Skip to main content
sharethis

‘พจนีย์ ธนวรานิช’ รองประธาน สนช. นั่งแท่นพยานโจทก์ 'คดีเอ็นจีโอปีนสภา' สมัย สนช.ค้านออกกฎหมายอันตราย แจงสถานการณ์วันเกิดเหตุระแวงความไม่ปลอดภัย ชี้ม็อบบุกสภาชุมนุมไม่สงบ

 
วันที่ 29 ม.ค.56 เวลาประมาณ 13.00 น.ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในวันเกิดเหตุ ขึ้นเบิกความเป็นพยานโจทก์ ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน กรณีเหตุการณ์ในปี 2550 ที่มีผู้ชุมนุมปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายของ สนช.ที่กระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน
 
คดีดังกล่าว ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 เป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 โดยอัยการฟ้องร้องว่าผู้ชุมนุมละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน) มาตรา 215 (มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) มาตรา 362 (เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น) มาตรา 364 (เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควรและไล่ไม่ยอมออก) มาตรา 365 (ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายในการกระทำตามมาตรา 362, 364)
 
นางสาวพจนีย์ เบิกความต่อศาลโดยสรุปความได้ว่า การทำหน้าที่ สนช.ในขณะนั้น มีสถานภาพเหมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา โดย สนช.เปิดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ต.ค.49 เพื่อเลือกประธาน สนช.หลังจากนั้นก็ได้มีการประชุมต่อเนื่องไปจนถึงมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (23 ธ.ค.50) และเมื่อเปิดสภา สนช.ทำหน้าเป็นวุฒิสภา ไม่ได้มีการพิจารณากฎหมาย ส่วนกฎหมาย 69 ฉบับที่ สนช.พิจารณาไม่แล้วเสร็จ ครม.ไม่มีการร้องขอต่อสภาฯ ภายในกำหนด ทำให้กฎหมายดังกล่าวตกไป ทั้งนี้มีพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาสมัย สนช.ทั้งสิ้น 215 ฉบับ   
 
ส่วนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2550 ซึ่งเป็นมูลเหตุของการฟ้องคดีนั้น เธอเดินทางมาถึงรัฐสภาเพื่อเข้ามาร่วมประชุม สนช.เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น.พบว่าบริเวณหน้าอาคารรัฐสภามีผู้ชุมนุมกันอยู่ และการประชุมเริ่มต้นช้ากว่ากำหนดเดิมในเวลา 10.00 น.ไปเป็น 10.30 น.เพื่อรอองค์ประชุมที่ยังมาไม่ครบ เนื่องจากมีเหตุผิดปกติ จากนั้นเธอได้ขึ้นเป็นประธานการประชุม โดยในระหว่างการประชุมได้รับรายงานว่าบริเวณด้านนอกรัฐสภามีการชุมนุมซึ่งส่วนตัวทราบแล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมนำโดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ได้ขึ้นมาบริเวณชั้นสองและชุมนุมอยู่ด้านนอกห้องประชุม และมีหน่วยคอมมานโดมาควบคุมสถานการณ์
 
นางสาวพจนีย์กล่าวด้วยว่า ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ด้านนอกห้องประชุมเธอได้ขอมติที่ประชุมว่าจะดำเนินการหยุดหรือเลื่อนการประชุมออกไปอย่างไร ซึ่งก็มีสมาชิก สนช.หลายคนอภิปรายถึงเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ามาถึงบริเวณชั้นสองใกล้ห้องประชุม อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวได้แนะนำให้สมาชิกปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ได้รับพิจารณาโปรดเกล้าฯ มา
 
นอกจากนั้นเธอยังได้ประกาศขอให้สมาชิก สนช.ที่รู้จักกับกลุ่มผู้ชุมนุมออกไปเจรจาและแนะนำให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากขณะนั้น สนช.กำลังปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ได้ออกไปเจรจากับผู้ชุมนุม จากที่ก่อนหน้านี้นางเตือนใจ ดีเทศน์ได้เจรจากับผู้ชุมนุมแล้วมารายงานในที่ประชุมว่าสถานการณ์น่าจะนำมาซึ่งความรุ่นแรงได้จึงขอให้ยุติการประชุม ซึ่งนายวัลลภก็ได้กลับมาเสนอต่อที่ประชุมให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน จากนั้นจึงมีการสอบถามสมาชิกในข้อเสนอดังกล่าว และมีการประกาศเลื่อนการประชุมเมื่อเวลาประมาณ 11.50 น. เพื่อคลีคลายสถานการณ์ จากปกติการประชุมจะไม่มีการหยุดพัก
 
ต่อมา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้มีการแถลงข่าวยุติการประชุมในวันดังกล่าว ซึ่งหลังจากเหตุการณ์เธอไม่ได้เข้าร่วมหารือสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทราบสถานการณ์การชุมนุมหน้าห้องประชุมว่าเป็นอย่างไร และไม่ทราบด้วยว่ากลุ่มผู้ชุมนุมต้องการคัดค้านกฎหมายอะไร เนื่องจากเป็นหน้าที่รับผิดชอบของส่วนเลขาธิการ และเจ้าหน้าที่เลขาธิการไม่ได้นำข้อเรียกร้องมานำเสนอให้รับทราบ  
 
“การชุมนุมหากอยู่ภายนอก ไม่มีการบุกรุกเข้ามาในรัฐสภา ก็ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบ มีสิทธิทำได้” นางสาวพจนีย์กล่าว พร้อมระบุแปลกใจที่ทราบว่า นายจอน อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเคยอยู่ในตำแหน่งวุฒิสภาจะกล้าบุกขึ้นชั้นสองอาคารรัฐสภา เพราะเชื่อว่าเป็นคนมีความรู้ แสดงความเป็นตรงไปตรงมา และไม่เคยรับรู้เรื่องการแสดงออกถึงความรุนแรง
 
เมื่อทนายจำเลยซักค้านถึงความไม่ชอบธรรมของ สนช.ที่มาจากการรัฐประหาร นางสาวพจนีย์ชี้แจงว่า เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองผิดปกติ มีวิกฤติ เหตุการณ์บางอย่างก็ย่อมเกิดขึ้นได้ และตัวเธอเองได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง สนช.เพื่อมาดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแทนประชาชน ส่วนเรื่องสัดส่วน สนช.ที่มีภาคประชาชน เกษตรกร แรงงาน และคนทำอาชีพอิสระน้อย นางสาวพจนีย์กล่าวว่าหากนับจำนวน ดารานักแสดง สื่อมวลชน ผู้นำสหภาพแรงงาน ผู้นำศาสนา แล้วจะมีจำนวนรวมใกล้เคียงกับข้าราชการประจำคือ ประมาณ 30 คน
 
สำหรับกรณีการเร่งรัดพิจารณากฎหมาย นางสาวพจนีย์ กล่าวว่า สนช.ไม่มีการเร่งรัด แต่การพิจารณาเป็นไปตามวาระที่สมาชิกเสนอ ส่วนกรณีที่ทนายจำเลยซักค้านถึงการลาออกของนายสุริชัย หวันแก้ว ว่ามีเหตุผลมาจากการพิจารณากฎหมายของ สนช.เป็นไปโดยเร่งรีบ ไม่รอบครอบ นางสาวพจนีย์กล่าวถึงเนื้อหาจดหมายลาออกของนายสุริชัยว่าระบุเหตุผลถึงการปฏิบัติงานในตำแหน่ง สนช.ในระยะเปลี่ยนผ่านมาจนถึงใกล้วันเลือกตั้ง ส.ส.จึงสมควร สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งจะยุติบทบาท
 
 
อนึ่ง จำเลยในคดีนี้ 10 คน ประกอบด้วย นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
 
การเคลื่อนไหวคัดค้านการเร่งผ่านกฎหมายของ สนช.ระบุเหตุผลว่า สนช.ซึ่งเป็นสภาที่ถูกแต่งตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 ไม่สมควรและไม่มีความชอบธรรมเร่งผลักดันกฎหมายใดๆ อีกทั้งช่วงการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ราว 2 สัปดาห์ และได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกตั้งแล้ว นอกจากนั้นเนื้อหากฎหมายยังขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย
 
ตัวอย่างกฎหมายที่ผู้ชุมนุมคัดค้าน ได้แก่ ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ร่างกฎหมายป่าชุมชน ร่างกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ ร่างกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ และร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นต้น
 
ทั้งนี้ ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย รวม  27 นัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. - 14 มี.ค.2556
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net