‘24 ปีปัญหา - 13 นายกฯ - 16 รัฐบาล’ มหากาพย์รากหญ้า ‘ปากมูน’

 
 
ณ เวลานี้ คงไม่มีใครปฏิเสธถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของชาวบ้านจากกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล  อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี แต่คำถาม คือ ช่วงเวลาที่ล่วงเลยมาจนเข้าสู่ปีที่ 24 นับจากการอนุมัติโครงการเมื่อปี 2532 ชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ทำไมจึงยังต้องมาชุมนุมกันอยู่ แล้วที่ผ่านมาถึง 16 รัฐบาล ไม่มีผู้นำประเทศคนไหนแก้ปัญหาให้พวกเขาได้เลยจริงหรือ
 
ความเคลื่อนไหวล่าสุด จากการที่ชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลจำนวนหลักร้อยร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม (ขปส.) หรือกลุ่ม Pmove ชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23-25 ม.ค.56 ด้วยข้อร้องขอคือ ‘เปิดประตูเขื่อนถาวร และจ่ายเงินชดเชยให้ชาวบ้าน’
 
ชาวบ้านเดินทางกลับพร้อมชัยชนะในขั้นต้น หลังประชุมกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนรัฐบาล
 
ข้อสรุปการพูดคุยคือ ให้ยกเลิกการศึกษาเพิ่มเติมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากมติ ครม.ของรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งชาวบ้านไม่ยอมรับในกระบวนการเก็บข้อมูล รวมถึงรายงานเบื้องต้นที่ สกว.รายงานไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น และมองว่ารัฐบาลพยายามซื้อเวลา
 
ที่ผ่านมา งานวิจัยเรื่องปากมูลมีเยอะมาก แต่ในรัฐบาลชุดที่แล้วก็ให้คณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลงานวิจัยและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลที่มี อ.นวลน้อย ตรีรัตน์ เป็นประธาน ไปหาข้อสรุปจากงานวิจัย 7 เล่ม ซึ่งได้ข้อสรุปออกมาว่า ให้เปิดเขื่อนถาวรและจ่าย 20 ปีย้อนหลัง
 
นอกจากนี้สิ่งที่ชาวบ้านได้ คือการให้ยกเลิกคณะกรรมการฯ อนุกรรมการ และคณะทำงาน ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลที่มีอยู่ทั้งหมด แล้วให้ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ขึ้นมาใหม่ 1 คณะ เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาในแบบองค์รวม
 
“การชดเชย หรือสิ่งต่างๆ ที่ได้รับนั้นมาจากการชุมนุมเรียกร้องจากรัฐบาล” สมภาร คืนดี ผู้ประสานงานสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล กล่าวย้ำในประโยคที่มักถูกพูดซ้ำๆ จากปากชาวบ้านปากมูนในงานประชุมรับฟังข้อมูลจากเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาพลังงาน
 
การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นก่อนที่จะมีการชุมนุมกลางกรุงเพียงวันเดียว เพื่อนำเสนอเรื่องราวจากพื้นที่ต่อทีมวิจัยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์หรือ SEA สำหรับแผนพลังงานของอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ซึ่งกำลังเป็นเป้าหมายการลงทุนต่อไปของธนาคารโลก หรือ ADB เจ้าของงบก่อสร้างเขื่อนปากมูลในอดีต ผู้ที่สร้างปัญหาร้าวลึกให้แก่ชาวบ้านนั่นเอง
 
ม็อบสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล ถือเป็นกลุ่มชาวบ้านที่มาเยือนเมืองกรุงฯ บ่อยที่สุดกลุ่มหนึ่ง จนได้ชื่อว่า ‘ม็อบขาประจำ’ ที่มาเรียกร้องในทุกๆ รัฐบาล
 
แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว การต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้ได้เรียนรู้ว่าหากพวกเขาไม่ก้าวเท้าออกมาชุมนุมเรียกร้องบนท้องถนน การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น สัญญาที่ว่าเขื่อนสร้างเสร็จ ชีวิตชาวบ้านจะดีขึ้นนั้นไม่เคยเป็นจริง
 
ซ้ำร้ายที่ผ่านมาได้เกิดกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวคัดค้านการเปิดประตูเขื่อน เนื่องจากประโยชน์จากการใช้น้ำเหนือเขื่อนเพื่อการเพาะปลูก ทำให้การเคลื่อนไหวของชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลวนเวียนอยู่ที่การปิด-เปิด เขื่อนมาตลอดระยะเวลาหลายปี
 
ต่อไปนี้ คือการประมวลลำดับเหตุการณ์ บางช่วงตอนของการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูน และการตอบรับในการแก้ปัญหาของในแต่ละรัฐบาล จนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่ยังคงทิ้งคำถามคั่งค้างอยู่ว่า... คณะกรรมการแก้ปัญหาชุดใหม่ที่กำลังจะถูกตั้งขึ้นมานี้ จะแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ในระดับไหน? อย่างไร?
 
 
13 นายกฯ (16 รัฐบาล) ในห้วงเวลา 24 ปีการต่อสู้เขื่อนปากมูล
 
พ.ศ.2513-2521 สำนักงานพลังงานแห่งชาติ โดยความร่วมมือของรัฐบาลฝรั่งเศส ได้เข้ามาศึกษาและสำรวจเบื้องต้นเพื่อพัฒนาแม่น้ำมูล ในเขตพื้นที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เกิดเป็นโครงการเขื่อนปากมูล
 
 
รัฐบาล
เหตุการณ์ - การดำเนินการจากภาครัฐ
 
1.พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (1)
4 ส.ค.2531 - 9 ธ.ค.2533
(ลาออก)
 
2.พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (2)
9 ธ.ค.2533-23 ก.พ.2534
(รัฐประหาร)
 
 
มติ ครม.วันที่ 14 มี.ค.2532 เห็นชอบและอนุมัติในหลักการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล โดยให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับไปจัดทำรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6
 
ครม.สัญจรที่ จ.ขอนแก่น พิจารณาอนุมัติโครงการเขื่อนปากมูลซึ่งเป็นเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าไปในโครงการอีสานเขียว (โขง-ชี-มูล) ตามที่ กฟผ.เสนอ เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2532
 
เดือนมิ.ย.2532-ม.ค.2533 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เดินทางลงพื้นที่ชี้แจงกรณีเขื่อนปากมูลพร้อมกับกลุ่ม .สส.อีสาน แต่ถูกคัดค้านจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มที่หนุนออกมาเคลื่อนไหวด้วย
 
มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2533 จากกรณีที่มีชาวบ้านชุมนุมคัดค้านโครงการเขื่อนปากมูล 1.ให้ รมว.มหาดไทย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ) และรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์) ไปชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการและทำความเข้าใจแก่ประชาชนที่มาชุมนุมเพื่อให้สลายตัวโดยเร็วที่สุด 2.ให้ กฟผ. กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนเตรียมการอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนไปยังพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้และให้ประเมินทรัพย์สินด้วยความเป็นธรรม
 
15 พ.ค.2533 ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ 3,880 ล้านบาท ให้ กฟผ.ดำเนินโครงการเขื่อนปากมูล ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ.2533 - 2536)
 
ครม.มีมติตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ 1.คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สินโครงการฯ 2.คณะกรรมการประสานงานอพยพราษฎรโครงการฯ
 
16 พ.ค.2533 ชาวบ้านประมาณ 600 คนจาก อ.โขงเจียม และ อ.พิบูลมังสาหาร ชุมนุมกันที่บริเวณแก่งสะพือ คัดค้านไม่รับมติ ครม.พร้อมตั้งคำถาม 3 ข้อ คือ 1.แก่งสะพือจะจมอยู่ใต้น้ำหรือไม่ 2.ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางการเกษตรจะถูกน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน 3.การจ่ายเงินชดเชยชาวบ้านที่ต้องอพยพจากการถูกน้ำท่วมและการจัดที่ดินทำกินใหม่จะเป็นอย่างไร
 
12 ก.พ.2534 ครม.มีมติให้ กฟผ.สามารถเข้าทำประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ เพื่อสร้างเขื่อนปากมูลและโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นพื้นที่ 125 ไร่ และขอใช้ชั่วคราว 573 ไร่
 
23 ก.พ.2534 เกิดรัฐประหาร
 
 
3.อานันท์ ปันยารชุน
2 มี.ค.2534
(มติคณะ รสช.)
- 7 เม.ย.2535
(ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 มีการเลือกตั้งทั่วไป)
 
20 มี.ค.2534 ตัวแทนชาวบ้านยื่นจดหมายคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล พร้อมทั้งรายชื่อราษฎร 12,000 ราย ต่อนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุม ‘นายกพบผู้ด้อยโอกาสทางสังคม’ ที่ทำเนียบรัฐบาล และในวันเดียวกันได้ยื่นหนังสือให้กับคณะ รสช.ด้วย ก่อนหน้านี้ 1วันมีการยื่นจดหมายคัดค้าน ให้ผู้แทนธนาคารโลกประจำประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบการอนุมัติเงินกู้โครงการเขื่อนปากมูล
 
1 เม.ย.2534 กฟผ.เริ่มลงมือสร้างเขื่อน
 
21 พ.ค.2534 ชาวบ้าน 1,000 คน รวมตัวกันห่างจากตัวเขื่อน 9 กม.เรียกร้องให้ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วม และให้ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้าน ฝ่ายรัฐบาล กฟผ.และนักวิชาการ
 
2 ก.ค.2534 ครม.มีมติ เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนเพื่อใช้สร้างเขื่อน ในพื้นที่ อ.โขงเจียม และ อ.พิบูลมังสาหาร
 
14 ส.ค.2534 กฟผ.แถลงข่าวว่าได้จ่ายเงินทดแทนไปแล้ว 46 ล้านบาท มีราษฎรได้รับผลกระทบเพียง 248 ครอบครัว
 
23 ก.ย.2534 รัฐบาลไทยประกาศไม่รอเงินกู้จากธนาคารโลก หลังจากที่ธนาคารโลกเลื่อนการพิจารณาการให้เงินกู้ออกไป และระบุจะสร้างเขื่อนต่อไป ส่วนการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ยังไม่เสร็จสิ้น
 
18 ต.ค.2534 ตัวแทนธนาคารโลกจาก 10 ประเทศ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและพบชาวบ้านตามที่ได้สัญญากับชาวบ้านไว้ โดยมีชาวบ้าน 1,000 คน ชุมนุมกันที่บริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญต้อนรับ
 
10 ธ.ค.2534 คณะกรรมการบริหารธนาคารโลกมีมติอนุมัติเงินกู้โครงการเขื่อนปากมูล โดยระบุว่าโครงการเขื่อนปากมูลเป็นโครงการขนาดเล็ก มีผลกระทบเพียงเล็กน้อย และเพิ่มวงเงินกู้จาก 3,800 ล้านบาท เป็น 6,600 ล้านบาท
 
 
4.พลเอก สุจินดา คราประยูร
7 เม.ย.2535 - 24 พ.ค.2535
(ลาออก เนื่องจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ)
 
 
29 เม.ย.2535 ชาวบ้านจำนวน 200 คน ได้เดินเท้าไปยังหัวงานสร้างเขื่อน เพื่อเรียกร้องให้ กฟผ.ยุติการระเบิดแก่งคันเห่ว ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ แต่หัวหน้าการก่อสร้างเขื่อนปากมูลชี้แจงว่าต้องระเบิดแก่งต่อไปตามนโยบายรัฐบาล หากน้ำท่วมที่ดินชาวบ้านสูงกว่า 108 เมตร กฟผ. จะจ่ายค่าชดเชยให้
 
 
 
5.อานันท์ ปันยารชุน (2)
10 มิ.ย.2535 - 23 ก.ย.2535
 
(ได้รับการเสนอชื่อทูลเกล้าฯ โดยอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร)
 
