ใบตองแห้ง Voice TV: สหายปูนปราบลัทธิแก้?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

<--break->ได้อ่านบทความ “ความขัดแย้งภายในหมู่ประชาชนและหลักการแก้ปัญหา” ของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ แล้วผมทั้งตระหนกทั้งขำ

ขออนุญาตขำด้วยความเคารพ ที่ขำไม่ใช่ลบหลู่ ผมเคารพจิตใจต่อสู้ของ อ.ธิดาเสมอมา แต่อดขำไม่ได้เพราะท่านเขียนราวกับว่าท่านยังเป็นสหายนำพรรคคอมมิวนิสต์ และนี่คือขบวนปฏิวัติ ที่ต้องมีศูนย์การนำเป็นเอกภาพ มีชุดความคิดทฤษฎีเป็นหนึ่งเดียว ต้องปลูกฝังให้เชื่อพรรคเชื่อจัดตั้ง จึงจะนำไปสู่ชัย

ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็น “เกือก” ที่ไม่เข้ากับขบวนการเสื้อแดง หรือขบวนประชาธิปไตยในวันนี้

อ.ธิดาเริ่มต้นด้วยการวิสัชนาหลักการแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชน สามัคคี-วิจารณ์-สามัคคี รักษาโรคเพื่อช่วยคน แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ฯลฯ แต่หลังจากนั้นก็ฟาดเปรี้ยงว่า มีการ “พุ่งเป้าโจมตีศูนย์การนำของประชาชน” เพื่อสถาปนาการนำใหม่ด้วยคนกลุ่มใหม่

เอ ไม่รู้สึกหรือครับว่า อ.ธิดากำลังเรียกร้องให้ผู้อื่นวิจารณ์แกนนำ นปช.อย่างสร้างสรรค์ สามัคคี แต่แล้ว อ.ก็เอาทฤษฎีฟาดหัวเขาทันทีว่าต้องการช่วงชิงการนำ

แบบนี้จะไม่ให้ผมสะดุ้งได้ยังไง อ.ก็พูดเองว่าอย่าให้เป็นทำลาย-วิจารณ์-ทำลาย นำไปสู่การแตกแยกและเป็นปฏิปักษ์กันได้

ไอ้ที่บอกว่าบางคนต้องการช่วงชิงการนำเพื่อหาผลประโยชน์ บางคนก็เป็นเช่นนั้น แต่บางคนเขาก็ไม่ได้เป็น เออ ถ้าอย่างนั้นคนที่ไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ทรัพย์สินเงินทอง ขายแฟรนไชส์ หาสมาชิกขายตรง ฯลฯ ก็มีความชอบธรรมที่จะ “ช่วงชิงการนำ” สิครับ เพราะรู้กันอยู่ว่าแกนนำ นปช.บางคน (ที่ไม่ใช่ อ.ธิดา) ก็กินค่าหัวคิวจากการรับเงิน “นายใหญ่” มาจัดเวที

อ่านไปๆ ถึงตอนที่ อ.ธิดาบอกว่า “มองในแง่ดีก็แสดงว่าที่โจมตีกันเพราะถือว่าอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่บทบาทการนำของประชาชนอยู่ในฐานะที่มีเอกภาพและค่อนข้างมีพลังสูงในหมู่ประชาชน จึงต้องการให้มีลักษณะอนาธิปไตยเพื่อลดทอนภาวะการนำที่มีเอกภาพสูง และให้มีการวิพากษ์ตามทัศนะของตน ของกลุ่ม และขององค์กรตน เพื่อเล็งเห็นผลการปฏิบัติ ทำลายความน่าเชื่อถือผู้นำ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภาวะการนำให้มีภาวะการนำหลายกลุ่ม”

ผมอดไม่ได้ที่จะหัวร่อก๊าก กลั้นไม่อยู่จริงๆ สำคัญผิดหรือเปล่า “มีเอกภาพและค่อนข้างมีพลังสูงในหมู่ประชาชน”

ผมไม่เห็นด้วยกับทฤษฎี “ศูนย์การนำ” ที่เป็นเอกภาพ เพราะมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของขบวนประชาธิปไตย หรือแม้แต่เสื้อแดงเอง

เราต้องวิเคราะห์ก่อนว่าสังคมไทยไม่ใช่กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา (ฮา) ขบวนประชาธิปไตยหรือเอาเฉพาะเสื้อแดงเป็นขบวนที่ใหญ่และหลวม ไม่ใช่ว่าใครใส่เสื้อแดงแล้วออกมาเคลื่อนไหวจะต้องขึ้นต่อ นปช.

พูดให้กว้างเข้าไว้ คนเลือกพรรคเพื่อไทย 15 ล้านเสียงก็ไม่ใช่เสื้อแดงทั้งหมด ไม่ใช่ผู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั้งหมด บางคนก็เลือกเพราะเบื่อประชาธิปัตย์ บางคนก็เลือกเพราะเชื่อว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

มวลชนเสื้อแดง รวมทั้งเสื้อเหลือง มาจากคนทุกประเภท ยิ่งกว่าเพลง “เราต่างมาจากทั่วทุกสารทิศ” ตื่นตัวมาจากรัฐประหารที่แบ่งคนเป็น 2 ขั้วใหญ่ๆ ถูกปลุกโดยสื่อ ทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน แม้มีพื้นฐานชนชั้นกว้างๆ แต่ก็ไม่ได้มีลักษณะจัดตั้ง ไม่ได้มีกลุ่มก้อนทางความคิด นอกจากแบ่งกันง่ายๆ เอาเลือกตั้ง หรือไม่เอาเลือกตั้ง เอารัฐประหาร หรือไม่เอารัฐประหาร เอาอำมาตย์ หรือไม่เอาอำมาตย์ พอนัดชุมนุม ก็ต่างคนต่างมา แล้วค่อยมาจับกลุ่มกันทีหลัง

ศูนย์การนำเสื้อแดงเสื้อเหลืองจึงเป็นศูนย์การนำเฉพาะกิจ เฉพาะประเด็น สมมติเช่น ศูนย์การนำของเสื้อแดงในการเลือกตั้ง การช่วงชิงอำนาจผ่านระบอบรัฐสภา ก็คือทักษิณและพรรคเพื่อไทย ศูนย์การนำในการชุมนุมใหญ่ ก็คือ นปช. ศูนย์การนำบนเวที ก็คือจตุพร ณัฐวุฒิ แต่ศูนย์การนำทางความคิด ก็คือนักวิชาการประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลาย (ว่างๆ ก็ใส่กันเองอย่างสมศักดิ์-เกษียร) ถ้ากล่าวเฉพาะการวิพากษ์ตุลาการภิวัตน์ รัฐธรรมนูญรัฐประหาร มาตรา 112 ศูนย์การนำก็ไปอยู่ที่นิติราษฎร์

การผลัดเปลี่ยนกันนำ ช่วงชิงการนำ ก็มีบ่อยไป สมัยคดีอากง อ.ปวิน เป็นศูนย์การนำโชว์ฝ่ามืออากง โดนคำ ผกา ช่วงชิงการนม ฮิฮิ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร

ความตั้งใจของ อ.ธิดาที่จะสร้าง นปช.เป็นองค์กรจัดตั้งเหมือนขบวนปฏิวัติพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชม แต่อย่ามุ่งมั่นเกินไปจนสกัดกั้นการแสดงออกตามธรรมชาติของมวลชน จะให้การเคลื่อนไหวต้องขึ้นต่อ นปช.เสียหมด มันเป็นไปไม่ได้ครับ นปช.เป็นได้แค่เสื้อแดงกลุ่มใหญ่ ซึ่งยังมีกลุ่มอื่นๆ เป็นอิสระหลากหลาย เหมือนกฐินสามัคคี อันที่จริง นปช.เองก็ไม่มีการจัดตั้งแน่นหนา เพียงแต่มีความพร้อมในการจัดเวที มีกลไกระดมมวลชน อำนวยความสะดวกให้มวลชน แล้วคนกลุ่มต่างๆ เขาก็มา

ที่จริงบางตอนในบทความของ อ.ธิดาก็เหมือนเข้าใจ แต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องออกมาด่า เอ๊ย สามัคคี-วิจารณ์-สามัคคี ว่าเป็นเพราะมีคนต้องการช่วงชิงการนำ ซึ่งจะหมายถึงใครอื่นไปไม่ได้ นอกจากแนวร่วม 29 มกราคม ที่เป็นเสมือน “ลัทธิแก้” ไปเสียแล้ว โทษฐานบังอาจแย่ง นปช.จัดม็อบ
 

นปช.ในมุมอับ

อ.ธิดาพยายามแก้ต่างในบทความว่า ใครว่า นปช.ไม่ได้ทำอะไรก็ลงมติไปตั้ง 3 ข้อ ปัญหาคือ นปช.ทำอะไรก็เหมือนไม่ได้ทำอยู่ดี

หลังพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ศูนย์การนำของเสื้อแดงก็เปลี่ยนไป เกิดความสัมพันธ์ทับซ้อนระหว่างศูนย์การนำ อันได้แก่ รัฐบาล นักการเมืองพรรคเพื่อไทย และ นปช.

มันไม่เหมือนปี 52-53 ศูนย์การนำอยู่กับ นปช.แต่ชนะแล้วนี่ครับ ไม่มีความจำเป็นต้องจัดม็อบจัดเวที ศูนย์การนำย้ายไปอยู่ที่ยิ่งลักษณ์กับรัฐบาล นปช.ก็เคว้งคว้าง บทบาทอยู่ตรงไหน แกนนำ นปช.เองก็ตอบไม่ได้

นปช.แยกไม่ออกจากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เป็นพลังที่สนับสนุนรัฐบาลแต่ไม่สามารถเรียกร้องรัฐบาล เป็นภาวะที่อิหลักอิเหลื่อ ผมเห็นใจนะครับ นปช.ไปล่าชื่อมาเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐสภาไม่รอด้วยซ้ำ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมนี่ก็เหมือนกัน ผมเชื่อว่าสุดท้ายรัฐบาลก็เอาของอุกฤษ มงคลนาวิน (ซึ่งคุยข่มชาวบ้านไปทั่ว)

นปช.ไม่สามารถแสดงพลังเรียกร้องรัฐบาล ด้านหนึ่งเพราะตัวบุคคลโดดไปเป็น ส.ส.เป็นรัฐมนตรี อีกด้านหนึ่งก็เพราะเกรงจะเสียการเมือง สะเทือนรัฐบาล ที่ต้องทำศึกกับฝ่ายตรงข้ามอยู่แล้ว นี่ผมไม่โทษ อ.ธิดา ให้ผมเป็น อ.ธิดาก็ทำอะไรไม่ได้ ไอ้พวกสลิ่ม แมลงสาบ มันก็กวนโอ๊ยจริง บางทีเรากำลังจะเรียกร้องกดดันรัฐบาล มันแส่ขึ้นมาหาเรื่อง ก็ต้องสหบาทาก่อน ต้องสามัคคี ไม่วิจารณ์ สามัคคี

ผมเองก็ไม่ได้โทษรัฐบาลเสียทั้งหมด เพราะอธิบายอยู่เสมอถึงความจำเป็นที่ต้องช่วงชิงกระแสรักสงบ ช่วงชิงคนตรงกลาง รักษาอำนาจไว้ดีกว่าเสี่ยงแตกหัก เพราะถึงอย่างไรก็ได้เปรียบเรื่องเงื่อนเวลา

ยุทธศาสตร์นี้ถูกต้อง แต่การกำหนดยุทธวิธี จังหวะก้าว ต้องมั่นคงแม่นยำ ถูกสถานการณ์ ต้องรุกบ้างสลับกับรับ ต้องค่อยๆ กินทีละคำ ซึ่งเรื่องนี้ยังมีปัญหา เพราะนักการเมืองไม่ได้มาจากนักต่อสู้ ใจฝ่อ ไม่กล้า รักษาเก้าอี้และผลประโยชน์ไว้ดีกว่า อะไรเสี่ยงนิดเสี่ยงหน่อยไม่กล้าเสี่ยง มันก็เลยกลายเป็นยุทธศาสตร์ซื้อเวลาไปอย่างเดียว

มวลชนที่ผ่านการต่อสู้เสียเลือดเนื้อจากความรุนแรงจึงไม่พอใจ ก่นด่ารัฐบาล “เพื่อถอย” ซึ่งจะไปโทษเขาไม่ได้ ผมไม่ได้บอกว่ามวลชนถูกทุกข้อ มวลชนที่เป็นหัวหอกของการต่อสู้มักใจร้อนใจเร็ว แต่ต้องเข้าใจเขา โดยไม่ใช้ความคิดว่าเขาไม่เข้าใจ

อ้าว ก็แกนนำ นปช.นั่นแหละที่ปลุกเร้าพวกเขาให้ “โค่นล้มอำมาตย์” แต่พอเข้าสู่โหมดที่ได้อำนาจแล้วต้องปรับยุทธศาสตร์ยุทธวิธี นปช.ก็ไปไม่เป็น หรือไปเป็นเสนาบดี มวลชนก็เคว้งสิครับ

สถานการณ์วันนี้ที่จริงผมค่อนไปทางเห็นด้วยกับรัฐบาล คือยังไม่ควรหักหาญ แก้รัฐธรรมนูญยังไม่ได้ก็ยังไม่แก้ แต่มองย้อนไปก็ต้องยืนยันว่ารัฐบาลเพื่อไทยผิดพลาดครั้งใหญ่ เมื่อปีที่แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังจะไปด้วยดี ดันยื่น พ.ร.บ.ปรองดองเข้ามา ทำให้ล้มทั้งกระดาน แล้วถึงคราต้องติดดาบประจัญบาน รับร่างวาระ 3 สวนศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนั้นกระแสหนุนร้อนแรง มีเหตุผลเต็มที่ ก็ดันป๊อด ใจเท่าอวัยวะมด พอถึงตอนนี้ จะกลับไปลงมติใหม่ก็เสียจังหวะไปแล้ว จะใช้การทำประชามติ ก็ยึกยักจนเรรวนเสียกระบวน

เมื่อมวลชนเขาก่นด่ารัฐบาล นปช.ก็ไม่รู้จะวางตัวอยู่ตรงไหน ไม่รู้จะแสดงพลังยังไง ได้แต่จัดงานปีใหม่ที่โบนันซ่า

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าผมยุให้ นปช.แสดงพลังเรียกร้องรัฐบาล เพราะรู้ว่าทำไม่ได้ แต่ทำไม นปช.ไม่เปิดกว้างให้มวลชนส่วนต่างๆ เขาแสดงพลังอย่างอิสระ โดย นปช.ก็อยู่นิ่งๆ ไม่ต้องเข้าไปยุ่งละครับ (อันที่จริงยุ่งไม่ได้อยู่แล้ว)

แทนที่จะมองเป็นกฐินคนละกอง ทำไมไม่มองเป็นกฐินสามัคคี แยกกันเดิน รวมกันตี เปล่า ไม่ได้ตีรัฐบาล เพราะนี่ไม่ใช่เรียกร้องประเด็นที่รัฐบาลไม่ยอมทำ แต่เป็นประเด็นที่รัฐบาลไม่กล้าทำ ต้องใช้พลังมวลชนหนุนหลัง แสดงพลังเพื่อให้รัฐบาลขานรับ เห็นไหม โอ๊คยังขานรับเลย ขณะที่ขวัญชัย ไพรพนา กลับจะให้ไปนิรโทษกรรมปี 58 มวลชนด่าอื้ออึง

ทุกเรื่องควรเป็นเช่นนี้ เมื่อ นปช.เคลื่อนไหวเองไม่สะดวก ก็ปล่อยให้คนอื่นเขาเคลื่อนไหว มันต้องปล่อยให้สลับบทบาท สลับกันแหลมหน้า ไม่ใช่ว่าใครต้องนำอยู่ผู้เดียว นปช.จะจัดม็อบเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมหรือเปล่าล่ะ ถึงไม่พอใจที่แนวร่วม 29 มกราตัดหน้า ก็เปล่าซักหน่อย พรรคพวกผมที่ไปร่วมงานเขาสอบถามมวลชนแล้ว มวลชนเขาก็ไม่ได้รู้สึกแบ่งแยกอะไรกัน เขามาเพื่อพี่น้องที่ยังติดคุก ใครจัดเขาก็มา ถ้า นปช.จัดเขาก็มา แต่ นปช.ไม่จัดเอง

“แนวร่วม 29 มกราปลดปล่อยนักโทษการเมือง” ชื่อเขาก็บอกอยู่แล้วว่าต้องการเคลื่อนไหวเฉพาะกิจ ไม่ได้ต้องการช่วงชิงการนำ ถ้า นปช.นิ่งๆ เสียก็ไม่น่ามีปัญหา แต่นี่ขวัญชัย ไพรพนา ออกมา “หมายหัว” ไม้หนึ่ง แบบนี้ต่างหากที่จะกลายเป็นปฏิปักษ์กัน

 

ผู้นำย่อม(ทน)ถูกด่า

ในขบวนประชาธิปไตยที่มีผู้คนหลากหลาย มีความคิดแตกต่างมากมาย ถามว่า อ.ธิดาจะเอาคนประเภทไหนบ้างล่ะ วีรชนเอกชน อนาธิปไตย เจ้ากรมอิสระ เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ คิดเล็กคิดน้อย เฉลี่ยสัมบูรณ์ ฯลฯ มีหมดแหละ เป็นเรื่องธรรมดา ด่ากันเองขโมงโฉงเฉงใน fb อยู่บ่อยไป

เพราะขบวนเราส่วนใหญ่ก็เป็นผู้กล้า “ทายท้าทุกสถาบัน” ถามว่า อ.ธิดาเป็นใคร จึงจะพ้นคำนินทา

อย่าว่าแต่แกนนำเลยครับ ใครเป็นเซเลบส์ขึ้นหน่อย เป็นต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ อันที่จริงบางคำวิจารณ์ก็มีเหตุผล แต่อาจจะปนกระแนะกระแหน เป็นธรรมดาของผู้คนในโลกไซเบอร์ ต่อปากคำกันไปมา ลุกลามถึงขั้นเซเลบส์อารมณ์ร้อนตัดออกจากเพื่อนใน fb ก็มี

แบบว่าต่างฝ่ายต่างก็แรงส์ สัญชาตญาณนักสู้ ไม่อดทนอดกลั้น แน่นอนก็ควรจะเตือนกันบ้างให้ “สามัคคี-วิจารณ์-สามัคคี” แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติ ไม่ถึงกับฆ่ากันหรอก

สมัยเราเคลื่อนไหวในขบวนนักศึกษา ในป่า ก็มีคนทุกประเภทแบบนี้ แต่ขบวนประชาธิปไตย พ.ศ.นี้ยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่ เพราะมันมีนักการเมือง มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวพัน การกระแนะกระแหนกล่าวหากัน การด่าทอนักการเมืองแล้วลามถึงแกนนำ ก็เป็นเรื่องธรรมดาอีกนั่นแหละ

แบบว่าแกนนำสู้จริงหรือเปล่า เอาตัวรอด ทีตัวเองได้ประกัน ตอนถูกจับหน้าบ้านป๋าเปรม มวลชนยังกดดันให้ได้ประกัน ชนะเลือกตั้งแล้วแกนนำได้ดิบได้ดี มวลชนที่ต่อสู้แทบเป็นแทบตายยังทุกข์ยาก คนบาดเจ็บไม่มีใครเหลียวแล ฯลฯ มันก็เหมือนกับมวลชนน้อยใจจัดตั้งในป่านั่นละครับ แต่นั่นพรรคคอมมิวนิสต์กินข้าวปนมันอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยคุมงบลงทุนแสนๆ ล้าน

แบบว่าวันนี้เมริงเป็นเซเลบส์ ดังใหญ่แล้วนะ พฤษภา 53 อยู่ที่ไหน ไม่เคยเห็น อะไรทำนองนี้ถือว่าปกติมาก

ตอนร่วมเป็นร่วมตายกันยังไม่เท่าไร แต่ตอนชนะเลือกตั้งแล้วนี่สิ (เหมือนพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะเลือกตั้งแล้ว ข้อหา “ลัทธิแก้” โผล่เป็นดอกเห็ด) ยิ่งรัฐบาลทำอะไรไมได้ดังใจมวลชน เสียงวิพากษ์ก่นด่ากระแนะกระแหนที่ลามมาถึงแกนนำ นปช.ยิ่งท่วมท้น

ที่พูดมาทั้งหมดคือผมเห็นใจ อ.ธิดา ใครเป็นประธาน นปช.ในเวลานี้หนีไม่พ้นต้องเป็นกระโถนใบใหญ่ แต่ก็ต้องทำใจ ต้องอดทนอดกลั้น นั่นแหละคือความเสียสละของสหายนำ (เสียสละเป็นกระโถน ฮิฮิ ฉะนั้นไม่ต้องกลัวหรอกว่าใครจะมาช่วงชิงการนำ)

ถ้าเป็นคนต้องการผลประโยชน์ ตำแหน่งประธาน นปช.อาจหอมหวน แต่ “สหายปูน” ไม่ใช่คนเช่นนั้น จึงต้องปากเปียกปากแฉะ ทำความเข้าใจกับทุกกลุ่ม ประสานกับเจ้ากรมอิสระทุกราย ใครไม่พอใจก็ทะเลาะกันบ้าง ด่ากันบ้าง เป็นเรื่องเข้าใจได้ มนุษย์นะครับ ย่อมของขึ้นเป็นบางครั้ง

อ.ธิดาเรียกร้องให้ผู้คนในขบวน “สามัคคี-วิจารณ์-สามัคคี” ก็เป็นข้อเรียกร้องที่ถูก แต่คนเป็นสหายนำ ก็ต้องท่องไว้เสมอว่า “ผู้พูดไม่มีผิด ผู้ฟังพึงสังวร” อันนี้เขาให้ใช้กับตัวเอง ไม่ใช่ใช้กับคนอื่น ไม่ใช่กรูด่าเมิรงแล้วเมริงต้องฟัง เมริงต้องพึงสังวร

ฉะนั้นเป็น อ.ธิดาต่างหากที่ต้องอดทนอดกลั้นให้มวลชนให้ทุกกลุ่มแดงอิสระด่า โดยท่องคาถา “พึงสังวรๆๆ”

ความเป็นผู้นำของขบวนการมวลชนที่กว้างขวางใหญ่โต ไม่ใช่ได้มาด้วยรูปการจัดตั้ง เหมือนสมัชชาพรรค แต่ได้มาด้วยการที่มวลชนเห็นความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ต่อสู้ ความไม่มีนอกไม่มีในไม่มีผลประโยชน์ ซึ่ง อ.ธิดามีคุณสมบัตินั้น กระนั้นท่ามกลางความสับสนของสถานการณ์ ผู้นำก็ต้องเป็นคนที่นิ่งและอดทน มั่นคงและเปิดกว้าง ไม่กะเกณฑ์ให้ทุกคนต้องเดินตามตัว โดยเมื่อสถานการณ์คลี่คลายไป ต่อให้คนที่ด่าๆๆ ก็ต้องย้อนมาคารวะ

ความเป็นสหายนำมันยากอย่างนี้ละครับ ผมถึงเป็นได้แค่ ย.และตอนนี้ก็ขอเป็นแค่เจ้ากรมอิสระ วิจารณ์ใครก็ได้ (ผู้ฟังพึงสังวร-ฮา)

 

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                   11 ก.พ.56

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่: Voice TV 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท