Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

[1] ความนำ

การขี่จักรยานนับเป็นวิธีการเดินทางของผู้คนในประเทศอังกฤษประเภทหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อการสัญจรสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองและปริมลฑลแล้ว การขี่จักรยานนอกจากจะสามารถสร้างประโยชน์หลายประการต่อการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในคราวเดียวกัน การขี่จักรยานยังช่วยให้ผู้ขับขี่จักรยานมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ กระแสการขี่จักรยานและการใช้งานจักรยานสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่ปริมลฑล จึงกลายมาเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก (mainstream culture) ประการหนึ่งสำหรับผู้คนในชุมชนเมืองในประเทศอังกฤษ กล่าวคือ ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคอุตสาหกรรมจักรยาน ภาคธุรกิจค้าจักรยาน กลุ่มผู้ใช้จักรยานและประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันสร้างกระแสวัฒนธรรมและแนวคิดในการสนับสนุนการใช้งานและการขับขี่จักรยานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอในพื้นที่ชุมชนเมืองและปริมลฑล ตัวอย่างเช่น การที่รัฐได้จัดให้มีการพัฒนาระบบการสัญจรทางจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองและปริมลฑล เพื่อเป็นทางเลือกในการสัญจรของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง โดยรัฐมีหน้าที่ในการจัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการขับขี่จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง ได้แก่ ประการแรก การสร้างช่องทางสัญจรจักรยานหรือเลนจักรยานท้องถนนเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรจักรยานกับเอื้อต่อความปลอดภัยของผู้สัญจรจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองและปริมลฑล ประการที่สอง รัฐยังมีหน้าที่จัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนต่อการขับขี่จักรยานและการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง เช่น การจัดที่จอดจักรยานไว้ใกล้กับพื้นที่ชุมชนเมือง อันทำให้ประชาชนสะดวกในการเดินทางในพื้นที่ชุมชนเมืองหรือการจัดที่จอดจักรยานไว้ใกล้กับสถานีขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ ดังเช่น สถานีรถไฟ สถานีรถไฟใต้ดิน สถานีรถโดยสารระหว่างเมือง เป็นต้น

ดังนั้น รัฐบาลและรัฐสภาอังกฤษจึงได้พยายามแสวงหานโยบายสาธารณะและมาตรการทางกฎหมายที่เอื้อต่อการการสัญจรโดยการขี่จักรยานและวัฒนธรรมการใช้จักรยานของประชาชนในประเทศ[1] โดยคำนึงถึงสาระสำคัญหลายประการที่เกี่ยวข้องกับแนวทางและวิธีการในการสนับสนุนระบบการสัญจรทางจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองและปริมลฑล ตัวอย่างเช่น มาตรการด้านจราจรที่สนับสนุนการจัดระเบียบการจราจร[2]และการเสริมสร้างความปลอดภัยสำหรับผู้ขี่จักรยานในช่องทางสัญจรจักรยานหรือเลนจักรยานท้องถนนที่อาจต้องใช้ถนนร่วมกับผู้ขับขี่ยานพาหนะประเภทอื่นๆ และผู้ที่สัญจรบนทางเท้าหรือบาทวิถีสาธารณะ มาตรการส่งเสริมความปลอดภัยของพาหนะประเภทจักรยานถีบ โดยรัฐบาลอังกฤษได้กำหนดมาตรฐานวัสดุและอุปกรณ์ของจักรยานเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยสำหรับสุขภาพและชีวิตของผู้ขับขี่จักรยาน[3] มาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์จักรยานสำหรับผู้บริโภค (consumer product safety) ที่กำหนดให้ผู้ผลิตจักรยานและผู้ค้าปลีกจักรยานมีหน้าที่ในการจัดหาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย (safe products) สำหรับผู้บริโภคที่ซื้อจักรยานจากผู้ผลิตหรือผู้ค้าปลีกจักรยานมาใช้งานบนท้องถนน[4] เป็นต้น

นอกจากมาตรการด้านจราจร มาตรการส่งเสริมความปลอดภัยของพาหนะประเภทจักรยานถีบ และมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์จักรยานสำหรับผู้บริโภคแล้ว รัฐบาลอังกฤษยังได้กำหนดมาตรการที่สำคัญประการหนึ่งในการกำหนดการวางผังและแผนที่ชุมชนเมืองและปริมลฑลที่เอื้อประโยชน์หรือเอื้อต่อการใช้งานจักรยาน นั้นคือ มาตรการทางกฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่สนับสนุนการใช้งานจักรยานและวัฒนธรรมการใช้จักรยาน

รูปที่ 1 ปริมาณการจำหน่ายจักรยานในประเทศอังกฤษที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปี (ระหว่าง ค.ศ. 2007-2011)

ที่มา Association of the European Two-Wheeler Parts' & Accessories' Industry, 'European Bicycle Market 2012 edition', available from http://www.ctc.org.uk/resources/ctc-cycling-statistics

[2] กฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับทางจักรยาน

การวางผังสำหรับการพัฒนาชุมชนเมือง (Urban Development Planning) ต้องอาศัยหลักเกณฑ์หลายประการเข้าด้วยกัน เพื่่อกำหนดบริบทของผังเมืองในด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน อนึ่ง การวางผังเมืองจำต้องอาศัยกฎหมายผังเมืองฉบับต่างๆ ที่เอื้อหรือสอดรับกับการพัฒนาหรือสนับสนุนวัฒนธรรมการใช้งานจักรยานในพื้นที่ต่างๆ ของชุมชนเมืองและปริมลฑลทั้งในปัจจุบันและอนาคต[5] เพราะรัฐและท้องถิ่นของอังกฤษมีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งให้ประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงหรือเลือกที่จะใช้การคมนาคมขนส่งได้ทุกประเภท ด้วยเหตุนี้รัฐและท้องถิ่นของอังกฤษจึงต้องพัฒนาสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและท้องถิ่น ให้สอดรับกับการคมนาคมขนส่งประเภทต่างๆ รวมไปถึงการคมนาคมโดยอาศัยจักรยานเป็นพาหนะด้วย

ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงได้ตรากฎหมายผังเมืองเพื่อให้เอื้อต่อการจัดทำบริการสาธารณะด้านการวางผังเส้นทางการใช้งานจักรยานให้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (network of cycle routes) ได้แก่ พระราชบัญญัติ Cycle Tracks Act 1984 และพระราชบัญญัติ Town and Country Planning Act 1990 โดยกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ได้ถูกตราขึ้นให้สอดรับกับการวางแผนยุทธศาสตร์ของชาติกับยุทธศาสตร์ในแต่ละท้องถิ่นในการพัฒนาชุมชนเมืองและปริมลฑลให้มีโครงสร้างพื้นฐานสอดรับการใช้งานจักรยานในประเทศและในท้องถิ่นระดับต่างๆ ตัวอย่างเช่น การสร้างทางจักรยานในชุมชนเมือง (urban cycle tracks) ให้สอดรับกับการใช้งานจักรยานของประชาชนบางส่วนในชุมชนเมืองและสอดรับกับการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองและแนวโน้มที่ประชาชนอาจหันมาใช้งานจักรยานแทนการใช้ยานพาหนะประเภทอื่นๆ ในอนาคต การสร้างสาธารณูปโภคอื่นๆ ให้สอดรับกับการใช้งานจักรยานในชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น การจัดให้มีทางลาดสำหรับเข็นจักรยานบริเวณขั้นบันได (cycle ramp alongside step) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานจักรยานที่จะเข็นขึ้นพื้นที่ลาดชัน ไฟจราจรสำหรับทางจักรยาน (traffic operations)[6] เป็นต้น

[2.1] พระราชบัญญัติ Cycle Tracks Act 1984

กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้รัฐ ส่วนราชการและหน่วยงานของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่งสาธารณะมีหน้าที่ให้การจัดทำบริการสาธารณะในการคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับการใช้งานจักรยานของประชาชนในท้องถิ่น โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ประชาชนสามารถใช้จักรยานเป็นยานพาหนะบนทางจักรยานหรือเลนจักรยาน (cycling track) อันเป็นการสถาปนาสิทธิในการสัญจรโดยจักรยานถีบในช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ให้ (a right of way on pedal cycles) อนึ่ง ทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ให้ประชาชนโดยทั่วไป อาจเป็นทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่ใช้พื้นที่สัญจรร่วมกับทางเท้า[7]หรือบาทวิถีปกติของประชาชนหรืออาจเป็นทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่แยกออกมาต่างหากจากทางเท้าหรือบาทวิถีปกติของประชาชน[8]

พระราชบัญญัติ Cycle Tracks Act 1984 ยังได้กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยอื่นๆ สำหรับผู้ขับขี่จักรยาน ตัวอย่างเช่น รัฐ ท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องต้องมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างปลอดภัย และระหว่างมีการซ่อมบำรุงทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่รัฐหรือท้องถิ่นได้จัดไว้ให้ประชาชนนั้น รัฐ ท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจำต้องหาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยาน เพื่อป้องกันไม่ให้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานได้รับอันตรายระหว่างมีการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยาน[9]

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดในเรื่องของค่าสินไหมทดแทน (Compensation)[10] สำหรับบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการจงใจหรือประมาทเล่นเล่อของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานของท้องถิ่น ที่เป็นเหตุให้ผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานได้รับความเสียหายจากการสัญจร โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานของรัฐที่จงใจหรือประมาทเล่นเล่อดังกล่าว ก็เพื่อมุ่งในการเยียวยา (recovery) ความเสียหายของผู้สัญจรช่องทางจักรยานหรือเลนจักรยานที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพยสิน ได้รับการเยียวยาให้กลับเป็นปกติ

รูปที่ 2 ทางจักรยานแบบปันส่วน (Share Bikeway) ในเมืองเลสเตอร์ สหราชอาณาจักรที่ก่อสร้างโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก European Regional Development Fund (ERDF) และ Leicester City Council ประเทศอังกฤษ (ผู้เขียนบทความถ่าย)

 [2.2] พระราชบัญญัติ Town and Country Planning Act 1990

พระราชบัญญัติ Town and Country Planning Act 1990 เป็นกฎหมายแม่บทที่สำคัญสำหรับรัฐ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และท้องถิ่นของอังกฤษในการกำหนดทิศทางการวางแผนพัฒนาเมือง (Development plans) และควบคุมการพัฒนาเมือง (Development control)[11] ซึ่งรัฐ หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่นต้องกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองในภาพรวมและท้องถิ่นให้เข้ากัน โดยภายใต้กฎหมายฉบับนี้ รัฐ หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่นจำต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคที่จำเป็นเพื่อความสะดวกในการสัญจรและการเดินทางโดยอาศัยยานพาหนะทุกประเภท รวมไปถึงการจัดให้มีทางจักรยาน (cycling route)[12] เพื่อให้ประชาชนสามารถอาศัยจักรยานเป็นทางเลือกหนึ่งในการสัญจรได้ นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายฉบับนี้รัฐ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่นยังต้องจัดให้มีความสะดวกในการเดินทางของประชาชนโดยเชื่อมโยงทางจักรยานให้เชื่อมโยงและเอื้อต่อการสัญจรยานพาหนะประเภทอื่นๆ โดยสะดวกอีกด้วย เช่น ท้องถิ่นควรจัดให้มีที่จอดรถจักรยานในบริเวณพื้นที่สถานีรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ขับขี่จักรยานทุกคนที่สัญจรโดยจักรยานมายังสถานีรถไฟ เพื่อใช้บริการรถไฟสาธารณะอีกทอดหนึ่ง เป็นต้น

รูปที่ 3 จุดจอดจักรยานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดไว้บริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ(ผู้เขียนบทความถ่าย)

รูปที่ 4 จุดจอดจักรยานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดไว้บริเวณพื้นที่ตรงข้ามสถานีรถไฟเมืองแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งสะดวกต่อประชาชนในการนำจักรยานมาจอดไว้ใกล้กับสถานีรถไฟและสามารถเดินทางต่อโดยรถไฟสาธารณะได้ทันที (ผู้เขียนบทความถ่าย)

[3] มาตรการทางกฎหมายผังเมืองของอังกฤษสนับสนุนวัฒนธรรมการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองได้อย่างไร?

ข้อดีมาตรการทางกฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสัญจรโดยจักรยาน นอกจากจะเป็นการวางมาตรการที่ทำให้การใช้งานจักรยานกลายมาเป็นทางเลือกสำหรับการคมนาคมของประชาชนชาวอังกฤษประเภทหนึ่งแล้ว มาตรการทางกฎหมายผังเมืองของอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับจักรยานยังสามารถช่วยส่งเสริมแนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคตให้สอดคล้องกับความต้องการการใช้และขับขี่จักรยาน เพื่อทดแทนการใช้งานยวดยานพาหนะประเภทอื่นๆ หรือเพื่อให้สามารถใช้งานจักรยาน โดยเชื่อมโยงกับบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งประเภทอื่น ที่จัดทำขึ้นโดยรัฐและท้องถิ่นของอังกฤษ

รูปที่ 5 ทางจักรยานที่แยกออกจากพื้นที่บาทวิถีอย่างชัดเจน (ผู้เขียนบทความถ่าย)

ดังนั้น การจัดให้มีมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการด้านจราจร มาตรการส่งเสริมความปลอดภัยของพาหนะประเภทจักรยานถีบ มาตรการส่งเสริมความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์จักรยานสำหรับผู้บริโภคและมาตรการทางกฎหมายผังเมืองดังที่ได้บรรยายในบทความฉบับนี้แล้ว ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ในเรื่องการขับขี่จักรยานของรัฐบาลและประชาชนชาวอังกฤษ ให้กลายมาเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางในพื้นที่ชุมชนเมือง ทำให้เอื้อต่อการเดินทางและการใช้งานจักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการเสริมสร้างค่านิยมและพฤติกรรมของประชาชนอังกฤษให้มีความมั่นใจในการขับขี่จักรยานให้กับคนทุกเพศ ทุกวัยและทุกชนชั้นทางสังคม

 

 

 




[1] คณะกรรมการและคณะกรรมาธิการของรัฐสภาอังกฤษชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมสาธารณะและการผังเมือง ได้พยายามศึกษาและจัดทำรายงาน เอกสารสรุปผลการศึกษา และการศึกษาข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมใช้จักรยาน โปรดดู UK Parliament, 'Cycling', available from http://www.parliament.uk/topics/Cycling.htm accessed 23 January 2013.

[2] ตัวอย่างเช่น มาตรา 72 ของพระราชบัญญัติ Highway Act 1835 ได้ห้ามผู้ขับขี่จักรยานขับขี่จักรยานบนทางเท้าหรือบาทวิถี หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นจำนวนเงิน £30 (ประมาณ 1,500 บาท) โปรดดู Louise B, 'Cycling: Offences', House of Commons, 2 May 2012, p2.

[3] โปรดดูเพิ่มเติมใน ข้อบังคับ Pedal Bicycles (Safety) Regulations 2010 ที่ออกโดยรัฐสภาอังกฤษ โดยกำหนดให้จักรยานทุกคันต้องได้รับการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานจักรยาน เช่น การติดตั้งไฟจักรยาน การติดตั้งกระดิ่งจักรยาน เป็นต้น UK Legislation, 'The Pedal Bicycles (Safety) Regulations 2010', available from http://www.legislation.gov.uk/uksi/2010/198/contents/made accessed 23 January 2013.

[4] โปรดดูข้อบังคับ General Product Safety Regulations 2005 ที่ออกโดยรัฐสภาอังกฤษ อันกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องของการคุ้มครอง ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆ (consumer protection) โดยผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ได้รวมไปถึงจักรยานที่ถือเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งในท้องตลาดประเทศอังกฤษด้วย UK Legislation, 'The General Product Safety Regulations 2005', available from http://www.legislation.gov.uk/uksi/2005/1803/contents/made accessed 23 January 2013. accessed 23 January 2013.

[5] ในบางท้องถิ่นของประเทศอังกฤษ ตัวอย่างเช่น ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 สภาท้องถิ่นเมืองยอร์ก (York City Council) ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองให้สอดรับการใช้งานจักรยานของผู้คนในชุมชนเมืองบางส่วน (Cycling Strategy) โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน City of York Council, 'Strategic Cycle Route Network Consultation', available from http://www.york.gov.uk/info/200210/cycling/303/cycling/2 accessed 23 January 2013.

[6] โปรดศึกษาเพิ่มเติมใน Transport of London, 'The London Cycling Design Standards report - Chapter 2 Procedures', Transport of London, London, 2012, p 30-36.

[7] พระราชบัญญัติ Cycle Tracks Act 1984 ได้ให้อำนาจท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแปลงหรือปรับทางเท้าหรือบาทวิถี (Conversion of footpaths into cycle tracks) มาเป็นทางจักรยานหรือเลนจักรยานได้ แต่การแปลงหรือปรับการแปลงหรือปรับทางเท้าหรือบาทวิถีมาเป็นทางจักรยานหรือเลนจักรยานดังกล่าว ต้องไม่ขัดต่อมาตรฐานการผังเมืองที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทั่วไปของทางจักรยานและบาทวิถี โปรดดู Section 3 of the Cycle Tracks Act 1984

[8] Section 1 of the Cycle Tracks Act 1984

[9] Section 4 of the Cycle Tracks Act 1984

[10] Section 5 of the Cycle Tracks Act 1984

[11] Dewey R, 'Town and Country Planning for Beginners', available from  https://www.waterways.org.uk/pdf/restoration/trh_planning accessed 23 January 2013.

[12] Cardiff Council, ‘Cardiff Cycle Design Guide’, Cardiff Cycle Network - RHYDWAITH SEICLO CAERDYDD, July 2011, p 107.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net