สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ชุมนุมร้องรัฐบาลแก้ปัญหาเลิกจ้าง

สมาชิกสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ฯ 50 คน ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบ วอนรัฐช่วยแก้ปัญหาเลิกจ้างสมาชิก 129 คน ชี้เป็นการฉวยโอกาสทำลายสหภาพฯ หลังยื่นปรับค่าแรงเพิ่มจากอายุงานตามนโยบาย 300 บาท เตรียมประท้วงหน้า สนง.ใหญ่ 25 ม.ค.นี้

23 ม.ค.56 ที่บริเวณบาทวิถีใกล้ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ตรงข้ามสำนักงานคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีผู้ชุมนุมจากสหภาพแรงงาน อิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ประมาณ 50 คน ซึ่งได้เดินทางมาปักหลักชุมนุมจากจังหวัดระยองตั้งแต่ 1.00 น. ของวันเดียวกัน เพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล กรณีที่กรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้าง 129 คน หลังเจรจาขอปรับค่าจ้างตามนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาล โดยให้รัฐบาลดำเนินการให้บริษัทฯ มาเจรจากับสหภาพฯ และรับพนักงานทุกคนเข้ากลับทำงานในตำแหน่งและหน้าที่เดิมและสภาพการจ้างเดิม

ทั้งนี้เวลา 11.00 น. ตัวแทนผู้ชุมนุมได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนายสุภรณ์ ได้รับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขภายใน 2 สัปดาห์

หลังยื่นหนังสือผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมอยู่บริเวณดังกล่าวเพื่อรอความคืบหน้า จนกระทั่งเวลา 17.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมตัดสินใจย้ายข้ามฝั่งมาชุมนุมที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ริมคลองเปรมประชากร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าหากไม่ย้ายจะดำเนินการรื้อเต็นท์ที่พัก

ภาพขณะย้ายจากหน้าประตู 4 ทำเนียบมายังเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและที่ปรึกษาสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ฯ  กล่าวถึงกรณีคนงาน 129 คน ที่ถูกเลิกจ้างนั้น ประกอบไปด้วยกรรมการสหภาพฯ สมาชิกสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ฯ เป็นส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเสนอขอให้บริษัทพิจารณาปรับค่าจ้างตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยเพิ่มขึ้นตามอายุงานด้วย รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี, โบนัส และให้บรรจุพนักงานเหมาค่าแรงที่มีอายุงาน 6 เดือนขึ้นไป ให้มีสิทธิสอบบรรจุเป็นพนักงานประจำ โดยในระหว่างการเจรจานั้นบริษัทได้เลิกจ้างคนงานดังกล่าว ระบุว่ามีความผิดละทิ้งหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ซึ่งตนเองมองว่าเป็นการฉวยโอกาสทำลายสหภาพแรงงานเนื่องจากผู้ที่ถูกเลิกจ้างส่วนมากเป็นแกนนำของสหภาพฯ

ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ฯ  เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 25 ม.ค. นี้ เวลา 9.00 น. ทางสหภาพแรงงานฯ จะเดินทางไปชุมนุมที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ที่อาคารอิเลคโทรลักซ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทมาเจรจากับสหภาพแรงงานฯ และรับคนงานกลับเข้าทำงานด้วย

บุญยืน กล่าวด้วยว่า สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ฯ ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณกลางปี 53 ขณะนี้มีสมาชิกอยู่ประมาณ 250 คน จากคนงานประจำประมาณ 380 คน ซึ่งไม่รวมคนงานเหมาค่าแรง นายจ้างเป็นสัญชาติสวีเดน โรงงานเปิดมาเมื่อปี 46 ซึ่งครบ 10 ปีในปีนี้  ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม RIL เลขที่ 169 ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย ระยอง และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อาคารอิเลคโทรลักซ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กทม. ผลิตเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องดูดฝุ่น ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ

บุญยืน สุขใหม่ 

บุญยืน สุขใหม่ เล่าถึงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นว่า สืบเนื่องจากกรณีที่มีการประกาศปรับค่าจ้าง 300 บาท ก่อนหน้านั้นเงินเดือนของคนงานส่วนใหญ่ไม่ถึง 9,000 บาท แต่อายุงานแต่ละคนจากพนักงานที่มี 800 กว่าคนนั้นจะแตกต่างกันออกไป เงินเดือนจึงกระจายกันที่ 7,000 – 9,000 บาท หรือบางคนไปถึงใกล้หมื่นบาท แต่อายุงานก็ตั้งแต่รุ่นก่อตั้งบริษัท 9-10 ปี พลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท สหภาพแรงงานฯ ก็มองเห็นว่าบริษัทควรมีนโยบายที่จะปรับเพิ่มให้กับคนที่ได้ค่าแรงมากกว่านั้นด้วย จึงมีการประชุมคณะกรรมการลูกจ้างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย. แต่ถึงเดือน ธ.ค.บริษัทก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในการประชุม

โดยสหภาพฯ มีข้อเสนออยู่ 3 ประเด็นที่เป็นปัญหาหลักๆ ในเรื่องของการปรับค่าจ้างตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยให้เพิ่มขึ้นตามอายุงานด้วย เพราะถ้าปรับทุกคนมากองกันที่ 9,000 บาท โดยไม่คำนึงถึงอายุงานเลยก็เหมือนว่าไม่เป็นธรรมกับคนที่อายุงานมากกว่า  อีกประเด็นในส่วนของอิเลคโทรลักซ์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่จริงๆ แล้วมีกำไรมหาศาลจากที่สหภาพแรงงานฯ ได้ตรวจสอบงบดุลมา 3 ปีสุดท้ายนี้กำไรต่อปี 3 พันกว่าล้าน แต่การจ้างงานของเขามีพนักงานเหมาค่าแรงถึง 600 คน พนักงานประจำเพียงแค่ 300 กว่าคนเท่านั้นเอง สหภาพแรงงานฯ จึงมีข้อเสนอให้บรรจุพนักงานเหมาค่าแรงที่มีอายุงาน 6 เดือนขึ้นไปให้มีสิทธิสอบบรรจุเป็นพนักงานประจำและอีกประเด็นคือเรื่องของโบนัสซึ่งเรามองว่าน่าที่จะกำหนดให้สหภาพแรงงานฯ รู้ก่อน

สหภาพฯ ได้มีการเจรจาพูดคุยมาเรื่อย แต่ทางบริษัทก็ปฏิเสธ จนกระทั่งหลังปีใหม่ สหภาพแรงงานฯ ได้ทำหนังสือขอประชุมกรรมการลูกจ้างวันที่ 10 ม.ค. เพื่อกำหนดให้มีความชัดเจน ในระหว่างการเจรจาตั้งแต่เที่ยงถึงบ่าย 3 สมาชิกสหภาพแรงงานและคนงานเกือบทั้งหมดได้มีการหยุดฟังผลการเจรจา จนเป็นประเด็นว่าในขณะที่กรรมการลูกจ้างก็มีการเจรจาไป ส่วนพนักงานก็ไม่ได้ทำงาน ตรงนั้นถ้ามองในมุมกฎหมายแรงงานเขาก็บอกว่าเราละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

แต่ในโต๊ะเจรจาบริษัทก็ตกลงว่าจะหาทางออกร่วมกัน โดยก็บอกว่าจะพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นให้ และทางสหภาพแรงงานก็ไม่ได้ระบุว่าปรับเพิ่มเท่าไหร่เพียงแต่รับหลักการว่าสหภาพมีข้อเสนออย่างนี้ และในส่วนของโบนัสด้วย เรื่องของบรรจุพนักงานเหมาค่าแรงด้วย แต่จะประกาศให้ทราบอีกทีในวันที่ 11 ม.ค.โดยให้นัดพนักงานทั้ง 2 กะ มาฟังคำชี้แจงพร้อมกัน โดยสหภาพแรงงานให้เซ็นต์รับรองในบันทึกการประชุมว่าจะไม่เอาโทษทั้งทางแพ่งและอาญากับคนงาน โดยตัวแทนบริษัทไม่ยอมเซ็นต์แต่รับปากว่าจะไม่เอาผิด ให้ถือว่าแล้วๆ กันไป พูดง่ายๆ ว่าเป็นสัญญาลูกผู้ชาย เพราะอยู่ด้วยกันมานานแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาเซ็นต์เอกสารอะไร และกรรมการสหภาพก็อยู่มาตั้งแต่รุ่นก่อตั้งโรงงาน ซึ่งก็คงจะมีการไว้วางใจกันเพราะเจรจากันบ่อย คิดว่าไว้ใจกันได้จึงไม่ได้เซ็นต์เอกสาร

