Skip to main content
sharethis

สมาคมรับสร้างบ้าน ยอมรับ"วิกฤตแรงงานขาดแคลน"กระทบหนัก เร่งปรับตัว

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ในปี 2556 แนวโน้มมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะขยายตัวและเติบโตออกไปยังภูมิภาคชัดเจนมากขึ้น เพราะจากการสำรวจผู้ประกอบทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจนี้ในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการเปิดดำเนินธุรกิจในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ หรือมีจำนวนมากกว่า 40 ราย ตรงข้ามกับพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับมีผู้ประกอบการรายใหม่เปิดดำเนินธุรกิจน้อยมาก และจากการสำรวจของสมาคมฯ พบว่าบริษัทรับสร้างบ้านทั่วประเทศในปี 2555 มีจำนวนประมาณ 144 ราย (ที่มีรูปแบบชัดเจนและทำตลาดอย่างต่อเนื่อง) โดยแบ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนประมาณ 69 ราย และผู้ประกอบการที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในต่างจังหวัดจำนวนประมาณ 75 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก 2 สมาคมเพียงแค่ 71 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่ได้สังกัดสมาคมใดๆ

ปัญหาแรงงานขาดแคลน คาดว่ายังคงมีการแข่งขันแย่งชิงกันรุนแรงเช่นเดิม ทั้งนี้ สมาคมฯ แนะว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจนี้ ควรจะต้องมีแผนรับมือกับปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการนำเอาเทคโนโลยีก่อสร้าง หรือระบบก่อสร้างสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป รวมถึงเครื่องมือก่อสร้างที่จะทดแทนการใช้แรงงานคนและทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ข้อมูลปี 2555 ที่น่าสนใจพบว่า กลุ่มลูกค้าทีใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ทั่วประเทศนั้น มีการขอใช้สินเชื่อปลูกสร้างบ้านกับสถาบันการเงินในสัดส่วนเงินสด : เงินกู้ หรือ 67 : 33 โดยมีธนาคารที่ผู้บริโภคนิยมขอสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้าน ได้แก่ ธ.ไทยพาณิชย์ ธอส. ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.กสิกรไทย ฯลฯ ตามลำดับ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างจังหวัด หันมานิยมใช้สินเชื่อปลูกสร้างบ้านเพิ่มขึ้น ดังนั้น สถาบันการเงินและบริษัทรับสร้างบ้านจึงควรร่วมมือกัน เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้ตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัดขยายตัว

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่มี “จุดขาย” แตกต่างกับคู่แข่งขันในตลาด เช่น บ้านประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบก่อสร้างที่สามารถสร้างได้รวดเร็วและมีคุณภาพ ฯลฯ จะสามารถช่วยให้มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าปีก่อน สำหรับตลาด “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท ในขณะที่ตลาด “รับสร้างบ้าน” ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดปี 2555 มีมูลค่ารวมประมาณ 9,000 ล้านบาท

สำหรับปี 2556 สมาคมฯ ประเมินว่า ตลาดรับสร้างบ้านน่าจะเติบโตและมีมูลค่ารวมประมาณ 9,500-10,000 ล้านบาท หรือเติบโตได้ประมาณร้อยละ 5-10 โดยปัจจัยหลักๆ เป็นเพราะการขยายตลาดออกไปทั่วประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของสมาคมฯ เองตั้งเป้าไว้จะผลักดันให้มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2558 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาท

(มติชนออนไลน์, 23-12-2555)

 

ทีดีอาร์ไอชี้อนาคตแรงงานสายอาชีพปี 56 สดใส

24 ธ.ค. 55 - ทีดีอาร์ไอชี้อนาคตแรงงานสายอาชีพปี 56 สดใส หลังภาคธุรกิจฟื้นตัวจากน้ำท่วมร้อยละ 70 – 80 ห่วงผู้จบ ป.ตรีจะหางานยากจากนโยบายเงินเดือน 15,000 บาท

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยปี 2556 ว่า มีการปรับตัวครั้งใหญ่ของโครงสร้างตลาดแรงงานไทยเห็นได้จากแนวโน้มการจ้างงานที่สูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา หลังจากผลกระทบจากน้ำท่วมปี 2554 ที่ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวและเดินสายการผลิตได้ร้อยละ 70 - 80 เนื่องจากมียอดคำสั่งซื้อมาเร่งผลิตในต้นปี 55 และทำให้เกิดความต้องการแรงงานมากผิดปกติโดยเฉพาะสายวิชาชีพ อีกส่วนหนึ่งคือมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานสายช่างเพื่อไปดูแลอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนมาใช้ ทำให้มีความต้องการแรงงานสายวิชาชีพเพิ่มขึ้นสายยานยนต์ประมาณหมื่นคน จึงเป็นโอกาสที่แรงงานจะปรับตัว

ขณะที่นโยบายปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ที่บังคับใช้ในภาคราชการ แต่มีผลกระทบภาคเอกชนที่ผู้ประกอบการขนาดกลางลงมา ไม่สามารถจ้างแรงงานระดับ ป.ตรีขึ้นไปได้มากนัก แต่เน้นการใช้คนเดิมมากกว่าการจ้างคนใหม่ ขณะที่ในภาคราชการจะมีผู้จบการศึกษาปริญญาบัตรทั้งคนเก่าและผู้จบใหม่จะแข่งขันกันเข้าเป็นข้าราชการ ซึ่งรับได้จำนวนไม่มาก ดังนั้น โอกาสการมีงานทำของแรงงานปริญญาบัตรจึงไม่สดใส เห็นได้จากอัตราการว่างงานของผู้มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ เสนอให้รัฐบาลปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพกับเอสเอ็มอีในปี 2557- 2558 เพื่อให้ปรับตัวอยู่รอดหลังปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท สำหรับคนที่ไม่ไหวก็ควรให้ความรู้เพื่อตั้งตัวเปลี่ยนธุรกิจใหม่ ส่วนกลุ่มแรงงานนอกระบบ จะต้องให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางรายได้และสิทธิความคุ้มครองต่าง ๆ รวมถึงดูแลติดตามการใช้แรงงานเด็กที่ต้องทำให้ไม่มีการใช้แรงงานเด็กในสภาพเลวร้าย

(สำนักข่าวไทย, 24-12-2555)

 

สปส.ศึกษาเพิ่มสิทธิประโยชน์-ขยายอายุ

นายอนุสรณ์ ไกรวัฒนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเป็นประธานเปิด "โครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะแกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ประกันสังคม เพื่อขยายประกันสังคมมาตรา 40 ในเขตกรุงเทพฯ"ว่า ในปี 2556 กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม(สปส.)มีเป้าหมายจะเพิ่มผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น แม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ให้ได้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนกว่า 1.2 ล้านคน รวมเป็นกว่า 1.4 ล้านคน โดยได้ให้แกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ของ สปส. ร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้ได้มากที่สุด

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้สปส.ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 กว่า 400 ล้านบาทโดยรัฐบาลทยอยจ่ายให้แก่สปส. ซึ่งปัจจุบันได้รับงบมาแล้วประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2556 สปส.ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้งหมดประมาณกว่า 1.4 ล้านคน ขณะนี้สปส.อยู่ระหว่างการศึกษาการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีการเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 20,000 บาทโดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน

นอกจากนี้ กำลังศึกษาการขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 60 ปี หากขยายอายุเกินกว่า 60 ปี จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมระยะยาว เนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง จะทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตออกไปจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ โดยจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปช่วงกลางปีหน้า

(เนชั่นทันข่าว, 24-12-2555)

 

ครม.​ไฟ​เขียว​โยก 3 รองอธิบดี​แรงงาน นั่ง​เก้าอี้​ผู้ตรวจฯ

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นาย​เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.​แรงงาน ​เปิด​เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติ​เห็นชอบตามที่กระทรวง​แรงงาน​เสนอ​ใน​การ​แต่งตั้งข้าราช​การระดับ 10 ​ในตำ​แหน่ง​ผู้ตรวจราช​การกระทรวง​แรงงาน ​ได้​แก่ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือ​แรงงาน(กพร.) นายสุ​เมธ ม​โหสถ รองอธิบดีกรม​การจัดหางาน (กกจ.) ​และนางพรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิ​การ​และคุ้มครอง​แรงงาน(กสร.) ​โดย​ให้มีผลนับตั้ง​แต่วันที่​ได้รับ​โปรด​เกล้าฯ​แต่งตั้ง

