Skip to main content
sharethis

BBC เผยวลียอดฮิตของนักกิจกรรมและกลุ่มคนผู้ต่อต้านรัฐบาลจีนนิยมใช้เวลาถูกทางการเรียกตัวไปไต่สวน หลังเกิดกรณีดารา นักธุรกิจ และนักกิจกรรม 'ได้รับเชิญไปจิบชา' หลังโพสท์ข้อความสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องเสรีภาพสื่อของนสพ.เซาท์เทิร์นวีคลี่ผ่านเว็บไมโครบล็อก

17 ม.ค. 2013 - ผุ้สื่อข่าว Yuwen Wu จากสำนักข่าว BBC ของอังกฤษกล่าวถึงการใช้วลี "ได้รับเชิญไปจิบชา" ของเหล่านักกิจกรรมในจีนว่ามีความหมายแฝงถึงการถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกตัวไปสอบสวนและบางครั้งก็ตามมาด้วยการคุกคามเสรีภาพ

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันที่หนังสือพิมพ์เซาท์เทิร์นวีคลี่เขียนบทบรรณาธิการประกาศเลิกชุมนุมหยุดงานประท้วงการเซนเซอร์ อี้เหนิงจิ่ง ศิลปินชาวไต้หวันก็กล่าวในเว็บไมโครบล็อก Sina Weibo ว่า "ฉันต้องไป 'ดื่มชา' ก่อนตอนนี้ หวังว่ามันจะเข้าท่า" โดยก่อนหน้านี้เธอเป็นผู้ที่โพสท์ข้อความสนับสนุนหนังสือพิมพ์เซาท์เทิร์นวีคลี่

อี้เหนิงจิ่ง หรือแอนนี่ อี้ เป็นนักร้องนักแสดงชาวไต้หวันที่มีผู้คนติดตามผ่านเว็บไมโครบล็อกกว่า 6 ล้านคน รวมถึงมีกลุ่มแฟนผู้ชื่นชอบผลงานเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมาก สิ่งที่เธอโพสท์ในเว็บไมโครบล็อกล่าสุดสื่อว่าเธอกำลังมีปัญหา และหลังจากนั้นอี้เหนิงจิ่งก็หายไปจาก Weibo และโพสท์ที่เกี่ยวกับเซาท์เทิร์นวีคลี่ทั้งหมดก็หายไป

แต่ต่อมาหลังจากนั้นหลายโพสท์ของเธอก็กลับคืนมา รวมถึงโพสท์ที่เธอกล่าวเยาะเย้ยว่าหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ (ซึ่งเคยเขียนบทบก.ดิสเครดิตการประท้วงของเซาท์เทิร์นวีคลี่) บอกว่าเป็น 'สุนัข' รวมถึงโพสท์ที่กล่าวว่า "ความโกรธของคุณทำให้ฉันรู้ว่าฉันถูก การพยายามซ่อนของคุณทำให้ฉันรู้ว่าฉันยุติธรรม ความบ้าของคุณทำให้ฉันรู้ว่าฉันมีสติ และการสังหารของคุณทำให้ฉันรู้สึกได้ว่าฉันมีชีวิต"

ไม่เพียงแค่ดาราอย่าง อี้เหนิงจิ่ง เท่านั้นที่เป็นคนมีชื่อเสียงที่ถูก "เชิญไปดื่มน้ำชา" อดีตรองประธานผู้บริหารของกูเกิ้ล หลี่ ไค่ฝู่ เคยโพสทืลงในอินเตอร์เน็ตเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ว่า "น้ำชาขมจริงๆ" และกล่าวอีกว่า "ต่อจากนี้ ผมคงพูดถึงได้แค่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือ แล้วก็พูดได้แค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์เท่านั้น"

ซึ่งคำกล่าวของเขาตีความได้ว่าเขาไม่สามารถพูดถึงทิศใต้ (เซาท์) และวันสุดสัปดาห์ (วีคเอนด์) ซึ่งหมายความถึงชื่อหนังสือพิมพ์เซาท์เทิร์นวีคลี่ซึ่งกำลังมีเรื่องราวการเซนเซอร์อยู่ในขณะนั้น

อีกกรณีหนึ่งคล้ายๆ กันคือกูรูเรื่องอสังหาริมทรัพย์ เยิ่นจื้อเฉียง โพสท์ลงใน Sina Weibo ว่า "ถูกเรียกตัวหลังเที่ยงคืน ได้รับเชิญไปจิบชา" กรณีทั้งสามนี้มีเรื่องที่เหมือนกันอย่างคือ ก่อนหน้า 'ถูกเชิญไปจิบชา' พวกเขาได้โพสท์แสดงการสนับสนุนเซาท์เทิร์นวีคลี่

โดยที่ 'การได้รับเชิญไปจิบชา' ในภาษาแสลงทางการเมืองของจีน หมายถึงการถูกตำรวจเรียกไปสอบสวน โดยเป็นการใช้คำให้เบาลง โดยเจ้าหน้าที่จะทำ 'การเชิญ' ทางโทรศัพท์และการเคาะประตูบ้าน คนที่ 'ได้รับเชิญ' ก็มีหลายระดับ ตั้งแต่คนมีชื่อเสียงที่แสดงความเห็นแรงๆ ในเรื่องที่เป็นประเด็นอยู่ บ้างก็เป็นผู้ต่อต้านรัฐบาลที่มีคนรู้จักมาก ไปจนถึงคนหนุ่มสาวที่ปากกล้าในอินเตอร์เน็ต

การถูก 'เชิญไปจิบชา' นี้อาจจะมีการเสิร์ฟชาจริงๆ หรือไม่มีก็ได้ โดยปกติแล้วผู้เชิญซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลจะทำการไต่สวนนานสองสามชั่วโมง พวกเขาจะถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำอยู่ และกล่าวเตือนให้หยุดทำ มิเช่นนั้นจะเกิดผลตามมา

BBC ตั้งคำถามว่า การดื่มชาซึ่งเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของจีนนั้น ถูกนำมากล่าวถึงด้วยน้ำเสียงสื่อถึงเรื่องในแง่ร้ายตั้งแต่เมื่อใดกัน

แม้จะไม่มีคำตอบที่ตายตัวในเรื่องนี้ แต่ก็มีการกล่าวถึงเหตุการณ์หลังการปราบปรามผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ว่ามีปัญญาชนบางท่านได้รับ 'คำเชิญ' แบบเดียวกัน และในเวลาต่อมาวลีนี้ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อมีอินเตอร์เน็ตและมีคนพูดถึงประสบการณ์ของตัวเองผ่านเว็บโซเชียลมีเดีย


ผู้มีประสบการณ์เผย รัฐต้องการขู่ให้กลัว

มีหนังสือที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2012 ชื่อว่า "เข้าพบตำรวจ" (Encounters with the Police) เขียนโดยฮัวเจ๋อ นักข่าว-นักทำสารคดี และ ฉื่อโยวหยือ นักวิชาการด้านการเมืองชื่อดัง โดยมีการรวบรวมคำให้การของคน 21 คน ในกลุ่มนั้นมีนักสิทธิมนุษยชนและ 'พลเมืองอินเตอร์เน็ต' ทุกคนต่างเคย 'ได้รับเชิญไปจิบชา' มาแล้ว และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจในระดับต่างๆ เช่น การตรวจตราที่บ้าน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าอยู่หน้าบ้านและตามตัวบุคคลเป้าหมายเมื่อเขาออกจากบ้าน, การกักขังภายในบ้านซึ่งบางรายก็ได้รับอนุญาตให้ใช้อินเตอร์เน็ตและติดต่อเพื่อน แต่บางรายก็ไม่อนุญาต, และการลักพาตัว ซึ่งเป็นการใช้อำนาจช่มชู่ร้ายแรงที่สุด มีการถูกจับไปซักถาม ขู่เข็ญ และทรมาน

ผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้เคยผ่านประสบการณ์การใช้อำนาจข่มขู่มาก่อนเช่นกัน โดยที่ ฮัวเจ๋อ เคย 'ถูกเชิญไปจิบชา' หลังเขียนบทความเรื่องการเมืองลงในอินเตอร์เน็ตเมื่อปี 2010 มีตำรวจจำนวนหนึ่งมาที่บ้านของเธอบอกให้เธอตามพวกเขาไป หลังจากนั้นจึงพานั่งรถตำรวจไปจนถึงสถานีตำรวจใกล้ๆ

ฮัวเจ๋อ เล่าว่าพวกเขาสนทนาอย่างสุภาพ พวกเขาถามว่าเธอเป็นคนเขียนบทความใช่หรือไม่ เธอกำลังกล่าวถึงใคร และมีใครใช้ให้เธอเขียนหรือไม่ ซึ่งฮัวเจ๋อรู้สึกว่าตำรวจไม่ได้สนใจว่าเธอเป็นคนเขียนจริงหรือไม่ แต่ต้องการหาว่าบทความเธอมาจากไหนและเธอได้มีส่วนร่วมกับองค์กรใดๆ หรือไม่

ฮัวเจ๋อกล่าวถึงประสบการณ์อีกว่า หลังจากนั้นเธอก็รู้สึกเหมือนมีคนจับตามองตลอดเวลา ถูกดักฟังสัญญาณโทรศัพท์ การใช้คอมพิวเตอร์ถูกสอดส่อง และบอกว่ามีบางคนรู้สึกหวาดระแวงหลังเจอเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งฮัวเจ๋อคิดว่านี่คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องการ คือการสร้างความกลัวให้กับประชาชนให้พวกเขาหยุดทำสิ่งต่างๆ ไปเอง

นอกจากวลี 'เชิญไปจิบชา' แล้ว ผู้ต่อต้านรัฐบาลบางคนยังเคย 'ได้รับเชิญไปพักร้อน' นอกประเทศในช่วงที่มีวันครอบรอบสำคัญๆ มีการประชุม หรือมีการมาเยือนประเทศ โดยที่มีรายงานว่า ประเทศจีนได้จัดสรรงบประมาณในการ "รักษาความมั่นคงปรองดอง" ถึงราว 7 แสนล้านหยวน (ราว 3 ล้านล้านบาท)

เรียบเรียงจาก

Tea? Reining in dissent the Chinese way, BBC, 17-01-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net