Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ผู้เขียนใช้คำว่า “ในหมู่ประชาชน” เพื่อแสดงว่าความขัดแย้งและความเข้าใจไม่ตรงกัน  ที่เกิดขึ้นในหมู่คนเสื้อแดงขณะนี้คือเป็นเรื่องราวในหมู่ประชาชน  ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนและปฏิปักษ์ประชาชน  การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มจาก
 
1.   สามัคคี  วิจารณ์  สามัคคี
 
2.   การรักษาโรคเพื่อช่วยคน
 
3.   แสวงจุดร่วม  สงวนจุดต่างในหมู่แนวร่วม
 
ทั้ง 3 อย่างนี้เป็นหลักการของฝ่ายประชาชนในอดีตที่ถูกนำมาใช้เมื่อเกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน  คือเริ่มต้นจากสามัคคี  วิจารณ์  เพื่อนำไปสู่ความสามัคคี  แต่ก็มีฝ่ายประชาชนบางส่วนจะใช้วิธีโจมตีศูนย์การนำเพื่อสถาปนาการนำใหม่  หรือโจมตีเพราะขัดแย้งผลประโยชน์
 
ดังนั้นเราจะพบเห็นท่วงทำนองทั้งสองแบบในหมู่ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน
 
ท่วงทำนองแบบแรกคือ  สามัคคี  วิจารณ์  สามัคคี  จะเริ่มจากความคิดที่ถือว่านี่เป็นความขัดแย้งในหมู่ประชาชน  ไม่ใช่ปฏิปักษ์ประชาชน  จึงต้องเริ่มด้วยความปรารถนาจะรักษาสัมพันธภาพอันดีและความเข้มแข็งในฝ่ายประชาชนโดยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์  ไม่อนุญาตให้กล่าวร้าย  บิดเบือนความจริง  เพราะมิฉะนั้นจะเกิดความระส่ำระสายในหมู่ประชาชน  ไม่เชื่อถือการนำ  แกนนำที่ขัดแย้งกันออกสู่สาธารณะ  หลักการรักษาโรคเพื่อช่วยคนก็จะใช้เมื่อมีการทำความผิดเช่น  ผิดวินัย  ผิดหลักการ  ก็จะให้โอกาสแก้ไข  การใช้สามัคคี  วิจารณ์  สามัคคี  แต่ถ้าพยายามเต็มที่แล้วยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ก็ต้องใช้หลักการ “แสวงจุดร่วม  สงวนจุดต่าง”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับฝ่ายประชาชนอิสระหรือกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นคนละกลุ่มกันโดยรักษาฐานะแนวร่วมทางยุทธศาสตร์ไว้  คือยังเป็นฝ่ายประชาชนด้วยกัน  ที่มีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ใหญ่ร่วมกัน  ดังเช่นถือระบอบอำมาตยาธิปไตยเป็นอุปสรรคขัดขวางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย  และต่อต้านรัฐประหารทุกรูปแบบ  ต้องการยกเลิกผลพวงการรัฐประหาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ 2550  แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและองค์กรอิสระที่มีที่มาจากคณะรัฐประหาร  เช่นนี้ก็ถือเป็นแนวร่วมทางยุทธศาสตร์ใหญ่ร่วมกัน
 
แต่ท่าทีต่อปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชนอีกแบบคือ  “พุ่งเป้าโจมตีศูนย์การนำของประชาชน”  เพื่อสถาปนาศูนย์การนำใหม่  อันเนื่องจาก
 
1.   เพื่อเปลี่ยนตัวบุคคล  และ/หรือ
 
2.   เปลี่ยนชุดความคิด  แนวทาง  และหนทางการต่อสู้
 
สรุปคือต้องการสถาปนาการนำใหม่ด้วยคนกลุ่มใหม่  ชุดความคิดแนวทางใหม่เช่นนี้ก็จะเลือกใช้วิธีการโจมตีการนำ  การปฏิบัติการ  ออกข่าวโจมตีผู้นำในที่สาธารณะ  และใช้การโจมตีรุนแรงในระดับที่ต้องการฉุดกระชากจากฐานะนำ  ถ้าเป็นการแสดงออกลักษณะนี้  พูดง่าย ๆ ตามทฤษฎีคือ “การช่วงชิงการนำ” นั่นเอง  ซึ่งความถูกผิดจะแจ่มชัดในเวลาหลังจากนั้น  เรื่องนี้อาจเกิดภายในองค์กรเดียวกันหรือคนละองค์กรก็ได้เช่นกัน
 
ดังนั้น  ท่าทีท่วงทำนองที่กระทำต่อกันในฝ่ายประชาชนด้วยกันจึงบ่งชี้ถึงรากเหง้าความคิดและจุดมุ่งหมายของผู้กระทำ
 
และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ  เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้ท่วงทำนองโจมตี  รุนแรง  ที่สำคัญถ้าไม่ได้ใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง  ไม่ได้ใช้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง  ใช้อารมณ์แทนเหตุผล  กลายเป็นทำลาย-วิจารณ์-ทำลาย  ก็จะนำไปสู่การแตกแยกและกลายเป็นปฏิปักษ์กันได้  เพราะจะถูกตอบโต้กลับอย่างรุนแรงจากอีกข้างหนึ่งเช่นกัน
 
นี่พูดในมิติที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่แอบแฝงมากับการโจมตี
 
อีกอย่างหนึ่ง  การโจมตีรุนแรงระหว่างแกนนำต่อแกนนำ  องค์กรต่อองค์กร  หรือมวลชนต่อมวลชน  อันเนื่องมาจากขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น ปัญหาการเลือกตั้งท้องถิ่น  การคัดสรรผู้นำหรือตัวแทนอันก่อให้เกิดการได้เสียผลประโยชน์  อำนาจ  บทบาทการต่อรอง  นี่ก็ทำให้เกิดการแตกแยกระส่ำระสายได้เช่นกันในองค์กรจัดตั้งทุกระดับ
 
ทางแก้ไขจึงต้องปรับความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้อง  และใช้วิธีการถูกต้องในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชนตั้งแต่เนิ่น ๆ  ถ้าเป็นคนละกลุ่มก็จำเป็นต้องแสวงจุดร่วม  สงวนจุดต่าง  ไม่จำเป็นต้องไปทำลายด้วยการใส่ร้ายป้ายสี  ถ้าจำเป็นต้องแสดงความเห็นก็ยังต้องใช้  สามัคคี  วิจารณ์  สามัคคี นั่นเอง
 
แต่เท่าที่สังเกตความขัดแย้งในหมู่ประชาชนด้วยกันมีทั้งความขัดแย้งโจมตีภายในองค์กรเดียวกัน  และความขัดแย้งของคนต่างองค์กรโจมตีองค์กรอื่นที่มิใช่องค์กรของตนเอง
 
มองในแง่ดีก็แสดงว่าที่โจมตีกันเพราะถือว่าอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่บทบาทการนำของประชาชนอยู่ในฐานะที่มีเอกภาพและค่อนข้างมีพลังสูงในหมู่ประชาชน  จึงต้องการให้มีลักษณะอนาธิปไตยเพื่อลดทอนภาวะการนำที่มีเอกภาพสูง และให้มีการวิพากษ์ตามทัศนะของตน  ของกลุ่ม  และขององค์กรตน  เพื่อเล็งเห็นผลการปฏิบัติ  ทำลายความน่าเชื่อถือผู้นำ   นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภาวะการนำให้มีภาวะการนำหลายกลุ่ม
 
เนื่องจากฝ่ายประชาชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนี้มีจำนวนประชาชนนับสิบล้านคน  มีความแตกต่างหลากหลายทางชนชั้น  ทางผลประโยชน์  วิธีคิด  วิธีทำงาน  องค์ความรู้  และข้อมูล  มิได้เป็นเอกภาพ  แม้จะมีอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเพื่อความยุติธรรมเหมือนกัน  แต่มีรายละเอียดการปฏิบัติและเป้าหมายเฉพาะหน้าแตกต่างกันมาก  การรวมกลุ่มผลประโยชน์ เช่น สถานีวิทยุชุมชน  กลุ่มเลือกตั้งทั่วไป  เลือกตั้งท้องถิ่น  หรือกลุ่มแสวงหาฐานมวลชนเพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง  แสวงหาผลประโยชน์ด้านทรัพย์สินเงินทอง  แม้แต่การขายเฟรนไชส์หรือทำการหาสมาชิกเพื่อขายตรง  หรือทำในรูปสหกรณ์เป็นเครือข่ายร้านค้าก็มีทุกรูปแบบ  แม้แต่กลุ่มนักวิชาการ  ปัญญาชน  และแดงอิสระ  ชนชั้นกลาง  เหลานี้จัดเป็นกลุ่มย่อย ๆ ในฟากฝ่ายประชาชนทั้งสิ้น  โดยมีการใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน  เรียกตัวเองว่าเป็นเสื้อแดงและถือว่าเป็นแดงอิสระ  แต่จัดเป็นแนวร่วมทางยุทธศาสตร์ใหญ่  คือต่อสู้ระบอบอำมาตย์เหมือนกัน  และต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเหมือนกัน  แม้จะมีรายละเอียดต่างกัน  และจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายเฉพาะหน้าต่างกัน เช่น บางส่วนเอากรณี 112 ก่อน ขณะที่ นปช.เป้าหมายยุทธศาสตร์เฉพาะหน้าคือรัฐธรรมนูญ 2550  และล่าสุดเป้าหมายเฉพาะหน้าของนปช.ที่เป็นข้อเรียกร้องตั้งแต่ปลายปี 2555 คือ
 
1.ให้รัฐสภาโหวดผ่านวาระ 3 เพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติเพื่อเป็นข้อยุติ  อันจะนำความหายนะของการต่อสู้ของประชาชน
 
2.ให้รัฐบาลประกาศรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีการปราบปรามประชาชนในวันที่ 10 เมษายน – พฤษภาคม 2553  เพื่อเป็นช่องทางอีกช่องทางสำคัญในการทำความจริงให้ปรากฏโดยฝ่ายอัยการของ ICC สามารถเข้ามาหาข้อมูลเพื่อนำไปฟ้องร้องในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมของไทยไม่เป็นไปตาม นิติรัฐ  นิติธรรม  ซึ่งจะเป็นผลดีในการเอาคนผิดร่วมกันกระทำการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน  จะได้รับการลงโทษเพื่อทำให้การฆ่าประชาชนกลางถนนแบบในอดีตจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกต่อไป  และคนผิดต้องถูกลงโทษ  มิใช่นิรโทษกรรมฝ่ายรัฐประหารและเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่าย  แบบไม่มีความจริงปรากฏในสังคม
 
3.การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชนในคดีอาญาทั้งหลาย  อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองทุกสีเสื้อ  ยกเว้นแกนนำผู้มีอำนาจในการสั่งการเคลื่อนไหวทุกสีเสื้อ  นปช.นั้นเสนอเป็นพระราชกำหนด  โดยใช้อำนาจบริหารในเบื้องแรกเพื่อความรวดเร็วในการนำประเทศออกจากวิกฤติ  จากนั้นจึงเข้าสู่รัฐสภาเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติ   ที่นำเสนอวิธีนี้หลังจากได้เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ฉบับประชาชนที่ประชาชนร่วม 2 แสนคนลงชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ  และผ่านการตรวจสอบโดยรับรองชื่อประชาชนกว่าเจ็ดหมื่นคน  เป็นร่างประชาชนร่างเดียวที่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบ  บัดนี้ก็ยังค้างเติ่งอยู่ในรัฐสภา  สำหรับร่างที่สองคือพระราชบัญญัติปรองดองฉบับแกนนำเสื้อแดงที่เสนอประกบกับร่างพระราชบัญญัติปรองดองของ พล.อ.สนธิ  บุญยรัตกลิน  ก็มีเนื้อหาให้นิรโทษกรรม  ยกเว้นผู้ถูกข้อหาก่อการร้าย (ทุกสีเสื้อ)  และผู้ทำการประทุษร้ายผู้อื่นถึงชีวิตก็คล้ายกัน  คือยกเว้นแกนนำที่ถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายและยกเว้นผู้ทำการเข่นฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง  ดังนั้น  เฉพาะหน้าการขอให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมจึงเป็นเรื่องด่วน  เพื่อหาทางออกของประเทศในภาวะวิกฤต  เพราะทางอื่น ๆ ถูกขัดขวางจากฝ่ายเครือข่ายระบอบอำมาตย์จนค้างเติ่งแขวนไว้ที่รัฐสภาทั้งสิ้น  ไม่กล้าเดินหน้าต่อไป
 
ข้อเรียกร้อง 3 ประการนี้ นปช.ประกาศมาหลายเดือนแล้ว  ในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการและในที่ชุมนุมใหญ่ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ที่เรียกกันว่า “ปฏิญญาเขาใหญ่”  ดังมีคำแถลงเป็นทางการทั้งด้วยวาจาต่อหน้าผู้ชุมนุมนับแสนคนและเป็นลายลักษณ์อักษร  เมื่อวันที่ 14 มกราคม นปช.ก็ออกแถลงการณ์และเสนอร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมประชาชนยกเว้นแกนนำทุกสีเสื้อ ณ. เรือนจำหลักสี่
 
นี่จึงมิใช่เป็นดังคำพูดที่นักวิชาการบางท่านโจมตีว่า นปช.มิได้ทำอะไร  แต่มาเขียนพรก.เสนอตัดหน้ากลุ่ม 29 มกรา  หรือนักวิชาการบางท่านไปพูดในรายการ Wake Up Thailand ที่ Voice TV ว่า นปช.รอให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสร็จก่อน  นี่จึงเป็นเรื่องจงใจบิดเบือนความจริง
 
ยังมีปัญหารูปธรรมที่กลุ่มต่าง ๆ บางท่านตั้งข้อสงสัยเชิงกล่าวร้ายต่อ นปช.เช่น  ปัญหาประกันตัวทำไมแกนนำได้ประกันตัวและยังเหลือมวลชนอยู่ในห้องขัง (ประมาณ 20 คน)  ปัญหากล่าวหาว่าแกนนำนปช.กระทำการกีดกันขัดขวางแกนนำของกลุ่มอื่น ๆ ไม่ให้นำมวลชนและขัดขวางในวันที่ 29 มกราคม หรือทำไมแกนนำนปช.ไม่เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล, ศาล ฯลฯ  เหล่านี้จะได้ชี้แจงเพื่อความเข้าใจต่อไป  เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ในเชิงความรู้ความเข้าใจ   ไม่ใช่เพื่อทำลายบดขยี้กลุ่มใด ๆ ทั้งสิ้น  เพราะเป้าหมายสำคัญยิ่งคือชัยชนะของฝ่ายประชาชนที่ยั่งยืน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net