Skip to main content
sharethis

"มัลลิกา" แฉ ก.พาณิชย์ทำผิด กม.แรงงาน จ้างพนักงานวันละ 200 บาท

รองโฆษก ปชป.แฉเอกสารกระทรวงพาณิชย์ทำผิดกฎหมายแรงงาน จ้างพนักงานร้านถูกใจวันละ 200 บาท ทั้งที่ค่าจ้างขั้นต่ำต้อง 300 บาทตามนโยบายรัฐบาล ระบุพิษค่าแรงทำโรงงานทยอยปิดตัว คนงานเคว้ง ค่าครองชีพพุ่ง ทำเดือดร้อนหนัก น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นำหลักฐานหนังสือราชการในช่วงปลายปี 2555 ที่รายงานถึงความคืบหน้าของโครงการร้านถูกใจ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจ้างพนักงานเพียงแค่ 200 บาทต่อวัน ทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายให้จ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยอ้างงบประมาณมีจำกัดจึงจำเป็นต้องลดค่าจ้างลงจาก 300 บาทเหลือ 200 บาท สำนักบริหารกิจการการค้าภูมิภาค แต่มีการปกปิดข้อมูลว่ารัฐบาลก็ไม่สามารถจ้างแรงงาน 300 บาทได้ ทั้งที่เป็นโครงการของรัฐบาลเอง

ทั้งนี้ยังได้รับการร้องเรียนจากชาวจังหวัดเชียงรายและลำปาง เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเซรามิกที่ต้องปิดโรงงานอย่างน้อย 7 แห่ง เพราะไม่สามารถย้ายฐานการผลิตได้ ทำให้แรงงานทยอยตกงานจากการเลิกจ้างดังกล่าวโดยไม่มีงานรองรับ น.ส.มัลลิกากล่าวว่า ล่าสุดเอสเอ็มอีที่พยายามเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ตั้งกองทุนชดเชยเงินส่วนต่าง ค่าแรงขั้นต่ำแต่รัฐบาลไม่ตอบรับนั้น ทางทีดีอาร์ไอได้ทำการวิจัยพบว่ากระทบจีดีพีประเทศ 1.7% โดยเกษตรกรได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะต้นทุนการผลิตเพิ่ม 21.7-29.99% ด้านก่อสร้างเพิ่มขึ้น 7-10% ยังไม่นับอุตสาหกรรมด้านอื่น นอกจากนี้ ค่าครองชีพประชาชนจะเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ค่าทางด่วนจะเพิ่มอีก 5 บาท ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าในขณะที่รายได้ของประชาชนกำลังจะลดลงหรือไม่มีรายได้ แต่ต้องเผชิญกับปัญหารายจ่ายเพิ่มขึ้นซ้ำเติมทุกข์ของประชาชน ขณะเดียวกัน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-1-2556)

 

เจรจาล้ม พนักงานอิเลคโทรลักซ์ระยอง เตรียมบุกศูนย์ราชการ ยื่นเรื่องพ่อเมือง

15 ม.ค. 56 - ตามที่พนักงานฝ่ายผลิตของบริษัท อิเลคโทรลักซ์  จำกัด  ได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าโรงงานฯ ตั้งอยู่ภายในสวนอุตสาหกรรมบริษัท เหมราชระยองที่ดินอุตสาหกรรม  จำกัด  ตำบลหนองละลอก  อำเภอบ้านค่าย  จังหวัดระยอง หลังถูกโรงงานดังกล่าวเลิกจ้าง จากกรณีพนักงานฝ่ายผลิต จำนวน 130 คน ได้ยื่นข้อเสนอขอให้บริษัทฯ  พิจารณาเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ  การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีและโบนัส ซึ่งเห็นว่าเกิดความไม่เป็นธรรม กรณีพนักงานเก่าที่มีอายุงานมากกับพนักงานที่มีอายุงานน้อย ค่าจ้างจะปรับมาอยู่ในระดับเดียวกัน

