Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯมหานครที่กำลังจะมีขึ้นไม่กี่วันข้างหน้า ตัวเลขทางราชการบอกว่า มีประชากรที่ใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน  4.2  ล้านคน จากจำนวนประชากร 5.7 ล้านคน  ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ในความเป็นจริงยังมีประชากรที่เรียกว่า ประชากรแฝงที่ไม่ถูกนับอีกนับล้าน ขณะที่ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทยมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง จึงมีสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือเป็นนิยามของ ‘คนกรุงเทพฯ’ ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯได้

เราจะนิยามความหมาย ‘คนกรุงเทพฯ’ เพียงนั้นหรือ? เมื่อชีวิตกรุงเทพฯก็เหมือนที่อื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อ ‘คนกรุงเทพฯ’ จำนวนไม่น้อยหรืออีกนับล้าน หาได้เป็น ‘คนกรุงเทพฯ’ ตามนิยามแบบนั้น หรือนิยามแบบนี้ อาจเหมาะกับ ‘คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ’ เสียมากกว่า 

และ ‘ประชากรแฝง’ ที่ทางราชการเรียกกัน คงเป็น ‘คนระดับชนชั้นล่าง’ จำนวนมากที่อยู่ในกรุงเทพฯ บ้างก็มาจากที่อื่นเพื่อมาทำงานอยู่กรุงเทพฯ มิเพียงมาอยู่ชั่วคราว แต่อยู่มาถาวรก็มีให้พบเห็นมากมาย พวกเขาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ  มีส่วนพัฒนา มีส่วนสร้างกรุงเทพฯ  เราจะให้พวกเขามีสิทธิเลือกตั้งเหมือน ‘คนกรุงเทพฯ’ ได้ไหม? อย่างไร? และคงมิใช่เพียงการเลือกตั้งผู้ว่าฯเท่านั้น ทุกระดับการเลือกตั้งก็ควรพิจารณาประเด็นนี้กัน

เราจะเห็นว่า เมื่อฤดูเลือกตั้งทั่วไปมาถึง คนต่างจังหวัดจำนวนมากที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือพื้นที่เมืองใหญ่ หรือพื้นที่อุตสาหกรรม ต่างเดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิดตนเอง เพื่อไปเลือกผู้แทนราษฎรตามสิทธิที่มีที่สำเนาทะเบียนบ้านรับรอง  บางครั้งแม้แต่การเลือกตั้งตัวแทนระดับระดับท้องถิ่น  เทศบาล องค์กรบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ต้องไปกันในฐานะผู้พลเมืองผู้ตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตย 

ทั้งๆ ที่โลกความเป็นจริง คนต่างจังหวัดจำนวนมาก หาได้ดำรงชีวิต หาได้ทำมาหากินมีอาชีพในถิ่นกำเนิดบ้านเกิดของตนเองหรือจังหวัดของตนเองแล้ว ไม่ได้อยู่บ้านตนเองมานับสิบๆปีแล้ว แต่เขาไม่ได้นับเป็น ‘คนกรุงเทพฯ’ เหมือน ‘คนกรุงเทพฯ’

หลายจังหวัดที่รองรับแรงงานก็เป็นเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ พวกเขาโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวไม่ได้เป็นคนบ้านนอก ไม่ได้อยู่อย่างพอเพียงเหมือนชนบทโรแมนติคแล้ว ต่างดิ้นรนชีวิตให้อยู่รอด หาเงินเลี้ยงครอบครัวในชนบทที่พึ่งตนเองไม่ได้มานานแล้ว  

 พวกเขาไม่ได้เป็นคนเดิมถิ่นเมืองเก่า พวกเขากลายเป็น ‘คนเมืองลำพูน’ ‘คนเชียงใหม่’ ‘คนโคราช’ ‘คนชลบุรี’ ‘คนระยอง’ ‘คนสมุทรปราการ’ ฯลฯ เหมือนเช่น ‘คนกรุงเทพฯ’ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รองรับแรงงานของพวกเขา  

เมื่อระบอบประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับสิทธิการเลือกตั้งทุกระดับ  เมื่อประชาชนเลือกผู้แทนของพวกเขาแล้ว พวกเขาย่อมต้องการให้ผู้แทนที่พวกเขาเลือกมา ทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับพวกเขา พวกเขาสามารถเดินทางไปพบปะพูดคุยกับผู้แทนได้ เมื่อพวกเขามีปัญหา มีความเดือดร้อน หรือขอพบผู้แทนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องปัญหาของพวกเขา

หากว่าพวกเขาเลือกผู้แทนตามทะเบียนบ้านที่สุรินทร์ แต่พวกเขากลับต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วโอกาสที่พวกเขาจะพบผู้แทนจะทำได้ง่ายดายอย่างนั้นหรือ?  

หากพวกเขามีปัญหาในพื้นที่ระยองที่พวกเขาทำงานอยู่  แต่พวกเขามีสิทธิเลือกตั้งอยู่ขอนแก่น ผู้แทนที่จังหวัดระยองจะให้ความสำคัญกับผู้ไม่ใช่ฐานเสียงของผู้แทนมากนักหรือ?

จะเห็นว่า  การเลือกตั้งที่เป็นอยู่ อาจจะมีความหมายน้อยลงสำหรับพวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่อาจที่จะบอกผู้แทนทุกระดับว่า พวกเขาอยากให้ช่วยเหลืออะไร? ต้องการให้ทำไร? อยากได้นโยบายอย่างไร? ไม่ต้องพูดถึงระบบไพรมารี่โหวต? ในเมื่อชีวิตจริงพวกเขาไม่ได้อยู่ในเขตเลือกตั้งที่เขามีสิทธิเลือกแต่อย่างใด

เพียงไปเลือกตั้ง แต่หาได้มีชีวิตในพื้นที่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง เลือกไปก็เหมือนลอยไปกับสายลม?

อาจมีคำถามว่า แล้วทำไม พวกเขาเหล่านั้นจึงไม่ย้ายทะเบียนบ้านมาในพื้นที่ที่เขาทำงานทำมาหากิน  เพื่อมีสิทธิเลือกจั้ง และมีสิทธิในชีวิตที่เลือกได้อย่างแท้จริง

พวกเขาไม่ได้เป็นราชการ ไม่ได้เป็นคนชั้นกลางที่มีบ้านของตนเอง จึงไม่มีทะเบียนบ้าน และการมีสิทธิเลือกตั้ง ต้องมีตามทะเบียนบ้าน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องลำบากยากนักสำหรับพวกเขา เพราะพวกเขาเป็นคนระดับล่าง จึงไม่มีโอกาสมีบ้านเป็นของตนเอง พวกเขาจำนวนมากจึงต้องเช่าหอพัก  เช่าบ้านเขาอยู่ 

ด้านหนึ่งย่อมสะท้อนสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย สะท้อนว่าชนบทเปลี่ยนไป  การย้ายถิ่นฐาน การดิ้นรนเพื่ออยู่รอด การหารายได้ การมีอาชีพใหม่ ทำงานทั้งค่ำดึกยันสว่าง ชีวิตย่อมเปลี่ยนไปดั่งเพลงดอกนีออนบานค่ำของ ตั๊กแตน http://www.youtube.com/watch?v=facSRyeH1jc

พวกเขาอาจเป็นสาวหนุ่มโรงงาน  พนักงานเสริฟ   เด็กปั้ม  เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง   เป็นแม่ค้าส้มตำ คนขายผลไม้ดอง เป็นยามเฝ้าธนาคาร เป็นคนขายล๊อตตารี่  เป็นช่างซ่อมรถยนต์  เป็นแม่บ้านทำความสะอาด ทำงานขายของที่เซเว่น ฯลฯ

เมื่อพวกเขาไม่มีบ้านของตนเอง ย่อมไม่มีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านที่พวกเขาอยู่  พวกเขาจึงไม่มีสิทธิเลือกตั้งในที่ๆ พวกเขาทำงานและใช้ชีวิตดำรงอยู่นับชั่ววันเวลา พวกเขาจึงต้องกลับบ้านนอก กลับถิ่นเก่าเพื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆที่ ‘ที่นั่น’ ความหมายอาจจะน้อยลงสำหรับพวกเขา

หลายปีมาแล้ว องค์กรผู้ใช้แรงงาน ได้เสนอให้รัฐบาลหลายรัฐบาลออกกฎหมายและแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รองรับสิทธิผู้ใช้แรงงาน ให้มีสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ แต่ดูเหมือนข้อเสนอนี้ไม่มีนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองในระบอบรัฐสภามองเห็น มิต้องกล่าวถึงพวกนิยมระบอบอำมาตยาธิปไตยคร่ำครึ

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่จะมาถึง ก็คงมีผู้คนจำนวนมากที่กลายเป็นคนในกรุงเทพฯ อยู่กรุงเทพฯมานาน ทำมาหากินที่กรุงเทพฯมาอย่างมิอาจกลับไปทำงานที่บ้านเก่าได้แล้ว เป็นชนชั้นล่างจำนวนนับล้านคนที่ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีโอกาส ไม่มีสิทธิเลือกผู้ว่ากรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ผู้ว่ากรุงเทพฯควรเป็นคนที่เขามีสิทธิเลือกตามหลักการระบบหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง 

ดังนั้น  จึงต้องแก้กฎหมายสิทธิการเลือกตั้งเสียใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องบัญญัติให้สิทธิการเลือกตั้งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดค้นหาวิธีการในการกำหนดสิทธิ เช่น  กำหนดให้คนที่ทำงานในกรุงเทพฯมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 ปี  มีสิทธิการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ โดยต้องหาหลักฐานต่างๆ มาแสดง และไม่มีสิทธิเลือกต้องในถิ่นเดิม หรือคิดค้นให้มีการลงทะเบียนสิทธิการเลือกตั้งแบบใหม่ๆ  ฯลฯ

แน่นอน มิเพียงสิทธิผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการเท่านั้น  คงต้องคำนึงสิทธิแรงงานส่วนอื่นๆ เช่น แท็กซี่  มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม่ค้าส้มตำ พนักงานนวดแผนโบราณ ฯลฯ และสิทธิคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้อยู่บ้านเกิดด้วยเช่นกัน

ถึงเวลาแล้ว ความหมายของ ‘คนกรุงเทพฯ’ ที่เป็นคนชั้นกลาง มีทัศนะอนุรักษ์นิยม อาจต้องเผชิญกับนิยามใหม่ที่รวม คนกรุงเทพฯ ที่เป็นคนชั้นล่าง ผู้ตื่นตัวถึงทัศนะที่ก้าวหน้ามากขึ้น และต่อไปผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ มหานคร อาจต้องคำนึงถึงนโยบายใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับ ‘คนกรุงเทพฯ’ ทุกส่วน และฐานเสียงกรุงเทพฯก็จะกว้างขวางขึ้นไปด้วย

เพราะ ‘คนกรุงเทพฯ’ ไม่ได้มีเพียงคนชั้นกลาง แต่มีคนชั้นล่าง คนรากหญ้า ดำรงอยู่ด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net