Skip to main content
sharethis

อบต.ในพื้นที่เหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ร่อนหนังสือถึงอุตสาหกรรมจังหวัด ขอถอนเอกสารการทำประชาคมหมู่บ้านมาแก้ใหม่ รับว่าผิดระเบียบ ด้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ เตรียมหลักฐานฟ้องศาล

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค.56 เวลา 14.00 น.นายทองหล่อ ทิพสุวรรณ์ กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้นำเอกสารมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว พร้อมกล่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนตำบลนาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำบลที่อยู่ในขอบเขตเหมือง ตามแผนผังเหมืองแร่ใต้ดิน โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 2.6 หมื่นไร่ ได้ทำหนังสือ ขอถอนเอกสารการจัดประชุมประชาคมหมู่บ้าน ต่ออุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านแล้ว
 
จากการตรวจสอบพบว่าหนังสือที่อด 72801/027 ลงวันที่ 15 มกราคม 2556 ลงนามโดยนายก อบต.นาม่วง ได้ส่งถึงอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี มีใจความบางตอนระบุว่า... “องค์การบริหารส่วนตำบลนาม่วง จึงขอถอนเอกสารการจัดประชุมประชาคมหมู่บ้านเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปรแตชที่ส่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีตามหนังสือที่นำส่งเลขที่ อด72801/507 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2555 คืนเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามคู่มือปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องการให้ความเห็นในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ พ.ศ.2545 ต่อไป”
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการส่งเอกสารการประชาคมหมู่บ้านและรายงานการประชุมสภาฯ ไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อใช้ประกอบการขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี แต่ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ยื่นหนังสือให้อบต./เทศบาล ยกเลิกและถอนเอกสารกลับคืนมาดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ โดยเห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบคู่มือปฏิบัติงานฯ เช่น ในส่วนขององค์ประกอบผู้เข้าร่วมการประชาคมไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ รวมทั้งมีการสร้างหลักฐาน และเอกสารเท็จในการประชาคมที่ส่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดด้วย
 
ด้านนายทองหล่อ ทิพสุวรรณ์ กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการทำประชาคมหมู่บ้านและรายงานการประชุมสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตเหมืองทั้งหมด 5 ตำบล พบว่าไม่เป็นไปตามระเบียบคู่มือปฏิบัติงานฯ ซึ่งกลุ่มชาวบ้านก็ทำหนังสือคัดค้านมาโดยตลอด บางตำบลก็ยอมรับว่าทำผิดและนำมาแก้ไขใหม่ แต่บางตำบลก็ดันทุรังทำไปทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ถูก
 
“ตามประทานบัตรเหมืองจะอยู่กับชาวบ้านอย่างน้อย 25 ปี แต่เห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยังทำผิดระเบียบและไม่โปร่งใสกับชาวบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยทางกลุ่มฯ ก็กำลังรวบรวมหลักฐานเตรียมฟ้องคดีต่อศาล” นายทองหล่อกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net