Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมเป็นแฟนรายการคิดเล่นเห็นต่างของคุณแขกและคุณอรรถครับ เมื่อเสาร์ที่ผ่านมาทางรายการพูดถึงเรื่องนิทานเรื่อง โง่จนเจ็บ ที่วนเวียนอยู่ในสังคมไทยมานานกว่าสี่สิบปีในสังคมไทยและการเมืองไทย เอาเข้าจริงแล้วนิทานเรื่องนี้กลายเป็นความคิดฝังหัวและเป็นวิธีคิดอัตโนมัติที่เอาไปตอบปัญหาครอบจักรวาลทุกปัญหาในประเทศไทย ไม่ว่าอะไร ๆ ก็ โง่จนเจ็บ โดยไม่ลงไปในรายละเอียดแต่ละปัญหา การมองแบบนี้ดูเหมือนจะเป็นการมองปัญหาแบบโครงสร้าง แต่ที่จริงแล้วเป็นการมองสาเหตุปัญหาในมุมปัจเจกชนมากกว่า เช่น การเมืองที่เลวร้าย(ที่เขาว่า)มีสาเหตุมาจากการซื้อเสียง และขายเสียงของคนชนบท เราก็แค่โทษว่าการเมืองมันแย่เพราะ นักการเมืองมันเลว คนชนบทมันโง่ ซึ่งเป็นการละเลยปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆไม่ว่าโครงสร้างความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างอื่นๆ เช่น ผลวิจัย 10 ปัจจัยหลุดพ้นโง่จนเจ็บ[1]โดย ดร สมพงษ์ จิตระดับ ที่เสนอวิธีทั้งสิบในการหลุดวงจรโง่จนเจ็บ แต่วิธีทั้งสิบนี้ต่างเป็นการแก้ที่ตัวปัจเจกทั้งนั้น เช่น ให้คนจนคิดหลุดพ้นกรอบความคิดเดิมๆที่สังคมยัดเยียดให้จะสามารถหลุดความยากจน  (แต่ไม่ต้องคิดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ถูกขึ้นแต่ค่าครองชีพกับขึ้นเอาๆ)

โง่จนเจ็บ กับ โง่เจ็บจน

นิทาน โง่จนเจ็บ ไม่ใช่แพร่หลายเฉพาะในวงการการเมืองไทยเท่านั้น วงการสุขภาพหรือสาธารณสุขไทยก็มีนิทานเรื่องนี้เช่นกัน ผมไม่ทราบว่ามันแพร่หลายได้อย่างไร และเริ่มต้นเมื่อไร อย่างไรก็ตามนิทานโง่จนเจ็บในวงการสุขภาพไทยยังคงดีกว่านิทานโง่จนเจ็บในการเมือง เพราะนักสาธารณสุขยังมีการมองปัญหาในเชิงโครงสร้างมากกว่า และต้องมีการแก้ทั้งทางโครงสร้างและระดับปัจเจกพร้อมๆกัน[2][3]

องค์กรอนามัยโลก(WHO) ก็มีการเสนอวัฏจักรทำนองนี้เช่นกันชื่อวัฏจักรสุขภาพและความยากจน (cycle of health and poverty) แต่วัฏจักรนี้ไม่ใช่ โง่จนเจ็บ แต่เป็น โง่เจ็บจน และเป็นการมองปัญหาในเชิงโครงสร้าง

วงจรนี้เริ่มตรงที่ว่าคนจนมักจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาดและเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ง่าย ความจนทำให้ไม่สามารถไปใช้บริการรักษาพยาบาลได้ นอกจากนี้การไม่ได้ศึกษาสูงทำให้ไม่รู้ว่าต้องดูแลสุขภาพตนเองอย่างไร (โง่) และด้วยสาเหตุข้างต้นทำให้คนจนมีสุขภาพแย่ลงๆ (เจ็บ) เมื่อสุขภาพแย่ลงแล้วทำให้คนเหล่านี้ต้องเสียเวลาการทำงานเพื่อไปใช้การรักษา และเสียเงินเพื่อค่ารักษาพยาบาลทำให้คนเหล่านี้ที่จนอยู่แล้วจนยิ่งขึ้นไปอีก(จน) และกลายเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบวัฏจักรโง่เจ็บจนสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันในระบบสาธารณสุขที่คนจนมีโอกาสน้อยในการเข้าถึงการรักษาที่ดีและไม่สร้างภาระการเงินให้กับคนยากจนเมื่อใดก็ตามที่เขาป่วย และความไม่เท่าเทียมกันในการสร้างสิ่งแวดล้อมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีให้กับคนยากจน

ในขณะที่โง่จนเจ็บ มีความแตกต่างกัน ตรงที่ว่าคนที่มีการศึกษาน้อย (โง่) มีโอกาสที่ได้รับรายได้น้อยกว่าคนมีการศึกษาสูง (จน) และเมื่อจนแล้วก็จะมีโอกาสป่วยมากกว่า จากการไม่มีเงินเข้ารับการรักษา และจากลักษณะอาชีพของคนจนที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการมีสุขภาพแย่ (เจ็บ) การที่ประเทศไทยมองวัฏจักรโง่จนเจ็บมันสะท้อนว่าเมืองไทยมันแย่ทั้งระบบโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างระบบสาธารณสุข ระบบเศรษฐกิจไม่มีความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ ระหว่างคนที่มีการศึกษาสูงและคนที่มีการศึกษาต่ำ รวมถึงงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีสุขภาพแย่ก็โยนไปให้คนจนทำงานหมด เหลืองานไม่อันตรายรายได้ดีให้กับคนมีการศึกษาสูง และเมื่อคนจนเจ็บป่วยก็ไม่มีความเท่าเทียมกันในระบบสาธารณสุขอีกเมื่อ ระบบกีดกันให้เฉพาะคนรวยได้รับการรักษาแต่คนจนถูกละเลย คนจนเมื่อเจ็บป่วยก็ปล่อยตามยถากรรมให้เจ็บป่วยไปเรื่อยๆ

โง่จนเจ็บ กับ จนเครียดกินเหล้า

ตามความทรงจำของผมในสมัยเด็กๆ ผมเริ่มเห็นโฆษณาประเภท จนเครียดกินเหล้า มาสิบยี่สิบปีมาแล้ว ผมไม่ทราบว่ากระบวนการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากมองเป็นระบบกลายเป็นจนเครียดกินเหล้าเริ่มต้นมาอย่างไร แน่นอนว่าการที่คนเราตัดสินใจกินเหล้าหรือไม่กินเหล้าเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลตัดสินใจเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าปัญหาความยากจนกับสุขภาพก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งต้องอาศัยการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การที่ลดปัญหาเชิงโครงสร้างให้กลายเป็นเรื่องของปัจเจกชน เช่น จนเครียดกินเหล้า ย่อมเป็นการผลักภาระให้คนจนกลายเป็นคนผิดไปโดยปริยาย แทนที่จะเป็นความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของสังคม การกินเหล้ากลายเป็นปัญหาเชิงศีลธรรมของประเทศไทย ไม่ว่ากินเหล้า=แช่ง หรือ งดกินเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งวิธีลดทอนเป็นระดับปัจเจกไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมคนจนถึงจนซึ่งคนจนอาจจนมาจากสาเหตุค่าแรงขั้นต่ำมันน้อยไป ไม่ใช่เพราะเขาไม่ขยัน ทำไมคนจนถึงเครียดซึ่งคนจนอาจเครียดมาจากสิ่งบันเทิงใจมีราคาแพงที่ต้องจ่าย รัฐไม่เคยอำนวยให้คนจนเข้าไปชมศิลปะวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์แบบไม่เสียตังค์ หรือทำไมคนจนจึงกินเหล้า แล้วยิ่งบวกปัญหาเชิงศีลธรรมเข้าไปอีกก็กลายเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับจนว่า คนจนเป็นคนกินเหล้า ไม่เจียมตัวใช้จ่ายสิ้นเปลืองหมดไปกับเหล้า และเป็นคนเลวซึ่งสาสมแล้วที่พวกเขาจะมีสภาพที่ยากลำบากสุขภาพแย่ และยากจนต่อไปเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้ามคนดีเป็นพวกไม่กินเหล้า ร่างกายแข็งแรง มีปัญญา ใช้จ่ายพอเพียงมีเงินในกระเป๋าและ เป็นวีรบุรุษสร้างความเจริญให้ชาติ ดังตัวอย่างยูทูปข้างล่างทั้งสอง

 

 


[1] http://www.thaipost.net/node/9186

[2] http://www.thainhf.org/document/article/article_397.pdf

[3] http://www.hiso.or.th/hiso/brochure/b6_1.php?color=1&title=1&lesson=6

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net