Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

แรงงาน เป็นพลังส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สรรพสิ่ง ไม่ว่าแรงงานในท้องนาท้องไร่  แรงงานในทะเลมหาสมุทร หรือแรงงานในโรงงานก็ตาม
 
แรงงาน  ไม่ว่า อยู่หนใด  แรงงาน ล้วนสร้างสรรค์โลกใบนี้ ทุกห้วงประวัติศาสตร์การผลิตของมนุษยชาติ
 
โลกทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ปัจจุบัน แรงงานไหลลื่นไปเช่นเดียวกับกระแสทุนที่ไร้พรมแดน
 
แต่แรงงาน มักถูกมองให้คุณค่าเป็นเพียงปัจจัยการผลิต เป็นเพียงสินค้าชิ้นหนึ่ง แรงงานยังถูกกระทำให้เป็นเพียงหุ่นยนต์ไร้อารมณ์ความรู้สึก ของกระบวนการผลิตระบบทุนนิยม
 
แรงงานจึงหาต่างจากเครื่องจักรแต่อย่างใด
 
ทั้งๆที่ แรงงาน เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวกับนายทุน  แต่แรงงานมักประสบชะตากรรมมีชีวิตอย่างอัตคัตขัดสน ไร้สวัสดิการ หลักประกันพื้นฐานของชีวิต  ต้องทำงานอย่างซ้ำซากจำเจมากกว่า 8 ชั่วโมง และมักได้รับค่าจ้างเพียงมีชีวิตเพื่ออยู่รอดไปวันๆ
 
ชีวิตผู้ใช้แรงงาน จึงไม่ได้รับความยุติธรรมและอยู่อย่างมีศักดิ์ความเป็นมนุษย์
 
……………………
 
ปรากฏการณ์ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยืนยันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม 2556   ตามที่หาเสียงไว้   เนื่องเพราะต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน
 
ยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ มีความก้าวหน้าขึ้น  
 
ท่ามกลางเสียงคัดค้านของกลุ่มนายทุนบางส่วน  องค์กรนายจ้างบางองค์กร  พร้อมๆกับสื่อมวลชนบางสำนัก  นักวิชาการบางคน และพรรคประชาธิปัตย์   ซึ่งหาได้มีจุดยืนเพื่อผุ้ใช้แรงงาน  หรือทำนองค้านทุกเรื่องต่อนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ว่านโยบายนั้นมีผลประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ก็ตาม
 
หากมองเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของไทยยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ รวมถึงภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังได้รับค่าแรงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศแถบยุโรป อเมริกา   ปัจจุบันนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย อย่างประเทศอินโดนีเซียก็ขึ้นค่าแรงไปแล้ว 44 เปอร์เซ็นต์ มาเลเซียก็มีนโยบายขึ้นค่าแรงเช่นกัน  ดังนั้นจะเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยที่ผ่านมานั้นอยู่ในเกณท์ต่ำมาโดยตลอด
 
หากมีคำถามว่า เมื่อมีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ทำไมสังคมไทยมักจะตื่นตระหนกไปด้วย ทั้งที่จริงๆแล้วค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาโดยตลอด แล้วทำไมถึงขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้
 
มีงานวิจัยที่ชี้ว่า  การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีผลน้อยมากทางด้านเศรษฐกิจ แต่กลับมีผลดีกับเศรษฐกิจอีกด้วย เช่น อินโดนีเซียที่ได้ขึ้นค่าแรงไปแล้ว ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ แต่กลับเพิ่มการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น จะเห็นว่าเมื่อคนงานได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น การบริโภคภายในประเทศก็ดีขึ้น ซึ่งประเทศจีนก็พยายามทำแบบนี้เหมือนกัน แต่สื่อมักจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคมขึ้นมาว่า เมื่อขึ้นค่าแรงแล้ว จะเป็นผลทำให้ของแพง บริษัทจะขาดทุนตามมา แม้ว่าจะมีผลวิจัยออกมาตรงข้ามกันก็ตาม
 
ไม่นานมานี้    นายแล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราภิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ  ไว้ว่า หากพิจารณาด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) ได้ให้ข้อมูลว่า ทำให้ต้นทุนเพิ่มเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น  ซึ่งเป็นต้นทุนในภาพรวมเพียงร้อยละ 10  ไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมด  เพราะต้นทุนส่วนใหญ่อีกร้อยละ 90 มาจากต้นทุนด้านสาธารณูปโภค  ต้นทุนโลจิสติกส์ และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง  แต่กลับจะเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการไทยมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและปรับระบบบริหารจัดการ  รวมถึงเทคโนโลยีในการประกอบการให้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว   ทำให้ศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น  จากที่ผู้ประกอบการไทยละเลยที่จะปรับปรุงกันมานาน  เห็นได้จากประเทศที่มีค่าจ้างสูงกว่าไทย ก็ไม่ได้มีศักยภาพในการแข่งขันต่ำกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี  และญี่ปุ่น
 
อย่างไรก็ตาม นายแล ยอมรับว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท จะทำให้บางอุตสาหกรรมที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  (เอสเอ็มอี)  เฉพาะรายที่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันต้องปิดตัวลงจริง  เพราะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ด้วยว่าผู้ประกอบการรายนั้น ๆ  สมควรจะอยู่ในธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ต่อไปหรือไม่ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะประกอบธุรกิจได้  เนื่องจากผู้ที่อยู่ได้บางรายสั่งสมประสบการณ์มานานแล้ว ส่วนการย้ายฐานการผลิตออกไปประเทศเพื่อนบ้านนั้น เชื่อว่าเป็นเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มล้าสมัยกำลังจะตายไปในที่สุด  และการย้ายออกไป แม้จะย้ายหนีต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้้นได้ก็จริง  แต่กลับต้องไปเผชิญกับต้นทุนด้านสาธารณูปโภค  กฎหมายแรงงานที่เข้มงวด
 
 นายแล  กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปต่อเนื่องไปในช่วง 3-5  ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงของความต้องการแรงงานมีมากกว่าแรงงานที่มีอยู่  เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยหากต้องการขยายการลงทุนจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาช่วย  เพราะขณะนี้อัตราการว่างงานของไทยต่ำมากต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราการว่างงาน เช่น  อินโดนีเซียที่ว่างงานถึงร้อยละ 7.7  ส่วนกรณีที่มีการแห่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น  เพราะมีความต้องการจากนายจ้างไทยมากกว่า  
ส่วนผลของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อยังต่ำ เห็นได้จากตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท  มีส่วนเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อของประเทศเพียงร้อยละ 0.1  จากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับร้อยละ 3-4 ต่อปีเท่านั้น
 
ดังนั้น นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในครั้งนี้  แน่นอนว่าย่อมมีด้านบวกเป็นหลัก และมีด้านผลกระทบอยู่บ้างด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลก็ต้องวางมาตราแก้ไขไว้  จึงมิใช่ต้องยกเลิกนโยบายนี้
 
ที่สำคัญ นโยบายนี้ หาได้เพียงเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว หากยังหมายถึงความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงานด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net