รื้อเรือนจำเก่า เพื่อ (จอง) จำประวัติศาสตร์ใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรือนจำหญิงกลาง ที่ จ.เชียงใหม่ (ที่มาของภาพประกอบบทความ: Pensupa Sukkata Jai Inn)

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ข่าวคราวหนึ่งที่สร้างความตื่นตัวในแวดวงคนเชียงใหม่คงจะหนีไม่พ้น “การไปดูคอก" หลังจากที่ได้มีการย้ายผู้ต้องขังหญิงออกจากเรือนจำหญิงกลางเมืองเชียงใหม่ แล้วเสร็จไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา การย้ายออกของเรือนจำจากสถานที่เคยเป็นที่ตั้งของเวียงแก้ว (พระราชวัง) เมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้ หลายภาคส่วนโดยเฉพาะนักวิชาการท้องถิ่นบางกลุ่มถึงกับถือว่าเป็นความสำเร็จในการร่วมมือกันของภาคประชาชนหรือท้องถิ่นในการเรียกร้องรัฐบาลให้คืนพื้นที่ที่มีสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้กับชาวเชียงใหม่ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมชองประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น เวทีประชาพิจารณ์เรื่องการเปลี่ยนพื้นที่เรือนจำให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่จัดขึ้นหลายครั้ง [1] การประกาศตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามโครงการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะ [2]

และครั้งล่าสุดคือ การเสวนา “จากคุ้มสู่คอก จากคอกสู่...” เพื่อระดมความเห็นครั้งสำคัญของนักวิชาการและประชาชนจากหลายภาคส่วน เพื่อหาข้อสรุปเสนอต่อรัฐบาลในการเปลี่ยนพื้นที่เรือนจำเก่าในฐานะความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมท้องถิ่น แม้ว่าจะมีแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายที่ถูกเสนอเพื่อการจัดการเปลี่ยนพื้นที่เรือนจำเก่าซึ่งเคยเป็นเวียงแก้ว (พระราชวัง) โบราณแห่งนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิด “รื้อเรือนจำเก่า สร้างพื้นที่ประวัติศาสตร์ใหม่” นั้น ถือเป็นแนวคิดกระแสหลักในการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว

ดูเหมือนว่าความคิด “รื้อเรือนจำเก่า สร้างพื้นที่ประวัติศาสตร์ใหม่” จะเป็นการสมาทานแนวคิดท้องถิ่นนิยม และ หลักการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อย่างเต็มรูปแบบ แต่ในอีกมุมหนึ่งสิ่งที่นักเคลื่อนไหวกระแสหลักกลุ่มต่างๆ ได้ดำเนินการนั้นกลับเป็นแค่การผูกขาดความรู้และความจริงเกี่ยวกับ “เรือนจำ” และ “เวียงแก้ว” ไว้ในมือของนักวิชาการท้องถิ่นด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงความจริงได้เพียงส่วนเดียวเท่านั้น

 

เรือนจำ: ประวัติศาสตร์ของการเลือกให้จำ

เวียงแก้ว มีประวัติศาสตร์เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ในสมัยพญามังราย เมื่อปี 1839 โดยมีการสร้างหอนอน โรงคัล โรงคำ เหล้ม และฉางหลวงขึ้นในเวียงแก้วในคราวเดียวกัน [3] นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์เวียงแก้วที่มีอายุยาวนานมาถึงปัจจุบันกว่า 700 ปี หากแต่ประวัติศาสตร์เวียงแก้วในฉบับของนักวิชาการท้องถิ่นนั้นกลับเต็มไปด้วยการเลือกเอาเฉพาะบางเหตุการณ์หรือหลักฐานบางชิ้นมาเรียบเรียงเผยแพร่ให้ประชาชน

ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ ที่ตั้งขึ้นโดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายท่าน (ซึ่งมีส่วนในการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนพื้นที่เรือนจำมาเป็นเวลากว่าสิบปี) ได้มีการเผยแพร่ลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเวียงแก้วไว้ทางเพจในเฟซบุ๊คของศูนย์ ซึ่งน่าสนใจว่า ลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเวียงแก้วถูกข้ามไปเป็นเวลากว่า 600 ปี คือจากปี 1839 ไปถึงปี 2442 แต่ทางศูนย์ฯ กลับเลือกเน้นถึงประวัติศาสตร์ของการกลายเป็นเรือนจำของพื้นที่เวียงแก้วโดยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ในปี 2442 และปี 2451 [4] ทั้งที่ระหว่างช่วงเวลาที่หายไปดังกล่าวก็ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการใช้พื้นที่พระราชวังของกษัตริย์เชียงใหม่ เช่น การสร้างที่ประทับของกษัตริย์ที่เวียงเจ็ดลิน หรือที่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ [5] หรือพลวัติการใช้พื้นที่คุ้ม (วัง) ของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในช่วงเริ่มต้นของการขยายอำนาจของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเข้ามาในล้านนา ซึ่งพบว่าพื้นที่คุ้ม มีการเปลี่ยนมือ และมีการนำไปให้รัฐบาลสยามใช้ประโยชน์ (โดยมิได้มีการบังคับ) หลายครั้ง [6] และตามมาด้วยการเน้นบทบาทของศูนย์ศึกษาปัญหาเมืองเชียงใหม่ และมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่ (ซึ่งมีผู้นำเป็นนักวิชาการกลุ่มเดียวกันกับศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่) เป็นแกนกลางของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการขอคืนพื้นที่เวียงแก้ว โดยมิได้กล่าวถึงบทบาทหรือการดำเนินการของกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนในการขอคืนพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากการเลือกเฉพาะบางเหตุการณ์มาเขียนประวัติศาสตร์เวียงแก้วของศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่แล้ว ยังมีนักวิชาการบางกลุ่มได้เลือกสร้างความทรงจำให้เวียงแก้วด้วยการนำเอารูปภาพโบราณของสถาปัตยกรรมคล้ายวิหารล้านนาหลังหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2483 ในหนังสือของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ภายใต้ชื่อ “เวียงแก้ว จ.เชียงใหม่” [7] มาเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของหอคำ (ท้องพระโรง) เมืองเชียงใหม่ ที่อยู่ภายในเวียงแก้ว ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวมิได้ปรากฏที่มาหรือวันเวลาหรือสถานที่ถ่ายภาพที่ชัดเจน จนภาพดังกล่าวกลายเป็นที่เชื่อถือของคนทั่วไป ดังเช่น การนำภาพดังกล่าวไปแสดงไว้ในนิทรรศการที่เรือนจำหญิงเชียงใหม่ ที่เปิดให้สาธารณชนเข้าชมก่อนการรื้อถอน [8] หรือการใช้ภาพถ่ายดังกล่าวเป็นตัวแบบหนึ่งในการสร้างหอคำหลวงในงานราชพฤกษ์เมื่อปี 2549 [9] แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางท่านได้วิพากษ์ภาพถ่ายดังกล่าวว่ามิใช่หอคำเมืองเชียงใหม่ เช่น ไกรสิน อุ่นใจจินต์ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ที่กล่าวว่าภาพดังกล่าวน่าจะเป็นภาพโบราณของวิหารวัดหลวงราชสัณฐาน จ.พะเยา [10] หรือ ทวีศักดิ์ เกียรติวีระศักดิ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสนอว่า ภาพดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นหอพระ เขตพระราชวัง [11] ซึ่งถูกเสนอในปี ๒๕๕๑ แต่ข้อวิพากษ์เหล่านี้กลับถูกละเลยที่จะนำเสนอสู่สาธารณชนทั่วไปจนกระทั่งปัจจุบัน

 

