กองทัพคะฉิ่นเสียป้อมสำคัญ "ออง ซาน ซูจี" ออกวิทยุบีซีซีระบุชอบกองทัพพม่าเพราะพ่อตั้ง

กองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่นยอมถอนกำลังออกจากที่มั่นบนยอดเขาแห่งหนึ่งใกล้เมืองไลซา ฐานบัญชาการใหญ่ หลังถูกกองทัพพม่าโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่อย่างหนักมาหลายสัปดาห์ ขณะที่รายการเพลงทางวิทยุบีบีซี 4 เผยคำให้สัมภาษณ์ "ออง ซาน ซูจี" ระบุรักกองทัพมากๆ เพราะคิดเสมอว่าเป็นกองทัพของพ่อ เและหวังว่ากองทัพซึ่งเคยทำสิ่งเลวร้ายควรจะได้กู้ชื่อเสียง

ชาวคะฉิ่นที่อยู่ในประเทศไทยมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติสงครามในรัฐคะฉิ่น ที่หน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ถ.สาธร เมื่อ 11 มกราคม 2556 ล่าสุด กองทัพคะฉิ่น KIA ยอมถอนกำลังออกมาจากป้อมบนยอดเขาใกล้เมืองไลซา ที่มั่นใหญ่ หลังพม่าโจมตีหนักมาหลายสัปดาห์ (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ทหารกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น KIA ที่แนวหน้า (ที่มา: Lachid-Kachin/แฟ้มภาพ)

การสูญเสียเสียป้อมสำคัญบนยอดเขา ซึ่งใช้ป้องกันฐานบัญชาการใหญ่ของที่เมืองไลซา กองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) ได้สร้างความหวาดกลัวขึ้นในเมือง ซึ่งฝ่ายกองทัพคะฉิ่นปกครองมากว่า 50 ปี โดยอาจจะต้องเสียฐานบัญชาการให้กองทัพพม่าเร็วๆ นี้ และทำให้มีผู้อพยพเข้าไปในจีน

ทั้งนี้ เดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษ รายงานว่า กองทัพคะฉิ่น KIA ได้เสียป้อมคะยาบุม (Hka Ya Bum) จุดยุทธศาสตร์สำคัญบนยอดเขา ห่างจากไลซาเป็นระยะทาง 8 กม. ไปเมื่อวันเสาร์นี้ (26 ม.ค.) หลังพม่าโจมตีด้วยปืนใหญ่ ทำให้ฝ่ายกองทัพคะฉิ่นล่าถอยไปจากป้อมคะยาบุมไปทางทิศใต้ 

"กองทัพพม่าได้ควบคุมยอดเขาสูงสุด และตอนนี้ควบคุมแนวเทือกเขาส่วนมากแล้ว" พันเอกเซา ตอง จากกองบัญชาการกลาง KIA ที่ไลซากล่าว "ยังมีแนวเทือกเขาอีก 2 แห่งระหว่างคะยาบุม กับ ไลซา แต่ว่าคะยาบุมถือเป็นยอดเขายุทธศาสตร์ เป็นยอดที่สูงสุดของเทือกเขา นั่นหมายความว่ากองทัพพม่าไม่จำเป็นต้องเคลื่อนกำลังพลเข้ามา เพียงแค่พวกเขายิงปืนใหญ่ต่อไป พวกเราก็อาจจะต้องล่าถอย (จากไลซา) ในอนาคต"

ในขณะที่กองทัพคะฉิ่น KIA เคยควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ตลอดเแนวเทือกเขา ทว่า ตั้งแต่คริสมาสต์ที่ผ่านมา พวกเขาต้องตกเป็นฝ่ายทำสงครามตั้งรับ เมื่อกองทัพพม่าได้เปิดการบุกใหญ่โดยใช้เครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ อาวุธหนัก และทหารจำนวนมาก

ข้อมูลของเดอะการ์เดี้ยน ระบุว่ากองทัพคะฉิ่น KIA ซึ่งมีกำลังจำนวนมากต้องกระจายกำลังในพื้นที่ใหญ่โต ทั้งนี้ในแต่ละวันมีการสู้รบไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ในพื้นที่ 4 แนวรบของรัฐคะฉิ่นที่กินพื้นที่ในพื้นที่ทางเหนือของพม่าจรดชายแดนอินเดียและจีน ทั้งนี้ KIA ไม่ยอมให้ข้อมูลเรื่องความสูญเสียดังกล่าว และปฏิเสธที่จะให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปเยี่ยมทั้งโรงพยาบาลพลเรือนและโรงพยาบาลทหารที่อยู่รอบไลซา

ด้าน สำนักข่าวคะฉิ่น (KNG) ระบุว่า ในการโจมตีป้อมคะยาบุมดังกล่าว ทหารพม่าได้ใช้ยิงกระสุนปืนใหญ่แบบดาวกระจายด้วย ซึ่งทำให้มีสะเก็ดระเบิดย่อยแตกอยู่รอบๆ พื้นที่ ทั้งนี้มีจำนวน 100 กว่าประเทศในโลกที่ลงนามในอนุสัญญาห้ามใช้ระเบิดดาวกระจาย ขณะที่เมื่อปี 2554 องค์การต่อต้านการใช้ระเบิดดาวกระจายได้ประณามในกรณีที่กองทัพไทยใช้ระเบิดดาวกระจายในช่วงที่ขัดแย้งกับกัมพูชา (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

รายงานของเดอะการ์เดี้ยน ระบุด้วยว่าแม้ว่ารัฐบาลพม่าจะเห็นชอบให้มีการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่การต่อสู้ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (24 ม.ค.) มีการยิงกระสุนปืนครกกว่า 1,200 นัด กินเวลานานกว่า 2 ชั่วโมงเข้าใส่ป้อมคะยาบุม นับเป็นสถิติที่มากที่สุดนับตั้งแต่มีการสู้รบกันในรัฐคะฉิ่นในรอบ 50 ปี ขณะที่ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ มีกระสุนครกสองนัดได้ตกใส่ไลซา และทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บสี่ราย

หน่วยงานบรรเทาทุกข์ที่ทำงานในรัฐคะฉิ่นเชื่อว่ามีผู้อพยพภายในรัฐคะฉิ่นราว 1 แสนคนเนื่องจากเหตุปะทะ

ทั้งนี้ความขัดแย้งจนเกิดปะทุเป็นสงครามระหว่างกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) และรัฐบาลพม่า เริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 หลังจากเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกัน นับเป็นเงาอีกด้านหนึ่งของพม่าที่ด้านหนึ่งก็พยายามจะปฏิรูปประเทศ โดยประชากรชาวคะฉิ่นส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของพม่าเป็นชาวพุทธ และกองทัพคะฉิ่น KIA ก็เป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เดียวที่ยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่า ผู้เริ่มดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมืองนับตั้งแต่เข้าสู่อำนาจในปี 2554 ในขณะที่ชาวคะฉิ่นเองถือว่าตนถูกกดขี่มาอย่างยาวนานโดยรัฐบาลพม่า และต้องการสิทธิในการปกครองตนเอง

แม้ว่าเมื่อสัปดาห์ก่อน ประธานาธิบดีเต็ง เส่งจะกล่าวว่า กองทัพพม่าจะไม่เข้ายึดเมืองไลซา แต่ชาวคะฉิ่นจำนวนมากกลับเชื่อว่าไม่น่าจะจริงว่ากองทัพพม่าจะรักษาสัญญา เพราะกองทัพพม่านั้นมีท่าทีชัดเจนในการปฏิเสธข้อเรียกร้องหยุดยิงจากประธานาธิบดีเต็ง เส่งที่มีก่อนหน้านี้

ทั้งนี้เดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษ รายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายกเทศมนตรีเมืองไลซา หน่อ ออน ซึ่งระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของเมืองไลซา เมืองซึ่งมีประชากร 15,000 คน และมีเพียงลำธารคั่นจากชายแดนจีน พร้อมแล้วที่จะละทิ้งเมือง ทั้งนี้ร้านค้าส่วนใหญ่ของเมืองได้ปิดทำการ บ้านจำนวนมากถูกปล่อยร้าง มีแต่สุนัขจรจัดที่เดินไปในความมืด ถนนก็อยู่ภายใต้คำสั่งเคอร์ฟิวส์ ทั้งนี้เจ้าของส่วนใหญ่ได้ทิ้งบ้านเรือนไว้

"พวกเขาที่อยู่ห่างจากพื้นที่ชายแดนจีน ควรจะย้ายมาอยู่ในที่ๆ ปลอดภัยกว่าเดิม เพราะกองทัพพม่ายิงปืนใหญ่อย่างย่ามใจ ใช่ ผมสนับสนุนให้ประชาชนย้าย" นายกเทศมนตรีกล่าวพร้อมมองไปทางด้านชายแดนจีน

 

ออง ซาน ซูจี กล่าวว่ายังคงรักในกองทัพพม่า แม้จะขังเธอ 15 ปี

แฟ้มภาพออง ซาน ซูจี ระหว่างการปราศรัยย่านเหล่งทะยา ในย่างกุ้ง เมื่อ 17 พ.ย. 2554 (ที่มา: Htoo Tay Zar / Wikimedia (CC)/) 

ขณะเดียวกัน บีบีซี รายงานด้วยว่า ผู้นำฝ่ายค้านพม่านางออง ซาน ซูจี กล่าวว่าเธอยังคงรักในกองทัพพม่า แม้ว่าจะกักบริเวณเธอยาวนานกว่า 15 ปีก็ตาม ทั้งนี้ในการสัมภาษณ์ออกรายการเพลง ทางวิทยุ BBC Radio 4 "Desert Island Discs" ออง ซาน ซูจีกล่าวกับผู้ดำเนินรายการคริสตี ยังว่า ด้วยความศรัทธาของเธอต่อพุทธศาสนาได้ช่วยเธอในการแข็งขืนต่อเผด็จการพม่า และต่อมาเธอก็ต้องเผชิญหน้ากับพวกเขาเมื่อเข้าไปเป็น ส.ส. ในสภา

ทั้งนี้พ่อของนางออง ซาน ซูจี คือนายพลออง ซาน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นบิดาของกองทัพพม่าสมัยใหม่

โดยรายการวิทยุดังกล่าว บันทึกเสียงที่บ้านของนางออง ซาน ซูจี ในพม่า ช่วงเดือนธันวาคม ก่อนนำมาออกอากาศเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ซูจีกล่าวด้วยว่า "เป็นเรื่องแท้จริง ที่ฉันรักในกองทัพ"

"คนอาจจะไม่ชอบที่ฉันกล่าวเช่นนั้น มีคนจำนวนมากที่วิจารณ์ฉันว่าเป็นนางแบบโปสเตอร์ให้กองทัพ - ช่างน่าดีใจมากที่เห็นฉันเป็นนางแบบโปสเตอร์สำหรับสิ่งใดก็ตามในเวลานี้ - แต่ฉันคิดว่าในความเป็นจริงก็คือ ฉันรักกองทัพมากๆ เพราะฉันคิดเสมอว่านี่เป็นกองทัพของพ่อ"

ออง ซาน ซูจี อธิบายด้วยว่า ในขณะที่กองทัพพม่าได้ทำสิ่งเลวร้ายในพม่า เธอหวังว่ากองทัพควรที่จะกู้คืนชื่อเสียงของตน

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 2491 กองทัพได้ปกครองพม่ามาเกือบ 5 ทศวรรษนับตั้งแต่การรัฐประหารโดยนายพลเนวิน ในปี 2505 มีการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน และคุมขังฝ่ายค้านรวมทั้งตัวนางออง ซาน ซูจี จนกระทั่งรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยอดีตนายพล เต็ง เส่ง ได้ขึ้นสู่อำนาจในปี 2554 และอนุญาตให้ออง ซาน ซูจี และพรรคการเมืองของเธอลงชิงชัยในการเลือกตั้งซ่อมจนมีที่นั่ง  ส.ส. อยู่ในรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม ออง ซาน ซูจี ก็ถูกชนกลุ่มน้อยวิจารณ์ต่อกรณีที่ไม่แสดงท่าทีอย่างแข็งขันต่อกองทัพพม่าที่ปฏิบัติการทางทหารอยู่ในรัฐคะฉิ่นมาตั้งแต่กลางปี 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท