Skip to main content
sharethis

 

 

23 ม.ค.56 ที่ศาลอาญา รัชดา เวลา 10.30 น. ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข  บก.นิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 โดยใช้เวลาในการอ่านราว 1 ชั่วโมง ท่ามกลางผู้สังเกตการณ์คดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศราว 200 คน ศาลพิพากษาให้สมยศมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 10 ปี จากความผิด 2 กรรม  บวกกับโทษเดิมเมื่อปี 2552 คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่รอลงอาญาไว้อีก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 11 ปี

คดีนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ และสถานทูตต่างๆ โดยครั้งนี้มีตัวแทนจากสถานทูตหลายแห่ง เช่น ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ฟินแลนด์, เดนมาร์ก, สวีเดน, ออสเตรเลีย รวมถึงตัวแทนจากสหภาพยุโรปและองค์การสหประชาชาติด้วย

ก่อนฟังคำพิพากษา สมยศซึ่งถูกนำตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากห้องขังใต้ถุนศาลอาญาว่า ยังคงมีความมั่นใจว่าจะชนะคดี เพราะไม่ได้กระทำผิด แต่ก็รู้สึกเครียดจนต้องใช้ยาเพื่อให้หลับ และไม่สามารถรับประทานอาหารเช้าได้  อย่างไรก็ตาม ภายหลังฟังคำพิพากษาไม่นานเจ้าหน้าที่ส่วนควบคุมตัวผู้ต้องหาได้แจ้งว่า สมยศถูกส่งตัวกลับเรือนจำไปแล้ว ซึ่งผู้สื่อข่าวตั้งข้อเกตว่าโดยปกติแล้วจำเลยในคดีอื่นๆ จะต้องถูกนำมาควบคุมตัวไว้ใต้ถุนศาลเพื่อรอรถกลับเรือนจำพร้อมกันในช่วงเย็น

นอกจากนี้ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ศาลยังได้ประกาศให้สื่อมวลชนสามารถรับคำพิพากษาย่อได้ที่โต๊ะประชาสัมพันธ์  (อ่านคำพิพากษาย่อในล้อมกรอบ)

ผู้สื่อข่าวรายงานประเด็นสำคัญในคำพิพากษาว่า ศาลได้อ่านข้อความในบทความ 2 ชิ้นตามฟ้องโดยละเอียด บทความดังกล่าวปรากฏในนิตยสาร Voice of Taksin ฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 ชื่อว่า ‘แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น’ และ ‘6 ตุลาแห่งพ.ศ.2553’ ตามลำดับ โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า ‘จิตร พลจันทร์’

ศาลได้กล่าวถึงข้อต่อสู้สำคัญของจำเลยในส่วนต่างๆ ว่า ที่จำเลยต่อสู้ว่าตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบกับบทความที่ผู้อื่นเขียนนั้น ย่อมหมายความว่า จำเลยพ้นจากความผิดตาม พ.ร.บ.การพิมพ์เท่านั้น แต่ความผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย

ข้อต่อสู้ที่ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้เขียนนั้น ศาลระบุว่าไม่รับวินิจฉัยเพราะโจทก์ฟ้องว่าจำเลยหมิ่นสถาบันกษัตริย์ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ ข้อต่อสู้ของจำเลยว่าไม่ได้เขียนจึงไม่ใช่การกระทำที่ถูกฟ้อง

ส่วนข้อต่อสู้ว่าจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างของนิตยสารฉบับนี้ก็ไม่มีน้ำหนักให้วินิจฉัย โดยศาลอ้างถึงพยานโจทก์ 4 ปากซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ของนิตยสารเสียงทักษิณว่า ทั้งหมดเบิกความสอดคล้องกันว่าจำเลยเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาตีพิมพ์บทความต่างๆ ในนิตยสารแต่เพียงผู้เดียว และทั้งหมดไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

ในส่วนว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือไม่นั้น ศาลอ้างถึงคำเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์หลายปาก อาทิ พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), พ.อ.พีระ ฉิมปรี ผู้อำนวยการกรมยุทธการทหารบก, นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, นายบวร ยะสินธร เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ซึ่งล้วนตีความบทความทั้งสองชิ้นว่า สื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติที่เบิกความเกี่ยวกับพงศาวดารเกี่ยวกับพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) ด้วย แม้พยานจำเลย เช่น นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเบิกความทำนองเดียวกันว่าหลังจากอ่านบทความแล้วไม่สามารถระบุได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ แต่น่าจะหมายถึงอำมาตย์ โดยศาลระบุว่า เมื่อเชื่อมโยงกับพงศาวดารที่ประชาชนรู้กันทั่วไป  ประกอบกับการผูกเรื่องว่าผ่านมา 200 กว่าปีนั้นประชาชนย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 1 และทำให้เมื่ออ่านบทความในส่วนอื่นๆ ก็สามารถเชื่อมโยงได้ถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งมีการกล่าวหาว่ามีส่วนในการลอบสังหารทักษิณ ชินวัตร และอยู่เบื้องหลังการสังหารประชาชน

นอกจากนี้การกล่าวถึงประวัติศาสตร์โดยระบุถึงผู้มีอำนาจเหนือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารฝ่ายซ้าย, ผู้อำนาจเหนือจอมพลถนอม-ประพาส-ณรงค์ และอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นการสื่อให้เข้าใจได้ว่า ผู้มีอำนาจเหนือทั้งรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือน ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ว่าในบทความจะไม่ได้ระบุชื่อและกล่าวถึงตัวละคร ‘หลวงนฤบาล’ ที่ไม่มีอยู่จริงก็ตาม

ศาลระบุด้วยว่า เนื้อหาของบทความดังกล่าวมีความผิดตามฟ้อง จำเลยซึ่งจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรสื่อมวลชน การนำเสนอข่าวของจำเลยต้องมีการวิเคราะห์ก่อน โดยเฉพาะตำแหน่ง บก.บห. ต้องมีวิจารณญาณสูงกว่าประชาชนทั่วไป ย่อมต้องรู้ว่าบทความดังกล่าวหมิ่นประมาทกษัตริย์ และไม่มีความจริง แต่จำเลยยังคงลงพิมพ์ เผยแพร่ จึงเป็นการกระทำโดยเจตนา ส่วนที่ต่อสู้ว่ามีเวลาอ่านบทความจำกัดและเมื่ออ่านแล้วเห็นว่าสื่อถึงอำมาตย์ ไม่คิดว่าเป็นพระมหากษัตริย์นั้นก็ฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 2 กรรม ลงโทษกรรมละ 5 ปี บวกกับโทษเดิม อ.1078/52 อีก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี  

ด้านนายคารม พลพรกลาง ทนายจำเลยระบุว่าจะยื่นประกันตัวสมยศอีกครั้ง และเตรียมจะอุทธรณ์คดีต่อไป

สำหรับความเคลื่อนไหวในส่วนต่างๆ นั้น ภายหลังคำพิพากษาไม่กี่ชั่วโมง กลุ่มโครงการรณรงค์เพื่อเสื้อผ้าที่สะอาดปลอดการกดขี่ หรือ Clean Cloth Campaign (CCC) ร่วมกับโครงการรณรงค์ปล่อยตัวสม ยศ Free Somyot Campaign และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย Thai Labour Campaign (TLC) ออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสินกรณี สมยศ พฤกษาเกษมสุข พร้อมระบุว่า คำตัดสินวันนี้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อหลักนิติธรรมของประเทศไทยและจะทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองในอนาคต

ด้านสหภาพยุโรป แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการลงโทษครั้งนี้ โดยระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่ออย่างรุนแรง และกระทบต่อภาพลักษณ์สังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพของประเทศไทย 

นอกจากนี้นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ เอเชีย มองว่าคำสั่งศาลดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับความพยายามแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของสมยศ มากกว่าจะเป็นเรื่องอันตรายใดๆ ที่เกี่ยวกับสถาบัน โดยตำรวจ อัยการ ศาล และเจ้าหน้าที่รัฐมักไม่กล้าที่จะไม่สั่งฟ้องคดีลักษณะนี้ เนื่องจากกลัวข้อครหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายมาตรานี้  โดยที่ผ่านมา บุคคลหรือกลุ่มบุคคล มักใช้มาตรานี้ในการเล่นงานทางการเมือง

"คำตัดสินและโทษของสมยศควรถูกพิจารณาในฐานะสัญญาณว่าความแตกแยกร้าวลึกทางการเมืองของไทยนั้นยากจะเยียวยา" ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ระบุ

ทั้งนี้ สมยศ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นประธานสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย มีประวัติเคลื่อนไหวด้านแรงงานเรื่อยมา จนปี 2550 เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin และเป็นแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ไม่กี่วันก่อนถูกจับในวันที่ 30 เม.ย.54 เขาออกมาเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อยกเลิกกฎหมายมาตรา 112

ชื่อของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจัดอยู่ในรายชื่อผังล้มเจ้าของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2553 ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 สื่อหลายแห่งถูกปิด และเขาถูกคุมตัวอยู่ในค่ายทหารเป็นเวลา 19 วัน หลังจากได้รับการปล่อยตัว เขาเปลี่ยนชื่อนิตยสารจาก Voice of Thaksin เป็น Red Power

เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันจับกุม ทนายของเขาได้ยื่นประกันตัวถึง 11 ครั้งแต่ได้รับการปฏิเสธ นอกจากนี้ทนายยังได้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 112 ด้วยซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

การสืบพยานในคดีของเขานั้นดำเนินการใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, สระแก้ว, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, สงขลา ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านบันทึกสังเกตการณ์คดี รายละเอียดคำเบิกความของพยานปากต่างๆ ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/61#detail

 

 

คำพิพากษา (ย่อ)

คดีหมายเลขดำที่ อ.1962/2554

ระหว่าง    พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์

              นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข               จำเลย

 

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2553 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ปีที่ 1 ฉบับที่ 15 ปักษ์หลังกุมภาพันธ์ 2553 บทความคมความคิด ของผู้ใช้นามปากกา จิตร พลจันทร์ เรื่องแผนนองเลือด กับยิงข้ามรุ่น หน้าที่ 45-47 โดยเนื้อหาของบทความสื่อให้เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นผู้ออกคำสั่งให้สังหารประชาชนจำนวนมากในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และทรงเป็นผู้วางแผนตระเตรียมสร้างสถานการณ์เพื่อสังหารประชาชนจำนวนมากอย่างโหดเหี้ยมรุนแรงภายหลังวันพิพากษายึดทรัพย์ของพลตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่มีมูลความจริง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเมื่อระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2553 เวลากลางวันถึงวันที่ 15 มีนาคม 2553 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยกระทำการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย  ด้วยการดำเนินการจัดพิมพ์ จัดจำหน่วยและเผยแพร่ต่อประชาชน ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ทั่วราชอาณาจักรไทย ซึ่งนิตยสารเสียงทักษิณ  (Voice of Taksin) ปีที่ 1 ฉบับที่ 16 ปักษ์แรก มีนาคม 2553 บทความคมความคิด ของ ผู้ใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ เรื่อง 6 ตุลาคม 2553 หน้าที่ 45-47 โดยเนื้อหาของบทความดังกล่าว สื่อให้เข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพฤติการณ์ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้งและเกิดการนองเลือดขึ้นในประเทศไทยจำนวนหลายชุด และยังทรงเป็นผู้วางแผนในการทำลายฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีมูลความจริงและเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58,91,112 และขอให้นำโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1078/2552 ของศาลอาญามาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่จำเลยต่อสู้ว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ได้มีบทบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง นั้น ย่อมหมายความว่าจำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 เท่านั้น ส่วนการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามฟ้อง ไม้ได้ถูกยกเลิก โดยผลของกฎหมายดังกล่าวด้วย ที่จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้เขียนบทความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้นั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำที่ถูกฟ้อง และไม่ใช่ประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะรับวินิจฉัย จึงไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ส่วนประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่นั้น เห็นว่าบทความคมความคิด ในนิตยสารเสียงทักษิณทั้งสองฉบับ มีเนื้อหาที่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อบุคคล แต่เขียนโดยมีเจตนาเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อนำเหตุการณ์ในอดีตมาเชื่อมโยงแล้วสามารถระบุได้ว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื้อหาของบทความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ การที่จำเลยนำบทความไปจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่ จึงมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อมีการจัดพิมพ์นิตยสาร 2 ฉบับ ต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน จำนวน 2 กรรม

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมสองกระทงแล้ว จำคุก 10 ปี บวกโทษจำคุก 1 ปีในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1078/2552 ของศาลอาญา รวมเป็นจำคุก 11 ปี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net