 
8 ก.ย.35 มติ ครม.ให้ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สิน และคณะกรรมการประสานงานอพยพราษฎร โครงการเขื่อนปากมูล
 
 
6.ชวน หลีกภัย (1)
23 ก.ย.2535 - 13 ก.ค.2538
(ยุบสภา)
 
1 มี.ค.2536 มีการชุมนุมต่อเนื่อง บริเวณหัวงานเขื่อนปากมูล ในวันที่ 6 ของการชุมนุม กลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนได้ขว้างก้อนหินและทุบตีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 33 คน
 
ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 9 และ 16 มี.ค.2536 ครม.มีมติรับทราบรายงานเหตุการณ์การชุมนุมคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล ตามที่นายสุทัศน์ เงินหมื่น รมว.มหาดไทย รวมทั้ง กฟผ.รายงาน โดยให้เร่งรัดแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องค่าทดแทน
 
19 มี.ค.2536 กลุ่มผู้ชุมนุมยอมสลายตัว โดยจะส่งตัวแทนเพื่อร่วมเป็นกรรมการ 4 คน และมีการลงนามร่วมกันในสัญญาที่จะตั้งคณะกรรมการ 2 ฝ่ายขึ้น
 
28 กันยายน 2536 สาวิตต์ โพธิวิหค รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่หลักคือกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบ
 
เมษายน 2537 เขื่อนปากมูลสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้า
 
14 ตุลาคม 2537 ชาวบ้านประมาณ 2,000  คนชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เรียกร้องให้ กฟผ.จ่ายค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพประมงตลอดระยะเวลาสร้างเขื่อน
 
24 ตุลาคม 2537 คณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ เปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นครั้งแรก มีมติให้คงค่าชดเชยไว้เท่าเดิม แต่เงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับค่าชดเชยที่ได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ให้ปรับเป็น 10,000 บาท/ราย/3 ปี ส่วนคนที่ได้ค่าชดเชยมากกว่า 10,000 บาท ก็ให้ได้เท่าเดิม แต่ชาวบ้านไม่รับมติ พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกกรรมการชุดดังกล่าว แล้วแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ที่มีชาวบ้านร่วมอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง และยืนยันที่จะชุมนุมต่อไป
                                        
22 มี.ค.2538 กฟผ.ยินยอมจ่ายค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพประมงระหว่างสร้างเขื่อน 3 ปีให้แก่ผู้ชุมนุม 3,955 ครอบครัว ครอบครัวละ 90,000 บาท โดยแบ่งเป็นค่าชดเชย 30,000 บาท และเงินเข้ากองทุนสหกรณ์ 30,000 บาท ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐฯ ยอมจ่ายค่าชดเชยต้นทุนทางสังคม
 
 
7.บรรหาร ศิลปอาชา
13 ก.ค.2538 - 25 พ.ย.2539
(ยุบสภา)
 
ระหว่างปี 2538 จนถึง 2539 มีการชุมนุมเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เนื่องจากนับตั้งแต่สร้างเขื่อน รายได้จากการประมงยังคงลดลง และบันไดปลาโจนไม่สามารถแก้ปัญหาให้ปลาขึ้นไปวางไข่เหนือเขื่อนได้
 
27 มิ.ย.2538 มติ ครม.อนุมัติหลักการใช้เงินงบประมาณของรัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2539 และ 2540 เพื่อเป็นกองทุนพัฒนาอาชีพประมงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ตามระบบสหกรณ์ จำนวน 20,000 บาท/ราย/ปี ส่วนงบประมาณเพื่อพัฒนาอาชีพประมงในปีที่ 2 และ 3 นั้น ให้ใช้งบของ กฟผ.และให้ถือเป็นแนวปฏิบัติต่อไปว่า กฟผ.จะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินชดเชยต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเพราะเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการดำเนินงาน
 
เดือนธันวาคม 2538 มีการตั้งกลุ่มสมัชชาคนจน โดยมีกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลร่วมด้วย
 
26 มี.ค.2539 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลรวมตัวกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐอีก 47 กรณีปัญหา ในชื่อสมัชชาคนจน จัดมหกรรมทวงสัญญาครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2539 ถึง 22 เม.ย.2539
 
ผลจากการชุมนุมรัฐบาล มีมติ ครม.22 เม.ย.2539 รับรองการแก้ไขปัญหาทั้ง 47 กรณี แต่ผลการดำเนินงานหลังจากนั้นไม่มีความคืบหน้า
 
 
8.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
25 พ.ย.2539 - 9 พ.ย.2540
(ลาออก เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ)
 
25 ม.ค.2540 มหกรรมทวงสัญญาครั้งที่ 2 เริ่มขึ้น โดยชาวบ้านปากมูนได้ร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจนกรณีปัญหาอื่นๆ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา 99 วัน
 
4 ก.พ.2540 ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือราษฎรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ โดยมีผู้ว่าฯ อุบลฯ เป็นประธานกรรมการ
 
29 เม.ย.2540 มีมติ ครม.ให้ชดเชยที่ดินครอบครัวละ 15 ไร่ ภายหลังเมื่อไม่สามารถจัดหาที่ดินให้ได้ รัฐบาลจึงมีมติให้จ่ายชดเชยเป็นเงินแทนไร่ละ 35,000 บาท ทั้งนี้ มีผู้ได้รับผลกระทบผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีอาชีพประมงในแม่น้ำมูน จำนวน 3,084 ราย
 
ทว่าในขณะที่รอการจ่ายค่าชดเชยอยู่นั้น รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ได้ลาออก
 
 
9.ชวน หลีกภัย (2)
9 พ.ย.2540 - 9 ก.พ.2544
(ยุบสภา)
 
21 เม.ย.2541 มติ ครม. ยกเลิกมติ ครม. ของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีนโยบายจ่ายค่าชดเชยย้อนหลังให้แก่โครงการที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว การต่อสู้เรียกร้องจึงยืดเยื้อต่อมา เรียกร้องให้ยุติการใช้เขื่อนปากมูลด้วยการเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด
 
23 มี.ค.2542 ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน 5,000 คนก่อตั้ง ‘หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1’ ขึ้นที่ริมสันเขื่อนปากมูล เรียกร้องให้ กฟผ.เปิดประตูระบายน้ำให้ปลาจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ เพื่อฟื้นฟูอาชีพประมง และวิถีชีวิตที่สูญเสียไป ในปีถัดมาได้เข้ายึดพื้นที่จอดรถข้างอาคารปั่นไฟเขื่อนปากมูลและก่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 7 ขึ้นเพื่อกดดันให้เกิดการเจรจา
 
25 ม.ค.2543 ครม.อนุมัติในหลักการตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ให้ กฟผ.ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรประมงที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล จำนวน 2,210 ราย เป็นกรณีพิเศษ โดยจ่ายเป็นเงินสดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้ารายละ 30,000 บาท และเงินเพื่อพัฒนาอาชีพโดยผ่านสหกรณ์ ปีละ 10,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งสิ้น 132,600,000 บาท ทั้งนี้ การจ่ายเงินชดเชยจำนวนนี้ถือเป็นการสิ้นสุดและไม่ผูกพันให้ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก และไม่ผูกพันกับเงื่อนไขและหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2541
 
2 มิ.ย.2543 บัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย แต่งตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน 16 กรณี มีหน้าที่สรุปสาเหตุความเป็นมาของปัญหาและเสนอแนวทางออกต่อรัฐบาล
 
25 ก.ค.2543 ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน รวม 16 กรณีปัญหา แล้วให้มีการตรวจสอบและกำกับดูแลให้เป็นไปตามมตินั้นๆ ต่อไป
 
 
10.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (1)
9 ก.พ.2544 - 11 มี.ค.2548
(ครบวาระ)
 
11.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (2)      
11 มี.ค.2548 - 19 ก.ย.2549
(รัฐประหาร)
 
มติ ครม. 17 เม.ย.2544 ให้เปิดประตูเขื่อนปากมูล 8 บาน เป็นระยะเวลา 4 เดือน (พ.ค. – ส.ค.) ต่อมาได้ขยายระยะเวลาการเปิดเขื่อนเป็น 1 ปี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2544 และให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทำการศึกษา ซึ่งก็ได้เสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการเปิดเขื่อนตลอดปี
 
อย่างไรก็ตาม ต่อมา ครม.มีมติ 1 ต.ค.2545 ให้เปิดเขื่อนทุกปีเป็นระยะ 4 เดือน (1 ก.ค.ถึง 31 ต.ค.)
 
24 ธ.ค.2545 พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์สำรวจพื้นที่เขื่อนปากมูล จากนั้นมีการตั้งทีมทำงาน 4 ชุด เพื่อสำรวจและสอบถามความเห็นของชาวบ้านริมแม่น้ำมูล ด้านสมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ประณามคำสั่งดังกล่าว ระบุว่านายกฯ ไม่ยอมตัดสินใจ และสร้างกระบวนการใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมเพียงในกระบวนการที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น
 
24 มิ.ย.2546 ครม.เห็นชอบการลงนามของกรมประมงและกระทรวงพลังงาน (กฟผ.) ในบันทึกความร่วมมือระหว่างกันเกี่ยวกับภารกิจโครงการชลประทานปากมูล รวมทั้งการกำหนดกรอบแผนปฏิบัติการและงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการประมงในลำน้ำมูนตอนล่าง ประจำปี พ.ศ.2546 เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 155,440 ไร่ มีระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 803.20 ล้านบาท
 
21 ม.ค. 2546 ชาวบ้านปากมูนชุมนุมและเปิด ‘หมู่บ้านคนจนแม่มูนมั่นยืน’ ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ด้านนายกฯ ประกาศกร้าวว่า สร้างได้ก็รื้อได้ ส่วนนายสมัคร สุนทรเวช ที่เป็นผู้ว่าฯ ขณะนั้นประกาศจะใช้กฎหมายเด็ดขาด ตัดน้ำ ไฟ และต่อมามีการนำกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ 1,000 คนเข้ารื้อย้ายเพิงพักและข้าวของของผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2546
 
8 มิ.ย.2547 มติ ครม.ให้เปิดเขื่อนตั้งแต่เดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.เป็นต้นไปจนครบ 4 เดือน โดยให้กระทรวงพลังงานรับไปประสาน ให้ กฟผ.พิจารณากำหนดวันให้เหมาะสม สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเป็นที่ยอมรับร่วมกันของชุมชนในพื้นที่ 
 
19 ก.ย.2549 เกิดรัฐประหาร
 
 
12.พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
1 ต.ค.2549
(มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ)
- 29 ม.ค.2551
(ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีการเลือกตั้งทั่วไป)
 
 
วันที่ 23 เม.ย.2550 นายกฯ ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี พบปะชาวบ้านปากมูนที่เดินทางมาชุมนุมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และรับปากว่าจะเปิดเขื่อนปากมูลตามมติ ครม.ที่มีอยู่เดิม ให้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานเป็นเวลา 4 เดือน
 
29 พ.ค.2550 การกำหนดวันเปิดบานประตูเขื่อนปากมูล ครม.รับทราบแนวทางดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน คือ 1.กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งในภาคอีสานและพื้นที่ใกล้เคียงมีเพียงพอใช้จ่ายได้อย่างทั่วถึง แม้ไม่มีไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูล ดังนั้น ความสำคัญของเขื่อนปากมูลจึงควรมุ่งเน้นด้านชลประทานและประมงเป็นหลัก ส่วนการผลิตไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้
 
2.จากที่การปิด-เปิดประตูน้ำเขื่อนซึ่งเป็นประเด็นขัดแย้งของประชาชน 2 กลุ่ม คือ สมัชชาคนจนและกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านที่อยู่เหนือเขื่อน จึงเห็นควรให้เริ่มเปิดประตู ในวันที่ 7 มิ.ย.2550 และยกบานขึ้นสูงสุดในวันที่ 17 มิ.ย.2550
 
ภายใต้กลไก กอ.รมน.ได้มีการประชุมที่เป็นทางการ 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 18 พ.ค.2550 ณ หอประชุมกองทัพบก และวันที่ 4 มิ.ย.2550 ณ ที่ทำการเขื่อนสิรินธร และข้อเสนอได้นำไปสู่การพิจารณา และมี มติ ครม.เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ให้รักษาระดับน้ำในแม่น้ำมูนไว้ ที่ประมาณ 106-108 ม.รทก.ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำถาวร
 
ถือเป็นการเปลี่ยน มติ ครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2550 ที่ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน เป็นเวลา 4 เดือน
 
มติ ครม.วันที่ 17 ก.ค.2550 ให้มีการแต่งตั้งกรรมการบริหารจัดการน้ำ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน และให้มีอำนาจในการพิจารณาเปิดปิดประตูเขื่อน ตามสภาพธรรมชาติ ความเป็นจริง และเน้นการมีส่วนร่วม 
 
 
13.สมัคร สุนทรเวช
29 ม.ค.2551 - 9 ก.ย.2551
(ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)
 
 
24 เม.ย.2551 สมัชชาคนจนชุมนุมจี้รัฐบาลแก้ปัญหา
 
 
14.สมชาย วงศ์สวัสดิ์
18 ก.ย.2551 - 2 ธ.ค.2551
(ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี)
 
 
 
 
15.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
17 ธ.ค.2551 - 5 ส.ค.2554
(ยุบสภา)
 
แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2552 ต่อมาในวันที่ 4 พ.ย.2553 อนุกรรมการดังกล่าวมีมติเรื่องเงินเยียวยาผลกระทบที่สร้างเขื่อน ครอบครัวละ 310,000 บาท เกือบ 6,000 ครอบครัว ในพื้นที่ 55 หมู่บ้าน 3 อำเภอ ที่มีการสร้างเขื่อน รวมทั้งให้ทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน เป็นเวลานาน 5 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
 
21 ก.พ.2554  ชาวบ้านประมาณ 1,000 คน ชุมนุม ณ ที่ว่าการอำเภอพิบูลมังสาหาร คัดค้าน ครม.ไม่ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล อ้างจะเกิดผลกระทบขาดน้ำทำเกษตรกรรมและใช้ในครัวเรือนในฤดูแล้ง แต่ร่วมขอค่าชดเชยจากผลกระทบสร้างเขื่อนเมื่อ 20 ปีก่อนด้วย
 
8 มี.ค.2554 คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ตัดสินใจต่อมติของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เหตุข้องใจถึงผลกระทบเรื่องน้ำแห้งจากการเปิดเขื่อน โดยให้ไปศึกษาข้อมูลอีก 45 วัน อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็ยังไม่มีมติ
 
3 พ.ค.2554 มติ ครม.ให้เปิดเขื่อน 1 ปี ปิด 1 ปี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศึกษาว่ารัฐบาลควรตัดสินใจอย่างไรในปีที่ 3
 
 
16.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
5 ส.ค.2554 - ปัจจุบัน
 
ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูลที่ประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ ตัวแทนจังหวัด และตัวแทนของรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2555
 
5 ก.ค.2555 คณะอนุกรรมการฯ ประชุมกันครั้งแรก แต่ไม่ได้ข้อสรุป เพราะตัวแทนรัฐบาลอ้างว่ายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องการศึกษาข้อมูลเดิมก่อน
 
24 - 25 ม.ค.2556 การประชุมมีการประชุมคณะอนุฯ บรรลุข้อตกลงกับชาวบ้านที่มาชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยให้ยกเลิกมติ ครม.เดิม เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2554 ที่ให้ สกว.ศึกษาใหม่ และยกเลิกคณะกรรมการฯ อนุกรรมการ และคณะทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่มีอยู่ทั้งหมด ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ขึ้นมา 1 คณะ ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาองค์รวม
 
 
 
เรียบเรียงข้อมูลจาก 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท