เครือข่ายพิทักษ์สถาบันชุมนุมหน้าอียูจี้ขอโทษ - แจง ม. 112 จำเป็น

 

31 ม.ค.56 เวลาประมาณ 10.00 น. เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบัน นัดหมายผ่านเฟซบุ๊กเพื่อชุมนุมสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) อาคารเคี่ยนหงวน 2 ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ  ในวันนี้เพื่อประท้วงอียู สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้อียูได้ออกแถลงการณ์กรณีในศาลไทยตัดสินจำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of  Taksin  ว่า คณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ มีความเป็นห่วงต่อคำพิพากษาของศาลดังกล่าวเนื่องจากมีผลอย่างมากต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและ ต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน ในขณะเดียวกันคำตัดสินดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นสังคมแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ราว 50 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยอยู่โดยรอบ และมีการถ่ายทอดสดโดยสำนักข่าวทีนิวส์

นายธนบดี วรุณศรี  ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ  กล่าวว่า การมาวันนี้ เพื่อมาเลคเชอร์ให้อียูฟัง ขณะนี้พยายามประสานงานกับผู้แทนสหภาพยุโรปเพื่อขอเข้าไปอธิบายรายละเอียด โดยมีประเด็นที่ต้องการอธิบายต่ออียูคือ 1. ต้องการให้เข้าใจสถานภาพกษัตริย์ของไทยว่าอาจไม่เหมือนกษัตริย์ประเทศอื่น บางประเทศในอียูไม่เคยมีกษัตริย์ อาจไม่เข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์มีความศักดิ์สิทธิ์ขนาดไหน 2.ต้องการอธิบายว่าทำไมต้องมีมาตรา 112 และไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย แม้แต่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็มีโทษจำคุก 4-5 ปี หากมีการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ คุณสมยศซึ่งกระทำความผิดชัดแจ้ง โดยตีพิมพ์บทความสองบทความ มีโทษบทความละ 5 ปี ก็ถือว่าไม่ได้มากไปกว่าเนเธอร์แลนด์ หากไม่ได้มีการลบหลู่จริงใครจะมาทำอะไร รัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์เป็นจอมทัพไทย ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายปกป้องประมุขของชาติ

เขากล่าวถึงเหตุจูงใจที่อียูมีการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับคดีสมยศว่า หากมองแบบไม่คิดลึกเข้าใจว่าอาจเป็นความรักชอบส่วนตัวกับสมยศ เพราะนายสมยศมีคุณูปการในการทำงานด้านแรงงาน ต่อสู้จนมีประกันสังคม  แต่ก็ต้องแยกแยะการกระทำแต่ละครั้งว่าทำดีหรือทำผิด หวังว่าหากได้อธิบายแล้วอียูจะเข้าใจและสำนึกผิดได้ไม่ยาก ทั้งยังเห็นว่าควรออกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งเพื่อแสดงความเสียใจด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ชุมนุมมีรถปราศรัยขนาดใหญ่ซึ่งผู้ปราศรัยกล่าวว่า  ปัญหาตอนนี้ที่อียูต้องแก้คือเรื่องโรฮิงยาไม่ใช่เรื่องนี้ และหากมีใครมาแตะต้องเรื่องการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ทางกลุ่มอาจมีการรณรงค์ให้บอยคอตสินค้าอียูก็ได้

ต่อมา มีตัวแทนอียูลงมารับหนังสือจากผู้ชุมนุมโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด พร้อมระบุว่าจะส่งเรื่องต่อให้ จากนั้น ผู้ชุมนุมจึงยุติการชุมนุมในเวลาราว 11.30น.

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทางสหภาพยุโรปได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบเรื่องการนัดชุมนุมประท้วงครั้งนี้ โดยเดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูต และหัวหน้าผู้แทนคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพยุโรปมิได้มีจุดประสงค์เพื่อเข้าไปยุ่งหรือแทรกแซงอธิปไตยตามที่ทางเครือข่ายอ้าง เนื่องจากสหภาพยุโรปเพียงปฏิสัมพันธ์กับประเทศไทยบนหลักของสิทธิ โดยมองว่า บทลงโทษจำคุกนายสมยศถึง 11 ปี สำหรับบทความที่ตนเองไม่ได้เขียน เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

"แน่นอนว่าการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องที่สามารถตีความได้ แต่เรามองเรื่องนี้จากหลักการทั่วไปของสิทธิมนุษยชน สำหรับเราแล้วในยุโรป เราเองก็มีสถาบันกษัตริย์ ผมมาจากประเทศอังกฤษซึ่งก็มีพระราชินีที่เราเคารัพและนับถือมาก และประชาชนก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ในทางที่เคารพ และก็ไม่ถูกส่งไปจำคุก" ลิปแมนกล่าว

เขากล่าวถึงกรณีการประท้วงของเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ ว่า นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้คนสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตนเองได้ ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสหภาพยุโรป แต่ลิปแมนก็ย้ำว่า การออกแถลงการณ์ไม่ใช่การแทรกแซง แต่เป็นการมีปฏิสัมพันธ์ที่อยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท