Skip to main content
sharethis

ชี้จุดอ่อน-แข็งสองพรรคใหญ่ต่อนโยบายเมือง ขณะที่ประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะมีแนวนโยบายและเครือข่ายที่พร้อมรับมือกับเมืองใหญ่แห่งนี้ได้ดีกว่าแต่ก็ต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมเดิมภายในองค์กรตัวเอง ขณะที่คู่แข่งคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่ได้นำเสนอนโยบายที่ชัดเจนนัก และไม่ถนัดงานบริหารระดับเมืองมหานคร

สีสันการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครองพื้นที่ข่าวทั้งในสื่อหลักและโซเชียลมีเดียขณะนี้ จากตัวเลขผู้สมัครทั้งหมด 22 ส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครอิสระ ขณะที่ไฮไลท์ก็ดูจะจับไปที่ผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือประชาธิปัตย์และเพื่อไทย สิ่งที่น่าสนใจคือ นโยบายเมืองมหานครกรุงเทพฯ ที่สะท้อนออกมาจากผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในฐานะที่กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่กำลังต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งในแง่ประชากรที่สูงอายุมากขึ้น มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากขึ้น สภาพแวดล้อมที่เป็นสิ่งท้าทายเมืองใหญ่ทั้งหลายทั่วโลก การขนส่งมวลชนที่เป็นปัญหาใหญ่ ฯลฯ ความท้าทายเหล่านี้ที่รอผู้ว่าฯ ที่จะได้รับการเลือกตั้งในวันที่ 3 มีนาคมที่จะถึง

ประชาไทสัมภาษณ์ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้บริหารบริษัท โนวิสเคปคอนซัลติ้งค์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดทำข้อมูลและวิเคราะห์ 10 เทรนด์ นโยบายกรุงเทพฯ มหานครในอนาคต ร่วมกับ Siam Intelligence Unit เขาบอกว่าสิ่งที่สะท้อนออกมาชัดเจนที่สุดจากการนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับ กทม. คือ การไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องเมืองมหานคร ขณะที่เขามองว่า ในสภาพที่เป็นอยู่ ประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะมีแนวนโยบายและเครือข่ายที่พร้อมรับมือกับเมืองใหญ่แห่งนี้ได้ดีกว่าคู่แข่งคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่ได้นำเสนอนโยบายที่ชัดเจนนัก

พันธุ์อาจบอกว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองมหานครอันดับต้นๆ ของโลกหากมีการจัดอันดับ ไม่ว่าจะเป็นแง่บวกหรือลบ กรุงเทพฯ มักปรากฏอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอันดับเมืองใหญ่ที่มีตึกสูง หรือเมืองที่มีปัญหารถติด ก็ตาม ทั้งนี้เทรนด์ของเมืองใหญ่เป็นสิ่งที่นักวิจัยระดับเมืองในความสนใจมาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีแล้ว โดยมี นิวยอร์กของสหรัฐฯ และลอนดอนของอังกฤษ เป็น Benchmark (ตัวเปรียบเทียบ, เกณฑ์เปรียบเทียบ) ซึ่งทำให้ที่สุดแล้ว เทรนด์ของการพัฒนาเมืองจะออกมาคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ เรื่องการขนส่งมวลชน เรื่องการเดินทางและชีวิตของคนในเมืองมหานคร เรื่องการพูดถึงเศรษฐศาสตร์ในระดับเมืองหรือเรื่องขยะ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเมือง ขณะเดียวกัน เมืองมหานครทั่วโลกก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน แต่สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับเมืองมหานครของไทยก็คือ การพูดถึงอนาคตที่เป็นเรื่องไกลตัว

“สิ่งที่นักวิจัยเรื่องเมืองบางส่วนสนใจก็คืออนาคตเมืองในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ซึ่งมันจะสะท้อนไปสู่การนำนโยบายสาธารณะ ซึ่งผมมองว่ามันยังน้อยมากเลยสำหรับกรุงเทพฯ น้อยมากๆ เพราะว่า เป็นเรื่องไกลตัวมากเกินไป สำหรับนักการเมืองในระดับท้องถิ่นเองไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ หรือว่าสมาชิกสภากทม. สภาเขต”

 

000

การที่เราไม่เห็นนโยบายเรื่องเมืองที่ชัดเจนจากนักการเมืองนั้น เป็นเรื่องไกลตัว หรือขาดวิสัยทัศน์

ผมคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว วิสัยทัศน์แต่ละคนนั้นผมว่ามี แต่พอเป็นเรื่องไกลตัวไปแล้วมันจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำ 

 

ความหมายของไกลตัวคืออะไร

มันเป็นเรื่องที่ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ มันไม่ได้ส่งผลต่อคะแนนเสียงของเขามากมายไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประจำวันในการทำงานของหน่วยงานในระดับเมือง

แบบนี้แปลว่าฐานเสียงก็มองเรื่องอนาคตเป็นเรื่องไกลตัว

คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มองว่าอนาคตไกลๆ จะเป็นอย่างไร มีคนสนใจเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ได้มาก พูดถึงสิ่งที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับเมืองมากขึ้น แต่เสียงเหล่านั้นไม่ได้ดัง เสียงที่ดังกว่าคือเสียงของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เสียงของหน่วยงานรัฐที่อยากจะทำเมกะโปรเจกต์ในเมือง แต่ตัวนั้นก็เป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงในเมืองนะครับ

ดังนั้นจะเห็นวิสัยทัศน์ในเชิงกายภาพนั้นมีหมดทุกคน วิสัยทัศน์ว่าจะเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างไรในระยะยาวน่ะมี แต่ถึงเวลาก็ไม่ได้หยิบมาใช้เพราะคุณต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันก็สะท้อนมาในเทรนด์ด้วยเหมือนกันว่าภาวะผู้นำไม่ได้เปลี่ยน

คือเรื่องวิสัยทัศน์นั้นผมเชื่อว่ามี แต่ผมถามว่าผู้สมัครเขาจะแปลงวิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่เขาทำได้จริงๆ หรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับความกระตือรือร้นแล้วว่าเขามีความอยากจะเปลี่ยนแปลงมันมากน้อยแค่ไหน ถ้าเช่นนั้น ตัวนโยบายเป็นอะไรที่น่าสนใจ

ผมว่าคราวนี้ต้องถือว่าเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งแรกที่ผมเชื่อว่ามีการงัดเอานโยบายมาคุยกันมากที่สุด วิสัยทัศน์โดยรวมอาจจะดีกว่าคราวที่แล้ว

เอาตัวนโยบายเท่าที่เห็นแล้วกัน ผมมองว่าประชาธิปัตย์ได้เปรียบในเชิงการพัฒนานโยบายเพราะว่าเขามีนักวิชาการ มีทีมนโยบายในระดับเมืองที่แข็ง ถ้าเปรียบเทียบไปแล้วผมคิดว่าแข็งที่สุดตอนนี้ ความแข็งนี้อาจจะมาจากการที่ประชาธิปัตย์บริหารงานกรุงเทพฯ มานาน ดีไม่ดีอีกเรื่อง แต่เขาสามารถดึงเอาเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของเมืองมหานครทั่วโลกมาจับเป็นนโยบายเมืองมหานครกรุงเทพฯ 7 แบบ การพูดถึงเมืองสำหรับทุกคน เมืองสีเขียว เมืองสำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ต้องบอกเลยว่าประชาธิปัตย์พูดอยู่พรรคเดียว แต่ทำได้หรือไม่ก็อีกเรื่อง จะเห็นว่าเมือง 7 แบบของประชาธิปัตย์คือการพัฒนาเอาเทรนด์เมืองที่สำคัญ เข้ามาไว้ได้เกือบหมด จับต้องได้ไหม ถ้าทำได้จริงๆ ก็ถือว่าดีมาก ต้องยอมรับว่าคุณอภิรักษ์ (โกษะโยธิน) เข้าไปช่วยเยอะ ทีมประชาธิปัตย์ถือว่าแข็งในเรื่องการทำนโยบายระดับเมือง

อะไรที่จับจะต้องได้ ขอตัวอย่างหน่อย

เช่น เมืองสีเขียว ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์บอกว่าสามารถทำพื้นที่สีเขียวได้ตามเป้า และถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ กรุงเทพฯ ก็น่าจะมีสวน มีกิจกรรมในสวนได้มากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าประชาธิปัตย์เขาทำ ดังนั้นการจะทำพื้นที่สีเขียวให้แอคทีฟ ผมคิดว่าประชาธิปัตย์เขารู้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร นี่เป็นจุดแข็ง

ส่วนเมืองสำหรับทุกคนนั้นเป็นเรื่องใหม่ คนต่างประเทศเข้ามาอยู่เยอะมากขึ้น เมืองของทุกคนที่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่จะแก่ตัวไปมากขึ้น เมืองของมนุษย์ล้อ คนพิการ ประชาธิปัตย์ก็หันมาเล่นเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมความพร้อมสำหรับโรงพยาบาล เตรียมความพร้อมสำหรับศูนย์ต่างๆ ในการดูแลคนชรามากขึ้น ดูแลสุขภาวะของคน กทม. มากขึ้น เหมือนกับว่าเขาเห็นประเด็น เขาเห็นเทรนด์อยู่ นี่เป็นจุดแข็งของประชาธิปัตย์ที่นำเอาสภาพความเป็นจริงของเมืองและโอกาสที่น่าจะนำไปพัฒนาให้เกิดได้มากขึ้น

ส่วนเพื่อไทย (ถอนหายใจ) ผมคิดว่าคงจะเกิดการดีเบตยาวเลยแหละ ว่าการที่บอกว่า ผู้ว่าฯ สามารถจะเติมเต็มรอยต่อและเชื่อมโยงกับรัฐบาลได้อย่างไม่มีรอยต่อมันจะเป็นแคมเปญที่ดีหรือเปล่า

นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่ามันเป็นจุดแข็ง แต่ผมว่ามันเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนไปในตัว เพราะว่าเมืองมหานครส่วนใหญ่แล้ว คนที่เป็นผู้ว่าการหรือคนที่เป็นนายกเทศมนตรีจำเป็นจะต้องดูแลเมืองในหลายๆ ครั้งจะมีความขัดแย้งสูงมากกับรัฐบาลและไม่จำเป็นต้องทำตามรัฐบาลด้วย คำถามก็คือว่า คุณพงศพัศกล้าหักดิบหรือกล้าขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทยหรือเปล่า สมมติว่าถ้าเขาได้เป็นนะ

แคมเปญแบบนี้มีจุดขายโดยอาศัยฐานประเด็นเรื่องน้ำท่วมเมื่อสองปีที่แล้ว คนกรุงเทพฯ มีตัวอย่างให้เห็นว่ามีรอยต่อแล้วมีอุปสรรคในการดูแลคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ

นั่นคือความขัดแย้งที่ผิดไงครับ (หัวเราะ) เป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลกับผู้ว่าฯ ต้องทำงานเป็นทีม แต่มันไม่เป็นทีม แต่ในหลายๆ ครั้งนโยบายของเมืองเขาต้องมีให้ชัด นโยบายของรัฐบาลก็มีไปอีกทางหนึ่ง

แต่ผมถือว่าเรื่องน้ำท่วมเป็นตัวอย่างที่แย่มากของทั้งสองพรรค ซึ่งต้องยอมรับว่าเพื่อไทยเองก็อ่อนประสบการณ์ในการบริหารงานเมือง การเอาประเด็นเรื่องการเชื่อมโยงรอยต่อกับรัฐเข้าสู่ประเด็นน้ำท่วมเมื่อสองปีก่อน ผมว่ามันเป็นประเด็นที่ดีเบตกันไปได้อีกนาน และการที่เรามีผู้ว่าฯ อยู่พรรคเดียวกับรัฐบาลและจะไม่เกิดความขัดแย้ง จะเอาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงต่างๆ มาช่วย ถ้าเช่นนั้นก็คงไม่จำเป็นต้องมีผู้ว่าฯ

ผู้ว่าฯ ต้องทำให้ กทม. มีความโดดเด่นไปอีกแบบหนึ่ง ต้องดูแล กทม. ในอีกลักษณะหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตั้งหน้าตั้งตาขัดแย้งกับคนอื่นไปทั่ว

ซึ่งคนทั่วไป อาจจะตามข่าวสารการเมืองระดับชาติ เมื่อจินตนาการถึงการเมืองท้องถิ่นอาจจะไม่เห็นความต่าง และการขายไอเดียไร้รอยต่อก็อาจจะขายได้

เขาซื้อเป็นเข่ง เขาไม่ได้ซื้อรอยต่ออย่างเดียว เขาจะซื้อเพราะเขาจะได้นั่งรถเมล์ฟรี ประชานิยมสุดโต่งแบบนี้ผมก็มองว่าเริ่มมีปัญหา เพราะ กทม. จะเอาเงินที่ไหนไปอุดหนุน ขสมก. แล้วเรื่องของการขึ้นรถเมล์ฟรีมันไม่ใช่คน กทม. ได้ประโยชน์อย่างเดียว แต่คนทั่วไปด้วย คนที่เข้ามา กทม. แต่ถามว่ามันสมควรหรือเปล่าก็ดีเบตได้

ดังนั้นนโยบาย 10 ข้อของคุณพงศพัศที่เพิ่งประกาศมันมีคำถามเชิงนโยบายเต็มไปหมด ไม่ใช่ว่าจะขายไม่ได้ ผมเชื่อว่าขายได้ดีกับคนรากหญ้าใน กทม. คนจนเมือง เพราะว่ามันเห็นผลเลย แต่ถ้าถามว่า แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงให้เมืองดีขึ้นหรือเปล่า คำตอบก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่ เพราะกรุงเทพฯ เองก็มีสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองอยู่ ไม่ใช่แค่ตัวกรุงเทพมหานคร แต่บริษัทขนาดใหญ่ก็อยู่ในกทม. หน่วยงานนานาชาติต่างๆ ก็อยู่ใน กทม. มีองค์กรต่างๆ ที่ใช้ กทม. เป็น Benchmark  เมืองมหานครในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว ดังนั้นอะไรที่จะเกิดขึ้นที่ กทม. มันอาจจะไปเกิดขึ้นที่โฮจิมินห์ มันอาจจะไปเกิดขึ้นที่เมืองเล็กๆ ที่กำลังจะกลายเป็นเมืองใหญ่ อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ประเด็นปัญหาก็คือว่า การทำนโยบายในระดับที่เล็กเกินไปสำหรับเมืองอาจจะไม่ใช่เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ ผมมองว่ามันไม่ใช่นโยบายนะ พูดตรงๆ ว่าสิ่งที่เพื่อไทยเสนอนั้นเป็นแคมเปญ ยังไม่ใช่นโยบายเมือง

ที่ผมพูดอาจจะไม่ถูกใจคนหลายๆ คนบ้าง ผมพูดได้ว่าเพื่อไทยยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับกรุงเทพฯ เลย แม้แต่นโยบายของเพื่อไทยที่ประกาศไปในรัฐสภา ก็ไม่ได้ทำหลายเรื่องนะ เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยเริ่มแกว่ง เริ่มไม่ใช่ ส่วนนโยบายเมืองอย่าไปพูดถึงเลย มันยังไม่ชัดเลย

ดังนั้นจุดเด่นคราวนี้ตกไปที่ประชาธิปัตย์ว่า นโยบายดี แต่ตัวผู้สมัครมีปัญหา

คือไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถนำนโยบายไปปฏิบัติได้หรือเปล่า

(หัวเราะ) ใช่ ซึ่งก็เป็นปัญหาเดียวกับเพื่อไทยเช่นกัน นั่นคือประเด็นของสองพรรคใหญ่นะครับ คือคุณเอานโยบายมาแข่งกันก็ถือว่าประชาธิปัตย์ทำนโยบายได้ดีทีเดียว แต่ของเพื่อไทยมันไม่ใช่นโยบายแต่เป็นแคมเปญ เป็นการลดแลกแจกแถม แต่ถ้าถามว่าประชาชนจะเลือกประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย ผมว่าคราวนี้คะแนนสูสีนะ เพราะเล่นจัดเต็มอย่างนี้

แล้วผู้สมัครรายอื่นๆ ล่ะ อย่างเช่น คุณสุหฤทธิ์

คุณสุหฤทธิ์ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าเมืองมหานครมากกว่านี้ การสมัครผู้ว่าฯ นั้นทุกคนมีสิทธิสมัครนะครับ นโยบายของคุณสุหฤทธิ์น่าสนใจ ในระดับหนึ่ง การแคมเปญถือว่า...เอาง่ายๆ ถ้าผมไปร้อง สคบ. ว่านี่เป็นโฆษณาชวนเชื่อก็อาจจะเป็นไปได้ ถ้าคุณบอกว่าคุณจะเดินหนึ่งล้านก้าว มีอะไรเป็นบทพิสูจน์ว่าคุณจะเดินหนึ่งล้านก้าวจริง หนึ่งล้านก้าวหนึ่งล้านเสียงมันเป็นคำเปรียบเปรยเท่านั้น คุณจะขอคะแนนหนึ่งล้านเสียง โอเคขอได้ แต่ใครจะไปพิสูจน์ว่าคุณจะเดินหนึ่งล้านก้าวจริง แล้วการบอกว่าทุกก้าวมีความหมายมันคือความหมายอะไร คุณเอาโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นหลักอาจจะไม่เดินก็ได้ แล้วผู้สมัครรายอื่นเขาไม่เดินเหรอ เขาก็เดิน บางคนไปโหนรถขยะ บางคนไปโหนรถเมล์ บางคนมีรถนำเพราะเดินไม่ไหว สีสันคราวนี้มันก็เปลี่ยนไปเยอะ การหาเสียงด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์กก็คงต้องระมัดระวังสิ่งที่โฆษณาออกไปแม้จะประกาศว่าไม่ได้ติดป้ายหาเสียงก็ไม่ใช่ประเด็น การตั้งคำถามเรื่องงบแคมเปญ 49 ล้านบาทของผู้สมัครรายอื่นๆ ว่ามากไปหรือน้อยไป ก็ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่านโยบายที่คุณนำเสนอนั้นทำได้จริงหรือเปล่า เพราะการที่คุณจะเข้าไปดูแลคนสิบกว่าล้านคน มันไม่ใช่การสแครชแผ่นนะ

อย่าง ดร.โสภณ พรโชคชัยก็พยายามพูดเรื่องการจัดการพื้นที่ในเมือง

ตัวเขาเองก็ดูแลเรื่องอสังหาริมทรัพย์ และตัวเขาเองก็ยังเคยดูแลเรื่องสลัม แต่กรุงเทพฯไม่ใช่แค่นั้น ไม่ใช่สถานที่ที่ให้นักอสังหาริมทรัพย์มาดูแลพื้นที่ทางกายภาพอย่างเดียว ผู้ว่าราชการ กทม. ในอนาคตอันใกล้จะต้องเจอสภาพความซับซ้อนของเมืองที่มากขึ้น ไม่ใช่เรื่องพื้นที่กายภาพ

ผมว่าเราจะมีนักแคมเปญการเมืองท้องถิ่นในคราวนี้อยู่สามประเภท ประเภทที่หนึ่งก็คือ Well Rounded ก็คือนำเอานโยบายเมืองทั้งหลายมาคุยได้อย่างทุกด้าน 360 องศา อีกกลุ่มก็เป็นพวกเฉพาะด้าน บันเทิง อาร์ต อสังหาริมทรัพย์ พูดได้ไม่ทุกเรื่อง ตำรวจจ๋า เน้นเรื่องความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชน ประเภทสุดท้ายก็คือ กลุ่มคนที่อยากดัง ซึ่งเมื่อก่อนผมเห็นมีแค่สองกลุ่มนะครับ คือสองกลุ่มหลัง กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ ถ้าเกิดเขาทำได้จริง ถ้าเขามีทีม

โจทย์สำหรับผู้สมัครในการหาเสียงต่อไปควรเป็นอย่างไร สำหรับสองพรรคหลัก

ผมว่าตอนนี้เขาคงมีเรื่องเน้นของเขามากพออยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เน้นเสริม ผมมองว่าเพื่อไทยควรปรับกระบวนทัศน์และปรับองคาพยพพอสมควร ประชาธิปัตย์เขาได้แต้มต่อไปเยอะในเรื่องของการที่เขาเป็นเจ้าของพื้นที่ ในการที่เขาทำนโยบายเรื่องเมืองมานานมาก การเสนอนโยบายต่างๆ พวกนี้ค่อนข้างน่าสนใจต่อคนชั้นกลาง และคนชั้นกลางระดับล่างด้วย รวมทั้งคนจนที่ได้รับประโยชน์จากการบริหารงานของ กทม. ใช่ว่าจะไม่มีนะครับ ดังนั้นจุดแข็งของประชาธิปัตย์ก็คือเขารู้เรื่องเมือง เขาทำเรื่องนี้มานานและเขามีเครือข่ายอยู่

สำหรับเพื่อไทยนั้นต้องปรับกระบวนทัศน์ให้ตอบโจทย์คนเมือง กทม. มากขึ้น จะเห็นได้ว่าการทำแคมเปญถ้าคุณเข้าไปดูโซเชียลเน็ตเวิร์ก คนต่างจังหวัดมาสนับสนุนคุณพงศพัศเต็มไปหมดเลย ซึ่งผมว่าโจทย์เริ่มเพี้ยน คุณกำลังหาเสียงกับคน กทม. ดังนั้นคุณต้องหาเสียงกับคน กทม. อีกแบบหนึ่ง ผมว่าเพื่อไทยตอนนี้กำลังเสียแต้มไปพอสมควร

พอพูดถึงว่าคนต่างจังหวัดมาสนับสนุน ในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้มีแต่คนกรุงเทพฯ

คนพวกนั้นเขาไม่มีสิทธิ คนมีสิทธิเลือกเขาไม่ได้เลือกเพื่อไทยนี่ครับ เหตุผลที่เขาเลือกประชาธิปัตย์มันอาจจะไม่ใช่ประเด็นเรื่องสี แต่เป็นประเด็นความคุ้นเคย ตัวนโยบาย หรือการทำงานที่เคยผ่านมา ดีหรือไม่ดีก็อีกเรื่องหนึ่งนะ แต่เพื่อไทยนั้นต้องยอมรับว่าจุดแข็งในอดีตของเขาคือการทำคลัสเตอร์จังหวัด ซึ่งคือจุดแข็งของเขาที่ยังไม่ได้ถูกหยิบมาใช้มากนัก รัฐบาลเพื่อไทยถนัดในการบริหารแบบบนลงล่าง ในขณะที่อีกพรรคหนึ่งบริหารแบบไม่บริหาร

ตัวเพื่อไทยเองอาจจะต้องกลับมาดูวิธีการนำเสนอนโยบาย ในการไปสัญญาแล้วมีคำถามตามมาเต็มไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามจากนักวิชาการ คำถามจากชนชั้นกลางที่เขาอาจจะไม่พอใจ ยิ่งเรื่องรถยนต์คันแรก เรื่องของรถเมล์ฟรี ผมคิดว่าทั้งสองพรรคคงจะฟัดกันนัวในประเด็นนี้ เรื่องถนนใน กทม. รถติดรถไม่ติด ปัญหานี้เกิดจากใคร

แม้คุณพงศพัศจะบอกว่า เขารู้ว่าผู้ว่าฯ ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ แต่ผมคิดว่าการเคลมแบบนี้อันตรายเหมือนกัน เพราะแม้แต่ฝั่งประชาธิปัตย์เองก็ยังไม่แน่ใจพื้นที่ทับซ้อนของอำนาจระหว่างผู้ว่าฯ กับรัฐบาลกลางอยู่ที่ไหน อันนี้เป็นปัญหามาตลอด

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปัตย์สามารถสร้างนโยบายระดับเมืองได้ดี เป็นเพราะประชาสังคมเมืองมีพลังด้วยหรือเปล่า

ผมถือว่า กทม. เป็นเพลย์กราวด์ของประชาธิปัตย์นะ ความเด่นชัดของการบริหารราชการในระดับประเทศของประชาธิปัตย์อาจจะไม่เด่นชัด แต่การบริหาร กทม. ค่อนข้างชัด  ก็ถือว่าไม่ได้เลวร้ายอะไรมากมาย ไม่นับเรื่องน้ำท่วมนะ เรื่องต่างๆ ที่มันถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องมา การทำงานร่วมกับ สก. สข. การทำงานร่วมกับข้าราชการ กทม. เองต้องยอมรับว่ามันมีความสัมพันธ์ที่มีความต่อเนื่องระยะยาว นี่คือจุดแข็งของประชาธิปัตย์ ดังนั้นนโยบายต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นนโยบายธรรมดาๆ นี่แหละ แต่ถูกทำให้ต่อเนื่อง

ดังนั้นถ้าจะเปรียบเทียบก็คือว่า ในสมัยของไทยรักไทยมีการพัฒนานโยบายแบบต่อเนื่องแล้วเอาไปทำ คนเริ่มเห็นผล เช่นเดียวกัน คน กทม. ก็เห็นภาพแบบนี้จากประชาธิปัตย์ ในประเด็นของ กทม. ถ้าเช่นนั้นประเด็นจริงๆ คืออะไร คือนโยบายเมืองมันไม่เคยชัดมาก่อนต่างหาก นโยบายในระดับเมืองมหานคร ไม่ถูกหยิบยกมาพูดกันในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นนครเชียงใหม่ หรือพัทยา เมืองขนาดใหญ่นั้นมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนtown  นโยบายที่จะต้องขับเคลื่อนเมืองนั้นไม่ได้มาจากรัฐบาลกลางอย่างเดียว มันมาจากกลุ่มคนที่เป็นผู้บริหารในระดับเมือง ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ หรือแม้แต่ในขณะนี้แล้วก็ตาม ผมคิดว่าพรรคที่ตระหนักถึงนโยบายในระดับเมืองว่ามีความสำคัญอย่างไร ผมคิดว่าพรรคนั้นคือประชาธิปัตย์

ตอนนี้กรุงเทพฯ อยู่ตรงไหน ถ้าเราเทียบกับ benchmark เมืองมหานครอย่างนิวยอร์กและลอนดอน

ผมคิดว่าเราติดอันดับท็อป 20 อยู่แล้วนะ แต่จะติดอยู่ในการจัดประเภทที่ดีหรือไม่ดีก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ เช่น ติดอันดับ 7 ของเมือง

ที่มีตึกระฟ้า หรือการคมนาคมทางอากาศ เราก็ติดท็อป 10 การเป็น Cosmopolitan ไม่ได้ด้อยกว่าสิงคโปร์ ต้องถือว่ากรุงเทพฯ เป็นประเทศย่อมๆ ประเทศหนึ่งได้เลย เราไม่ได้แย่กว่าใครมากมาย ผมเคยคุยกับผู้จัดการองค์กรที่ดูแลสลัมที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย เขาบอกว่าสลัมในกรุงเทพฯ นั้นเป็นสวรรค์สำหรับเขา คุณมีจานดาวเทียม คุณมีแอร์ติด คุณมีน้ำไหล ไฟฟ้าคุณมี นั่นไม่ใช่สลัมแล้วในความหมายของสลัมในอินเดีย กรุงเทพฯ มันเลยจุดนั้นไป อีกไม่กี่ปีมันอาจจะเป็นเมืองสวรรค์ของหลายๆ คนที่อยากจะย้ายมาอยู่ก็ได้ ถ้าน้ำไม่ท่วม

แต่ก็ยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการป้องกันน้ำท่วม

นั่นก็เป็น Controversial Issue ใช่ครับ ไม่มีใครที่มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องนี้เลย ไม่มีและจะไม่มีด้วย (หัวเราะ) ผมว่ามันเป็นปัญหาโลกแตก การทำให้คลองใสยังทำไม่ได้เลยครับ ทั้งๆ ที่คุณมีการสัญจรทางน้ำอยู่ตลอดเวลา คลองก็ยังเน่าเหมือนเดิม การระบายน้ำใน กทม. ดีบ้างไม่ดีบ้าง เมืองขยายตัว ก็ยังมีปัญหาเรื่องกฎหมายผังเมืองยังไม่ออก ผมเชื่อว่ามันมีประเด็นปัญหาเรื่องการทำงานร่วมกันในพื้นที่จากเรื่องน้ำพอสมควร แล้วมันจะไม่จบหรอก เช่น เพื่อไทยบอกว่าจะมีกระทรวงน้ำ กทม. บอกว่าจะดูแลคลองกับระบบระบายน้ำเอง เขาก็มีสิทธินะ ไม่ใช่ไม่มีสิทธิ ปัญหาต่อไปคือเรื่องขยะ ในขณะเพื่อไทยแคมเปญเรื่องการจัดเก็บขยะ ประชาธิปัตย์พูดถึงเรื่องระบบรีไซเคิล ก็ต้องยอมรับว่า กทม. จะมีปัญหาขยะมากขึ้น ถ้าแก้ปัญหาได้ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่วนน้ำนั้นก็มีปัญหาว่าคุณไม่ยอมออกกฎเทศบัญญัติเรื่องการปล่อยน้ำเสียจากบ้านเรือน ดังนั้นถ้าเผื่อประชาธิปัตย์จะทำเรื่อง Green จริงๆ ก็ต้องแตะเรื่องนี้ ถ้าไม่แตะก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่โดยรวม ภาพลักษณ์ของเมืองน่าอยู่ก็คงดูน่าตื่นเต้นมากขึ้น เพราะเป็นความเชี่ยวชาญของคนกรุงเทพฯไปแล้ว

ฟังแล้วเหมือนการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ค่อยน่าสนใจในแง่ที่มีผลสำคัญต่อนโยบายเมือง ไม่ได้กำหนดความเปลี่ยนแปลง หรือทิศทางอย่างสำคัญของกรุงเทพฯ

 ไม่เชิง ผมถือว่าประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยคราวนี้การแข่งขันกัน เหมือนกับว่าเขาเห็นๆ อยู่ว่ามันไม่ได้ช่วยทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งสวิงไปอีกแบบหนึ่ง แต่ตัวกรุงเทพฯ มันคงเคลื่อนไปได้ด้วยตัวของมันเอง นี่เป็นจุดแข็งของ กทม. นะ

สำหรับการขับเคลื่อนที่มีการเปลี่ยนแปลงมากนั้น ผมคิดว่าประชาธิปัตย์น่าจะทำอะไรได้เยอะพอสมควร แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างเช่น AEC ถ้าเราดูโครงสร้างของโรงเรียนใน กทม. เขาคงมองโรงเรียนเป็นหลักว่าจะทำอย่างไรให้ ผสานเข้าไปใน AEC ได้ดีขึ้น ผมคิดว่าเขาตระหนัก เพียงแต่ว่าผู้นำให้ความสำคัญแค่ไหน ต้องยอมรับว่าเมื่อมันเป็นนโยบายหนึ่งในเจ็ดที่สำคัญ เช่น กรีน (เมืองสีเขียว) เกรย์ (ประชากรสูงอายุ) ที่เราศึกษามามันก็เป็นเทรนด์นะครับ เมืองมหานคร กทม. ต้องมีคนแก่เยอะแน่ๆ ตัวเลขพวกนี้ก็เหมือนสิงคโปร์

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยังไม่มีใครแตะก็คือเรื่องความหลากหลายทางเพศ ว่าคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อน กทม. อย่างไร สำหรับเพื่อไทยนั้น ผมคิดว่าต้องตั้งคำถามว่าคุณจะขายนโยบายให้ใคร คุณกำลังขายให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ซึ่งไม่เหมือนกับภาคเหนือและภาคอิสานที่คุณได้รับชัยชนะมา มันไม่ใช่

หากการดูแลเมืองมหานครที่ต้องการการดูแลและนโยบายที่ต่างไปจากระดับประเทศ ถ้าเช่นนั้น ที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์เคยกล่าวว่า ผมเป็นผู้ว่า กทม. มีหน้าที่ดูแล กทม. ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลทั้งประเทศ นั้นเขาพูดถูกแล้วใช่ไหม

เขาพูดถูกแล้ว แต่พฤติกรรมก็อีกเรื่องไงครับ คือการดูแล กทม. ต้องดูแล แต่ว่าคุณต้องร่วมมือกับรัฐบาลด้วย แต่ก็ต้องเป็นประเด็นการเมืองเป็นหลัก ผมเสียใจจริงๆ นะครับตอนนั้น เป็นเรื่องน่าเศร้าจริงๆ คำพูดเขาไม่ผิดหรอก แต่การจะดูเฉพาะคน กทม. แล้วไม่ให้น้ำจากจังหวัดอื่นเข้ามา ก็เป็นเรื่องพูดยาก

ในส่วนของเทรนด์นโยบายกรุงเทพฯที่ทำร่วมกับ SIU มีอะไรบ้าง

เราพูดถึงสิบเทรนด์ ก็จะมีเรื่องความหลากหลายทางเพศ, บุคคลกลุ่มใหม่ๆ มีแรงงานรูปแบบใหม่ที่ประกอบด้วยคนแก่ที่ยังเกษียณตัวเองไม่ได้ บวกกับคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานมากขึ้น นี่ก็จะเป็นแรงงานใหม่ของกรุงเทพฯ

อัตลักษ์ของ กทม. จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตัวนี้ผมว่ามันสำคัญนะ มีรายงานออกมาเมื่อสองวันก่อน โดย UK Foresight อังกฤษให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ จริงๆ อังกฤษเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์มาเป็นร้อยปีแล้ว ในรายงานนั้นพูดถึงอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของลอนดอน อัตลักษณ์ประเทศจะถูกสะท้อนมาจากเมืองและคนที่อยู่ในเมืองนั้น ดังนั้นโจทย์สำคัญของผู้ว่าฯ ก็ต้องมองว่าอัตลักษณ์ของ กทม. หรือที่คนเรียกว่า Big Mango จะเป็นอย่างไรในอนาคต หลายคนอาจจะให้ความสำคัญน้อย แต่ว่าจริงๆ แล้วมันมีผลมากต่อการใช้ชีวิตและการทำนโยบายสาธารณะในระดับเมือง

อีกเทรนด์คือเรื่องของ Art for All ก็ต้องยอมรับว่าคนในเมืองนั้นสองมาตรฐานเรื่องศิลปะ  ในขณะที่คำขวัญของเมือง กทม. ออกมาเสียสวยงามเลยนะครับ เทพสร้าง วัดวาอารมเต็มไปหมด ความสวยงาม แต่คน กทม. ใฝ่หาศิลปะน้อยมาก ถ้าไม่นับเดอะวอยซ์ กับเรื่องของเอเอฟ ศิลปะสำหรับทุกคนนั้นไม่จริง มันเป็นศิลปะสำหรับคนชั้นกลางที่มีความสามารถในการเข้าถึงพาณิชย์ศิลป์

แต่ถ้าเราไปดูเมืองสำคัญทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นโตเกียว หรือแม้แต่เซี่ยงไฮ้เองที่เห็นตึกสูงเต็มไปหมด แต่เขามีความเป็นศิลปะอยู่ทั่วไป เป็นหย่อมๆ กรุงเทพฯนั้นมีหอศิลป์เยอะนะครับแต่คนกรุงเทพฯแทบไม่เข้าไป หรือเข้าไปก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร Art appreciation ตามถนน ในอนาคตจะสำคัญมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ละเลย จริงๆ แล้วเราห่างจากเรื่องศิลปะ ความหลากหลายทางศิลปะเราน้อยมาก เรารับศิลปะเพื่อการค้าขายเป็นหลัก และตามกัน นี่เป็นอันตรายในเชิงอัตลักษณ์

ต่อไปก็เป็นเรื่องของ emerging crime คนที่อยู่ในเมืองใหญ่จะเจอกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น ภัยคุกคามมากขึ้น ซึ่งแน่นอนผมเห็นจากเทรนด์ของสองพรรคใหญ่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคน แต่พูดน้อยพอสมควรในเรื่องของ social network, electronic crime ที่จะเกิดขึ้นมาภายใน กทม. หรือกับคน กทม.

กทม. ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของแฮกเกอร์ นับวันก็ยิ่งเยอะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะรับมืออย่างไร คือ กทม. นั้น represent เกินกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

พื้นที่สีเขียว ผู้สมัครส่วนใหญ่ให้ความสำคัญแล้วแหละ แต่จะทำอย่างไรให้ลดพลังงานมากกว่านี้ รูปแบบการใช้พลังงานที่เปลี่ยนไปจะส่งผลต่อคน กทม. มาก

เทรนด์ต่อไปคือสังคมคาร์บอนต่ำ ก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต 24 ชม. ของคน กทม. รูปแบบของการกินอาหาร การเดินทาง การทำงาน ต้องดูว่าอีก 20 ปีจะอยู่กันอย่างไร ถ้าราคาพลังงาน ราคาการเดินทางเป็นอย่างนี้ เพื่อไทยให้คนเดินทางโดยรถเมล์ฟรีไปอีกกี่ปี จะซัพพอร์ตอย่างไรถ้าคุณไม่ทำการขนส่งมวลชนให้ดี ซึ่งก็โยงกลับไปสู่คำกระแนะกระแหนของคนที่บอกว่า กว่าจะได้รถไฟฟ้า รถยนต์คันแรกก็คงจะโดนยึดกันไปเกินครึ่ง แต่จริงๆ แล้วก็ไม่เชิงนะครับ เพราะรูปแบบของการ commute และการ mobilize ของคนในเมืองจะเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของคนในเมือง จินตนาการว่าอีกไม่กี่ปีเราจะมีรถไฟฟ้ามากสายขึ้นนี่จะเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ อย่าปรามาสการสร้างโครงสร้างใหญ่ๆ เดี๋ยวนี้เร็วมาก เพียงแต่ว่าเราจะคุ้นเคยกับการเดินทางแบบนั้นหรือเปล่าก็อีกเรื่อง

ดังนั้นสังคมคาร์บอนต่ำมันไม่ใช่แค่ฝันว่าเราจะมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีแล้วมันจะจบ ระบบขนส่งที่ดีรถอาจจะติดเหมือนเดิมก็ได้ ถ้ารูปแบบของการทำธุรกิจ รูปแบบของการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ ไม่เปลี่ยน ดังนั้นคนกรุงเทพฯ ก็คงต้องหันมาดูว่า สังคมคาร์บอนต่ำคืออะไร เช่น อาจจะเจอน้ำท่วมฉับพลัน ขับรถไปรู้สึกตัวอีกทีเราอยู่ใต้ดินไปแล้วเพราะว่าถนนยุบ คงจะเยอะขึ้น ถ้าเช่นนั้นแล้วคุณต้องปรับตัวอีกเยอะเลยว่าจะอยู่อย่างไร

เทรนด์ต่อมาคือ เมือง AEC มหานคร เริ่มมีคนพูดถึงแล้ว หนีไม่พ้นนะเพราะในอนาคตคงจะเชื่อมกันแบบที่นึกไม่ถึง อย่างเพื่อนบ้านผมที่อยู่ชั้นเดียวกัน คนหนึ่งเป็นฟิลิปปินส์ อีกคนเป็นฝรั่งเศส อีกคนเป็นแอฟริกัน ในเขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยสภาพแบบนี้ในตึก ต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นคนไทยเป็นหลัก แต่เดี๋ยวนี้บางสถานที่คนไทยเป็นคนส่วนน้อยอย่างเช่นที่ผมอยู่ ต่างชาติเป็นหลัก แล้วเราจะอยู่อย่างไรถ้าเราไม่ยอมรับความแตกต่างด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรม คนกรุงเทพฯ ที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเมืองที่ต้อนรับขับสู้อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ ผู้ว่าฯ ดูหรือเปล่า

เทรนด์ถัดมา สิทธิใหม่ๆ เราอาจจะเห็นการประท้วง เช่น การประท้วงของพนักงานการบินไทย เมื่อไม่กี่วันก่อนก็พนักงาน ธ.กรุงเทพฯ ที่สีลม  ในกรุงเทพฯ จะมีการประท้วงเต็มไปหมด กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองของการประท้วง ไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะ เรากำลังจะถึงจุดนั้นคนกรุงเทพฯ กลับมองเป็นเรื่องซ้ำซากน่าเบื่อ แต่พอตัวเองทำเองกลับไม่รู้สึก นี่ก็เป็นเรื่องอันตราย

เทรนด์สุดท้าย ผู้สมัครที่ลงรับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นผู้สมัครที่มีภาวะผู้นำแบบ 360 องศาหรือเปล่า คุณมองแค่ด้านเดียวหรือเปล่า คุณมองแค่รูทีนการทำงานในเมือง มองแค่การแก้ปัญหาชั่วคราวหรือเปล่า กรุงเทพฯคงอยู่ไม่ได้ถ้าเป็นอย่างนั้น ในอนาคตอันใกล้

สิ่งที่ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ควรเรียนรู้จากการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้คืออะไร

เพื่อไทยมีประสบการณ์การบริหารเมืองเหมือนกัน คือเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งมีการบริหารสืบเนื่องกันมาหลายวาระ แต่ถามว่านายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ สามารถจะเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่ให้ดีขึ้นไหม คำตอบก็คือไม่ใช่ แต่เป็นประชาคมของคนเชียงใหม่เองที่ต้องสู้และต้านกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้นเราจะเห็นว่า แม้เพื่อไทยจะมีประสบการณ์ของการเป็นนายกเล็ก เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศอย่างเชียงใหม่ ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะประสบความสำเร็จในการบริหารเมือง เพราะในรูปแบบนั้นประชาคมที่เชียงใหม่กับประชาคมที่กรุงเทพฯ ผมคิดว่ามีความคล้ายกันคือมีความแอคทีฟ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเพื่อไทยเองต้องหันมาดูว่ามิติที่เรียกว่าเมืองควรจะบริหารอย่างไร ก็ยังไม่สาย ยิ่งตอนนี้เพื่อไทยกำลังจะผลักดันเชียงใหม่มหานครเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า ‘พิงคนคร’ เป็นหน่วยงานใหม่ขึ้นมา ถามว่าหน่วยงานนั้นมีการสอดรับกับผู้บริหารท้องถิ่นอย่างไร คำตอบก็คือไม่น่าจะมีเยอะ เป็นหน่วยงานหลักที่บริหารงานในพื้นที่ของเชียงใหม่เอง ถ้ากระบวนทัศน์ความคิดแบบท็อปดาวน์ ไม่สามารถนำมาใช้กับเมืองมหานครอย่าง กทม. หรือเชียงใหม่ได้อีก นั่นก็คือจุดอ่อนของเพื่อไทย

ในขณะเดียวกันประชาธิปัตย์เองต้องโตจากการเป็นคุณชายคุณหนูทั้งหลายที่อยู่ใน comfort zone กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

ทั้งสองพรรคมีจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกัน ประชาธิปัตย์ต้องการการเปลี่ยนแปลงภายในและกระบวนทัศน์ความคิดที่เขาอาจจะก้าวหน้าเรื่องเมืองมากกว่า แต่พรรคเพื่อไทยต้องทำความเข้าใจเรื่องเมือง หน่วยวิเคราะห์มันไม่เหมือนกัน

ถ้าเป็นบทเรียนคงเป็นบทเรียนให้เพื่อไทย แต่เพื่อไทยจะเก็บเป็นบทเรียนหรือเปล่าไม่รู้ ในขณะเดียวกันไม่ใช่บทเรียนของนักเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นบทเรียนของคนที่จะไปเลือกตั้งด้วย ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าคน กทม. จะออกมาเลือกตั้งหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าไม่น้อย แต่ผมมีความรู้สึกว่าคน กทม. ถูกมัดมือชกพอสมควร คือไม่รู้จะเลือกใคร

ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาของผู้สมัครอิสระด้วย จริงๆ มันมีตัวเลือกเยอะนะ แต่ผู้สมัครอิสระ....(หยุดคิด) จำสมัยของคุณพิจิตร รัตตกุลได้ไหมล่ะ คุณจำลอง คน กทม. ก็เคยเลือกมาแล้ว ผมคิดว่ามันต้องมีจุดพลิกผันที่เป็นระลอกหนึ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงภาวะผู้นำของคน กทม. ตอนนี้ ทั้งผู้สมัครอิสระและตัวเพื่อไทยเองจะรอส้มหล่นคงไม่ได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net