Skip to main content
sharethis

ปฏิรูประบบสวัสดิการผู้สูงอายุ ถกปัญหาสิทธิ-เงินสวัสดิการ นักวิชาการเผยอายุเฉลี่ยสูงขึ้น แนะกำหนดฐานอายุให้ยืดหยุ่น

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย –วันที่ 28 มกราคม 2556 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่อง ร่างกฎหมายสวัสดิการผู้สูงอายุโดยนางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นการอภิปรายในเชิงแนวคิด 4-5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ สิทธิผู้สูงอายุ, เงินสวัสดิการดำรงชีพ,การกำหนดฐานอายุผู้สูงอายุตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว,กลไกการขับเคลื่อนแผนยุทศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการขยายศักยภาพของผู้สูงอายุ การรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ จะเป็นประเด็นหลักในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้  

นางสุนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบสวัสดิการผู้สูงอายุในทางปฏิบัติพบปัญหาค่อนข้างมาก หลายเรื่องจำเป็นต้องแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นภาพรวมที่ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นสอดคล้องกัน ทั้งนี้จะทำอย่างไรให้เขียนระบุไว้ชัด ตั้งแต่วัตถุประสงค์กองทุน ที่มากองทุน กระบวนการที่จะนำไปใช้และรายละเอียดในขั้นตอนต่างๆ

นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า แนวคิดกฎหมายโดยรวมยังให้ความสำคัญกับภาครัฐในการดำเนินเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุตรงนี้ตนคิดว่าไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้นการออกแบบกฎหมายต้องกำหนดพื้นที่ต่างๆกับทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม  ภาครัฐจะมีหน้าที่บางระดับเท่านั้นเพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนไปได้

“ปัญหาของแผนหรือยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาคือ ไม่มีแผนปฏิบัติการ และแนวโน้มแผนประเทศอยู่ที่ฝ่ายการเมือง ตรงนี้เป็นบริบทใหม่ ดังนั้นเมื่อมีแผนจะพบว่าเหตุใดจึงไม่ฟังก์ชั่น ฉะนั้นต้องให้พื้นที่กับคนในชุมชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง” นายไพโรจน์ กล่าว

ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล นักประชากรศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า ประชากรในปัจจุบันมีโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปีมากกว่าในอดีต เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขทำให้คนรอดชีวิตมากขึ้น และประเมินว่าอีกไม่เกิน 20 ปีประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ราว 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบันผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 7 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% จากประชากร 64 ล้านคน อายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 73 ปี ส่วนตัวมีความเห็นว่า กฎหมายปัจจุบันตามสังคมไม่ทัน จะเป็นได้หรือไม่ว่าควรมีการแก้ไขคำจำกัดความ ถ้ากำหนดอายุควรจะระบุให้สูงกว่านี้หรืออาจจะไม่ต้องกำหนดอายุที่ตายตัวเพื่อให้มีความยืดหยุ่นก็จะทำให้กฎหมายทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่คิดว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวควรกำหนดฐานอายุของผู้สูงอายุให้มีความยืดหยุ่นไว้ ขณะที่ประเด็นเรื่องแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองและส่งเสริมผู้สูงอายุตามมาตรา16 ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะพบว่าประเทศไทยไปไกลกว่านี้แล้ว และตัวแผนผู้สูงอายุได้เป็นแผนฉบับปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ระบบคุ้มครองผู้สูงอายุ การบริหารจัดการงานผู้สูงอายุด้วย ซึ่งพบว่ามียุทศาสตร์ค่อนข้างกว้างและครอบคลุมและเป็นแผนที่มองถึงผู้อายุในอนาคตด้วย ล่าสุดที่ประเมินไปคือ ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติ กับอีกส่วนหนึ่งคือเงินในกองทุนดังกล่าวคงต้องชัดเจนว่าหน่วยงานตรงนี้ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ อีกจุดใหญ่ที่พบคือ เรื่องปัญหาสุขภาพ พบว่าช่องทางพิเศษไม่สามารถให้บริการอย่างเร่งด่วนได้จริง จึงควรจะวางแผนการบริการครบวงจรในจุดเดียว นอกจากนี้เรื่องบทบาทในท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นหลายพื้นที่อ้างว่าข้อบัญญัติที่เป็นอยู่ไม่เอื้อต่อการนำเงินของท้องถิ่นเองมาใช้ ส่วนตัวมองว่าเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาและมีการกำกับดูแลด้วยเช่นกัน

แพทย์หญิงลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ  กล่าวว่า แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 ซึ่งวางแผนในระยะ 20 ปี กำหนดโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาตินั้น มีผลในทางกฎหมายแต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การให้ความร่วมมือขององค์กรปกครองท้องถิ่น โดยองค์กรเหล่านี้อ้างว่าอำนาจหน้าที่ไม่เอื้อให้ปฏิบัติตามแผนได้ ดังนั้น ในการแก้ไขจึงควรแก้ไขเป็นรายมาตราเพื่อให้องค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผนด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับผู้สูงอายุนั้นคือ ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง จึงเห็นว่าควรกำหนดให้กฎหมายนี้เป็นกฎหมายกลางเพื่อกำหนดแนวทาง ส่วนรายละเอียดในทางปฏิบัติให้ระบุในกฎหมายลำดับรองอีกครั้ง

นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ รองประธานสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากจะผลักดันกฎหมายที่จำเป็นเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุ ควรจะระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิต่างที่ผู้สูงอายุจะได้รับ เพราะหากระบุไว้กว้างๆจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติได้  นอกจากนี้ควรคำนึงถึงกลุ่มผู้สูงอายุคนพิการ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 300,000 คน ตรงจุดนี้หากระบุสิทธิรองรับให้ชัด รวมถึงการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต้องเขียนให้ชัด เพราะไม่เช่นนั้นในทางปฏิบัติจะไม่มีผล นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายผู้สูงอายุแห่งชาติ ประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะเป็นคณะกรรมการฯด้วยถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนในเชิงบูรณการ อีกจุดหนึ่งคือกองทุนผู้สูงอายุ ปัจจุบันพบว่ามีเงินกองทุนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ กองทุนนี้จึงต้องโจทย์ให้ชัดว่ามีมาเพื่ออะไร และในเชิงกลไกต้องมองมิติงบประมาณให้ชัดจะทำอย่างไรให้มีการบูรณาการและผูกโยงร่วมกัน

นางอุบล หลิมสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า หากพิจารณาในแผนหลักคงต้องกำหนดให้มียุทธศาสตร์และมาตรการหลัก มาตรการย่อย และกลไกระดับชาติและระดับภูมิภาครองรับสวัสดิการผู้สูงอายุรวมถึงควรมีหน่วยวิชาการมาสนับสนุนเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุด้วย หากจะแก้ไขกฎหมายควรจะแก้กฎหมายฉบับปัจจุบันโดยเน้นทางเลือกที่หลากหลาย

“หากพิจารณากระบวนการกฎหมายในภาพรวม ในสาระสำคัญที่จะได้ถึงสิทธิผู้สูงอายุจะพบวาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ และยังมองไม่ลึกถึงการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวด้วย โดยหลักตนคิดว่าต้องมีแผนหลัก ฉะนั้นปัญหากฎหมายจริงๆอยู่ที่ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข”

นายอภิชัย จันทรเสน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายเดิมอาจมีปัญหาติดขัดอยู่บ้างแต่อาจะไม่ถึงขั้นต้องรื้อทั้งฉบับ อาจจะต้องให้สมดุลกันระหว่างหน่วยงานให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ปัญหาที่หนักที่สุดในขณะนี้คือ กองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งมีเงินกองทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับกองทุนคนพิการและกองทุนอื่นๆ คิดว่าถ้าจะปรับปรุงแก้ไขก็ควรจะแก้ไขเฉพาะบางมาตรา ประเด็นถัดมา ควรเพิ่มเงินสวัสดิการดำรงชีพ และให้ผู้สูงอายุได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ถูกหักค่าใช้จ่าย ไม่ถูกนำมาใช้ในการหาเสียงการเมือง

“มาตรา 9 (11) ในพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ไม่ได้ติดขัดในทางปฏิบัติ แต่อาจจะไม่กว้างขวางหรือในทางปฏิบัติที่เข้ารับบริการอาจจะเกิดความล่าช้าซึ่งอาจจะมีปัญหาอยู่จริงแต่ก็อาจจะไม่มาก มาตรานี้ถูกนำมาใช้บ่อย เราจะมีวิธีการส่งเสริมอย่างไร ส่วนประเด็นที่ที่อายากจะให้ขยายสิทธิเพิ่มเติมสามารถพิจารณาจากมาตรา 11(13) ซึ่งระบุเพิ่มเติมให้การอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

นางสาวณัฐกานต์ จิตประสงค์ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวความคิดของคุณชูศักด์ จัทยานนท์ ว่าร่างพ.ร.บ.นี้ ยังมิได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนผู้สูงอายุอย่างชัดเจน จึงเห็นว่าควรเพิ่มส่วนนี้เข้าไปด้วยเพื่อความครบถ้วนเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐ นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการกำหนดให้สวัสดิการของผู้สูงอายุเป็น “สิทธิถ้วนหน้า” มากกว่าจะเป็นการกำหนดสิทธิตามฐานะทางการเงิน เพื่อปิดช่องทางการนำเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการนี้มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง อีกทั้ง จากงานวิจัยหลายฉบับระบุว่า เมื่อดูจากงบประมาณและตัวเลขจีดีพีของรัฐบาลไทยแล้วมีศักยภาพมากพอที่จะจัดให้เป็นสิทธิถ้วยหน้าได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net