พอรุ่งขึ้นของวันที่ 11 ม.ค. พนักงานทั้ง 2 กะ ก็มาตามที่บริษัทนัด เมื่อถึงเวลาบริษัทก็เข้ามาชี้แจงโดยผู้บริหารชาวสวีเดนและชาวไทย เขาก็ชี้แจงเฉพาะเรื่องโบนัสว่าปีนี้จะจ่ายโบนัส 2 เดือน พูดเพียงเท่านั้นแล้วก็กลับ โดยไม่พูดถึงประเด็นเรื่องคนงานเหมาค่าแรงและการปรับค่าจ้าง ทั้งๆ ที่จริงๆ มีการรับปากว่าจะมีการปรับ ทำให้พนักงานยกมือตั้งคำถามทั้ง 2 ฝั่งคือทั้งนายจ้างและสหภาพแรงงานฯ เนื่องจากสหภาพฯ เป็นคนที่เข้าไปเจรจา ทางประธานสหภาพฯ คือคุณไพวรรณ์ เมทา จึงได้ลุกไปถามผู้บริหารว่าทำไมอีก 2 ข้อไม่ชี้แจงว่าจะปรับหรือไม่ปรับอย่างไร เพราะได้มีการรับปากกันไว้แล้ว ทีนี้ทางผู้บริหาร 2 คนก็นำตัวคุณไพวรรณ์ ออกไปนอกโรงงาน เหมือนมีการวางแผนไว้แล้ว หลังจากนั้นรถตู้ก็วิ่งเข้ามา คุณไพวรรณ์ถูกนำตัวขึ้นไป จากนั้น เขาถูกเลิกจ้างด้วยข้อหาก่อความวุ่นวายในโรงงาน ส่งผลให้กรรมการสหภาพและสมาชิกสหภาพแรงงานที่อยู่ด้านในไม่พอใจสิ่งที่ทางบริษัททำ เนื่องจากคนงานไม่ได้มาชุมนุม เพียงแค่มาตามที่บริษัทนัดมาเพื่อรับฟังคำชี้แจง จึงเรียกร้องให้นำตัวประธานสหภาพแรงงานกลับเข้ามาเพื่อชี้แจง และฝ่ายสหภาพแรงงานก็ไม่ได้เรียกร้องแบบมัดมือชกว่าต้องจ่ายเท่านั้นเท่านี้ เพราะจากการพูดคุยก่อนหน้าก็เพียงที่จะให้ชี้แจงว่าปรับได้หรือไม่อย่างไรเท่านั้นเอง

ด้านผู้บริหารปฏิเสธที่จะเจรจาและกลับเข้าไปในโรงงาน หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนิคมฯ และของบริษัทฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.บ้านค่าย เหมือนกับมีการวางแผนไว้แล้ว เข้ามาพร้อมกันแล้วก็ไล่พนักงานที่อยู่ในที่ประชุม และบริษัทก็ได้ออกประกาศให้ทุกคนกลับเข้าไปทำงานตามปกติ แต่คนงานยังต้องการให้ประธานสหภาพแรงงานกลับมา ทุกคนจึงยังไม่ยอมกลับและอยู่ตรงนั้นต่อ จึงเกิดการไล่และยื้อกัน  โดยไล่คนงานออกจากที่ประชุมมานอกอาคารทั้งพนักงานกะเช้าและกลางคืน โดยเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและ รปภ. ได้ล้อมไว้โดยใช้เชือกแถบขาวแดงมากั้น ยืนล้อมและเฝ้าไว้ คนงานไปไหนไม่ได้ กะกลางคืนจะกลับบ้านก็กลับไม่ได้ ห้องน้ำก็ไม่ให้เข้า พอถึง 11 โมงก็เริ่มหิวข้าว และมี 3 คนที่เป็นคนท้อง สามีที่อยู่โรงงานเดียวกันแต่ไม่ได้ร่วมชุมนุมในตอนเช้านั้น ก็ได้ซื้อข้าวมาให้ พอสามีเข้ามาถึง เจ้าหน้าที่ก็ล็อคตัวและนำไปรวมกับกลุ่มที่ถูกล้อมไว้ จนถึงบ่าย 3 โมง บริษัทฯ ก็ออกมาประกาศเลิกจ้างด้วยวาจา