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยัง​ได้​เสนอ​แนะ​ให้กระทรวง​แรงงาน​เร่งพัฒนาฝีมือ​แรงงานควบคู่กับ​การพัฒนาทักษะภาษาต่างประ​เทศ​ให้รอบด้านมากขึ้น ​โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิ​การ(ศธ.) ​ใน​การฝึกภาษาอังกฤษ รวม​ไป​ถึงภาษาอา​เซียนด้วย​เช่น ภาษามลายู ภาษาพม่า ภาษา​เวียดนาม ภาษาจีนกลาง ภาษาญี่ปุ่น ​และภาษา​เกาหลี ​ทั้งนี้ ตนจะสั่ง​การ​ให้กพร.​เร่งพัฒนาหลักสูตร​ใน​เรื่อง​การพัฒนาทักษะฝีมือ​และทักษะภาษาต่างประ​เทศ​และภาษาอา​เซียน​เพื่อรองรับ​การ​เปิดประชาคม​เศรษฐกิจอา​เซียน(​เออีซี)

(แนวหน้า, 25-12-2555)

 

'เผดิมชัย' ชี้ขึ้นค่าจ้าง 300 เอสเอ็มอีไม่กระทบ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลสำรวจของศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.)เกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด โดยคาดการณ์ว่ามีธุรกิจเอสเอ็มอีมีผลกระทบประมาณ 1 ล้านรายและแรงงานตกงานประมาณ 6.4 แสนคน รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้างแบบขั้นบันไดให้แก่ผู้ประกอบการในวงเงิน 1.4 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปีว่า ตนเชื่อว่าภาคธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวกว่า 1 ปี ตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้มีการหารือกับภาคธุรกิจ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง กระทั่งได้ข้อสรุปออกมา 11 มาตรการ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 ภายใน 2 ปี การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี การเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และรัฐบาลได้ขยายการใช้ 11 มาตรการดังกล่าวออกไปอีก 1 ปีในปี 2556

นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ล่าสุดภาคธุรกิจได้เสนอมาตรการเพิ่มเติมอีกเกือบ 10 มาตรการ ยังเหลือเพียงมาตรการตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการฯว่าจะเห็นชอบออกมาตรการนี้หรือไม่

“จากการประเมินสถานการณ์ยังไม่มีสัญญาณว่า จะมีการเลิกจ้างอย่างรุนแรง เพราะตัวเลขอัตราการว่างงานอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.4 ซึ่งถือว่ามีผู้ว่างงานน้อยมาก แต่ผมก็ไม่ประมาทได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานช่วยกันเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด คาดว่าจะเห็นตัวเลขการเลิกจ้าง เนื่องจากผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างที่ชัดเจนในช่วงกลางเดือนมกราคม 2556 อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานน่าเป็นห่วงมากกว่าปัญหาเลิกจ้าง เพราะปัจจุบันภาคธุรกิจต่างๆมีปัญหาขาดแคลนอย่างมาก ดังนั้น จะต้องส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบตั้งแต่ระดับม.ต้นจนถึงปริญญาตรีเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งมีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศผ่านระบบความร่วมมือ(เอ็มโอยู)ระหว่างประเทศ เช่น บังกลาเทศ เวียดนาม เพื่อมาทำงานด้านประมง” รมว.แรงงาน กล่าว

(กรุงเทพธุรกิจ, 25-12-2555)

 

สปส.เพิ่มยอดผู้ประกันตน ปี′56 ดึง 2 แสนคนเข้า ม.40

สปส.เร่งเพิ่มยอดผู้ประกันตน ปี 2556 ตั้งเป้าดึง "แรงงานนอกระบบ" เข้า ม.40 ให้ได้ 2 แสนคน "เผดิมชัย" เผยตั้งที่ปรึกษาคุมการทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุด

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2556 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2535 เพื่อขยายประกันสังคม มาตรา 40 ไปสู่แรงงานนอกระบบมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนทั้งในส่วนของมาตรา 33, 39 และ 40 ซึ่งเป็นนโยบายเดิมที่ต้องการสานต่อ เช่น การให้ทุนผลิตแพทย์ พยาบาล การตั้งศูนย์ฟอกไตในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม การสร้างบ้านพักผู้สูงอายุให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ฯลฯ

ขณะนี้ได้ตั้งทีมที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงาน รวมทั้งตรวจสอบลักษณะการดำเนินการโครงการต่างๆ ของ สปส.ว่ามีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกันตนมากน้อยเพียงใด

วันเดียวกัน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวหลังการเป็นประธานเปิดโครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะแกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ประกันสังคม เพื่อขยายประกันสังคมมาตรา 40 ในเขตกรุงเทพมหานคร ว่า ในปี 2556 สปส.มีเป้าหมายจะเพิ่มผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้า ฯลฯ ให้ได้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนกว่า 1.2 ล้านคน รวมเป็นกว่า 1.4 ล้านคน โดยได้ให้แกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ของ สปส.ร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้ได้มากที่สุด

ด้านนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ขณะนี้ สปส.ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 กว่า 400 ล้านบาท โดยรัฐบาลทยอยจ่ายให้แก่ สปส. ซึ่งปัจจุบันได้รับงบมาแล้วประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2556 สปส.ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้งหมดประมาณกว่า 1.4 ล้านคน โดยขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างการศึกษาการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีการเสียชีวิตของผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 20,000 บาท โดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน

"นอกจากนี้ สปส.กำลังศึกษาการขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 60 ปี แต่หากขยายอายุเกินกว่า 60 ปี จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมระยะยาว เนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง จะทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตออกไปจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ โดยจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปช่วงกลางปีหน้า" นายจีรศักดิ์กล่าว

(ประชาชาติธุรกิจ, 25-12-2555)

 

จี้รัฐตั้งกองทุนชดเชยค่าจ้าง

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,314 ราย จาก 21 จังหวัด ระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-20 ธ.ค. 2555 พบว่ามีผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ประมาณ 800,000-1 ล้านราย แรงงานถูกเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 640,000 คน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการกว่า 62.3% มองว่ามาตรการที่เหมาะสมคือ จัดตั้งกองทุนจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง ค่าจ้างวงเงิน 140,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี โดยรัฐบาลต้องชดเชยส่วนต่างให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 75 บาทต่อวันต่อคน ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับประโยชน์จากการจ้างงานเพิ่มขึ้น 5.3 ล้านคน

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศในเดือน ม.ค. 2556 ไม่มีผลให้ผู้ประกอบการขอปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะจากการศึกษาโครงสร้างต้นทุนแรงงานพบว่าต้นทุนการผลิตสินค้าของ SMEs เพิ่มขึ้น 2.24-6.74% ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น น้ำมันปาล์ม สบู่ ผงซักฟอก ไม่ได้รับผลกระทบ โดย SMEs ที่ได้รับผลกระทบอยู่ในกลุ่มสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องหนัง ส่วนกลุ่มสินค้าที่ให้โปรตีน เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 0.94-1.38% โดยผู้ประกอบการที่ขอขึ้นราคาสินค้าส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากยอดขายที่ต้องบริหารจัดการเอง ไม่สามารถอ้างต้นทุนค่าแรงมาขอปรับราคาสินค้าได้

(โลกวันนี้, 25-12-2555)

 

พนักงานไปรษณีย์บุกกองปราบฯร้องสหภาพฯปฏิบัติหน้าที่มิชอบ-ฉ้อโกง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ธันวาคม ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายสรานนท์ กองโภค พนักงานไปรษณีย์ไทย 7 ไปรษณีย์หลักสี่ พร้อมทนายความ เดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. เพื่อให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (สรร.ปณท.) 24 คน ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน กรณีสหภาพฯได้ให้สมาชิกทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตโดยการฝากเงินเบี้ยประกันผ่านสหภาพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึง 30 กันยายน 2555 แต่มาทราบภายหลังว่า ไม่ได้มีการทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันแต่อย่างใด ทำให้สมาชิกสหภาพฯจำนวนประมาณ 1,500 คน ได้รับความเสียหายเป็นเงินประมาณกว่า 8 แสนบาท

(มติชนออนไลน์, 25-12-2555)

 

ผู้ใช้แรงงานยื่นหมื่นชื่อชงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครอง เน้นแก้ 14 ประเด็น

วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.30 น. นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ได้นำรายชื่อประชาชน และผู้ใช้แรงงานจำนวน 10,300 รายชื่อ ที่เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ… (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) ยื่นต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาฯ เป็นผู้รับแทน โดยนายมนัสกล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานกว่า 200 คนที่เดินทางมายังด้านหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งถือเป็นร่างกฎหมายฉบับผู้ใช้แรงงาน โดยร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การแก้ไขใน 14 ประเด็น ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ครอบคลุมจากกฎหมายที่มีอยู่เดิม อาทิ ให้กฎหมายคุ้มครองไปยังลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งขณะนี้มีลูกจ้างส่วนราชการ กว่า 4 แสนคนที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง

นายมนัสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าเพียงปีเดียว จากนั้นต้องมีการปรับขึ้นตามทักษะฝีมือ เพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างหญิงในการลาเพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนและหลังคลอด ทั้งต้องมีการเพิ่มค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างจาก 10 เดือน เป็น 20 เดือน รวมทั้งให้ลูกจ้างมีสิทธิเปลี่ยนโอนนายจ้าง และให้เพิ่มบทลงโทษนายจ้างที่ฝ่าฝืน เป็นทั้งจำคุกและปรับ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-12-2555)

 

สปส.ชงรัฐบาลของบกลาง 600 ล้านบาท ดึงแรงงานนอกระบบ 2 แสนคนเข้ามาตรา 40 ปีหน้า

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สปส.เตรียมเสนอของบกลางจากรัฐบาลกว่า 600 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งในปี 2556 ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้งหมดประมาณกว่า 1.4 ล้านคน ขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างการศึกษาการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีการเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 20,000 บาท

โดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน รวมทั้งกำลังศึกษาการขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 60 ปี หากขยายอายุเกินกว่า 60 ปี จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมระยะยาว เนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง จะทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตออกไปจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ โดยจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีหน้า

ทั้งนี้ ในปี 2556 กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม(สปส.)มีเป้าหมายจะเพิ่มผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น แม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ให้ได้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนกว่า 1.2 ล้านคน รวมเป็นกว่า 1.4 ล้านคน โดยได้ให้แกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ของ สปส. ร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้ได้มากที่สุด

(กรุงเทพธุรกิจ, 26-12-2555)

 

กกจ.ชี้เหตุตรวจเข้มสุขภาพแรงงาน

กระทรวงแรงงาน - นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงกรณีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศถูกส่งตัวกลับ เนื่องจากผลการตรวจสุขภาพไม่ผ่านว่า จากข้อมูลของกกจ.พบว่าในปี 2553 มีจำนวน 54 คน ปี 2554 จำนวน 53 คน และปีนี้ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 33 ราย ส่วนใหญ่พบว่าป่วยเป็นโรคปอด วัณโรค และไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งถูกประเทศไต้หวันและประเทศแถบตะวันออกกลางส่งกลับ

"ปัญหาคือ แรงงานมักจะขอความเห็นใจจากแพทย์ผู้ตรวจว่าเสียเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้วจำนวนมาก จึงไม่อยากเสียโอกาสในการเดินทาง ซึ่งแพทย์ก็ใจอ่อน จึงรายงานผลการตรวจว่าไม่พบโรคใดๆ" นายวินัยกล่าว

เบื้องต้นกกจ.ได้แก้ปัญหาโดยทำหนังสือไปถึงโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 89 แห่งที่ได้รับความเห็นชอบให้ตรวจสุขภาพแรงงานให้รายงานผลตามความเป็นจริง ไม่เช่นนั้นจะมีผลเสียต่อทั้งตัวแรงงานไทยและประเทศไทย โดยแรงงานจะถูกส่งตัวกลับ และไม่ได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศคืน และประเทศไทยยังถูกตั้งคำถามในเรื่องของมาตรฐานทางการแพทย์ด้วย

(ข่าวสด, 26-12-2555)

 

บ.ฟาร์อิสยอมเลิกย้าย 99 แรงงานประท้วง

หลังจากที่พนักงานของบริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ตั้งอยู่เลขที่ 391 หมู่ที่ 1 ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ กรณีที่ทางบริษัทได้ออกหนังสือประกาศให้พนักงานจำนวน 99 คน ย้ายไปช่วยงานชั่วคราวที่บริษัท ฟาร์อิสฯ การ์เมนท์ 5 หรือสาขาอำเภอเมือง ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม เป็นต้นไป โดยพนักงานให้เหตุว่า หากมีการย้ายจากอ.พุทไธสง ไปทำงานที่สาขาอ.เมือง ซึ่งมีระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร จะสร้างความเดือดร้อนให้กับแรงงาน เพราะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยล่าสุดหลังมีการเจรจาทางบริษัทหรือนายจ้าง ได้ยอมยกเลิกประกาศดังกล่าวแล้ว และให้พนักงานทั้ง 99 คน ได้ทำงานที่สาขาอ.พุทไธสง ตามปกติเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ออกประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ที่จะเริ่มดีเดย์ในวันที่ 1 ม.ค.56 ที่จะถึงนี้ ทำให้โรงงานบางแห่งในเขตพื้นที่จังหวัด ได้ยุบสาขาให้พนักงานไปทำงานที่สาขาเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิตในการเช่าสถานที่ประกอบกิจการ ทางด้านนายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมายอมรับว่า การประกาศปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท จะส่งผลกระทบกับสถานประกอบการอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ที่มีอยู่กว่า 60 แห่ง จำนวนลูกจ้างกว่า 10,000 คน เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากปัจจุบันจ.บุรีรัมย์ มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 232 บาท แต่หากปรับขึ้นเป็น 300 บาท ผู้ประกอบการต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 68 บาท ซึ่งกรณีดังกล่าวทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็ได้เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและแรงงาน เพื่อให้ปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าว ให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถอยู่ร่วมกันได้

(เนชั่นทันข่าว, 26-12-2555)

 

ครสท.วอนรัฐคุมราคาสินค้า

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เปิดเผยว่า ในปีหน้าคสรท.และเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศ อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะช่วงหลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ จะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้น จึงอยากให้ควบคุมราคาสินค้าเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่แรงงานไม่เช่นนั้นจะทำให้แรงงานไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ อีกทั้งขอให้กระทรวงแรงงานเฝ้าระวังติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง เช่น การถูกเลิกจ้าง นายจ้างไม่ยอมปรับขึ้นค่าจ้าง และมีมาตรการคุ้มคุ้มครองและช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน และขอให้รัฐบาลผลักดันนโยบายเงินเดือนปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาทไปสู่ภาคเอกชนด้วย


ประธานคสรท. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้มากยิ่งขึ้นทั้งในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน เนื่องจากช่วงนี้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในสถานประกอบการบ่อยครั้ง รวมทั้งดำเนินการพัฒนาระบบประกันสังคมและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ต่างๆของประกันสังคมโดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิในกรณีต่างๆเช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเร่งแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ.2533 ให้มีความทันสมัยสอดรับกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลเร่งให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ))ฉบับที่ 87และ98 เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อให้นายจ้างลูกและลูกจ้างอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค และดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาไอแอลโอทั้งสองฉบับด้วย

(เนชั่นทันข่าว, 28-12-2555)

 

พนักงานโรงงานจี เจ สตีล ประท้วงค่าแรง และสวัสดิการ

พนักงานโรงงานจี เจ สตีล ในนิคมเหมราช รวมตัวประท้วงค่าแรงและสวัสดิการ แต่บริษัทไม่ต่อรอง พร้อมไม่ให้พนักงานที่ประท้วงเข้าทำงาน นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง 7 ม.ค. วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่โรงงานของบริษัท จีเจ สตีล จำกัด (มหาชน) หมู่ 7 ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี พนักงานเกือบ 100 คนจาก 678 คน นำโดยนายสน ศักดิ์ศรี ชุมนุมเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการเพื่อให้ความเป็นอยู่ของพนักงานที่ดีขึ้น เพราะไม่เคยเรียกร้องอะไรจากบริษัทมาหลายปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา มีการเจรจากันมาแล้ว 7 ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยทางโรงงานไม่รับข้อเสนอ และข้อเรียกร้องของพนักงานทั้งสิ้น นายสนกล่าวว่า ข้อเรียกรองของพนักงาน เช่น ขอโบนัส 1.5 เท่าของเงินเดือน เงินพิเศษ 15,000 บาท ค่าเช่าบ้าน 2,500 บาท ค่ารักษาพยาบาลจากเดิม 800 บาท เป็น 1,000 บาท เป็นต้น แต่ทางโรงงานกลับไม่รับข้อเสนอ และตั้งเงื่อนไขบีบบังคับพนักงานให้ลงนามรับข้อเสนอของบริษัท เช่น 1.ลดจำนวนพนักงานลง โดยบริษัทยินดีจ่ายค่าชดเชยให้ 30 วัน 90 วัน หรือ 180 วันตามอายุงาน 2.ขอให้มีอายุข้อตกลงฉบับนี้เป็นเวลา 3 ปี 3.การจ่ายเงินโบนัสบริษัทขอสงวนสิทธิ โดยขึ้นอยู่กับผลประกอบการ และดุลพินิจของบริษัท และ 4.การปรับค่าจ้างประจำปี บริษัทสงวนสิทธิให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัท ซึ่งทั้ง 4 ข้อเป็นประโยชน์ต่อทางบริษัท แต่สำหรับพนักงานนั้นอยู่ลำบากมาก เพราะไม่สามารถเคลื่อนไหว หรือทำอะไรได้เลย "ขณะนี้ทางโรงงานกดดันพนักงานที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-12-2555)

 

พนักงาน รง.อุตฯ ประท้วงนายจ้างไม่จ่ายโบนัสปล่อยน้ำเสียลงป่าสักปลาเลี้ยงตายเป็นแพ

สระบุรี - พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมประท้วงนายจ้างไม่จ่ายโบนัส ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงป่าสักปลาธรรมชาติ และปลาเลี้ยงในกระชังตายเป็นแพ เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (28 ธ.ค.) เกิดเหตุปลาในแม่น้ำป่าสักบริเวณใกล้สะพานอำนวยสงคราม เขตเทศบาลเมืองสระบุรี กระเสือกกระสนลอยคอเพราะขาดออกซิเจนหายใจ ปลาเล็กตายลอยเป็นแพ มีชาวบ้านทราบข่าวต่างพากันใช้สวิง และใช้แหหว่านตักและจับปลาตะเพียน ตะโกก ปลากดสีทองตัวขนาดใหญ่หนัก 3-4 กิโลกรัมได้เป็นจำนวนมาก ต่อมา นายภาณุพงศ์ ทิพยเศวต นายกเทศมนตรีเมืองสระบุรีทราบข่าวได้นำเจ้าหน้าที่จากกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองฯ มาดูที่เกิดเหตุโดยให้เก็บตัวอย่างน้ำ นำส่งสาธารณสุขจังหวัดสระบุรีเพื่อตรวจสอบ ก่อนแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ในขณะเดียวกัน มีผู้เลี้ยงปลาในกระชังในลำน้ำป่าสักในเขต ม.4 ต.ตะกุด (บ้านม่วง) เขตเทศบาลตำบลตะกุด อ.เมือง จ.สระบุรี แจ้งขอความช่วยเหลือไปยังเทศบาลตำบลตะกุด นายสมศักดิ์ พวงกุหลาบ นายกเทศมนตรีตำบลตะกุด พร้อมเจ้าหน้าที่รีบรุดไปตรวจสอบพบนายชำนาญ ปานทอง อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 20/1 ม.4 ต.ตะกุด อ.เมือง จ.สระบุรี เจ้าของกระชังเลี้ยงปลาผู้เสียหายกำลังคุมลูกน้องตักปลาที่ตายใต้น้ำส่งให้พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อไปทำปลาร้า และส่วนหนึ่งที่ตายลอยอยู่เหนือน้ำ รอรถมาบรรทุกไปส่งให้โรงปูนทีพีไอ อ.แก่งคอย เพื่อทำปุ๋ย นายชำนาญ ปานทอง ผู้เสียหายเปิดเผยว่า ตนเลี้ยงปลาทับทิมทั้งหมด 90 กระชังๆ ละ 1,800 ตัว มีหลายรุ่นปะปนกัน เหตุที่ปลาตายในครั้งนี้ทราบเมื่อกลางดึกคืนวานนี้ (27 ธ.ค.) สาเหตุที่ทำให้ปลาตายเนื่องมาจากปลาถูกสารเคมี

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-12-2555)

 

มาเลย์ปล่อยตัว 33 แรงงานไทยลอบเข้าเมือง

ทางการมาเลเซีย ปล่อยตัวแรงงานไทยจำนวน 33 คน ที่ถูกจับกุมเนื่องจากลักลอบเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมายกลับประเทศทางด่านพรมแดน สะเดา จ.สงขลา โดยแรงงานที่ถูกปล่อยตัวส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดินทางเข้าไปทำงานที่ร้านอาหารไทยตามรัฐต่างๆ ในมาเลเซีย แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และไม่มีหนังสือเดินทาง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 6 เดือน แต่ทางการมาเลเซียได้ละเว้นโทษและปล่อยตัวกลับประเทศในโอกาสพิเศษเทศกาลปีใหม่ เพื่อให้เดินทางกลับมาร่วมเฉลิมฉลองกับครอบครัวที่บ้านเกิด ซึ่งแรงงานทั้งหมดต่างดีใจที่ได้รับการปล่อยตัวโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการไทยช่วยเหลือในเรื่องขอใบอนุญาตทำงานในมาเลเซีย เนื่องจากยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่เข้าไปทำงานในมาเลเซีย โดยผิดกฎหมาย และถูกทางการมาเลเซียจับกุมอย่างต่อเนื่อง

(ไทยโพสต์, 30-12-2555)

 

องค์กรแรงงานพม่านำข้าวสาร-เงินบริจาค ให้ 500 แรงงานพม่า

นายโมโจว ประธานแรงงานพม่าจังหวัดตาก พร้อมด้วยผู้ประกอบการไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนพม่า ร่วมกันนำสิ่งของ เป็นข้าวสาร และเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งเงินสดจำนวนหนึ่งบริจาคให้กับแรงงานพม่า ณ โรงงานเย็บผ้า หรือ การ์เม้นท์ ของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.พี.ที.การ์เม้นท์ บ้านค้างภิบาล ตำบลพระธาตุผาแดง อ.แม่สอด

ทั้งนี้เนื่องจากชาวพม่าทั้งได้รับความเดือดร้อนจากไฟไหม้บ้านพักแรงงานพม่า ด้านหน้าโรงงานดงักล่าว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 55 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้แรงงานพม่าทั้งชาย และหญิงกว่า 500 คน ไร้ที่อยู่อาศัย และยังขาดเครื่องนุ่ม ซึ่งล่าสุดทางผู้ประกอบการได้ให้แรงงานพม่าทั้งหมดไปอาศัยอยู่ภายในโรงงาน โดยให้ทำสถานที่พักนอบๆตัวอาคารเป็นการชั่วคราวไปก่อน การมอบสิ่งของดังกล่าว ได้มีตัวแทนแรงงานชาวพม่าออกมารับสิ่งของด้วยตนเอง

(เนชั่นทันข่าว, 31-12-2555)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net