โดยเมื่อวันที่ 10 และ 11 มกราคม 2556  ที่ผ่านมา  ทางบริษัทฯ ได้มีการเจรจากับทางสหภาพแรงงานฯ  อีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ ก็มีการเจรจากันแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้   ทำให้พนักงานเกิดความไม่พอใจ  ไม่ลุกไปปฏิบัติงานเพราะต้องการให้ทางผู้บริหารฯ มาชี้แจงเรื่องที่เรียกร้องไป    จนทำให้ถูกให้ออกจากงานในฐานความผิดละทิ้งหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ทำให้พนักงานยิ่งไม่พอใจผู้บริหารฯ มากยิ่งขึ้น ที่หวังจะได้ปรับค่าแรงกลับถูกให้ออก

 ล่าสุดในวันนี้(15 ม.ค.55)   พนักงานทั้งหมดยังคงปักหลักชุมนุมกันอยู่หน้าโรงงาน พร้อมชูป้ายข้อความขอความเป็นธรรมให้รับกลับเข้าทำงานทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ได้ส่งตัวแทนเข้าเจรจากับผู้บริหารบริษัทฯ โดยมีตัวแทนของทางสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จังหวัดระยอง เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย

นายไพวรรณ์  เมทา  ประธานสหภาพแรงงานบริษัทอีเลคโทรลักซ์  จำกัด  เปิดเผยว่า  การเจรจากับผู้บริหารบริษัทฯ ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งจะทางพนักงานก็จะต้องมาคุนกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งอาจจะเดินขบวนไปที่ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง เพื่อยื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือต่อไป

(เดลินิวส์, 15-1-2556)

 

แรงงานกว่า 200 คนชุมนุมประท้วงหลังโรงงานปิดตัว

บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี  พนักงานบริษัทจี  เจ  สตีล  จำกัด  มหาชน  บริษัทผลิตเหล็กร้อนอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องขอกลับเข้าทำงานหลังโรงงานปิดตัวโดยไม่แจ้งล่วง หน้าเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 55  ที่ผ่านมา  โดยผู้บริหารระดับสูงให้เหตุผลว่าขาดสภาพคล่อง  จนกระทั่งวันที่ 7 ม.ค.  ที่ผ่านมา  ทางบริษัทได้เปิดทำการอีกครั้งโดยเรียกพนักงานทั้งหมด 678 คน  เข้ามารับทราบว่าหากต้องการทำงานกับทางบริษัทต่อต้องยอมเซ็นต์ชื่อยอมรับ เงื่อนไขว่า  ภายใน 3 ปี  จะไม่มีการขึ้นเงินเดือน  และไม่มีการจ่ายโบนัส  ซึ่งมีผู้ยอมรับเงื่อนไขมีเพียง 100 คน  เท่านั้น  นอกจากนี้ทางบริษัทยังไม่อนุญาติให้สมาชิกสหภาพแรงงานของทางบริษัท  ทั้งสิ้น 200 คน  เข้าบริษัทโดยเด็ดขาด

นายจีรวัฒน์  ถาวรธาร  รองประธานสหภาพแรงงาน  กล่าวว่า  กลุ่มสหภาพแรงงานจี  เจ  สตีล  จำกัด  มหาชน  ชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิ์การกลับเข้าไปทำงานเช่นเดิมและได้รับสวัสดิการ ดังเดิมที่พึงได้  เนื่องจากบริษัทอ้างว่าขาดสภาพคล่องทั้งที่จริงแล้วนั้นมียอดการสั่งซื้อ เข้ามาที่โรงงานโดยตลอด  จึงคาดว่าบริษัทน่าจะหาข้ออ้างในการเลี่ยงจ่ายโบนัสแก่พนักงาน  ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถทำได้ตามที่กลุ่มสหภาพแรงงานทำการเรียกร้อง  จะยกระดับการชุมนุมเพิ่มขึ้นพร้อมเดินเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อเรียกร้องต่อ รัฐบาลให้จัดการปัญหาที่เกิดขึ้น

ล่าสุดสวัสดิการคุ้มครองแรงงานชลบุรีขอเจรจากับแกนนำสหภาพแรงงาน  พร้อมรับข้อร้องเรียนต่าง ๆ ไว้พิจารณาช่วยเหลือไว้แล้วเบื้องต้น

(เดลินิวส์, 16-1-2556)

 

