บทวิเคราะห์สาระสำคัญที่ไม่ควรชะลอการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

  1. บทเกริ่นนำ

พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เหตุผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติว่า “โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๘๔ (๔) บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือ จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง ดังนั้น เพื่อให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะประชากรภาคแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพอย่างทั่วถึง จึงทำให้บุคคลเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจนในวัยสูงอายุ อันเนื่องมาจากไม่มีช่องทางหรือโอกาสเข้าถึงระบบการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน เพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการออมของประชาชนคนไทยในวัยทำงาน จึงสมควรจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ”

แม้ว่าจวบจนถึงปัจจุบัน พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติมีผลบังคับใช้มากว่าหนึ่งปีเจ็ดเดือนแล้วก็ตาม แต่การรับสมัครสมาชิกกองทุนก็ยังมิได้เริ่มขึ้น เหตุผลดังกล่าวได้ประกาศผ่านทางเว็บไซด์ของกองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ใจความว่า “ขณะนี้ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเรื่องระบบทะเบียนสมาชิกเพื่อสามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการสมัครสมาชิกและส่งเงินสะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้ กอช. จะประกาศวันเปิดรับสมัครที่แน่ชัดให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง” (เข้าถึงได้ที่ http://www.fpo.go.th/FPO/index2.phpเข้าถึงเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556) ความล่าช้าดังกล่าวทำให้กลุ่มประชากรวัยทำงานในภาคนอกระบบเกรงว่าหากรัฐบาลประวิงเวลาในการรับสมัครสมาชิกกองทุนออกไปเรื่อยๆจะทำให้ผู้ที่มีความประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสียประโยชน์ ความล่าช้าครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนองมีความต้องการปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมในหลายประเด็น

 

  1. ประเด็นในพระราชบัญญัติที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องการแก้ไข

ประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีความประสงค์จะแก้ไขพระราชบัญญัติเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนรวมมีทั้งหมดด้วยกัน 8 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นอายุสมาชิก เงินสะสมเข้ากองทุน เงินสมทบจากภาครัฐ การรับเงินสะสมคืนกรณีทั่วไปและกรณีตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพ นโยบายการบริหารจัดการเงินกองทุน การประกันผลตอบแทนการลงทุน และประเด็นผู้บริหารกองทุน ความแตกต่างของแนวทางการแก้ไขพระราชบัญญัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับพระราชบัญญัติในปัจจุบันมีรายละเอียดโดยสังเขปดังตารางต่อไปนี้

 

ตารางที่ 1: ความแตกต่างของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติและแนวทางการแก้ไขของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ประเด็น

พ.ร.บ.ปัจจุบัน

แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.

  1. อายุสมาชิก

15-60 ปี โดยมีบทเฉพาะกาลมาตรา 69 ให้ผู้มีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่สมัครเป็นสมาชิกมีสิทธิเป็นสมาชิกกองทุนต่อไปได้อีกสิบปีนับแต่วันที่เป็นสมาชิก

ทบทวนแก้เป็น 15-70 ปี

  1. เงินสะสมเข้ากองทุน

กำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 บาท แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

กำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 บาท แต่จะไม่จำกัดเพดานเงินสะสม

 

  1. เงินสมทบจากภาครัฐ

รัฐบาลสมทบให้หลายอัตราตามอายุของสมาชิก ณ เวลาที่จ่ายเงินสะสม รัฐบาลออม

สมาชิกอายุ 15-30 ปี ร้อยละ 50
สมาชิกอายุ 31-50 ปี ร้อยละ 80 และ
สมาชิกอายุ 51-60 ปี ร้อยละ 100

รัฐบาลสมทบอัตราเดียว ร้อยละ 100ทุกช่วงอายุสมาชิก

  1. การรับเงินสะสมคืน

ให้เลือกรับเฉพาะบำนาญ

เปิดทางเลือกบำนาญหรือบำเหน็จ

 

  1. สมาชิกตกอยู่ภาวะทุพพลภาพ

สมาชิกรับคืนเฉพาะเงินสะสมกับเงินผลประโยชน์ (เงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้จะไม่ได้คืน)

สมาชิกรับคืนทั้งเงินสะสม เงินสมทบ และเงินผลประโยชน์

  1. นโยบายการบริหารจัดการเงินกองทุน

ลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมั่นคงสูง โดยเน้นการลงทุนในเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล เป็นหลัก

  1. การค้ำประกันผลตอบแทนการลงทุน

มี

ทั้งนี้พิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทสิบสองเดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ห้าแห่งตามคณะกรรมการกำหนด

ไม่มี

เนื่องจากเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมั่นคงสูง

  1. ผู้บริหารกองทุน

เลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ
(โดยกระบวนการสรรหา)

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(โดยตำแหน่ง)

ที่มา: สรุปโดยผู้เขียนจากพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และข่าวกองทุนการออมแห่งชาติ เกณฑ์ใหม่ยุค “กิตติรัตน์” วันที่ 10 ตุลาคม 2555 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

 

  1. หนทางไหนดี?: ประชาชนรอไปก่อน แก้ให้เสร็จแล้วค่อยสมัคร หรือ เปิดรับสมัครสมาชิกไปก่อน แล้วค่อยแก้

มีประเด็นคำถามที่ต้องพิจารณา กล่าวคือมีความจำเป็นหรือไม่ อย่างไร ที่จะต้องชะลอการเปิดรับสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติออกไปจนกว่าจะแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับแก้ไข) ให้เรียบร้อยตามความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรืออีกทางเลือกหนึ่ง แทนที่รัฐบาลจะรอการแก้ไขพระราชบัญญัติ ควรหรือไม่ควรที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเปิดรับสมาชิกไปก่อน แล้วค่อยพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติภายหลัง

การชะลอการเปิดรับสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติออกไปทำให้ประชาชนเสียประโยชน์โดยตรง กล่าวคือเราต้องไม่ลืมว่าระบบบำนาญภายใต้แนวคิดของกองทุนการออมแห่งชาติตั้งอยู่บนพื้นฐานของการออม (การสะสมเงิน) และการสมทบร่วมของรัฐบาล สมาชิกแต่ละคนมีบัญชีบำนาญเป็นของตนเอง การได้รับบำนาญยามชราภาพมากหรือน้อยขึ้นกับระยะเวลาของการจ่ายเงินสะสมและการได้รับเงินสมทบร่วมจากรัฐบาล การเลื่อนเวลาการเปิดรับสมัครสมาชิกอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก่อให้เกิดผลเสียหายโดยตรงกับผู้ที่มีความตั้งใจจะสร้างหลักประกันยามชราภาพเหล่านี้ การแก้ไขพระราชบัญญัติอาจใช้เวลาพอสมควรจนทำให้ประชาชนที่มีความตั้งใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกเสียโอกาสในการเร่งสะสมเงินแต่เนิ่นๆและได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลยกตัวอย่างเช่น ประชาชนคนหนึ่งคิดสมัครสมาชิกกองทุน และตั้งใจที่จะออมเงินเดือนละ 100 บาท รัฐบาลสมทบอีกส่วนหนึ่งสมมติว่า 80 บาท (ตามพระราชบัญญัติเดิม) สมมติการแก้ไขพระราชบัญญัติมีความล่าช้าถึง 2 ปี (หรือ 24 เดือน) จำนวนเงินที่เขาขาดโอกาสที่จะออมคือ 4,320 บาท ตามพระราชบัญญัติปัจจุบัน เงินที่หายไปนี้จะไปลดจำนวนเงินบำนาญรายเดือนของเขาในอนาคตและลดสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามมา

นอกจากนี้เราควรจะต้องพิจารณาพร้อมกันด้วยว่า ประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอนั้นมีความสมเหตุสมผลเพียงไรจนกระทั่งต้องยอมให้เกิดการเลื่อนเวลาการรับสมัครออกไป แม้ว่าจะต้องแลกด้วยโอกาสการสะสมเงินที่สูญเสียไปของประชาชนแต่ละคนในช่วงการชะลอการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว

 

  1. การเพิ่มอายุของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติจาก 15-60 ปีเป็น 15-70 ปี

จากเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ที่จะสร้างหลักประกันที่มั่นคงในยามชราภาพให้กับประชากรวัยทำงาน (15-60 ปี)ที่ไม่มีช่องทางหรือโอกาสเข้าถึงระบบการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน เพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการออมของประชาชนคนไทยในวัยทำงาน ยิ่งมีโอกาสเริ่มออมเร็วก็จะมีหลักประกันที่มั่นคงยิ่งขึ้น เงินบำนาญที่จะได้รับจากกองทุนการออมแห่งชาติเป็นสิ่งที่เพิ่มเติมจากเบี้ยยังชีพที่รัฐบาลให้กับคนกลุ่มเดียวกันนี้ไว้เป็นพื้นฐานอยู่แล้วเมื่ออายุถึง 60 ปี อย่าลืมว่าที่ผ่านมารัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เพิ่มเงินเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุตามลำดับชั้นของอายุไปแล้ว การชะลอเวลารับสมัครด้วยเหตุผลนี้เป็นการให้โอกาสกับผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ (ที่จำนวนเงินเพิ่มมากขึ้น) ให้มีโอกาสออมได้อีก (ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องที่ดี) แต่อยู่บนต้นทุนของการเสียโอกาสของประชากรวัยทำงานที่เสียโอกาสในการออมเร็วขึ้น

 

  1. เงินสะสมเข้ากองทุนกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 บาท แต่จะไม่จำกัดเพดานเงินสะสม

การไม่จำกัดเพดานสะสมเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้ออมเงินมากขึ้นผ่านระบบกองทุนการออมแห่งชาติเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการเพิ่มความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการออมของประชาชนคนไทยในวัยทำงานตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ แต่การแก้พระราชบัญญัติในประเด็นนี้เป็นการเอื้อกับผู้มีความสามารถในการออมสูง (ผู้ที่มีรายได้สูงและ/หรือผู้มีความมั่งคั่งสูง) มากกว่ากลุ่มที่มีความสามารถในการออมต่ำกว่า ดังนั้นการชะลอด้วยเหตุผลนี้จึงอยู่บนต้นทุนของการเสียโอกาสของประชากรวัยทำงานที่ฐานะไม่ดีที่เสียโอกาสในการออมไประหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติ(หมายเหตุ ที่จริงทุกคนเสียโอกาส แต่โอกาสที่เสียไปนั้นมีผลกระทบต่อกลุ่มที่มีความสามารถในการออมต่ำกว่ามากกว่ากลุ่มอื่น คนที่มีหลักประกันยามชราภาพที่ไม่ค่อยมั่นคงอยู่แล้ว ก็จะมีความไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นไปอีก)

เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่การไม่จำกัดเพดานเงินสะสมนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของการชะลอเรื่องคือ เงินสะสมของสมาชิกส่วนที่เกินเดือนละ 100 บาทเป็นไปโดยสมัครใจและไม่ได้รับเงินสมทบร่วมจากรัฐบาลอยู่แล้ว นอกจากนั้นเมื่อไปพิจารณาถึงนโยบายการลงทุนของกองทุนที่จะนำไปเฉพาะฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตร ความแตกต่างระหว่างเงินสะสมในส่วนนี้ในกองทุนการออมแห่งชาติกับเงินฝากธนาคารจะมีความแตกต่างกันน้อยมาก จนหาเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐบาลจะต้องมาดำเนินการในส่วนเพิ่มเพดานเงินออมแทบจะไม่มี

 

  1. การเพิ่มเงินสมทบจากภาครัฐให้เป็นอัตราเดียว: ร้อยละ 100

การเพิ่มเงินสมทบจากภาครัฐให้เป็นอัตราเดียวมีผลดีกับสมาชิกของกองทุนในระดับบุคคลเนื่องจากทุกคนจะได้รับเงินเพิ่ม (แต่เป็นภาระทางการคลังของรัฐบาล) หากระยะเวลาการชะลอเวลาไม่ได้เนิ่นนานจนเกินไป เงินสมทบที่ได้เพิ่มนั้นอาจจะมากกว่าเงินสมทบจากรัฐบาลที่เสียไปในปัจจุบันเนื่องจากไม่ได้ออม แต่หากรัฐบาลไม่ชะลอการรับสมัครสมาชิก ประชาชนได้เริ่มสะสมเงินตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้เงินสะสมและเงินสมทบมีมากขึ้นอันจะส่งผลดีต่อเงินบำนาญที่จะได้รับในอนาคต การชะลอด้วยเหตุผลในข้อที่ 3 นี้ไม่มีความจำเป็นเลย รัฐบาลรีบรับสมัครสมาชิกแล้วค่อยเพิ่มเงินสมทบให้ประชาชนภายหลังแก้พระราชบัญญัติ ประชาชนที่สมัครสมาชิกก็จะได้ประโยชน์สองต่อคือได้ออมเร็วและได้เงินสมทบเพิ่มภายหลัง

 

  1. สมาชิกตกอยู่ภาวะทุพพลภาพได้รับคืนทั้งเงินสะสม เงินสมทบ และเงินผลประโยชน์

เหตุผลเหมือนกับข้อที่ 3 กล่าวคือ หากรัฐบาลเริ่มใช้ไปก่อนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติที่ตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพในช่วงแรกนี้ก็จะได้ประโยชน์ตามพระราชบัญญัติปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่รีบทำอะไรเลย ผลลัพธ์ก็คือประชาชนก็จะไม่มีหลักประกันใดๆเลย  รัฐบาลรีบรับสมัครสมาชิกแล้วค่อยเพิ่มสวัสดิการชุดนี้ให้ประชาชนภายหลังแก้พระราชบัญญัติ ประชาชนที่สมัครสมาชิกก็จะได้ประโยชน์สองต่อคือมีความคุ้มครองตั้งแต่วันนี้ และได้สิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้นเมื่อแก้ไขพระราชบัญญัติเสร็จสิ้น

 

  1. การรับเงินสะสมคืนโดยเปิดทางเลือกบำนาญหรือบำเหน็จ

การแก้ไขประเด็นนี้สมเหตุสมผลหรือไม่นั้นจะต้องแยกพิจารณาออกเป็นสองคำถาม คำถามแรกจะเหมือนกับประเด็นต่างๆข้างต้น กล่าวคือ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรอแก้พระราชบัญญัติปัจจุบันด้วยเหตุผลข้อนี้ คำตอบก็คือว่า ไม่จำเป็น หากดำเนินการรับสมัครสมาชิกเสียแต่บัดนี้ สมาชิกก็จะมีเงินสะสมและเงินสมทบเพิ่มขึ้น หากแก้กฎหมายให้สามารถรับเป็นบำเหน็จได้ สมาชิกก็จะมีเงินก้อนจำนวนมากขึ้น

คำถามที่สองเป็นคำถามเชิงปรัชญา เกี่ยวข้องกับแนวคิดของการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ และเชื่อมโยงกับความคาดหวังต่อหน้าที่ของกองทุนนี้ หากรัฐบาลมองการณ์ไกลว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการลดลงของอัตราภาวะเจริญพันธุ์ สตรีวัยเจริญพันธุ์มีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลง ผู้สูงอายุไทยมากกว่าครึ่งเคยหรือกำลังพึ่งพาการเกื้อหนุนทางการเงินจากลูกหลาน แต่ในอนาคตคงจะเป็นไปได้ยาก กอปรกับผู้สูงอายุไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นโดยหลักการแล้ว สังคมไทยกำลังจะต้องพึ่งพาระบบบำนาญในฐานะลูกหลานที่ดีที่จะช่วยประกันความมั่นคงด้านรายได้ยามชราภาพต่อไปเรื่อยๆจนวันสุดท้ายของอายุขัย การอนุญาตให้ผู้สูงอายุสามารถรับเงินบำเหน็จได้เป็นความปรารถนาดีของรัฐบาลที่อยากให้ผู้สูงอายุมีเงินก้อนไปใช้จ่ายได้ แต่ความปรารถนาดีนี้ขัดต่อหลักการของการประกันรายได้ยามชราภาพจนวันสุดท้ายของชีวิตโดยสิ้นเชิง เงินก้อนนั้นอาจจะไม่สามารถทำหน้าที่ “ลูกที่ดี” ไปจนวันสุดท้ายของชีวิตของท่าน ความปรารถนาดีของรัฐบาลที่จะให้เป็นเงินก้อนอาจจะกลับกลายเป็นผลเสียต่อผู้สูงอายุเอง ผลสุดท้ายมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลเองก็ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินเข้าไปเกื้อหนุนผู้สูงอายุเหล่านั้นในรูปแบบอื่นๆอีก

 

  1. ประเด็นการบริหารจัดการกองทุน (นโยบายการลงทุน การประกันผลตอบแทนและผู้บริหารกองทุน)

ประเด็นทั้งสามมีความเกี่ยวเนื่องกัน ผู้เขียนจึงขออภิปรายรวบยอด จุดเริ่มต้นของกองทุนการออมแห่งชาติอยู่ที่ประชากรวัยทำงานกลุ่มใหญ่ที่เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งมีความหลากหลายของรายได้ ดังนั้นเงินสะสมจึงได้กำหนดไว้ไม่สูงเกินไปจนกีดกันผู้ที่มีความสามารถในการออมต่ำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ เงินสะสมรายเดือนจึงกำหนดไว้เพียงเดือนละ 50 บาทหรือ 100 บาท หากขาดการส่งเงินสะสมบางเดือนก็จะไม่ถูกตัดสิทธิออกจากสมาชิกภาพของกองทุน ดังนั้นหลักการบริหารจัดการกองทุนลักษณะนี้คือต้องใช้หลักวิชาการทางการเงินการลงทุนเพื่อทำเงินก้อนเล็กๆนี้ให้เกิดดอกออกผลขึ้นมาบนพื้นฐานของการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล มีการประกันผลตอบแทนขั้นต่ำเอาไว้ (หมายเหตุ หากไม่มีการประกันผลตอบแทบขั้นต่ำไว้ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคา อาจส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงอายุ จนรัฐบาลก็ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเข้าไปเกื้อหนุนในลักษณะอื่นอีกอยู่ดี) ดังนั้นในพระราชบัญญัติจึงอนุญาตให้สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หลากหลายประเภทแต่มีเงื่อนไขว่าต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การคลังขอแสดงความเป็นห่วงอีกประเด็นหนึ่ง แม้ว่าความเป็นห่วงนี้เกิดจากการตั้งสมมติฐานไปเองแบบมองโลกในแง่ร้าย (หรืออาจจะเรียกว่าคิดมากไปเอง) การแก้ไขให้นโยบายการลงทุนไปเน้นการฝากเงินกับสถาบันการเงิน ที่สำคัญไปกำหนดให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล อีกทั้งยังให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (ข้าราชการ) เป็นผู้บริหารกองทุน อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้ “การเมือง” สามารถยื่นมือเข้ามาควบคุมหรือยุ่งกับเงินของพี่น้องประชาชนได้ง่ายขึ้น เมื่อไรที่รัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินกว่ารายรับที่หามาได้และต้องก่อหนี้สาธารณะด้วยการออกพันธบัตร เมื่อนั้นรัฐบาลอาจจะมองเงินกองทุนการออมแห่งชาติเสมือนเป็น “งบประมาณแหล่งใหม่” ในการจัดหาเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้อย่างง่ายดาย

 

  1. บทส่งท้าย

หากพิจารณาตามหลักการที่ได้อภิปรายข้างต้นแล้ว ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่น่าจะมีเหตุผลที่สมเหตุสมผลที่จะชะลอการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ในการรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุของสมาชิก เงินสะสมเข้ากองทุน เงินสมทบจากภาครัฐ เงินบำเหน็จกรณีทุพพลภาพ หรือแม้กระทั่งแนวคิดที่เปิดโอกาสให้สมาชิกรับบำเหน็จได้ รัฐบาลยิ่งเริ่มรับสมาชิกเร็ว สมาชิกยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น ไม่มีเหตุผลใดที่จะประวิงเวลาไปมากกว่านี้ หรือว่า แรงจูงใจของรัฐบาลที่ต้องการจะแก้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติจะอยู่ที่ข้อ 6 เป็นสำคัญ?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท