Skip to main content
sharethis

ศาลยุติธรรมแถลงผลงานประจำปี 2555 อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้วิพากษ์วิจารณ์ศาลได้แต่อย่าอคติ วอนคนไทยอย่าชักศึกเข้าบ้าน หนุนคดีการเมืองนิรโทษกรรมไปให้หมด ๆ ก็ดี เข้าล๊อคสมานฉันท์ โฆษกศาลฯเผยนโยบายให้ผู้พิพากษาตรงเวลา คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  

7 ก.พ.56 ที่ห้องประชุมชั้น 10 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก  นายทวี  ประจวบลาภ  อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายสิทธิศักดิ์  วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ได้ร่วมกันแถลงผลงานของศาลอาญาประจำปี 2555 ตามโครงการศาลอาญาพบสื่อมวลชน

สำนักข่าวไทย รายงานว่า  นายทวี ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานของศาลว่า คดียาเสพติดเข้าสู่การพิจารณาของศาลถึงร้อยละ 58 และคดีอาชญากรรมทั่วไปร้อยละ 42  รวมพิจารณาคดีทั้ง 2 ประเภท คิดเป็นร้อยละ 83.56 ซึ่งบรรลุเป้าหมายเกี่ยวกับเกณฑ์ชี้วัดพิพากษาคดี แผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม  2553-2556 ที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้วางแผนไว้  ขณะเดียวกัน ศาลอาญาตั้งโครงการสมานฉันท์และสันติวิธี เพื่อไกล่เกลี่ยคดีโดยไม่ต้องนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้วเสร็จไปกว่า 600 คดี  ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มีคดีสำคัญ ๆ  อยู่หลายคดีและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์

“ศาลยืนยันว่าพิจารณาตามพยานหลักฐานและเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด  จึงอยากให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่าใช้อคติ อย่าใช้ถ้อยคำเสียดสีทิ่มแทงศาล โดยเฉพาะผู้ที่นำชาวต่างชาติมาวิพากษ์วิจารณ์ศาลโดยปราศจากข้อมูลอันสมบูรณ์  ผมทนไม่ได้ที่นำคนเหล่านี้เข้ามากดดันศาล ซึ่งถือเป็นการกดดันประเทศไทย  เราจึงอธิบายคนไทยให้เข้าใจ  แต่ต้องยอมรับคดีการเมืองพาดพิงไปถึงกลุ่มที่คิดต่าง  แม้จะพูดอธิบายอย่างไรก็คงไม่เข้าใจ  ถ้าไม่ได้เป็นไปตามที่เขาเห็น  คดีการเมืองหลาย ๆ  คดี  ผมยังคิดในใจถ้าเป็นได้นิรโทษกรรมไปให้หมด ๆ ก็ดี  เป็นประโยชน์  แต่จะเกิดความสมานฉันท์หรือเปล่า ผมไม่ทราบ  แต่ก็ยังดีที่มีการคิดแนวนิรโทษกรรมที่ให้มีโทษเฉพาะผู้สั่งการไว้ ตามร่างของ นายอุกฤษ  มงคลนาวิน อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมตามหลักการนี้คงทำได้ยาก” นายทวี กล่าว

เดลินิวส์ เว็บ รายงานด้วยว่า ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราว โดยเฉพาะคดีฆ่าแขวนคออำพรางศพเด็กชายวัยรุ่นอายุ  17 ปี ที่มีจำเลยเป็นตำรวจสภ.เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต 3 นาย และจำคุกตลอดชีวิต 1 นาย แต่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวซึ่งไม่มีเหตุผลประกอบนั้น นายจุมพล  ชูวงษ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตอบว่า ตามกฎหมายหากศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวจะไม่มีการชี้แจงเหตุผล แต่ถ้าไม่อนุญาตจะชี้แจงเหตุผลตามหลักสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอาจมีข้อสงสัยในหลายคดี สำหรับคดีดังกล่าวศาลเห็นว่าจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาตลอดตั้งแต่ชั้นจับกุม รวมทั้งมีผู้บังคับบัญชาให้การรับรองว่าจะไม่หลบหนี พร้อมทั้งศาลมีเงื่อนไขว่าห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ศาลจะอนุญาต  ทั้งนี้การอนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลเป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว และหากโจทก์ไม่เห็นด้วยก็สามารถคัดค้านได้

นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม  แถลงด้วยว่า ในปี 2556 ประธานศาลฎีกามีนโยบายสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ ความตรงต่อเวลาของผู้พิพากษา อย่าให้ความล่าช้าของคดีเกิดจากความล่าช้าของบุคลากรของศาล 2. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่นการประกันตัวขอให้ใช้เหตุและผล รวมถึงการพิจารณาออกหมายจับ หมายค้นด้วย การไต่สวนมูลฟ้องขอให้ผู้พิพากษาพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะรับเป็นคดี เพราะอาจทำให้ผู้ถูกฟ้องเสียชื่อเสียงไปแล้ว

นายสิทธิศักดิ์กล่าวด้วยว่า ศาลยุคใหม่ต้องเป็นมิตรกับประชาชน   โดยศาลยุติธรรมมีโครงการสาวเสื้อฟ้าให้คำแนะนำประชาชนที่มาติดต่อศาลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ศาลกับสื่อมวลชนต้องทำงานร่วมกันโดยสื่อมวลชนเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ ของศาลด้วยวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตามการถ่ายรูปจำเลยในขณะควบคุมตัวมาศาลด้วยโซ่ตรวนนั้นเมื่อปรากฎเป็นข่าวหรือแพร่ภาพออกไป อาจถูกสื่อไปว่าประเทศไทยโหดร้าย ป่าเถื่อน และญาติไม่พอใจที่จะให้ภาพดังกล่าวออกเผยแพร่ไป ซึ่งหลายประเทศไม่ยอมเปิดเผยภาพเหล่านี้ตามหลักที่จำเลยยังบริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะได้รับการพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมาย ป.วิอาญาได้คุมครองสิทธิเสรีภาพบุคคลเหล่านี้ไว้ ทั้งนี้ปัจจุบันศาลไทยมีอิสระในการพิจารณาคดี สร้างความเชื่อมั่นของนานาประเทศและส่งผลถึงการลงทุนในไทยด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net