หลังจากนั้นก็จะไล่คนงานออกนอกพื้นที่ แต่ของใช้คนงานยังอยู่ในล็อคเกอร์ จะไปเอาก็ไม่ได้รับอนุญาต จนมีการให้ รปภ.ของบริษัทคุมไป 1 คนต่อ 1 คน ทีละคนกว่าจะได้ครบจนหมด ถึงเวลา 17.00 น. คนงานก็มารวมตัวกันที่หน้าโรงงาน แต่ตรงกับเสาร์อาทิตย์จึงยังไม่มีการชุมนุมแบบตั้งม็อบและทุกคนคิดว่าเป็นเพียงแค่ประกาศเลิกจ้างด้วยวาจา ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ในวันจันทร์ คนงานทุกคนก็เดินทางกลับมาทำงานตามปกติ และพบประกาศรายชื่อเลิกจ้าง โดยที่รายชื่อนั้นมีทั้งพนักงานกะกลางวันและกลางคืน ทั้งที่ กะกลางคืนไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์บางคนนอนอยู่บ้านก็มีรายชื่อถูกเลิกจ้าง พวกเราจึงมองว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เหมือนมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า และทุกคนที่ถูกเลิกจ้างเป็นแกนนำหลักๆ ของสหภาพแรงงานทั้งนั้นเลย ส่วนบางคนเข้ากะกลางคืนถึงแม้อยู่ในที่ชุมนุมจะมาเลิกจ้างเขาก็ไม่ถูกเพราะไม่ได้ผิดกฎหมาย รวมทั้งบางคนไม่ได้มาชุมนุมแต่นอนอยู่บ้านเข้ากะดึกก็มีชื่อถูกเลิกจ้าง จึงแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นการล้มสหภาพแรงานแน่นอน

โดยถูกเลิกจ้าง 129 คน และตอนหลังมีการดึงเอาคนท้องกลับเข้าไปทำงาน และมีพนักงานบางส่วนที่เข้าไปลงชื้อแสดงเจตนากลับเข้าทำงานแต่ให้ไปนอนรออยู่ที่บ้านก่อน ถึงทุกวันนี้เขาก็ยังไม่ได้เรียกตัวกลับเข้าไปทำงาน จดหมายเลิกจ้างที่บริษัทส่งไปรษณีย์ EMS แจ้งไปตามภูมิลำเนาของพนักงานนั้นลงเวลา 9.00 น. ของวันที่ 11 ม.ค. แต่ประกาศเลิกจ้างด้วยวาจาวันที่ 11 ม.ค.เวลา 15.00 น. จึงเหมือนกับว่ามีการวางแผนทุกอย่างไว้ล้วงหน้าแล้ว เราจึงคิดว่างานนี้จึงคงยืดเยื้อเพราะไม่ใช่ประเด็นเรื่องของค่าจ้าง 300 บาท แต่เป็นเรื่องของการพยายามที่จะล้มสหภาพแรงงาน

การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเราได้มีการประสานกับแรงงานจังหวัดและผู้ว่าราชการ ให้ลงไปไกล่เกลี่ยในวันที่ 11 ม.ค.ที่เริ่มเกิดปัญหา แต่กลับได้รับการปฏิเสธทุกส่วน ส่วนแรงงานจังหวัดก็ได้เข้าไปตามหน้าที่ ส่วนของผู้ว่าราชการนั้นน่าผิดหวังเนื่องจากปฏิเสธที่จะเข้าไปไกล่เกลี่ย รวมทั้งตนเองได้โทรมาแจ้งที่กองแรงงานสัมพันธ์ที่กระทรวงแรงงาน เพราะอยากให้คนที่มีอำนาจมากกว่าหัวหน้าแรงงานจังหวัดเข้ามา เพราะหัวหน้าแรงงานจังหวัดไม่มีความสามารถในการไกล่เกลี่ยได้เนื่องจากบริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญ ทางกองแรงงานสัมพันธ์กลับบอกให้รอดูผลก่อน

จึงมีการปรึกษาไปที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็โยนกลับไปที่หัวหน้าแรงงานจังหวัดอีก สรุปสุดท้ายในวันที่ 11 ม.ค.จึงไม่ได้มีความคืบหน้าอะไร คนงานจึงถูกเลิกจ้าง หลังจากนั้นในวันจันทร์ที่ 14 ม.ค. ทุกคนรู้ว่าถูกเลิกจ้างแน่นอนแล้วเนื่องจากบริษัทมีประกาศรายชื่อไว้ที่หน้าโรงงาน สหภาพฯ ก็มีการชุมนุมกันที่หน้าโรงงานมีการตั้งเต็นท์ พอบ่ายทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาแจ้งว่าทางนิคมอุตสาหกรรมเหมราชได้มาแจ้งความดำเนินคดีเพื่อให้ย้ายออกนอกพื้นที่ แต่ทางพวกเราก็ยังยื้ออยู่ ในระหว่างนั้นเราก็ประสานหน่วยงานอื่นอย่างกระทรวงแรงงานเพื่อเข้ามาไกล่เกลี่ย แต่ก็ยังไม่ได้เข้ามาโดยใช้โทรแจ้งรายงานเหตุการณ์

วันอังคารที่ 15 ม.ค.ได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมายื่นหนังสือกับศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ หลังจากนั้นได้ไปยื่นหนังสือที่กรรมาธิการด้านแรงงานในสภาผู้แทนราษฎร โดยได้มีการรับปากว่าจะดำเนินการเรียกนายจ้างเข้ามาสอบข้อเท็จจริง แต่เราก็รอมาจนถึงครบอาทิตย์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเราก็ได้ติดตามความคืบหน้า แต่ละที เช่น โทรมาที่สำนักเลขาของทำเนียบ กลับบอกว่ายังไม่ได้รับเรื่องหรือเห็นเอกสารของเรา และโทรไปสอบถามกับทางกรรมาธิการด้านแรงงานในสภาฯ ก็บอกว่ายังไม่มีคำสั่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

ส่วนที่มีความคืบหน้าคือ อินดัสเตรียล ออล (Industrial All) หรือ สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ที่เป็นองค์กรแรงงานสากล ได้มีการออกหนังสือและสื่อทางสวีเดน และ อินดัสเตรียล ออล นั้นสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ที่สวีเดนก็เป็นสมาชิกอยู่ ในส่วนของพวกเรากลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกก็เคยทำงานประสานกับเขาอยู่ เขาได้มีออกหนังสือประท้วงไปที่บริษัทที่สวีเดน และล่าสุดที่ทราบบริษัททำหนังสือตอบกลับไปที่อินดัสเตรียล ออล ว่าได้รับการชี้แจงจากทางประเทศไทยว่าทางลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ทำให้บริษัทเสียหายและอ้างข้อกฎหมาย ซึ่งในรายละเอียดอย่างข้อเท็จจริงที่ได้บอกไปนั้น เนื่องจากมีการเจรจามาอย่างยาวนาน และทุกอย่างมีเหตุผลซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ คนจะออกมาผละงาน โดยทางเราเตรียมส่งหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมไป

เหตุที่ตัดสินใจมาที่ทำเนียบเนื่องจากก่อนหน้านี้เราได้ประสานไปยังทำเนียบแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า สภาก็ยังไม่มีความคืบหน้า และในส่วนของพื้นที่เมื่อวันศุกร์ที่แล้วเราก็ได้ไปยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมของผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และได้มีการติดตามความคืบหน้าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯ ก็แจ้งว่าทางผู้ว่าได้สั่งการให้ทางเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ สุดท้ายก็ไปกองอยู่ที่คนๆ เดียว เราจึงมองว่าเรื่องของเราไม่ไปถึงไหนแน่ และทางนิคมก็ได้ทำหนังสือแจ้งให้เราออกจ้างพื้นที่โดยด่อนไม่เช่นนั้นจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งทางเขาก็ได้มีการแจ้งความไว้แล้วนั้น เราก็มองว่าถ้าเรายื้ออยู่ตรงนั้นไม่กี่วันหมายศาลก็คงมา แต่ถ้าย้ายก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนจึงตัดสินใจมาทวงถามที่รัฐบาล ประเด็นหนึ่งอาจไม่ใช่ปัญหาแต่ความเชื่อมโยงมาจากประเด็นค่าแรง 300 บาท ซึ่งเราก็คิกว่ารัฐบาลก็น่าที่จะหันมาให้ความสนใจกับประเด็นนี้และแก้ไขปัญหา ส่วนอีกประเด็นคือการเลิกจ้างในครั้งนี้เรามองว่ามันเป็นการล้มล้างสหภาพแรงงานซึ่งเราคิดว่าเป็นละเมิดสิทธิแรงงาน

สวีเดนเองเป็นประเทศที่เคารพสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรอง เป็นประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ แต่มาลงทุนในประเทศไทยกลับมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปในทางละเมิดสิทธิดังกล่าวมันก็ไม่ถูกต้อง และมาตั้งโรงงานไม่กี่ปีได้กำไรไปมหาศาล  เหมือนกับว่าคุณมากอบโกยเอาตรงนี้ ไปให้กับคนสวีเดนสร้างรัฐสวัสดิการ เหมือนกับการมาล่าอาณานิคมอะไรหรือไม่ ดังนั้นพลเมืองสวีเดนก็ควรที่จะตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย

สำหรับการชุมนุมที่หน้าทำเนียบนี้ทางสหภาพฯ จะชุมนุมเพื่อรอติดตามความคืบหน้า เนื่องจากการเดินทางจากระยองมาแต่ละครั้งค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งทางนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่รับเรื่องไปนั้นก็รับปากจะแก้ปัญหาภายใน 2 สัปดาห์ จึงจะชุมนุมที่นี่จนกว่าเรื่องจะจบ

ภาพบรรยากาศ :

ขณะเจ้าหน้าที่มาเจรจาให้ย้ายพื้นที่การชุมนุม

การชุมนุมที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

อุปกรณ์แสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท