พุทธทาสภิกขุกับพุทธศาสนาในมิติของ ‘ศาสตร์’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บันทึกของพุทธทาสภิกขุ (ภาพจากเฟซบุ๊กของ Rachanant Kraikaew)

 

 

โดยปกติชาวพุทธเราเชื่อว่า ‘พุทธศาสนา’ นั้นเป็นของสูงกว่า ‘ศาสตร์’ เช่น ศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล เขียนไว้ในหนังสือ ‘อภิธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่’ ว่า พุทธศาสนาไม่ใช่วิทยาศาสตร์ (ซึ่งเป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง) เพราะพุทธศาสนาสอนความจริงระดับปรมัตสัจจะ อันเป็นความจริงแท้เหนือสมมติสัจจะ แต่วิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์ต่างๆ เสนอความจริงระดับสมมติฐานหรือสมมติสัจจะเท่านั้น

พูดให้กว้างกว่านั้นคือ พุทธศาสนายังมีมิติของศรัทธา ความเชื่อที่แปรมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ อุดมคติในการดำเนินชีวิตของปัจเจก มีมิติของศีลธรรม จารีตประเพณี วัฒนธรรมทางความคิด ค่านิยมของสังคม พิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นมิติที่ศาสตร์ทั่วๆ ไปไม่มี

อย่างไรก็ตาม แม้พุทธศาสนาจะมีมิติของศรัทธาความเชื่อและอะไรต่างๆ ดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพุทธศาสนาไม่ได้มีมิติของความเป็นศาสตร์

ความเป็น ‘ศาสตร์’ ในที่นี้ผมหมายความอย่างตรงไปตรงมาว่าคือ ‘ระบบความรู้’ เหมือนความรู้ทั่วๆ ไปที่เกิดจากการค้นคว้าทดลองตามระเบียบวิธีในการแสวงหา/สร้างองค์ความรู้นั้นๆ

ท่านพุทธทาสไม่ลังเลเลยที่จะยืนยันว่า ‘พุทธศาสนาเป็นศาสตร์แห่งความดับทุกข์’ ในหนังสือ ‘คู่มือมนุษย์’ ท่านเขียนว่า พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้จักสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามเป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร เพราะ ‘พุทธศาสนา’ แปลว่า ‘ศาสนาของผู้รู้’ พุทธะแปลว่าผู้รู้ คือรู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง (ที่เกี่ยวกับการดับทุกข์) ได้อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรืออาศัยวิชาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์และต้นเหตุของความทุกข์  ฉะนั้น จิตวิญญาณของพุทธศาสนาจึงเป็น ‘จิตวิญญาณแห่งการแสวงหาความจริงและอิสรภาพ’

หรือบางทีท่านพุทธทาสก็พูดว่า ‘พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต’ คล้ายๆ กับศาสตร์ทางจิตวิทยาที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ทำการศึกษา แต่ต่างกันตรงที่วิทยาศาสตร์ทางจิตแบบพุทธมีจุดมุ่งหมายเพื่อความพ้นทุกข์ทางจิตวิญญาณ ซึ่งมีรายละเอียดเฉพาะตัวต่างจากศาสตร์ทางจิตวิทยาทั่วๆ ไป (แต่ในบางเรื่องอาจศึกษาเทียบเคียงกันได้ เช่น งานเขียนเรื่อง ‘ปมเขื่อง’ ของท่านพุทธทาสก็มีส่วนคล้ายงานด้านจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นต้น)

เหตุผลที่ท่านพุทธทาสยืนยันว่า ‘พุทธศาสนาเป็นศาสตร์แห่งความดับทุกข์’ หรือ ‘พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต’ คือเหตุผลที่ว่า ความรู้แจ้งอริยสัจที่ทำให้พ้นทุกข์ได้นั้นเกิดการที่พุทธะลงมือค้นคว้าทดลองโดยการใช้ชีวิตของตนเองในการปฏิบัติลองผิดลองถูกหลากหลายแนวทางทาง จนค้นพบแนวทางที่ทำให้พ้นทุกข์ได้จริง

ฉะนั้น ความรู้ที่ทำให้พ้นทุกข์ที่เรียกว่า ‘อริยสัจสี่’ นั้น จึงเป็นความรู้ที่อ้างอิงประสบการณ์ตรง ท่านพุทธทาสจึงพูดเสมอว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา เพราะไม่ใช่เรื่องของการเก็งความจริงด้วยเหตุผล (สำหรับผู้ที่มองว่าพุทธศาสนามีมิติของปรัชญา อาจจะมองความหมายของ ‘ปรัชญา’ กว้างกว่าที่ท่านพุทธทาสมอง) แต่เป็นการรู้ความจริงจากการพิสูจน์ทดลอง หรือเป็นความจริงที่ยืนยันด้วยประสบการณ์

ข้อยืนยันของท่านพุทธทาสดังกล่าวเราจะโต้แย้งได้ ก็ต่อเมื่อเราหาหลักฐานมาหักล้างได้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจของพุทธะไม่ใช่เรื่องของการมีประสบการณ์ตรง โดยผ่านการพิสูจน์ทดลองด้วยการปฏิบัติหลากหลายวิธี ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนเกิดการรู้แจ้งที่ทำให้แน่ใจได้ว่านั่นคือความดับทุกข์

ความเป็น ‘ศาสตร์’ ของ ‘การดับทุกข์’ ที่พุทธะค้นพบและนำเสนอนั้น เห็นได้ชัดว่าต่างจากความเป็น ‘ศาสนา’ ตามความหมายในยุคนั้น เพราะความเป็นศาสนานั้นหมายถึง ‘การผูกพันกับอำนาจเหนือธรรมชาติ’ เช่น ความศรัทธาในพระเจ้าหรือพระพรหม ซึ่งพุทธะตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็ผ่านการใช้ชีวิตทางศาสนาในความหมายนี้มาก่อน เช่น ตามประวัติบอกว่าได้ศึกษาจนเจนจบคัมภีร์ไตรเพทของพราหมณ์ เคยปฏิบัติตามลัทธิศาสนาอื่นๆ ที่เชื่อในพลังของฌานสมาบัติ การบำเพ็ญตบะแบบฤาษี เป็นต้น จนสุดท้ายเมื่อหลุดพ้นจากมิติทางศาสนาในความหมายดังกล่าว จึงค้นพบ ‘ความจริงจากประสบการณ์’ ซึ่งนี่คือหลักการพื้นฐานของพุทธศาสนาเลยว่า ‘ความจริงต้องตรวจสอบได้ด้วยประสบการณ์’ ความเชื่อเรื่องพระเจ้าหรืออัตตาที่เป็นอมตะ ไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยประสบการณ์ พุทธศาสนาจึงไม่รับรองว่าเป็นความจริง

(การที่พุทธศาสนาไม่ได้มีลักษณะของการผูกพันกับสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือพระเจ้านี่เองที่ทำให้นักคิดตะวันตกมองว่า พุทธศาสนาไม่ใช่ ‘religion’ แต่เป็น ‘philosophy of life’ แบบหนึ่ง)

ผมคิดว่า หากเรายอมรับว่าการพบความจริง (ที่ชาวพุทธเรียกว่า ‘การตรัสรู้’ หรือ enlightenment) ของพุทธะคือ ‘การพบความจริงจากประสบการณ์’ ที่ผ่านการทดลองอย่างเป็นระบบ และเป็นการพบความจริงที่เป็นจุดตั้งต้นของการเกิดพุทธศาสนาในระยะต่อมา เราต้องยอมรับว่าความจริงที่พุทธะค้นพบมีลักษณะเป็น ‘ศาสตร์’ มากกว่าจะเป็น ‘ศาสนา’ ตามความหมายร่วมสมัยในเวลานั้น และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมท่านพุทธทาสจึงเรียกพุทธศาสนาว่า ‘ศาสตร์แห่งความดับทุกข์’ (ถ้าเราอ่าน ‘อนุทินปฏิบัติธรรม’ ของท่านพุทธทาสในวัยหนุ่ม จะเห็นว่านั่นเป็นบันทึกการทดลองปฏิบัติในลักษณะเป็นศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด)

แน่นอน พุทธศาสนาในความหมายที่เป็น ‘ศาสตร์แห่งความดับทุกข์’ เป็นความหมายของพุทธศาสนาในยุคแรกเริ่ม คือเริ่มจากความหมายของ ‘อริยสัจสี่’ ที่พุทธะค้นพบ และนำมาบอกเล่าแก่คนอื่นๆ ท่านพุทธทาสเองยืนยันว่า ‘อริยสัจสี่คือหัวใจพุทธศาสนา’ หรือคือแกนหลักของระบบคำสอนทั้งหมดในพุทธศาสนา คำสอนอื่นๆ ล้วนเป็นส่วนขยายของอริยสัจสี่นี้ และหากเราจะตรวจสอบว่า คำสอนอื่นๆ เป็นคำสอนของพุทธะจริงหรือไม่ เราก็สามารถตรวจสอบได้ด้วยการดูความสอดคล้องกับหลักอริยสัจสี่ นั่นคือดูว่าเป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อการทำความเข้าใจ ‘ความทุกข์กับความดับทุกข์’ หรือไม่ และเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ด้วย ‘ประสบการณ์’ หรือไม่

เนื้อหาของอริยสัจสี่ไม่มีอะไรที่อยู่เกินเลยประสบการณ์ของมนุษย์ ความทุกข์และสาเหตุของทุกข์คือสิ่งที่สังเกตเห็นอาการแสดงออกทางกายภาพ หรือพฤติกรรมได้ด้วยประสาทสัมผัส และสังเกตเห็นอาการที่ปรากฏทางใจของเราได้อยู่แล้ว ความดับทุกข์และทางดับทุกข์ก็พิสูจน์ได้ด้วยประสบการณ์ตรงของเราเองอีกเช่นกัน

ดังที่ท่านพุทธทาสพูดเสมอว่า ความดับเย็นทางใจเป็นสิ่งที่คนเรามีประสบการณ์กับตัวเองมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปในชีวิตประจำวัน เมื่อทดลองปฏิบัติตามมรรคหรือไตรสิกขาก็อาจพบประสบการณ์ความดับเย็นหรือ ‘นิพพานชิมลอง’ ได้ และถ้าเราสามารถมีประสบการณ์กับนิพพานชิมลองหรือความสงบเย็นชั่วคราวได้ก็สามารถจะมีประสบการณ์กับความสงบเย็นถาวรได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนเรียนรู้ของเรา (พึงตระหนักว่า คำว่า ‘นิพพาน’ ที่ท่านพุทธทาสใช้ไม่ได้หมายถึงของวิเศษสูงส่ง หรือลึกลับอย่างที่ชาวพุทธชอบใช้กัน แต่เป็นความจริงในธรรมชาติธรรมดาๆ เช่น ที่ท่านพุทธทาสว่าคนอินเดียเห็นไฟดับก็ว่า ‘ไฟนิพพาน’ ความร้อนในใจดับก็เรียกว่า ‘ใจนิพพาน’ เป็นต้น)

ลักษณะความเป็น ‘ศาสตร์’ ของพุทธศาสนายุคแรกเริ่มที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือสิ่งที่อาจารย์สมภาร พรมทา เขียนไว้ใน ‘วารสารปัญญา’ ว่า ‘ความเรียบง่าย’ คือ ในแง่ตัวคำสอนก็ง่ายตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน อีกทั้งไม่มีพิธีกรรมอันบ่งบอกความเป็นศาสนาเลย เช่น การเทศนาของพุทธะมักอยู่ในรูปของการสนทนาแลกเปลี่ยนกับผู้ที่มีความสนใจ พุทธะไม่เคยชวนใครมาทำพิธีกรรมนั่งสมาธิหลับตาอย่างที่นิยมทำกันในปัจจุบัน แต่จะใช้วิธีพูดคุยแลกเปลี่ยน เล่าสิ่งที่ท่านค้นพบ และนำเสนอโลกทัศน์แบบพุทธแก่คู่สนทนา บ่อยครั้งเมื่อจบการสนทนาผู้ฟังก็บรรลุธรรมทันที (พุทธะเรียกสิ่งที่ท่านนำเสนอแก่ผู้คนเวลานั้นว่า ‘ พรหมจรรย์’ หรือ ‘ธรรมวินัย’ เป็นส่วนมาก)

‘การบรรลุธรรม’ ก็ไม่ได้มีลักษณะพิสดาร หรือมีลักษณะเชิงปาฏิหาริย์อย่างที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน บรรยายการบรรลุธรรมของตนเองว่า ‘วินาทีที่กิเลสขาดผึงไปจากจิตใจ ปรากฏเหมือนโลกธาตุสะเทือนเลือนลั่น’ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในใจอย่างเรียบง่าย เช่น การบรรลุธรรมของโกณฑัญญะปฐมสาวกนั้น หมายถึงการ ‘รู้แจ้ง’ ว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีการดับไปเป็นธรรมดา’ คล้ายๆ กับว่าฟังพุทธะเล่าแล้วไตร่ตรองตามจนเกิด ‘get idea’ อะไรประมาณนั้น (แต่เป็นการ ‘get idea’ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตด้านในของผู้นั้น เปรียบเทียบหยาบๆ คล้ายๆ กับเราอ่านงานของนักปรัชญาบางคนแล้วก็ ‘get idea’ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดบางอย่างของเรา เป็นต้น)

การบวชพระก็ไม่มีพิธีรีตอง เมื่อมีผู้แจ้งความประสงค์จะใช้ชีวิตเป็นพระภิกษุตามแบบพุทธะ ท่านก็ตอบอนุญาตสั้นๆ ว่า ‘ท่านจงเป็นภิกษุ มาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำความดับทุกข์โดยชอบ’ คำอนุญาตนี้บอกเป้าหมายของการบวช และผู้บวชก็ใช้ชีวิตเรียนรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น วินัยสงฆ์ก็ไม่มีแม้แต่ข้อเดียว ภิกษุยุคแรกๆ ก็อยู่กันได้ไม่มีปัญหาวุ่นวาย ต่อเมื่อมีคนมาบวชมากขึ้น แล้วไม่เคารพเป้าหมายการบวชจึงมีวินัยหยุมหยิม มีคำสอนและพิธีกรรมที่ซับซ้อนตามมาและวิจิตรพิสดารมากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านมาเกือบสามพันปี จนแทบจะหาร่องรอยเดิมของพุทธะไม่เจอ ดังที่เดวิด อาร์.ลอย บอกว่า ‘พุทธะสอนธรรมะ ไม่ได้สอนพุทธศาสนาแบบที่มีหน้าตาเช่นปัจจุบัน’

การที่ท่านพุทธทาสยืนยันความเป็น ‘ศาสตร์’ ของพุทธศาสนาโดยอ้างอิงคำสอนของพุทธะยุคแรกเริ่มไม่ใช่การแสดงจุดยืนแบบ Fundamentalism แต่อย่างใด เนื่องจากไม่ใช่การยืนยันว่าสิ่งที่ปรากฏในคัมภีร์เท่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากแต่ท่านยืนยันด้วยซ้ำว่าจะฉีกพระไตรปิฎก (ส่วนที่มีเนื้อหาเชิงอภิปรัชญาและปาฏิหาริย์) ทิ้งสัก 70 เปอร์เซ็นต์ก็ยังได้ เหลือไว้สัก 30 เปอร์เซ็นต์ที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจทุกข์และความดับทุกข์ก็พอ อีกทั้งยังยืนยันว่า แม้คนที่ไม่ได้เป็นชาวพุทธก็พ้นทุกข์ได้ หากเขาปฏิบัติสอดคล้องกับกฎธรรมชาติส่วนที่ทำให้พ้นทุกข์ หรือชาวพุทธเองจะบอกว่าไม่นับถือพุทธะก็ได้เพราะพุทธะสอนให้นับถือตัวเองและนับถือธรรม (ดังบันทึกของท่านพุทธทาสข้างบนสุด) และในพระไตรปิฎกก็ยืนยันว่า ‘พุทธะเคารพธรรม’

อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสก็พูดถึง ‘พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา (religion)’ ว่าได้แก่ ‘ระเบียบปฏิบัติซึ่งได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือความพ้นทุกข์’ ซึ่งหมายความว่า ความเป็นศาสนาของพุทธศาสนานั้นไม่ได้ผูกพันอยู่กับสิ่งเหนือธรรมชาติ หากแต่อยู่บนฐานของความเป็นศาสตร์ที่ทำให้รู้จักสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามเป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร

สำหรับผมแล้ว การมองว่าพุทธศาสนาเป็น ‘ศาสตร์’ คือการทำให้พุทธศาสนาเป็น ‘ของธรรมดา’ ไม่ใช่ ‘ของศักดิ์สิทธิ์’ การยืนยันว่า ‘พุทธศาสนาเป็นศาสตร์แห่งความดับทุกข์’ หรือ ‘พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต’ จึงไม่ใช่การยืนยันสัจธรรมศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องไม่ได้ หากแต่ท่านพุทธทาสยืนยันเสมอว่าพุทธศาสนาต้องวิจารณ์ได้ และชวนให้เราวิจารณ์

ที่สำคัญการมองว่าพุทธศาสนาเป็นศาสตร์หรือความรู้ธรรมดาๆ แบบหนึ่งย่อมทำให้เราข้ามพ้นการยึดติดในรูปแบบ พิธีรีตอง ดังที่ท่านพุทธทาสบอกว่าไม่จำเป็นเลยที่เราต้องบวชเป็นพระ บวชอยู่ที่บ้านก็ได้ ซึ่งหมายความว่า เป็นฆราวาสก็สามารถเรียนรู้โลกทัศน์แบบพุทธ และใช้โลกทัศน์นั้นเป็นแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีได้นะจ๊ะ  

โดยเฉพาะการมีจิตวิญญาณแบบพุทธ คือ ‘จิตวิญญาณแห่งการแสวงหาความจริงและอิสรภาพ’ จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นทาสของ ‘วัฒนธรรมตอแหลแลนด์’ ที่ฉ้อฉลอำนาจและเสรีภาพของประชาชนนะจ๊ะ

 

(ขออภัย บังเอิญผมติดสำนวน ‘นะจ๊ะ’ มาจากที่อ่าน ‘วารสารปัญญา’ เล่มล่าสุดของ อ.สมภาร พรมทา ไม่ใช่ต้องการล้อเลียนลีลาของ ‘ท่านผู้มีญาณวิเศษ’ แต่อย่างใด นะจ๊ะ)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท