลันดาหลายคน และมีภรรยาเป็นมอญ โดยหลังออกจากเมืองไทยใน ค.ศ. 1640 ฟาน ฟลีต กลับมาเมืองไทยอีกใน ค.ศ.1641 เพื่อเป็นทูตของฮอลันดามายังอยุธยา และยังมีภารกิจสำรวจความเป็นไปได้ที่บริษัท VOC จะฟื้นฟูสถานีการค้าในอ่าวไทย ซึ่งรายงานที่ฟาน ฟลีตเขียนลงวันที่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1642 ถือเป็นเอกสารที่มีคุณค่าสูงในการศึกษา ไม่เพียงแต่ประวัติศาสตร์ไทย แต่ยังรวมถึงประวัติศาสตร์เมืองท่าในอ่าวไทยรวมทั้งปัตตานีด้วย
 
นอกจากนี้ในช่วงท้ายอาจารย์ธีรวัตบรรยายเรื่องการทูตและการบรรณาการของเมืองในชวากับอยุธยาด้วย ทั้งนี้งสุลต่านอามังกุรัตที่ 2 ได้ส่งทูตมายังอยุธยาใน ค.ศ. 1687 ปลายสมัยพระนารายณ์ ซึ่งแปลกที่อยู่ดีๆ มีคณะทูตจากมะตะรัมมายังอยุธยา มีนักวิชาการท่านหนึ่งคือ Merle Calvin Ricklefs สันนิษฐานว่าในช่วงนั้นสุลต่านอามังกุรัตที่ 2 (Amangkoerat II) มีความสัมพันธ์กับ VOC ค่อนข้างแย่ ทั้งที่ VOC เคยช่วยปราบระเด่นทรูนาจายา (Raden Trunajaya) ปี ค.ศ. 1686 หรือ 1 ปีก่อนที่จะมีทูตมาเมืองไทย VOC ส่งกองทัพมา กะตะสุระแล้วถูกลอบฆ่าไป 70 คน ทำให้ฮอลันดาเชื่อว่าคนที่ซุ่มฆ่าคนของเขาคือชาวชวาของสุลต่านอามังกุรัตที่ 2 ปลอมตัวเป็นชาวบาหลี การที่มีความบาดหมางระหว่าง VOC กับอามังกุรัตที่ 2 ทำให้นักวิชาการท่านนี้ตีความว่า อามังกุรัตที่ 2 หาพันธมิตรทุกด้าน มีการติดต่อกับซิเรบอน สยาม ติดต่อกับรายาซักกี ที่เป็นมินังกาเบา พูดง่ายๆ จะสร้างแนวร่วมต่อต้าน VOC แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ชวาก็ต้องต่อสู้กับ VOC อีกนาน มีการระแวงขัดแย้งกันเรื่อยๆ
 
ในสมัยพระเพทราชา ทรงส่งทูตไปชวา คนในคณะทูตมีตั้ง 40 คน เอาของขวัญเอาช้างอะไรต่ออะไรไป เพื่อหวังจะซื้อม้า เพราะซิเรบอนกับเซมารังทางตะวันออกของชวาเป็นดินแดนที่ต้องขึ้นต่อกะตะสุระ/มะตะรัม ถ้าได้การสนับสนุนจากสุลต่านจะทำให้การค้าง่ายขึ้นเยอะก็เป็นเรื่องที่ว่าการทูตน่าเกี่ยวกับการค้าโดยตรง เป็นเรื่องที่ไม่มีการฆ่าฟันกัน แต่ไม่มีการทำสนธิสัญญา และไม่มีความต่อเนื่อง เรื่องราวเหล่านี้ก็หลุดหายไปจากประวัติศาสตร์นิพนธ์
 
ภาพการค้าการติดต่อระหว่างรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้ผูกติดเรื่องการสงคราม หรือการเข้ามาของตะวันตก หรือการทำสนธิสัญญาเท่านั้น เราควรดูว่านครศรีธรรมราชมีเรือเล็กๆ มาจากเพชรบุรีหรือเปล่าด้วย เพื่อให้ประวัติศาสตร์ได้รับการเติมเต็มภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
ทั้งนี้ภาคประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาปาฐกถาพิเศษชุด "กรุยทางสู่ประวัติศาสตร์อาเซียน" ทุกวันพุธเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 55 จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 56 (รายละเอียดคลิกที่นี่)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net