สัมภาษณ์ 2 นักวิชาการด้านโซเชียลเน็ตเวิร์กกับประเด็นแฟนเพจเฟซบุ๊กแห่งปี

คุยกับ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต และ อธิป จิตตฤกษ์ นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและศิลปวัฒนธรรม ถึงการเมืองบนเฟซบุ๊ก, ปรากกฏการณ์โหวตเพจแห่งปีกับประชาไทและประเด็นลิขสิทธิ์บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นต้น

10 เฟซบุ๊กแฟนเพจแห่งปี  VRZO, 9Gag in Thai(9GAG in Thai), Drama-addict, สมรัก พรรคเพื่อเก้ง, โหดสัส V2,  เฮ้ย! นี่มันตัดต่อชัด ชัด, Dora GAG, ออกพญาหงส์ทอง, วิรศากดิ์ นิลกาด และช้างเป็นสัตว์กินเลือด

จากการ โหวต 10 แฟนเพจเฟซบุ๊ก ปี 2012  ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจของประชาไทได้ตั้งไว้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นอกจากในเชิงปริมาณที่ถือว่าได้รับความสนใจจากแฟนเพจเองและตัวแอดมินแฟนเพจ จนมีจำนวนการโหวตถึง 371,272 โหวต จำนวน user ที่กดติดตามการโหวต 4,358 user จำนวนการแสดงความเห็น 6,792 ความเห็น โดยเฉพาะความเห็นที่มากเกี่ยวกับการโหวตครั้งนี้จนก่อให้เกิดการถกเถียงอภิปรายกันหลายประเด็น เช่น เรื่องเครดิตหรือการเป็นเพียงเพจก๊อปบี้ เรื่องความเป็นเพจที่ไม่มีตัวตนหรือเป็นเพจแค่ช่องทางประชาสัมพันธ์กิจกรรม เท่านั้น จนกระทั่งผู้ใช้นามแฝงจ่าพิชิต ขจัดพาลชน แอดมินเพจ Drama-addict ได้นำเรื่องราวดังกล่าวไปเขียนเป็นดราม่า ในชื่อ “ติ่งแย่รังแกฉัน!!” อีกทั้ง 10 เพจ รวมทั้งเพจต้นๆที่ได้คะแนนโหวตสูงนั้นมีลักษณะร่วมบางอย่างที่น่าสนใจคือการเป็นเพจในลักษณะบันเทิงล้อเลียนเสียดสี ด้วยความน่าสนในเหล่านี้ ประชาไท จึงได้หยิบปรากฏการณ์ดังกล่าวมาพูดคุยกับ 2 นักวิชาการด้านเครือข่ายสังคมออนไลน์ 2 ท่าน ซึ่งประกอบด้วย

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต และผู้เขียนวิทยานิพนธ์ หัวข้อ “การเมืองบนเฟซบุ๊ก: วัฒนธรรม-การเมืองบนเครือข่ายออนไลน์ไทย พ.ศ. 2553-2555”(คลิกอ่านบทคัดย่อ) ตามหลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2555 ที่ได้ตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหวออนไลน์กับการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ

อธิป จิตตฤกษ์ นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและศิลปวัฒนธรรม ผู้เขียนบทความและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์ที่น่าสนใจหลายชิ้นในรอบปี 55 ที่ผ่านมา เช่น กรณีวิวาทะเพลง "กังนัม สไตล์" ในบทความ “เชษฐา กังนัมลีลา” : ว่าด้วยเรื่องของ “เพลงขยะที่ก๊อปปี้ชาวบ้านมา” และ “คนดำสไตล์”: คุณค่าของการมีส่วนร่วมทางดนตรีกับความสำเร็จของ “กังนัมสไตล์”  หรือ คำประกาศแห่งโจรสลัด: ข้อเสนอการปฏิรูประบอบลิขสิทธิ์ของ ‘พรรคไพเรต’ รวมทั้ง Hate Speech: ความเข้าใจเบื้องต้นและประเด็นพิจารณาในการปราบปราม ล่าสุด 12 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของคนไทย เป็นต้น

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต

0000

ประชาไท : จากผลโหวตเพจแห่งปีของประชาไท แน่นอนแม้จะอ้างอย่างเป็นทางการไม่ได้ แต่มันก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้มันสะท้อนอะไรเกี่ยวกับเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยเฉพาะในเฟซบุ๊กขณะนี้บ้าง จะสังเกตเห็นว่าเพจที่ได้รับความนิยมมักเป็นเพจบันเทิง โดยเฉพาะเรื่องการล้อเลียน สังคมการเมือง ท่านคิดว่าทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น

อธิป: ผมว่ามันไม่แปลกนะ ถ้าเพจเขียนอะไรจริงจัง อ่านยาก ให้ความรู้เป็นที่นิยมสิแปลก

ภาพล้อเลียนการโหวตโดยเพจ เฮ้ย! นี่มันตัดต่อชัด ชัด

ในระหว่างการโหวตเพจแห่งปีครั้งนี้จะเห็นได้ว่ามีดราม่าใหญ่ๆ 2 เรื่อง คือเรื่อง เพจ 9Gag in Thai ที่มีเข้ามา 2 เพจ ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันเรื่อง ก๊อปบี้ หรือละเมิดลิขสิทธิ ท่านมองเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์กับโซเชียลเน็ตเวิร์คว่าอย่างไร

อาทิตย์ : จะละเมิดหรือไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ก็แล้วแต่กฎหมายและศาลของแต่ละประเทศจะว่าไป แต่ยังไงก็ตามหัวใจของอินเทอร์เน็ตคือการก๊อปปี้ ทั้งไอเดีย ภาพ เนื้อหา ก๊อปทื่อๆ ก๊อปมาประกอบกับชิ้นส่วนอื่น ปะ ปรับ แปลง แปล แปร

ภาพการ์ตูนและไอเดียแก๊กบน 9GAG เองก็อยู่บนฐานอินเทอร์เน็ตมีมที่มีมาก่อนหน้า รวมไปถึงภาพเซต rage comic และคำพูดแสดงอารมณ์อย่าง "ffffffuuuuuu" ตัว 9GAG in Thai ก็แปลมาจาก 9GAG มั่ง หรือเป็นแก๊กใหม่ที่ใช้เซ็ตภาพจาก 9GAG มั่ง หรือภาพใหม่มั่ง มันก๊อปกันไปหมด บางคนรู้สึกว่าคำพูดที่ว่า "ถ้าไม่อยากถูกก๊อป ก็อย่าโพสต์บนเน็ต" มันใช้ไม่ได้ มักง่าย แต่มันก็เป็นความจริง แล้วเราวัฒนธรรมมนุษย์ก็เป็นอย่างนั้น เราจะอยู่ยังไงโดยไม่ก๊อปปี้ พูดให้ใหญ่กว่านั้นคือ วัฒนธรรมมนุษย์มันก็คือการก๊อปปี้น่ะแหละ มีเพลงเล่นขึ้นมา ไม่รู้จะเต้นท่าไหน ก็เต้นตามคนข้างๆ ไปก่อน ขยับแขนขยับขาตาม แล้วระหว่างนั้นถ้านึกอะไรออกก็ใส่เพิ่มไป เป็นท่าใหม่ แล้วคนอื่นรอบๆ อาจจะเต้นตามเราก็ได้ มันไหลไปแบบนั้น การก๊อปปี้คือการไหล

แล้วโซเชียลเน็ตเวิร์กมันก็คือคนมาเจอกัน เห็นว่าคนอื่นๆ ทำอะไร แล้วก็ทำตาม ต่อ เติม โซเชียลเน็ตเวิร์กก็เป็นเครือข่ายที่ทำให้การก๊อปปี้มันไหลไปมาหากัน

ถ้าเทียบกับเงินกับสินค้า ของที่ไหลได้สะดวกมีสภาพคล่องสูง ก็คือเงินสกุลหลักหรือสินค้าที่คนใช้เยอะ มีความต้องการซื้อขายมาก คนรู้วิธีใช้มัน ของที่ไหลสะดวกก็คือมีมที่คนส่วนใหญ่เข้าใจมัน ดูแล้วเก็ต แล้วเอาไปใช้ต่อเองได้ด้วย นี่อาจจะตอบคำถามที่ว่า ทำไมเพจที่ได้รับความนิยมจำนวนหนึ่งจึงเป็นเพจล้อเลียน คือมันไม่ใช่แค่อ่านแล้วจบไง คนอ่านพอเก็ตแล้วยังมาร่วมเล่นได้ด้วย มันไม่ใช่ข่าวบันเทิงที่เอาไว้อ่านเฉยๆ มันเป็นการละเล่นที่ลงไปเล่นเองได้ด้วย

อธิป : ประเด็นนี้มันซับซ้อนครับ ต้องว่ากันยาก แต่ในส่วนของผม คนไทยมีความเข้าใจด้านลิขสิทธิ์ที่ผิดเยอะมาก เช่น เข้าใจว่าการให้เครดิตแล้วจะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ นำงานมาดัดแปลงไปมากๆ แล้วจะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ นำงานไปใช้ “ไม่แสวงกำไร” แล้วจะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ที่จริงๆ แล้วที่ว่ามาทั้งหมดนี่ไม่ได้ทำให้การกระทำหนึ่งๆ ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เลยครับตามมาตรฐานสากลทั่วๆ ไป ถึงคุณจะเอางานชาวบ้านมาดัดแปลงแล้วให้เครดิตมาโพสต์โดยไม่แสวงผลกำไรมันก็ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ดีครับ ซึ่งการละเมิดแบบนี้คนดำเนินคดีได้มีแต่เจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น ถึงคนอื่นเห็นว่ามันเลวร้ายแค่ไหน เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ดำเนินคดี คนอื่นก็ดำเนินแทนไม่ได้ บน

Social Network Site นี่จริงๆ การละเมิดลิขสิทธิ์มันมีเต็มไปหมด การเล่นมีมทั้งหลายก็ละเมิดลิขสิทธิ์เพราะคุณเอารูปใครก็ไม่รู้มาใส่ Caption ซึ่งรูปปกตินี้มีลิขสิทธิ์อยู่แล้ว จะอ้างว่าคนมันเล่นกันทั้งบ้านทั้งเมืองก็ฟังไม่ขึ้นหรอกครับ คนมันก็โหลดเพลงทั้งบ้านทั้งเมือง แต่มันก็จัดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนั้นกิจกรรมหลายๆ อย่างที่เราทำบน Social Network มันวางอยู่ “บนความปราณีของเจ้าของลิขสิทธิ์” คือคุณทำได้ เพราะเขาไม่เอาเรื่องคุณ ไม่ใช่เขาเอาเรื่องไม่ได้ เรื่องพวกนี้ผมเขียนไปในบทความแล้วนะ แต่ก็อย่างว่ามาข้างต้นครับ งานจริงจังนี่ไม่มีใครอ่านหรอกครับ คงไม่มีใครสนใจด้วยนอกจากจะมีใครโดนฟ้องขึ้นมาสักคน

ภาพการ์ตูนแสดงอารมณ์ "ffffffuuuuuu"

นอกจากนี้ยังมีดราม่าเรื่อง ความเป็นเพจเพียงแค่ประชาสัมพันธ์ งานหรือเป็นแค่ช่องทางในการสื่อสาร ไม่ถือเป็นเพจหรือเรียกว่าไม่มีตัวตนเป็นของตัวเองนั้น ท่านมองว่าอย่างไร

อาทิตย์ : เฟซบุ๊กเรียกร้องให้สินค้าต้องมีบุคลิก มีมานุษยรูปจริงๆ ก็ไม่ใช่เฉพาะเฟซบุ๊กหรอกนะ การตลาดในยุคนี้ก็เน้นความใกล้ชิด มีการวางบุคลิกสินค้าหรือแบรนด์ ว่าจะเป็นเหมือนเพื่อนร่วมเฮ เหมือนพี่ให้คำปรึกษา เหมือนพ่อแม่คอยดูแล อะไรก็ว่าไป แต่ตัวเฟซบุ๊กหรือโซเชียลเน็ตเวิร์กมันอาจจะเข้มข้นกว่า เพราะมันเริ่มมาจากเครือข่ายของเพื่อน ของคนที่เรารู้จัก เราก็มีความคาดหวังจะพูดคุยโต้ตอบกับแบรนด์หรือเพจในแบบที่เราคุยกับเพื่อนๆ

ทีนี้มันก็แล้วแต่ว่าแต่ละเพจจะวาง "ความเป็นมนุษย์" อันนั้นไว้ตรงไหน บางเพจเอาไว้ที่ตัวเพจเลย คือให้เพจเหมือนเป็นคนๆ หนึ่ง ทำนองตัวละครสมมติ ตอบโต้คุยกับคนในฐานะเพจ อาจจะมีทีมงานหลายคน แต่เวลาทำงานสื่อสารกับแฟนๆ ทีมงานเหล่านี้ไม่มีหน้าตาไม่มีชื่อ บางเพจอาจจะมีไกด์ไลน์ด้วยซ้ำ ว่าบุคลิกของเพจนี้เป็นแบบนี้ๆ การโต้ตอบต้องทำตามนี้ๆ ทีมงานทุกคนต้องปฏิบัติตาม

บางเพจอาจจะวางความเป็นมนุษย์ที่ว่านี้ ไว้กับแอดมิน ตัวเพจจะเป็นเหมือนพื้นที่ปล่อยของ แต่ไม่ได้มีลักษณะเป็นมนุษย์ที่โต้ตอบกับคนโดยตรง คนที่แสดงตัวโต้ตอบคือแอดมิน ถ้ามีหลายคน ก็จะมีการลงชื่อหรือหมายเลขรหัสว่า นี่ตอบโดยแอดมินคนไหน อย่างไรก็ตาม แอดมินยังมีความสำคัญมาก คือบุคลิกรวมๆ ของแอดมินทุกคนมันออกมาเป็นบุคลิกของเพจด้วย เป็น collective (กลุ่มร่วม) แต่บางเพจอาจจะให้ความสำคัญไปอยู่ที่แบรนด์หรือสินค้า เพจลักษณะนี้จะเน้นบุคลิกของแบรนด์ แอดมินจะไม่ได้มีบุคลิกโดดเด่น ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ส่งสารรับสาร ให้แฟนๆ วานไปบอกต่อกับแบรนด์