แนะกระทรวงพาณิชย์จัดตลาดนัดหน้าโรงงาน

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2556 นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศว่า คสรท.ได้รับร้องเรียนปัญหาการปรับขึ้นค่าจ้าง พบว่า แรงงานหลายจังหวัดกังวลว่าจะไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างที่ชัดเจน เช่น สถานประกอบการที่ปิดกิจการ แรงงานถูกเลิกจ้าง ซึ่งเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างจริงๆ อย่างไรก็ตาม คสรท.กำลังจับตากลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะธุรกิจกิจที่ใช้แรงงาน เข้มข้นและธุรกิจเอสเอ็มอีว่าจะมีสถานประกอบการและแรงงานถูกเลิกจ้างมากน้อย เพียงใด ซึ่งคาดว่าสิ้นเดือนมกราคมนี้จะเห็นผลกระทบชัดเจน

"ผมไม่อยากให้มีการนำเรื่องของการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทมาเป็นข้ออ้างในการปิดกิจการ อยากให้ผู้ประกอบการบอกถึงสาเหตุที่แท้จริงแก่สังคม เช่น ธุรกิจขาดทุนสะสมมา 5 ปีแล้วดำเนินกิจการต่อไปไม่ไหว ทำให้ต้องปิดกิจการในช่วงที่จะต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ไม่ใช่หยิบยกเอาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ดูดีในการปิด กิจการ ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้สังคมมองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่แรงงานเป็นต้น เหตุทำให้ธุรกิจต่างๆต้องปิดกิจการลง และการเรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้างของแรงงานในอนาคตจะทำได้ลำบากเพราะมีข้อหา ดังกล่าวติดตัว" ประธานคสรท. กล่าว

นายชาลี กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยมาตรการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของกระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่ควรกำหนดเวลาไว้แค่ 3 เดือน หากจำเป็นก็ควรขยายเวลาให้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์คงสามารถควบคุมราคาสินค้าได้เฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เท่านั้น ส่วนสินค้าประเภทข้าวสาร เนื้อสัตว์และพืชผักต่างๆ รวมไปถึงข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารปรุงสำเร็จที่จำหน่ายตามร้านเล็กๆและรถเข็นขายอาหารคงไม่สามารถเข้าไป ควบคุมราคาได้ และเห็นว่ามาตรการจัดคาราวานจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและร้านธงฟ้าไม่ สามารถช่วยเหลือแรงงานได้อย่างเต็มที่และทั่วถึงเพราะกระทรวงพาณิชย์มักไป จัดในตัวเมืองเป็นหลัก ไม่ได้กระจายออกไปจัดตามโรงงานต่างๆ ทำให้แรงงานไม่มีโอกาสเข้าถึงร้านธงฟ้าและสินค้าราคาถูก

"ผมเห็นว่าวิธีการช่วยลดค่าครองชีพให้แก่แรงงานได้ดีที่สุดก็คือ กระทรวงพาณิชย์ต้องเล่นบทพ่อค้าคนกลางเข้าไปซื้อข้าวสาร พืชและผักต่างๆจากเกษตรกรโดยตรง จะซื้อได้ราคาต่ำกว่าท้องตลาดและนำมาขายให้แก่แรงงานในราคาถูกโดยเข้าไปจัด ตลาดนัดย่อยๆตามหน้าโรงงานสัปดาห์ละ 3-4 วัน ช่วงตั้งแต่ 11.00-17.00 น. เพื่อให้แรงงานในทุกพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงสินค้าและซื้อได้ในราคาถูก จะช่วยลดภาระค่าครองชีพได้อย่างแท้จริง" ประธานคสรท. กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 18-1-2556)

 

ผอ.นวนครโคราชเผยค่าแรงทะลุ 300

นายสุรสีห์ แห่งศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร (นครราชสีมา) บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์ภายในโรงงานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ภายในโครงการฯ หลังจากที่ทางรัฐบาลได้ประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาท ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาว่า ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานและสถานประกอบการภายในโครงการเขตประกอบการ อุตสาหกรรมนวนคร (นครราชสีมา) แต่อย่างใด เนื่องจากทางโรงงานที่เปิดทำการในโครงการทั้งหมด รวม 10 แห่ง ได้มีการปรับแผนรองรับและปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับพนักงานตั้งแต่ช่วง ปลายปี 2555 ที่ผ่านมาแล้ว และทุกอย่างก็ไม่เป็นปัญหา ทางโรงงานสามารถขยับค่าแรงได้โดยไม่มีผลกระทบ และยังคงมีการจ้างงานพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 10,000 คนต่อไปได้โดยไม่มีปัญหา นอกจากนี้โรงงานภายในโครงการอีกหลายแห่งก็ยังคงมีความต้องการแรงงานอีกจำนวน มาก อยู่ที่ประมาณ 5,000 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานฝ่ายผลิตภาคชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งขณะนี้ยังมีโรงงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างอีก 8 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปีนี้ และหากโรงงานทั้ง 8 แห่งเสร็จสิ้นแล้วจะต้องการแรงงานอีกกว่า 10,000 ราย พร้อมกันนี้ยังมีโรงงานที่เซ็นสัญญาเพื่อเข้ามาลงทุนในนวนครฯ เพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ภายหลังจากที่ทางรัฐบาลได้ประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 ที่ผ่านมา และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาแรงงานบางส่วนตกงานและบริษัทปิดตัวลง รายวัน ซึ่งปรากฏตามข่าวต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีการตรวจสอบในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่างๆ ของจังหวัดนครราชสีมา พบว่าหลายโรงงานยังมีการขึ้นป้ายประกาศรับสมัครพนักงาน โดยเสนอค่าแรงขั้นต่ำเกินกว่า 300 บาทอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานภายในเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร จ.นครราชสีมา ยังคงมีความต้องการแรงงานในส่วนของพนักงานฝ่ายผลิตมากกว่า 5,000 ราย

นายสุรสีห์ กล่าวว่า สำหรับแรงงานในพื้นที่ภาคอีสานต่อไปไม่ต้องเข้าไปในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑลแล้ว โดยเฉพาะผลพลอยได้จากค่าแรง 300 บาท มาจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน รวม 20 จังหวัด และ จ.เพชรบูรณ์ ก็มี และนโยบายของรัฐบาล 300 บาท ที่จริงแล้วเรานำร่องและเตรียมตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการ โบนัสก็ยังเหมือนเดิม เฉลี่ยบางคนได้ 450-550 บาท แต่ 300 บาท ออโต้ตายตัว ได้แน่นอน แต่มีแต่ละโรงงานมีการแข่งขันเรื่องสวัสดิการ เบี้ยขยัน ค่ารถ และอีกต่างๆ โบนัสบางโรงงานให้ 4 เดือน บางโรง 2.5 เดือน บางโรง 3 เดือน อย่าง บ.แคนนอน ปาเข้าไป 550 บาทต่อคน และตอนนี้เฉลี่ยทุกโรงงานใกล้เคียงกันหมด ตนเรียนว่าค่าแรง 300 บาทที่ จ.นครราชสีมา จ่ายค่าครองชีพเราจะอยู่ได้นานกว่าในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล เพราะข้าวของไม่แพงเท่ากรุงเทพฯ ของเราค่าใช้จ่ายถูกกว่าแน่นอน อยู่โคราชไป จ.บุรีรัมย์ ก็ง่าย ไป จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี ก็ง่าย และเริ่มมีแรงงานจากกรุงเทพฯ ไหลเข้ามาดีสำหรับใน จ.นครราชสีมา ส่วนนวนครฯ เรารองรับการขยายการลงทุกระดับไซด์ใหญ่ๆ ขนาด 20-50-กว่า 100 ไร่ รองรับได้ใกล้เคียง 100 โครงการ โดยมีผู้ประกอบการสนใจเข้าชมอุตสาหกรรมนวนครฯ ของเรามีมาอยู่เรื่อยๆ ในปีนี้กิจการอุตสาหกรรมปี 2556 หรือปีมะเส็งไม่ถึงกับเลวร้าย แต่ทรงตัว แต่นวนครฯ โชคดีมีลูกค้ามาดูตลอด จ.นครราชสีมา กว่า 10 ปีมานี้มีปัญหาเรื่องแรงงานเท่านั้นเองอย่างเดียวชัดเจน ไม่มีปัญหาอื่นที่มีผลกระทบ ตอนนี้แต่ละโรงงานเปิดรับสมัครแต่ละโรงมากน้อยเท่านั้นเอง เพราะยังขาดแรงงานอีกมาก แต่ไม่กระทบต่อการผลิตสินค้า โดยเฉพาะแรงงานในนวนครฯ ห้ามมีแรงงานต่างด้าวเด็ดขาด ยังไงก็สู้ของบ้านเราไม่ได้เพราะฝีมือประณีตมาก ผลงานออกมามีคุณภาพ

