Skip to main content
sharethis

 

ประเพณีปีใหม่ม้ง หรือที่ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ

หากใครมาเยือนเชียงดาวในหน้าหนาว นอกจากจะได้สัมผัสความงามของธรรมชาติของผืนป่าอันอุดม ของดอยหลวงเชียงดาว และต้นกำเนิดของแม่น้ำปิงกันแล้ว วิถีวัฒนธรรม ประเพณีของชนเผ่า ก็ถือเป็นเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมกันได้ในแต่ละปี 

ประเพณีปีใหม่ม้ง เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของอำเภอเชียงดาวได้เป็นอย่างดีและถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของพี่น้องชาวม้ง ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปี หลังจากมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย ว่ากันว่า เป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวนั้นจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า ผีป่า และผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง ดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย  

แต่เดิมนั้น จะมีการจัดขึ้นในแต่ละหมู่บ้าน โดยมีการฉลองกันตามวัน เวลา ที่สะดวกของแต่ละชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดกันในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี แต่ในปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยน มีการรวมพี่น้องชนเผ่าม้ง จากหลายๆ หมู่บ้าน โดยมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามแต่ละหมู่บ้านที่มีความพร้อม   

เมื่อวันที่ 14 -16 ธันวาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดงานประเพณีปีใหม่ม้ง ขึ้นที่บ้านม้งแม่มะกู้ ตั้งอยู่บริเวณถนนสายปิงโค้ง-พร้าว ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพี่น้องชนเผ่าม้ง จากหลายหมู่บ้าน หลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เดินทางเข้ามาร่วมงานกันอย่างคับคั่งนับพันคน ทำให้บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยผู้คนที่แต่งกายชุดประจำเผ่ากันอย่างงดงาม      

ประเพณีปีใหม่ม้ง หรือที่ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ) เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย(เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม         

ในวันดังกล่าว หัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่าง ๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง เป็นต้น    

การเล่นลูกช่วง หรือที่คนม้ง เรียกกันว่า “จุเป๊าะ” นั้นถือว่าเป็นการละเล่นเพื่อฉลองวันปีใหม่ม้งโดยเฉพาะ  เลยทีเดียว ลูกช่วง นั้นจะมีลักษณะกลมเหมือนลูกบอลทำด้วยเศษผ้า มีขนาดเล็กพอที่จะถือด้วยมือข้างเดียวได้ การละเล่นลูกช่วง จะแบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย โดยที่ก่อนจะมีการละเล่น ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่เอาลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย หรือญาติ ๆ ของฝ่ายหญิงเป็นผู้ที่นำลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย เมื่อตกลงกันได้ก็จะทำการโยนลูกช่วงโดยฝ่ายหญิง และฝ่ายชายแต่ละฝ่ายจะยืนเป็นแถวหน้า กระดานเรียงหนึ่ง หันหน้าเข้าหากันมีระยะห่างกันพอสมควร แล้วโยนลูกช่วงให้กันไปมาและสามารถทำการสนทนากับคู่ที่โยนได้  

“เขาโยนลูกช่วงกันไปมาทำไมเหรอ” นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นแอบตั้งคำถาม   

“ก็เพื่อความสนุกสนาน แล้วหนุ่มสาวยังจะได้มีเวลาคุยกัน จีบกันไป” หนุ่มม้งเจ้าถิ่นกระซิบบอกอย่างนั้น

ว่ากันว่า การเล่นลูกช่วง นั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของหนุ่มสาวชาวม้ง เพราะนี่เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวชาวม้งได้รู้จักกัน เพื่อมิตรภาพที่ดีต่อกัน และที่สำคัญ ถ้าหนุ่มสาวพึงใจชอบพอกันแล้ว ก็นำไปสู่การแต่งงานกันในอนาคตได้          

“แล้วแม่หญิงม้ง ที่แต่งงานแล้ว สามารถเล่นลูกช่วงได้มั้ย” นักท่องเที่ยวเอ่ยถาม  

“หญิงที่แต่งงานแล้ว เขาจะห้ามไม่ให้เล่นลูกช่วงอีก เพราะถือว่าผิดธรรมเนียมของม้ง แต่ฝ่ายชาย สามารถเล่นได้นะ แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายหญิงจะทำการยินยอมเล่นกับตนหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิงสาวคนนั้น” หนุ่มม้ง บอกเล่าให้ฟัง           

จุดเด่นของชนเผ่าม้ง ที่เราพบเห็น ทั้งหญิงและชาย ต่างพากันสวมชุดประจำเผ่ากันทุกคน ด้วยเครื่องแต่งกายอันวิจิตรงดงาม ซึ่งแต่เดิมนั้นจะนิยมสวมใส่เสื้อสีดำแขนยาว ปลายแขนเสื้อจะมีการปักลวดลายอย่างสวยงาม ขอบแขนเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยผ้าที่ต่างสีจากตัวเสื้อ นั้นคือจะเป็นผ้าสีฟ้า ขาว เหลือง เป็นต้น ส่วนด้านหน้าของตัวเสื้อ จะมีการปล่อยสาบเสื้อปักเป็นลวดลายอย่างสวยงาม ด้านหลังเสื้อจะมีปกเสื้อที่ปักเป็นสีสันลวดลาย ต่างๆไว้ด้านหลัง นิยมโชว์ด้านที่ปักไว้ด้านนอก ผู้หญิงม้งดำไม่นิยมใส่กางเกง ส่วนมากแล้วนิยมใส่กระโปรงมากกว่า พร้อมกับใช้ผ้าพันน่องขาไว้ด้วย          

แต่ภายในงานปีใหม่ม้ง ที่ผ่านมา เราจะมองเห็นว่า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของหญิงม้งนั้นเริ่มมีหลากหลายสีสัน ทั้งเสื้อ กระโปรง เต็มไปด้วยสีที่ฉูดฉาด สดใส มีทั้งสีแดง ชมพู แสด เขียว ฟ้า ม่วง เหมือนกับการเป็นงานแฟชั่นของชนเผ่าไปเลยก็ว่าได้          

นั่นทำให้ผู้ศึกษาวิถีชนเผ่าหลายคนเริ่มสับสนและมึนงง เพราะแต่เดิม ชุดแต่งกายชนเผ่าม้ง นั้นสามารถบ่งบอกและแยกกลุ่มระหว่างม้งขาวกับม้งดำได้อย่างชัดเจน แต่ตอนนี้เราจึงแยกไม่ออกกันแล้ว นั่นจึงไม่แปลกใจเลยว่า ปีใหม่ม้งครั้งนี้ เราจึงมองเห็นสาวชาวม้งสวมใส่ชุดแต่งกายหลากสี ใส่รองเท้าหุ้มส้นสูง สวมแว่นตาดำ กางร่มกันแสงแดดจ้า บางคนถือไอแพดเดินถ่ายรูปกันไปมาบนลานดินกว้าง  ทำให้เราสัมผัสได้ว่า งานนี้มีทั้งความงามและความเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจริงๆ       

ถัดไปบนลานดินใกล้ๆ กัน เรามองเห็นหนุ่มม้งหลายสิบคน กำลังยืนล้อมรอบกันเป็นวง ข้างในลาน กำลังมีการแข่งขันเล่นลูกข่าง หรือที่ชาวม้ง เรียกกันว่า “เดาต้อลุ๊” เป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่นิยมเล่นกันในวันขึ้นปีใหม่ของม้ง เป็นการละเล่นสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ การเล่นลูกข่างในโอกาสเช่นนี้จะแยกเล่นเป็นวงผู้ใหญ่และวงเด็ก การละเล่นชนิดนี้ ก็เพื่อความสนุกสนานสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยกัน   

เมื่อหันไปมองข้างบนเวทีนั้น หญิงสาวม้งจากหลายหมู่บ้าน กำลังสับเปลี่ยนกันขึ้นไปเต้นรำประจำเผ่า ซึ่งการแสดงเต้นรำในเทศกาลปีใหม่ม้ง จะมีหลายรูปแบบและเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าม้ง เช่น การรำกระด้ง ว่ากันว่าเป็นการสื่อถึงเครื่องมือเครื่องใช้ของม้ง ซึ่งอดีตนั้นม้งนิยมใช้กระด้งในการฟัดข้าว หรือยังใช้กระด้งเป็นอุปกรณ์ในการทำขนมม้งอีกด้วย ซึ่งถือว่า กระด้งนั้นมีความสำคัญในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก   

นอกจากนั้น ยังมีการรำเก็บใบชา ซึ่งจะมีการแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ม้ง และวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของม้ง ซึ่งอดีตม้งนิยมเก็บใบชานำมาต้มเป็นน้ำชาดื่มในชีวิตประจำ ม้งจึงได้มีการรำลึกถึงคุณค่าของใบชา เป็นต้น         

แต่ก็มีหญิงสาวชาวม้งหลายคน สวมใส่ชุดม้งอันงดงามตระการตา ขึ้นไปเต้นเพลงฝรั่งประกอบท่วงทำนองท่าเต้นแนวฮิบฮอป ทำให้นักท่องเที่ยวหันมาหยุดมองกันด้วยความตื่นใจและแปลกใจ   

ในงานประเพณีปีใหม่ม้ง สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ‘การเป่าขลุ่ยม้ง’ จะแสดงในงานเทศกาลและวันสำคัญอื่นๆเท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องดนตรีของม้ง และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของม้ง ซึ่งขลุ่ยนั้นเป็นเครื่องดนตรีคู่กายของชายม้งเลยทีเดียว ว่ากันว่า ในอดีตนั้น ชายม้งจะไม่ค่อยกล้าที่จะบอกรักสาว ดังนั้นจึงต้องอาศัย ขลุ่ยเป็นสื่อในการบอกรักสาว 

อีกมุมหนึ่งที่ช่วยสร้างสีสันให้กับงานปีใหม่ม้ง นั่นคือ ‘การนั่งรถสามล้อไม้’  การแข่งขันรถสามล้อไม้จะมีเฉพาะในเทศกาลปีใหม่เท่านั้น เป็นการเล่นของเด็ก และผู้ใหญ่ ซึ่งว่ากันว่า สมัยก่อนม้งไม่มีรถ หรือยวดยานพาหนะใช้ในการเดินทาง และไม่มีของเล่นให้กับเด็ก ๆ ได้เล่นกัน เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากความเจริญมาก ดังนั้นไม่สามารถที่จะหาซื้อของเล่นให้กับเด็ก ๆ เล่นได้ ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงได้คิดค้นทำสามล้อไม้ ขึ้นมา เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นกัน ต่อมา จึงได้มีการนำมาประดิษฐ์ทำเป็นรถสามล้อไม้ ไว้นั่งขี่แข่งขันกัน และได้มีวิวัฒนาการที่จะพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ผู้ใหญ่สามารถที่จะเล่นได้ จนกระทั่งมีการประกวดแข่งขันกันว่า รถสามล้อไม้คันไหนแล่นลงดอยไปไกลที่สุด และรถคันไหนตกแต่งได้สวยงามที่สุด จะเป็นผู้ชนะ    

จะเห็นได้ว่า ประเพณีใหม่ม้ง ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น ได้ช่วยสร้างสีสัน มีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองเชียงดาวให้คึกคักอีกครั้ง ซึ่งนักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานนั้น นอกจากจะได้รับทั้งความเพลิดเพลินใจแล้ว ยังได้เรียนรู้ในวิถีชนเผ่าไปพร้อมๆ กันอีกด้วย    

และแน่นอน  การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบนี้  เป็นสิ่งที่รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรหันมาสนับสนุนและส่งเสริมอย่างยิ่ง เพราะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเช่นนี้ ไม่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลเพื่อลงทุนอะไรมากมายเลย  เพราะทุกอย่างล้วนฝังอยู่ในรากเหง้า วิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชนเผ่าอยู่แล้วนั่นเอง.

ข้อมูลประกอบ : พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net