จริงๆ เฟซบุ๊กเขาก็ชัดเจนอยู่แล้ว ว่า "เพจ" นั้นไม่ได้เหมือนกันไปหมด เขาแบ่งเป็นอย่างน้อย 6 ประเภท คือ ธุรกิจท้องถิ่นหรือสถานที่, บริษัท องค์กร และสถาบัน, ตรายี่ห้อและผลิตภัณฑ์, ศิลปิน วงดนตรี หรือบุคคลสาธารณะ, บันเทิง, และ การรณรงค์หรือชุมชน นี่นับตามเฟซบุ๊กเลยนะ ยังไม่นับพวกเพจคำพูด ที่เอาคำพูดฮิตๆ มาทำเป็นเพจ เพื่อจะได้ติดแท็กได้ อย่าง "เงียบ สงสัยไม่ช็อต" ดังนั้นก็ไม่เห็นแปลก แต่ละเพจอยากจะวางตัวเองเป็นยังไงก็ตามสบาย ไม่จำเป็นจะต้องมีตัวตนที่ตัวเพจก็ได้ ก็วางไว้ที่อื่น

อธิป: ผมไม่ค่อยแน่ใจประเด็นนี้นะครับ ว่ากันตามหลักแล้วนี่มันยุ่งอยู่ เพราะคุณจะถือว่าเพจเป็นนิติบุคคลได้มั้ย? การกระทำของเพจจัดเป็นการกระทำของ Admin ที่โพสต์ หรือเพจในฐานะนิติบุคคล? ซึ่งผมก็ไม่แม่นข้อกฎหมายพวกนี้เท่าไร

 

ท่านคิดว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ในปี 2013 จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในไทย

อาทิตย์ : ที่น่าจะสนุกคือแคมเปญเลือกตั้งกรุงเทพบนโซเซียลมีเดีย

อธิป: ผมก็มองไม่ออกว่ามันมีอะไรใหม่เกิดขึ้นนะ ถ้าผมเดา Trend(แนวโน้ม) ออกนี่คนควรจะจ้างผมไปเป็นนักวิเคราะห์ตลาดแล้วล่ะครับ (หัวเราะ)

 

มีหลายกลุ่มที่ใช้ช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในการรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคม ท่านคิดว่ามันมีพลังจริงหรือไม่ในการจะผลักดันหรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

อาทิตย์ : มีนะมันมีแน่ แต่จะหวังเร็วหรือช้า สื่อออนไลน์ เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างน้อยๆ มันสร้างความโกลาหลในสังคมได้แน่ ความโกลาหลนี่แหละนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ตำแหน่งและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมันจะเปลี่ยนไปหลังความโกลาหล แต่คนไม่ค่อยชอบความโกลาหล

ผมว่าเรื่องนี้ไปถามพวกคนที่ใช้ขับเคลื่อนจริงๆ อย่างหนูหริ่ง หรือพวกแคมเปญจักรยานในกรุงเทพ จะชัดกว่า แต่ในระยะสั้น ผมคิดว่าแคมเปญที่จะประสบความสำเร็จจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ตอนนี้ จะเป็นแคมเปญเกี่ยวกับนโยบายระดับเมือง เกี่ยวกะถนนหนทาง สภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน อะไรที่ต้องเจอทุกวันจับต้องได้ และคนที่เข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ตลอดเวลา ก็มีแต่คนในเมืองนะ มันสอดรับกัน ส่วนระดับที่ใหญ่กว่านั้นหรือในพื้นที่นอกเขตเมือง ยังลำบากอยู่ แคมเปญที่ประสบความสำเร็จใน change.org สำหรับเมืองไทย เรื่องคนเมืองทั้งนั้น

อธิป: ผมว่ามันขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงอะไรแค่ไหนด้วยนะ ไอ้ดีเบตทำนอง “การต่อสู้ทางศิลปวัฒนธรรม” นี่ก็มีในฝ่ายซ้ายมานานแล้ว ผมอ่านมาก็เยอะ มันหาข้อสรุปไม่ได้หรอก ต้องดูเป็นกรณีๆ ไปว่าควรต้องการเปลี่ยนอะไรแค่ไหน แต่การพูดแบบนี้เป็นการแยกระหว่าง Online กับ Offline นะ ซึ่งผมว่ามันก็แยกยากอยู่ดี มันเหมือนคุณถามว่าคุณต้องต่อสู้บนท้องถนนในการรณรงค์ทางการเมือง หรือคุณต้องต่อสู้ด้วยวิถีชีวิตระดับชีวิตประจำวัน คำตอบทั่วๆ ไปมันก็คือทั้งคู่ต้องไปด้วยกันแหละ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท