Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเติมเนื้อหาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 56 เมื่อเวลา 23.26 น. หลังจากทางสำนักพิมพ์ได้เผยแพร่คำชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้

 

ตามที่ได้แจ้งใน บันทึกว่าด้วยการ "แบน" ฟ้าเดียวกัน (อีกครั้ง) ว่า ทางคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “แบน” สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน (รวมทั้งสำนักพิมพ์ อื่น ๆ ด้วย) เนื่องจากเห็นว่าหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเป็น “หนังสือประเภทล้มล้างสถาบัน” ข้อมูลดังกล่าวทางสำนักพิมพ์ได้รับมาจากคนที่มารับหนังสือที่สำนักพิมพ์ไปจำหน่าย ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
 
ข้อเท็จจริงคือ ผู้ที่สั่ง “แบน” ฟ้าเดียวกัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดูแลสถานที่คืออาคารบรมราชกุมารี
 
การที่แจ้งไปก่อนหน้านั้นทำให้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง ทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

0000

ที่ผ่านมาการนโยบายการทำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เราพยายามเลี่ยงที่จะพูดเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือ โดยหวังว่าจะใช้ผลงานเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ตัวเอง  แม้ว่าตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น เราจะโดน “เล่นงาน”  ทั้งโดยใช้วิธีการทางกฎหมาย  วิธีการนอกกฎหมาย  รวมทั้งมาตรการทางธุรกิจ (ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย)  อยู่เนือง ๆ 


บรรยากาศเหล่านี้เกิดขึ้นกับสำนักพิมพ์ในทุกรัฐบาลนับตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์  นายสมัคร สุนทรเวช  นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หรือแม้แต่สมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (เหตุที่ต้องยกรายชื่อมานั้นเพื่อจะบอกว่าฟ้าเดียวกันไม่เคยเป็นข้อยกเว้นแม้แต่รัฐบาลไหนก็ตาม)

การต่อสู้กับวิธีทางกฎหมายนั้นแม้จะหนักหนาอยู่บ้างเนื่องจากมีโทษทางอาญา แต่ก็เป็นการต่อสู้ที่ไม่น่ากลัวอะไรเพราะรัฐในฐานะคู่กรณีต้องให้เหตุผลในการอ้างอิงความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ขณะเดียวกันการทำงาน “บนดิน” อย่างน้อยเป็นเกราะป้องกันการใช้อำนาจนอกกฎหมายได้ระดับหนึ่ง   และเนื้อหาที่นำเสนอเราก็เชื่อว่ามีความหนักแน่นในตัวเอง

ส่วนวิธีการนอกกฎหมายนั้น  ส่วนใหญ่มักเริ่มจากการใช้ “เสรีภาพ”  ดังเช่นกรณี คาราวานคนจน ในปี 2549  ที่เริ่มจากการเผาวารสารฟ้าเดียวกัน แจ้งจับบรรณาธิการ  และข่มขู่ที่จะบุกสำนักพิมพ์,  กรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  ในปี 2548-2551 ที่รณรงค์ว่าฟ้าเดียวกันเป็นพวก “ล้มเจ้า” เป็นเวลานานนับเดือน  หรือกรณี “ผังล้มเจ้า”  ของ ศอฉ.  ที่แม้จะทำโดยการอาศัยกฎหมาย แต่ก็ลงท้ายด้วยการเป็นเรื่องโจ๊ก  ผลของวิธีการปลุกระดมเช่นนี้ มีแนวโน้มในการนำ “มวลชน” มาถล่ม สำนักพิมพ์และผู้เกี่ยวข้อง

ส่วนมาตรการทางธุรกิจ  นั้นเป็นการเริ่มต้นจากการ “แบน” หนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่เริ่มตั้งแต่ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้านซีเอ็ด   ร้านนายอินทร์ ฯลฯ 

ศูนย์หนังสือจุฬา แบนหนังสือฟ้าเดียวกันฉบับ รัฐประหาร 19 กันยาฯ

เมื่อเผชิญกับมาตรการทางธุรกิจ ซึ่งอยู่ในอำนาจที่จะทำได้โดยไม่ต้องมีเหตุผลมารองรับ ก็ป่วยการที่จะสู้ด้วยเหตุผล   เพื่อความอยู่รอดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันก็ต้องหาทางรอดด้วยการ “ขายตรง” ให้มากขึ้นโดยที่เราเน้นไปที่ตลาดมหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งก็มิได้ทำให้เราพบเส้นทางที่ราบรื่นแต่อย่างใด ยังมีอุปสรรคอีกมาที่ต้องเผชิญ เช่นกรณีการไปขายที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ท่ามกลางกระแสสูงของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

“ฟ้าเดียวกัน” ตีตลาดขยายแนวร่วม ม.ขอนแก่น 

หรือที่การประชุมวิชาการระดับชาติ: เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย  ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2552 ก็มีคำสั่งห้ามมิให้ขายวารสารฟ้าเดียวกันในงาน  โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของสำนักพิมพ์ว่ามิให้วางจำหน่ายบนแผง

บรรกาศความความกลัว/รังเกียจ ต่อสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันมีให้เห็นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  แต่เราก็ยังอดทน ด้วยความตั้งใจจะใช้ผลงานคือหนังสือเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเอง

ล่าสุดที่ร้ายแรงที่สุดก็เกิดขึ้นที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นกัน เมื่อทางคณะแจ้งว่าไม่อนุญาตให้กลุ่มที่จะนำหนังสือไปขายใต้ตึกบรมราชกุมารีไปจำหน่ายทั้งหมด (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันก็เป็นสมาชิกที่ไปขายด้วย) เนื่องจาก “กลัวหนังสือประเภทล้มล้างสถาบัน”

ที่เรียกว่าร้ายแรงที่สุดก็เป็นเหตุว่าคนที่เดือดร้อนก็มิได้เป็นเพียงแค่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสำนักพิมพ์อื่น ๆ ด้วยที่ต้องมารับเคราะห์จากที่มิได้เกี่ยวข้องด้วย  และแน่นอนคือบรรดา นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองที่จะไม่ได้มีทางเลือกในการเลือกซื้อ/อ่านหนังสือ ด้วยเช่นกัน

ทางคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงลืมไปแล้วว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ยังเป็นเจ้าภาพจัดงานเปิดตัวหนังสือปากไก่และใบเรือฉบับที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันอยู่เลย

               

เหตุที่ต้องเขียนเป็น “บันทึก” ไว้ในที่นี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจว่า  สังคมนี้พื้นที่ที่ให้กับความเห็นที่แตกต่างนับวันจะลดลง  

 

หมายเหตุ

เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กฟ้าเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net