(บ้านเมือง, 18-1-2556)

 

พนักงานบินไทยฮือประท้วงขอขึ้นเงินเดือน-โบนัส

(18 ม.ค.) ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานการบินไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ อายุ 59 ปี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้นำพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 400 คน มาชุมนุมประท้วงกรณีขอขึ้นเงินเดือนและโบนัส โดยนางแจ่มศรี กล่าวว่า วันนี้ได้นัดให้พนักงานมาชุมนุมกดดันและให้จับตาดูการตัดสินใจของนายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า จะมีมติตอบแทนความเหนื่อยยากทุ่มเทของพนักงานอย่างยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพนักงานทุกคนได้ช่วยกันกอบกู้สถานะของบริษัทฯ จากที่ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างมหาศาลมาตั้งแต่ปี 51 ทุกคนอดทนต่อความเหนื่อยยากและสู้กับปัญหาต่าง ๆ จนบริษัทฯ อยู่รอด และกลับมามีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง


นางแจ่มศรี กล่าวต่อว่า โดยเมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางประธานบอร์ดฯ แจ้งว่าในปีที่ผ่านมาบริษัทมีผลกำไรมากกว่า 7,000 ล้านบาท ทางสหภาพแรงงานฯ จึงขอให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาผลตอบแทนให้พนักงานเป็นเงินโบนัสไม่ต่ำกว่า 2เดือน และปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีไม่ต่ำกว่า 7.5 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับมีข่าวว่าทางคณะกรรมการบริษัทฯ จะพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ ทางพนักงานเห็นว่าที่ผ่านมาบอร์ดมักจะอ้างสถานการณ์หรือวิกฤติต่าง ๆ เพื่อขึ้นเงินเดือนให้พนักงานน้อยแต่ในปีนี้บริษัทฯ มีผลกำไรดีไม่มีปัจจัยกระทบ จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะขึ้นเงินเดือนให้พนักงานต่ำกว่า 7.5 เปอร์เซ็นต์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการชุมนุมประท้วงเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน กลุ่มผู้ชุมนุมที่นั่งฟังประธานสหภาพฯ กล่าวโจมตีประธานบอร์ดต่างปรบมือโห่ร้องเสียงดังสนั่น จนกระทั่งต่อมา ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 6 เดือน ได้ออกมาชี้แจงว่าสิ่งที่พนักงานเข้าใจนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้พนักงานไม่พอใจต่างพากันตะโกนโห่ไล่ ทำให้การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ โดยพนักงานยังคงปักหลักประท้วงต่อไป


ต่อมาเวลา 19.40 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนางแจ่มศรีว่า ขณะนี้พนักงานทั้งหมดยังปักหลักชุมนุมประท้วงกันอยู่ สืบเนื่องจากยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ซึ่งในเบื้องต้นตนได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) แล้วว่า ตอนนี้ตนมีภารกิจที่ต้องบินด่วนไปที่ จ.อุตรดิตถ์ และได้นัดรวมตัวกับกลุ่มผู้ชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 22 ม.ค. นี้ ซึ่งพนักงานทั้งหมดก็ยินยอมรับข้อเสนอ แต่ยังขอปักหลักชุมนุมเพื่อปรึกษาหารือกันก่อน โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากให้การชุมนุมครั้งนี้สูญเปล่า ส่วนจะยุติการชุมนุมเมื่อใดคงต้องรอมติจากสมาชิก.

(เดลินิวส์, 18-1-2556)

 

ภาคเอกชนยื่นหนังสือเรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการ

นายวีรยุทธ สุขวัฑฒโก รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และ กรรมการบริษัท คอนเฟ็ดเดอร์เรท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยหลังจากเดินทางมาร่วมสวัสดีปีใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาเป็นประธานในการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาค ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ว่า ตนเองมาในฐานะของผู้ประกอบการที่เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้ รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องของการยกเลิกในการสั่งซื้อ เนื่องจากมีการปรับขึ้นค่าแรง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จะต้องมีการปรับราคาสูงขึ้น โดยเรียกร้องให้ทางรัฐบาลหาแนวทางในการแก้ไข ทั้งในเรื่องของการชดเชยค่าแรงส่วนต่าง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจ รวมทั้งเพื่อให้ทางรัฐบาลวางมาตราแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย ขณะเดียวกันตนเองได้มีการยื่นสำเนา เอกสารทั้งหมดใหกับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำไปดำเนินการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วย

ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทปัจจุบัน พบว่า ได้รับผลกระทบในเรื่องของการยกเลิกคำสั่งซื้อของลูกค้าที่เป็นตลาดรายใหญ่ คือประเทศเยอรมัน ที่มีอัตราการสั่งสินค้าสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องยกเลิกคำสั่งซื้อ เนื่องจากทางบริษัทมีการปรับราคาสินค้าจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และไม่สามารถยอมรับกับเรื่องดังกล่าวได้ส่งผลให้ธุรกิจต้องชะลอตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเวลาเดียวกัน ด้าน นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการปฏิบัติหน้าที่แทน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เดินทางมาร่วมให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมามอบของขวัญสวัดีปีใหม่นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมยืนหนังสือถึงผลกระทบของภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่ได้รับความเดือด ร้อนในเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรง โดยต้องการเรียกร้องให้ทางรัฐบาลพิจารณามาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในภาคอุตสาหกรรมด้วย เบื้องต้นพบว่า จะมีการชี้แจงแนวทางในการแก้ไขปัญหาในวันพรุ่งนี้ (21 ม.ค.) ที่กรุงเทพฯ

(เนชั่นทันข่าว, 20-1-2556)

 

'การบินไทย' ยอมขึ้นเงินเดือน พนง.-สหภาพฯ ยุติชุมนุมแล้ว

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.56  เวลา 00.20 น. น.ส.แจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าวว่า หลังจากตัวแทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้เข้าประชุมเจรจากับ ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ คณะกรรมการบริหาร(บอร์ด ) เพื่อหาหาข้อสรุป โดยใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง ก็ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พอใจของทั้ง2 ฝ่าย ทางบอร์ด มีมติจะปรับเงินเดือนให้ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่ให้รัฐวิสาหกิจที่มีกำไร ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานไม่เกินร้อยละ 7.5 ส่วนโบนัสนั้น ทางบอร์ดจะนำผลประกอบการมาติดประกาศชี้แจงและพิจาณาตามผลกำไรที่เกิดขึ้น สร้างความพอใจให้กับพนักงานที่รวมตัวประท้วงอยู่ ณ ศูนย์ปฏิบัติการ ฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และแยกย้ายกันกลับไปทำหน้าที่ของตนเองเช่นเดิม

ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้นายอำพน กิตติอำพน ประธานบอร์ดการบินไทย ลาออกนั้น ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ระบุว่า ในวันนี้พนักงานทุกคนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ต้องการนายอำพน อีกต่อไป ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับนายอำพนว่า จะพิจารณาตนเองอย่างไรต่อไป

(คมชัดลึก, 20-1-2556)

 

ดันเด็กเรียนสายวิทย์-เทคโนฯ สู่ตลาดแรงงานอาเซียน

( 21 ม.ค.) ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า  ในปีการศึกษา 2554   สจล.  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)  ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันที่ผลิตบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ ประเทศ  สามารถผลิตบัณฑิต ได้ประมาณ 15,000 คน อาทิ  ด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานและตลาดอาเซียน  ในปี 2558

ศ.ดร.ถวิล กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่จะมีการเปิดประชาคมอาเซียนตนเห็นว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยจำเป็น ต้องมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และน่าจะถึงเวลาของการผลักดันให้ผู้เรียนหันมาสนใจด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีมากขึ้นด้วย  เพราะปัจจุบันมีผู้ที่เรียนทางด้านสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียง 20% ขณะที่สายสังคมศาสตร์สูงกว่า70%  อีกทั้งตลาดแรงงานทั้งในประเทศและอาเซียนยังต้องการบุคลากรทางด้านวิทยา ศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์ และคอมพิวเตอร์อีกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าบัณฑิตของไทยสามารถหางานทำในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ แต่ผู้ที่มีศักยภาพและความพร้อมที่สูงกว่าย่อมมีโอกาสที่ดีกว่าในการได้งาน ทำและมีความก้าวหน้าในอาชีพ จึงอยากให้นักเรียนหันมาสนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น.

(เดลินิวส์, 21-1-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net