(เรือน)จำ(กัด)ประวัติศาสตร์ของประชาชน

แม้ว่าจะมีหลายภาคส่วนที่พยายามยกเอาการรื้อถอนเรือนจำออกจากบริเวณเวียงแก้วเป็นเสมือนการคืนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้กับท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ของเวียงแก้ว-เรือนจำก็เป็นได้เพียงภาพจำลองของประวัติศาสตร์รัฐชาติแบบรวมศูนย์ที่ไม่เคยให้ตำแหน่งแห่งที่กับประชาชนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเลย ไม่ว่าจะเป็น ลำดับเหตุการณ์สำคัญในการเรียกร้องให้ย้ายคุกออกจากหอคำเวียงแก้ว เชียงใหม่ ของศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ ที่กล่าวถึงแต่เพียงการดำเนินการของหน่วยงานรัฐและกลุ่มนักวิชาการท้องถิ่นในการคืนพื้นที่เรือนจำ โดยไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของประชาชนแต่อย่างใด [12] หรือ ส่วนประวัติความเป็นมาของพื้นที่ ใน ข้อมูลพื้นฐาน: โครงการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะ ที่เน้นความเป็นมาของการใช้พื้นที่เรือนจำโดยรัฐ ทั้งในระดับท้องถิ่น (เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่) และรัฐส่วนกลาง (รัฐบาลสยาม) [13] หรือแม้แต่วันเริ่มทุบรื้อเรือนจำก็ยังยึดเอาวันที่เชื่อว่าเป็นวันประสูติพญามังรายเป็นฤกษ์ [14] มีเพียงบางบทความที่มีการกล่าวถึงประชาชนไว้ในประวัติศาสตร์เวียงแก้ว-เรือนจำ เช่น คุ้มในคอก คอกในคุ้ม ของสมโชติ อ๋องสกุล ที่แม้จะมีการกล่าวถึงประชาชนในท้องถิ่น แต่ก็เป็นเพียงการบรรยายถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของนักโทษในสมัยโบราณที่สิทธิทางการศาลยังอยู่ที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ [15]

หากประวัติศาสตร์ของเวียงแก้ว-เรือนจำยังคงเห็นว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นเพียงการเน้นเฉพาะแต่บทบาทของกษัตริย์ (พญามังราย/เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่) รัฐ (รัฐบาลของเชียงใหม่และรัฐบาลสยาม) ปัญญาชน (นักวิชาการท้องถิ่น เช่น ไกรศรี นิมมานเหมินทร์) ที่มีต่อเวียงแก้ว-เรือนจำ โดยละเลยที่จะให้คุณค่าต่อความทรงจำของประชาชนในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าของผู้คนในช่วงเวลาต่างๆเกี่ยวกับเวียงแก้ว-เรือนจำ หรือ ประวัติศาสตร์ชุมชนโดยรอบที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลายาวนาน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นดังกล่าวก็หาได้ต่างอะไรจากประวัติศาสตร์ชาติแบบรวมศูนย์ที่เน้นศูนย์กลางอยู่ที่กษัตริย์-รัฐ ที่จำกัดไม่ให้ประชาชนเข้าถึงและสามารถมีส่วนร่วมรังสรรค์ประวัติศาสตร์ได้

 

รื้อเรือนจำแต่ไม่รื้ออำนาจ

นับตั้งแต่มีการดำเนินการขอเข้าใช้พื้นที่เรือนจำหญิงเชียงใหม่ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2540 ได้สร้างความตื่นตัวให้แก่นักวิชาการท้องถิ่นจำนวนมากในการเรียกร้องที่จะดึงเอาอำนาจในการตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่เรือนจำเป็นพื้นที่สาธารณะมาสู่ประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน การจัดอภิปรายแนวทางการพัฒนาพื้นที่เรือนจำ การเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านทางวิทยุ [16]

อย่างไรก็ตามพบว่าไม่ได้มีการดำเนินการเรียกร้องอำนาจครั้งใดที่เริ่มต้นขึ้นจากประชาชน หากแต่บทบาทนำกลับอยู่ที่กลุ่มนักวิชาการและภาครัฐเป็นรัฐ ดังจะเห็นว่าในการแต่งตั้คณะกรรมการและอนุกรรมการดำเนินงานโครงการปรับปรุงทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะโดยนายกเทศมนตรีเชียงใหม่ ในปี 2551 ไม่มีประชาชนทั่วไปดำรงตำแหน่งเลย [17] หรือในการเรียกร้องให้ย้ายเรือนจำหญิงออกจากพื้นที่เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งนำโดยมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ก็มีองค์กรร่วมเพียงราว 17 องค์กรจากทั้ง 28 องค์กรที่เป็นองค์กรประชาชน [18]

นอกจากนี้ยังพบว่าข้อเสนอแนะของประชาชนที่ถูกนำเสนอต่อยอดหรือนำไปเป็นข้อเสนอทางเลือกนั้น ไม่ได้เป็นข้อเสนอทั้งหมดของประชาชน หากแต่เป็นข้อเสนอที่ถูกเลือกแล้วโดยนักวิชาการหรือองค์กรผู้จัดเสวนา ดังจะพบว่ามีข้อเสนอบางส่วนที่ถูกละเลยไปในการเสวนาในครั้งถัดมา เช่น ข้อเสนอแนะที่จะเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานสุขภาพเพื่อรองรับกลุ่มเยาวชนจากสถานศึกษาหลายแห่งที่ตั้งอยู่รอบบริเวณดังกล่าวแทนที่จะสร้างสวนสาธารณะ [19] ลักษณะดังกล่าวจึงยังคงเป็นคำถามว่าอำนาจถูกเปลี่ยนผ่านจากมือของรัฐมาสู่มือของประชาชนหรืออยู่ในมือของนักวิชาการ

 

เลิกจองจำชีวิตมาจองจำความคิด

จากคำแถลงถึงแนวทางของรัฐบาลในการปรับปรุงพื้นที่เรือนจำ โดย เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะผู้ร่วมเสวนา ในงานเสวนาครั้งล่าสุด “จากคุ้มสู่คอก จากคอกสู่...” ที่จัดคือเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ว่า ทางรัฐบาลจะอนุมัติงบจำนวน 1,200 ล้านบาทปรับปรุงพื้นที่เรือนจำเก่าเป็นข่วงหลวงเวียงแก้ว ประดิษฐานพระนวพุทธชยันตี [20] รวมถึงจัดสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม และจำลองสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งรวมไว้ในบริเวณดังกล่าว ภายใต้ชื่อ “พุทธมณฑลเชียงใหม่” พร้อมกับการสร้างอาคารพื้นถิ่นล้านนาขนาดใหญ่ในทำนองการจำลองที่ประทับเจ้านายล้านนา [21] แนวทางดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในหมู่นักวิชาการและประชาชนทั่วไปทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ประเด็นของการสร้างพุทธมณฑลเชียงใหม่โดยรัฐ ไม่ได้เป็นเพียงนโยบายสร้างพุทธสถานไว้ให้แก่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐในการใช้อำนาจสถาปนาอุดมการณ์หลักของชาติในพื้นที่สาธารณะ และการสร้างเบ้าหลอมทางความคิดเพื่อผลิตพลเมืองตามความประสงค์ของรัฐ ในที่นี้คือ การสร้างพื้นที่สำหรับพุทธศาสนา ศาสนาหลักของชาติ เพื่อผลิตพุทธศาสนิกที่มีความคิดอ่านตามที่รัฐต้องการ โดยปราศจากความคำนึงถึงประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนาซึ่งต่างก็เป็นผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงพื้นที่สาธารณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การสร้างอาคารเรือนไม้สักแบบล้านนาคล้ายที่ประทับของเจ้านายล้านนา ก็ยังคงเป็นการผลิตซ้ำสาระของประวัติศาสตร์ที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางให้แก่ประชาชนเฉกเช่นที่เคยเป็นมา

 

อดีตของเรือนจำ อนาคตของความจำ

ความเปลี่ยนแปลงของเรือนจำที่จะมาถึงในระยะอันใกล้นี้คือสิ่งที่เราไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ การรื้อเรือนจำและสร้างความ (จอง) จำทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ โดยมีรัฐบาลและนักวิชาการที่สมาทานตนเป็นนักท้องถิ่นนิยมเป็นผู้กระทำ ในขณะที่เราเพียงแต่เฝ้าดูโดยไม่ใยดีและไม่ปรารถนาจะมีส่วนร่วมนั้น จะต่างอะไรไปจากผู้ชมที่เสพติดกับมหรสพตบตาที่ถูกตกแต่ง ดัดแปลง เลือกสรร โดยผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน ในขณะที่โลกนอกโรงละครนั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่นักประพันธ์ละทิ้งและปิดบังเราไว้มากมาย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราในฐานะประชาชนคนหนึ่งจะต้องคำนึงและพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างทันท่วงที ไม่เป็นเพียงผู้อ่านประวัติศาสตร์ที่ตนเองไม่ได้เลือก ไม่เป็นเพียงคนส่วนน้อยที่ละทิ้งสิทธิอันพึงมีให้รัฐย่ำยีอย่างจำนน  ไม่เป็นเพียงผู้ที่ยืนอยู่ที่เส้นขอบของปริมณฑลแห่งอำนาจ หากแต่ต้องเดินก้าวไปไกลกว่าการยอมให้ตัวเองเป็นเพียงผู้ถูกจองจำทางความคิดด้วยประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นใหม่ซึ่งเราไม่มีส่วนร่วม นี่คือเวลาครั้งสำคัญที่ประชาชนต้องแสดงตนเป็นผู้หลุดพ้นจากการถูกจองจำทางความคิดด้วยการเป็นมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ของเวียงแก้ว-เรือนจำ ในฐานะศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

 

อ้างอิง

[1] ประชาไท, ระดมความเห็นปรับปรุงเรือนจำเชียงใหม่เป็นพื้นที่สาธารณะ (2009) http://prachatai.com/journal/2009/03/20196

[2] ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่: ลำดับเหตุการณ์สำคัญในการเรียกร้องให้ย้ายคุกออกจากหอคำเวียงแก้ว เชียงใหม่,https://www.facebook.com/cusc.chiangmai/posts/439183889488920

[3] อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด วัยอาจ. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่: 2540

[4] ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่: ลำดับเหตุการณ์สำคัญในการเรียกร้องให้ย้ายคุกออกจากหอคำเวียงแก้ว เชียงใหม่,https://www.facebook.com/cusc.chiangmai/posts/439183889488920

[5] เพิ่งอ้าง

[6] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากความคิดเห็นของ วรชาติ มีชูบท ใน facebook.com

[7] ที่นี่ล้านนา, จากคุ้มเจ้า สู่เรือนจำ และสวนสาธารณะ http://www.teeneelanna.com/moojoomhao/home/space.php?uid=1&do=blog&id=1703

[8] ดูภาพการเปิดเรือนจำและนิทรรศการให้ชม ที่นี่

[9] Hotsia, หอคำหลวง, http://www.hotsia.com/chiangmai/royal-pavilion-horkhumluang/index.shtml

[10] ประชาไท, นักวิชาการสถาปัตย์เสนอใช้หลักโบราณคดีพิสูจน์สิ่งก่อสร้างใต้ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่, http://prachatai.com/journal/2008/12/19465

[11] เพิ่งอ้าง

[12] ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่: ลำดับเหตุการณ์สำคัญในการเรียกร้องให้ย้ายคุกออกจากหอคำเวียงแก้ว เชียงใหม่,

[13] หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่, ข้อมูลพื้นฐาน: โครงการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะ, www.cmocity.com/park/Newpark.doc

[14] สรุปการเสวนา "จากคุ้มสู่คอก จากคอกสู่...”, เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์, 22 ม.ค. 56 https://www.facebook.com/notes/pensupa-sukkata-jai-inn/588414821172793/588414821172793

[15] สมโชติ อ๋องสกุล, คอกในคุ้ม-คุ้มในคอก, ใน โลกล้านนา http://www.lannaworld.com/story/narrative/narrative33.php

[16] ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่: ลำดับเหตุการณ์สำคัญในการเรียกร้องให้ย้ายคุกออกจากหอคำเวียงแก้ว เชียงใหม่,

[17] เพิ่งอ้าง

[18] เพิ่งอ้าง

[19] โอเคเนชั่น, เปลี่ยนคุก...ให้เป็นมากกว่าสวนได้ไหม?, http://www.oknation.net/blog/print.php?id=338739

[20]เดลินิวส์, เชียงใหม่เตรียมทุบทัณฑสถานหญิงหลังเดิมสร้างข่วงหลวงเวียงแก้ว,     http://www.dailynews.co.th/thailand/178735

[21] สรุปการเสวนา "จากคุ้มสู่คอก จากคอกสู่...”, เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์, 22 ม.ค. 56 https://www.facebook.com/notes/pensupa-sukkata-jai-inn/588414821172793/588414821172793

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท